26 มี.ค. เวลา 14:57

เริ่มนับ 1 กับหลักเกณฑ์เงื่อนไข Copayment

ถึงวันนี้ กรมธรรม์ประกันสุขภาพใหม่มีการเพิ่มหลักเกณฑ์เงื่อนไขการร่วมจ่าย (Copayment) ในปีต่ออายุถัดไปกันแล้วนะครับ
บทความนี้ถือเป็นบทความส่งท้ายสำหรับผู้ที่เริ่มทำประกันสุขภาพใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2568 นะครับ (สามบทความก่อนหน้า เป็นความรู้พื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ Copayment ในกรมธรรม์สุขภาพ https://www.blockdit.com/posts/679741ba50052d8752f33edd)
การนำหลักเกณฑ์เงื่อนไข Copayment ปีต่ออายุมาใช้ มีมุมมองที่แตกต่างออกไปในแต่ละคน ทั้งมุมมองเชิงบวกและมุมมองเชิงลบ แล้วแต่ข้อมูลความเข้าใจที่แต่ละคนมีอยู่ก่อนหน้า
การที่ธุรกิจประกันชีวิตจะตัดสินใจร่วมกันในการการนำหลักเกณฑ์เงื่อนไข Copayment มาใช้ ก็ด้วยสาเหตุต่างๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แบบประกันสุขภาพรประเภทเหมาจ่ายรับภาระด้านสินไหมสูงขึ้น รวมถึงการเกิดโรคภัยต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น หลังวิกฤติโควิด-19 จะเห็นได้ว่ามีการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ต่างๆ เป็นต้น
แบบประกันสุขภาพในปัจจุบันอยู่ภายใต้มาตราฐานสุขภาพปัจจุบัน การปรับเบี้ยประกันมีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นการปรับเบี้ยประกันแบบรวม ไม่สามารถปรับเบี้ยเฉพาะบุคคลได้ ดังนั้นเมื่อค่าใช้จ่ายด้านสินไหมที่เพิ่มสูงขึ้นจนกระทบต้นทุนของแบบประกันสุขภาพนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงจำเป็นต้องปรับเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ถือกรมธรรม์ส่วนใหญ่ที่มีค่าสินไหมตามปกติหรือไม่เคยเข้ารักษาตัวในโรคพยาบาลก็จะต้องชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ขอบคุณ กรุงเทพธุรกิจ / Adobe Stock
แบบประกันสุขภาพที่อยู่ภายใต้มาตราฐานสุขภาพที่ใช้ในปัจจุบันต่างจากประกันภัยบางประเภทที่สามารถบังคับเพิ่มเบี้ยฯ เฉพาะราย ตัวอย่างเช่นผู้ที่ทำประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 1 จะคุ้นเคยก้บเรื่องที่อาจต้องถูกปรับเพิ่มเบี้ยฯ เมื่อต่ออายุ เมื่อมีการเคลมสินไหนอุบัติเหตุเป็นจำนวนเงินมาก (หลายคนอาจคุ้นกับคำว่า ส่วนลดประวัติดี) ขณะที่ประกันสุขภาพจะถูกบังคับให้ปรับเบี้ยเพิ่มทั้งพอร์ตและกระทบกับลูกค้าทุกคนในพอร์ตของประกันสุขภาพนั้น
ธุรกิจประกันสุขภาพจึงนำหลักเกณฑ์เงื่อนไข copayment มาใช้ในกลุ่มคนจำนวนน้อยที่เรียกร้องสินไหมการเข้ารักษาที่ไม่จำเป็นจนทำให้มีสินไหมสูงกว่าที่กำหนด เพิ้อไม่ให้เกิดผลกระทบต้องมีการปรับเบี้ยประกันกับกลุ่มคนส่วนใหญ่
ขอบคุณ Thai Post / Adobe Stock
ไม่ว่าหลักเกณฑ์เงื่อนไขความคุ้มครองของประกันสุขภาพจะเป็นอย่างไร เราก็คงต้องปรับตัวและปรับแนวทางการทำประกันภัยเอาไว้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่อยู่ในกรมธรรม์ประกันสุขภาพต่อไป
ในมุมการวางแผนการเงินส่วนของการป้องกันความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยด้านสุขภาพ ที่อยู่ในนิยามของ Wealth Protection ที่ป้องกันความมั่งคั่ง(เงินออม)ลดลงจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จึงอาจต้องปรับวางแผนเงินเผื่อสำหรับในกรณีที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสินไหมจาก copayment ไว้ด้วย ซึ่งในการวางแผนการเงินหลังจาก 20 มีนาคม 2568 จึงอาจต้องคำนึงถึงเงินทุนส่วนนี้ไว้บ้าง
ด้วยเวลาที่เพิ่มเริ่ม Copayment จึงอาจยังไม่มีสถิติข้อมูลผลกระทบจากการต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลหักลบกับความเสี่ยงของการถูกปรับเบี้ยฯ เพิ่ม ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นยาก แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงควรจะวางแผนการเงินในส่วนนี้ไว้จนมีความชัดเจนด้านต่างๆ ซึ่งจะสามารถปรับแผนการเงินของเราได้ต่อไป
ขอบคุณ Freepik.com
โฆษณา