22 มี.ค. เวลา 05:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“ดร.กอบกิจ อิสรชีววัฒน์” นั่งเก้าอี้ประธานหอการค้าเชียงใหม่ ผุดศูนย์วิจัยผู้ประกอบการ ช่วยเอสเอ็มอี

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2568 และเลือกตั้งคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 25 ประจำปี 2568 – 2569  ณ โรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้ง คณะกรรมการชุดใหม่ (สมัยที่ 25) มีมติเห็นชอบให้ ดร.กอบกิจ อิสรชีววัฒน์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะกรรมการบริหารรวมทั้งหมด 31 คน
ดร.กอบกิจ อิสรชีววัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แผนการขับเคลื่อนหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่สมัยที่ 25 ได้วางมิติการขับเคลื่อนสำคัญใน 6 ด้านคือ 1.การใช้ AI ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยเพราะปัจจุบันเทคโนโลยีมีผลอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI ซึ่งเราไม่ได้หวังให้ AI เข้ามาทดแทนคน แต่เราต้องการนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งช่วยเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนงานต่างๆ
2.การขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยโมเดล Green ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของชาติและของจังหวัดเชียงใหม่ โดยปัญหาสำคัญของเชียงใหม่คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่นควัน PM 2.5 โดยจะผลักดันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
3.การเชื่อมโยงสู่ระดับโลก (Global) หากการทำธุรกิจเน้นเฉพาะในประเทศเพียงอย่างเดียว ก็จะมีช่องทางตลาดที่ค่อนข้างน้อย ดังนั้น หากเปิดตลาดเชื่อมต่างประเทศให้มากขึ้น ก็จะเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กว้างมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านทูตและหอการค้าในต่างประเทศ ถือเป็นมิติที่ดีและต้องมีการสานต่อความร่วมมือ ในการพาผู้ประกอบการของเชียงใหม่ไปตลาดโลก
4.การพัฒนาผู้ประกอบการและแรงงาน เนื่องจากธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการหลายๆกลุ่ม ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเอสเอ็มอี ซึ่งได้มีความร่วมมือกับวิทยาลัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้
5.การขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง (Smart City) รวมถึง Creative Lanna ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จะขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ ปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งมิติปัญหาด้านโครงสร้าง หรือกฎหมายผังเมือง ที่จะต้องช่วยขับเคลื่อนต่อไป ในการหาทางออกและให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ
6.การสร้างความเข้มแข็งของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสมาชิกมีความสำคัญอย่างมาก ที่ต้องทำให้สมาชิกได้สิทธิประโยชน์ อาทิ การนำสมาชิกออกงานแสดงสินค้า จัดกิจกรรม Business Matching หรือเปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีโอกาสได้ไปเจอนักลงทุนและได้เจอกลุ่มตลาดเป้าหมายโดยตรง
ดร.กอบกิจ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการสำคัญที่จะต้องผลักดันต่อเนื่องจากสมัยที่ 24 คือ การผลักดันให้หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์วิจัยผู้ประกอบการ โดยขณะนี้ได้ร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ที่จะสร้างศูนย์วิจัยผู้ประกอบการขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม
โดยจะเจาะลึกปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของผู้ประกอบการแต่ละธุรกิจ เช่น ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ที่จะโฟกัสแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างครอบคลุม หรือธุรกิจเวลเนส ก็จะเจาะลึกเป็นราย Sector ว่าผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือด้านไหน อย่างไร เป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสื่อสารและเป็นแนวทางให้กับภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ในการแก้ไขร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สู่ภาคธุรกิจจริงๆ ซึ่งโครงการนี้จะผลักดันให้เกิดขึ้นในสมัยที่ 25 นี้
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง ESG เป็นมิติสำคัญ โครงการที่เน้นความยั่งยืนที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่สมัยที่ 23 – 24 ก็จะมีการขับเคลื่อนต่อ โดยได้ทำความร่วมมือกับ Uniserv มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Carbon Credit และ Carbon Footprint ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำไปใช้ได้ ล่าสุด ธนาคารต่างๆออกสินเชื่อสีเขียว หรือ Green Loan ซึ่งยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ที่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเหล่านี้ได้
ดังนั้น ต้องนำเรื่อง Green เข้าไปถึงเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการสมาชิกให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะผลักดันโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่จะนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ โครงการสนามบินแห่งที่ 2 โครงการรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง และถนนวงแหวนต่างๆ ต้องเร่งผลักดันให้โครงการได้เกิดขึ้นเร็วกว่านี้ ซึ่งเมื่อมีเม็ดเงินการลงทุนจากภาครัฐเข้ามาก็จะเกิดการจ้างงานและมีเงินหมุนเวียนเกิดขึ้นในพื้นที่เชียงใหม่
โฆษณา