23 มี.ค. เวลา 04:42 • การศึกษา

ผู้ขอ คือ ผู้ทุกข์ ยิ่งขอก็ยิ่งทุกข์ ดังพราหมณ์ชูชก ตายทุกข์เพราะขอ

.
ผู้ให้ คือ ผู้มี ยิ่งให้ก็ยิ่งมี ดังฤๅษีพระเวส เหตุพ้นทุกข์เพราะการให้
.
คนเรา ถ้ามัวแต่คิดแบมือขอเขา มันก็ได้แต่ของเศษของเดนที่เขาทิ้งแล้ว มันกินไม่อิ่มสักที เพราะใจมันจะหิวโหยอยู่ตลอดเวลา คิดหาแต่อุบายที่จะขอเขาไปเรื่อย ๆ ซึ่งสวนทางกับธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้อย่างสิ้นเชิง
.
ธรรมท่านสอนให้พอใจในของที่ตนเองมีอยู่ เรียกว่า สันตุษฐี ปะระมัง ธะนัง คือ ความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง มีอย่างไรก็ให้พอใจอย่างนั้น ถ้าอยากได้มากกว่านั้น ก็ให้เพิ่มความอดทน เพิ่มความขยันหมั่นเพียร ใช้สติปัญญาหาทรัพย์ในทางที่ชอบ อย่างนี้ไม่ถือว่า โลภ จึงไม่ควรขี้เกียจขี้คร้าน คอยแต่จะขอเขา เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
.
เมื่อทำตัวเองให้ดีแล้ว คือ อย่างน้อยก็ต้องให้มีศีลธรรมประจำใจ ยิ่งไปกว่านั้นก็ฝึกจิตฝึกใจให้มีสมาธิมั่นคง มีปัญญาเห็นชอบตามความเป็นจริงของธรรม เมื่อใจดีแล้ว กายวาจาก็จะดีไปด้วยกัน ความดีก็จะเป็นพลังดึงดูดให้สิ่งดี ๆ วิ่งเข้ามาหาเราเอง โดยไม่ต้องไปเอ่ยปากขออะไรจากใครเลย
.
แม้มีทรัพย์มากแล้ว ธรรมท่านยังสอนให้มักน้อย รู้จักเสียสละ คือให้พอใจเอาแต่น้อย เพียงแค่พอดำรงชีพอยู่ได้ เพื่ออาศัยร่างกายทำความดีให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนทำร้ายใคร รู้จักแบ่งปันทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่ขาดแคลน หรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ตามแต่จะมีโอกาสอันควร เพื่อกำจัดความโลภ ความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัว ตลอดจนความโกรธ ความหลง ที่หมักหมมอยู่ภายในขันธสันดานให้บรรเทาเบาบางลง จนถึงหมดไปอย่างสิ้นเชิง
.
เพราะทรัพย์สมบัติทั้งปวงไม่ใช่ของจีรังยั่งยืน ที่ใคร ๆ จะยึดถือเอาไว้ได้ตลอดไป พอตายแล้ว ก็ต้องทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งหมดไปเอง แม้จะรักจะหวงแหนสักเพียงไหนก็ตาม สุดท้ายก็ต้องพลัดพรากจากกันไป คนเราพบกันก็เพื่อที่จะพรากจากกันไปเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลย
.
ผู้ที่เข้าใจสัจธรรมตามความเป็นจริงของธรรมชาติได้ ผู้เช่นนั้น ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีบุญแท้จริง ถึงเป็นอยู่ก็มีความสุข แม้ตายแล้วก็มีความสุข เพราะบุญย่อมนำความสุขมาให้ เป็นเหตุให้มีสุคติเป็นที่ไปเบื้องหน้า สุขทั้งโลกนี้ สุขทั้งโลกหน้า สุขทั้งโลกโน้น จนกว่าจะถึงพระนิพพาน ก็กลายเป็นเอกันตบรมสุข ที่หาใดเสมอเหมือนมิได้เลย
.
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๘_๐๓
โฆษณา