26 มี.ค. เวลา 08:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Here’s what your waist size says about your future brain health

ขนาดเอวของคุณสามารถบอกเกี่ยวกับสุขภาพสมองของคุณในอนาคตได้
การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ขนาดเอวของคุณในช่วงวัยกลางคนอาจเชื่อมโยงกับสุขภาพสมองของคุณในอนาคต
ครั้งสุดท้ายที่คุณวัดอัตราส่วนเอวต่อสะโพกเมื่อไหร่ มีเหตุผลอันสมควรที่คุณควรจะเริ่มวัดอัตราส่วนเอวต่อสะโพกของคุณ
ผลการวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร โภชนาการ โรคอ้วน และการออกกำลังกาย Nutrition, Obesity and Exercise แสดงให้เห็นว่า การวัดอัตราส่วนเอวต่อสะโพก หรือการวัดค่า ดับเบิลยูเอชอาร์ WHR แบบง่ายๆ นี้ อาจเกี่ยวข้องกับการเสื่อมของสมอง โดยผลการวิจัยได้พบว่า ผู้ที่มีค่าของอัตราส่วนเอวต่อสะโพกต่ำหรือมีค่า WHR ต่ำ เสี่ยงต่อสมองเสื่อมน้อยกว่า ผู้ที่มีค่า WHR ที่สูงกว่า อย่างชัดเจน
องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ ค่าของอัตราส่วนนี้ไม่ควรเกิน 1.0 เพราะหากเกินกว่านั้น ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจ ค่านี้ในผู้หญิงและผู้ชายนั้นแตกต่างกัน องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ผู้หญิงที่มีค่า WHR เกินกว่า 0.85 บ่งชี้ว่าเป็นโรคอ้วน ผู้ชายที่มีค่า WHR เกินกว่า 0.9 บ่งชี้ว่าเป็นโรคอ้วน
ในการคำนวณหาค่า WHR หรืออัตราส่วนของรอบเอวต่อรอบสะโพก มีสูตรการคำนวณดังนี้
ค่า WHR = ความยาวของรอบเอว/ความยาวของรอบสะโพก ตัวอย่างเช่น ความยาวรอบเอว 75 เซนติเมตร (30 นิ้ว) ความยาวรอบสะโพก 95 เซนติเมตร (38 นิ้ว) ได้ค่า WHR = 75/95 หรือ 30/38 = 0.789
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูง คือผู้ที่มีค่า WHR เป็นดังนี้ ในผู้ชายค่านี้อยู่ที่ มากกว่าหรือเท่ากับ 1.0 ส่วนผู้หญิงค่านี้อยู่ที่ มากกว่าหรือเท่ากับ 0.86
โดยทั่วไปแล้ว กลุ่มที่มีค่า WHR สูง จะมีรูปร่างเป็นทรงแอปเปิ้ล ขณะที่กลุ่มที่มีค่า WHR ต่ำกว่า จะมีรูปร่างเป็นทรงลูกแพร์ ซึ่งกลุ่มที่มีรูปร่างทรงแอปเปิ้ล จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากกว่า
คุณอาจเริ่มจะกังวลเกี่ยวกับขนาดรอบเอวคุณ แต่อย่าเพิ่งเครียดไป นักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำว่า ความเสี่ยงต่อการเสื่อมของสมองของคุณนั้น ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ตายตัว การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงการเสื่อมของสมอง และช่วยรักษาสุขภาพสมองในระยะยาวได้
เลิกใช้ดัชนีมวลกาย BMI หันมาใช้อัตราส่วนเอวต่อสะโพก WHR
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่วัดขนาดร่างกายด้วยดัชนีมวลกาย หรือชื่อย่อว่า บีเอ็มไอ BMI โดยระบบการวัดบีเอ็มไอ จะเปรียบเทียบน้ำหนักกับส่วนสูง อย่างไรก็ตาม ระบบการวัดขนาดร่างกายบีเอ็มไอนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่แม่นยำ ตัวอย่างเช่น คนที่มีกล้ามเนื้อมาก อาจถูกจัดให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกิน แม้ว่าน้ำหนักที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อของพวกเขา ไม่ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจก็ตาม
ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ จึงหันมาใช้วิธีการวัดขนาดร่างกายแบบอื่นๆ มากขึ้น เช่น การวัดอัตราส่วนรอบเอวต่อสะโพก การวัดรอบเอวเทียบกับส่วนสูง หัวหน้าโครงการวิจัยนี้ กล่าวว่า การวัดอัตราส่วนรอบเอวต่อสะโพก เป็นการวัดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ที่บอกค่าได้แม่นยำกว่าค่าของดัชนีมวลกาย เพราะการวัดอัตราส่วนรอบเอวต่อสะโพก จะเน้นที่ไขมันหน้าท้อง
เจนเซ่น Daria E. A. Jensen หัวหน้าโครงการวิจัย และนักประสาทวิทยา แห่งสถาบันวิจัย มักส์ พลังค์ Max Planck Institute สถาบันวิจัยนี้ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป กล่าวกับ วารสาร บีบีซี ไซเอนซ์ โฟกัส BBC Science Focus ว่า “เราพบความสัมพันธ์ระหว่าง อัตราส่วนรอบเอวต่อสะโพกที่ดีต่อสุขภาพ กับคะแนนจากการทำแบบทดสอบทางสมองในด้านความสามารถในการจำข้อมูลต่างๆ และการนำความจำนั้นออกมาใช้ได้
และในการทดสอบทางสมองนี้ ยังรวมถึงการวัดคะแนนในส่วนการจัดระเบียบแบบแผนในชีวิต การวางแผนล่วงหน้า คิดแก้ไขปัญหา และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผลการทดสอบสมองของผู้ที่เข้าร่วมการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีอัตราส่วนรอบเอวต่อสะโพกที่ดีซึ่งก็คือผู้ที่มีค่า WHR ต่ำ พบว่าจะได้คะแนนสูงจากการทำแบบทดสอบทางสมอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสมองดีและไม่เสื่อม ย่อมจะส่งผลที่ดีต่อการดูแลและพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต”
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา เป็นการทำวิจัยเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร ขนาดร่างกาย และสุขภาพสมองในช่วงระยะเวลาที่ทำการวิจัยตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งการวิจัยนี้ ได้วัดอัตราส่วนรอบเอวต่อสะโพก ของผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นข้าราชการพลเรือนชาวสหราชอาณาจักร จำนวน 664 คน โดยแต่ละคนจะวัด 5 ครั้ง ตลอดระยะเวลาของการวิจัยประมาณ 21 ปี ซึ่งเป็นในช่วงที่ผู้เข้าร่วมวิจัย อยู่ในช่วงวัย 50 และในช่วงวัย 60 ปี
การประเมินอาหารที่บริโภคและการวัดสุขภาพสมอง
ข้าราชการ 512 คน จะตอบแบบสอบถาม เกี่ยวกับอาหารของพวกเขาสามครั้งในช่วงอายุเฉลี่ย 48 ถึง 60 ปี นักวิทยาศาสตร์จะวัดคุณภาพอาหาร โดยการวัดส่วนประกอบของอาหารที่แตกต่างกัน 11 อย่าง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว พืชตระกูลถั่ว ไขมัน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เนื้อ เกลือ และแอลกอฮอล์
และเมื่อผู้เข้าร่วมการวิจัยมีอายุประมาณ 70 ปี นักวิทยาศาสตร์ จะสแกนสมอง และจะวัดประสิทธิภาพทางปัญญา ผลจากการวิจัยพบว่า คนที่รับประทานอาหารที่ดีกว่า และมีค่า WHR ต่ำในช่วงวัยกลางคน จะมีสมองที่แข็งแรงกว่าเมื่ออายุมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิคการถ่ายภาพสมอง ได้แก่ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ MRI และการถ่ายภาพเส้นใยประสาทในสมองแบบละเอียด หรือ ดีทีไอ DTI เพื่อตรวจสอบโครงสร้างสมองของผู้เข้าที่ร่วมการวิจัย โดยจะเน้นสมองในบริเวณที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส เป็นพิเศษ
เจนเซ่น กล่าวว่า “สมองส่วนฮิปโปแคมปัส มีความสำคัญในงานวิจัยที่เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมและยังพบในงานวิจัยอื่นๆ อีกมากมาย เนื่องจากเป็นบริเวณสมองที่สำคัญสำหรับความจำและการเรียนรู้” เธออธิบายว่า การวิจัยที่ได้ทำมาก่อนหน้านี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปริมาตรของฮิปโปแคมปัสแล้ว แต่ในการวิจัยครั้งนี้ ได้เน้นการวิจัยไปที่ความเชื่อมโยงระหว่าง ฮิปโปแคมปัส กับบริเวณต่างๆ ของสมอง
เจนเซ่น กล่าวว่า “สิ่งแรกที่เราค้นพบคือ การรับประทานอาหารที่ดี จะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส กับบริเวณอื่นๆ ของสมองดีขึ้น” “จากนั้น เราได้ทำวิจัยอัตราส่วนเอวต่อสะโพก และเราก็พบผลลัพธ์ที่ชัดเจนมาก โดยผลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าของ WHR ที่ต่ำ ช่วยในปรับปรุงการเชื่อมต่อของเนื้อขาวของสมอง ซึ่งหมายถึง การสื่อสารที่ดีขึ้นระหว่างบริเวณสมอง”
ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีเอวที่เพรียวบางในวัยกลางคน พบว่า มีสุขภาพทางความคิด ทางการเรียนรู้ และการจำดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคสมองเสื่อมน้อยลง
เจนเซ่น กล่าวว่า “หากคุณต้องการทำบางอย่างเพื่อสุขภาพสมองของคุณ ยังไม่สายเกินไปที่จะลงมือทำตอนนี้ แต่ยิ่งคุณเริ่มเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น”
การวิจัยนี้มีปัญหาบางประการ เนื่องจากผู้เข้าร่วมเป็นข้าราชการที่ได้รับการคัดเลือกในช่วงทศวรรษ 1980 จึงมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเจนเซ่นกล่าวว่า “สำคัญมาก” เนื่องจากจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องกับผู้หญิงมากเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่า การวิจัยนี้ยังคง “น่าตื่นเต้นมาก” และจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพโภชนาการในวัยกลางคน และสุขภาพสมองในอนาคตได้
สมาคมอัลไซเมอร์ประมาณการว่า ปัจจุบัน ในประเทศสหราชอาณาจักร มีผู้คนถึง 982,000 คน เป็นโรคสมองเสื่อม เจนเซ่นกล่าวว่า เธอหวังว่าการวิจัยนี้จะช่วย “เปลี่ยนมุมมองของแพทย์ ไปที่การป้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ” สำหรับโรคสมองเสื่อม และการเสื่อมถอยในการทำงานของสมอง
ผู้เขียน : Hatty Willmoth
แปลไทยโดย : Wichai Purisa (senior scientist)
โฆษณา