Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วันนี้คะ 😁
•
ติดตาม
29 มี.ค. เวลา 06:12 • สุขภาพ
หลังแผ่นดินไหวช่วยเด็กยังไงดี
[ วิธีสังเกตผลกระทบทางจิตใจต่อเด็กหลังเกิดภัยพิบัติและแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับพ่อแม่ ]
จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวาน เน็ตป๊าม้าขอร่วมส่งความเป็นห่วงและกำลังใจไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกท่าน และขอให้ทุกท่านและครอบครัวปลอดภัย
สำหรับเด็กๆ แล้ว การประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอาจสร้างความกลัวและกังวลได้มาก ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์ในเด็กอาจแสดงออกแตกต่างจากผู้ใหญ่ ขึ้นกับวัยและปฏิกิริยาของผู้ใหญ่รอบข้าง โดยอาจแสดงออกได้ดังนี้
👶🏻วัย 0-3 ขวบ
* เกาะติดพ่อแม่มากขึ้น มีพฤติกรรมถดถอย
* รูปแบบการกินการนอนเปลี่ยนไป
* ตื่นตัวมากกว่าปกติ ร้องไห้ง่าย
👧🏻วัย 4-6 ขวบ
* เกาะติดพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นมากขึ้น
* มีพฤติกรรมถดถอย เช่น ดูดนิ้ว กลับไปปัสสาวะรด แยกห่างจากพ่อแม่ไม่ได้
* มีปัญหาการนอน/ฝันร้าย/ผวาตื่น/ละเมอ
* หงุดหงิดง่าย
👦🏻วัย 7-12 ปี
* มีความกังวลในการแยกห่างจากพ่อแม่ เช่น กังวลในการไปโรงเรียน
* หลีกเลี่ยงการเห็นหรือการไปที่เกิดเหตุ
* สมาธิและความสนใจลดลง เหม่อบ่อย
* มีปัญหาการกินการนอน
* ก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย
* อาจแสดงออกเป็นอาการทางกายเช่น ปวดหัว/ปวดท้องซ้ำๆ โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติทางกาย
👱🏻♀️วัย 13-18 ปี
* แสดงอารมณ์เศร้า/หงุดหงิด/กังวลชัดเจน
* หลีกเลี่ยงการเห็นหรือการไปที่เกิดเหตุ
* มีปัญหาการกินการนอน
* ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเปลี่ยนไป แยกตัวออกจากสังคม หรือก้าวร้าวทะเลาะกับผู้อื่นบ่อยขึ้น
* การเรียนแย่ลง
พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือเด็กเพื่อลดความกังวลและช่วยเด็กจัดการอารมณ์ได้ ด้วยแนวทางดังนี้
🤍ให้ความปลอดภัยแก่เด็ก
ในเด็กเล็ก ให้เด็กอยู่ห่างจากเสียงดังและความวุ่นวาย กอดและบอกเด็กบ่อยๆ ว่าเขาปลอดภัยแล้วและพ่อแม่จะอยู่กับเขา อนุญาตให้เด็กเข้าหาเวลาที่เขารู้สึกกลัว จัดกิจวัตรประจำวันเช่น การกิน การนอน ให้เป็นเวลาตามปกติ ในเด็กโตและวัยรุ่น สามารถเพิ่มการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม และเปิดโอกาสให้เด็กช่วยเหลือครอบครัว/ตัดสินใจในสิ่งที่เหมาะกับวัย เพื่อเพิ่มความรู้สึกว่าเขาสามารถจัดการสถานการณ์ได้ (sense of control)
🤍เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกทางอารมณ์
รับฟังความคิดและความรู้สึกของเด็กโดยไม่ตัดสิน สะท้อนอารมณ์ และให้การยอมรับว่าสิ่งที่เขารู้สึกนั้นเข้าใจได้มากๆ ไม่เป็นไรเลยที่เขาจะรู้สึกแบบนั้น และพ่อแม่จะอยู่กับเขาเสมอ หากเด็กยังไม่พร้อมที่จะพูดคุย ไม่บังคับหรือกดดันเด็กให้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น และให้ความมั่นใจว่าพ่อแม่อยู่ตรงนี้และเขาสามารถมาพูดคุย/ขอความช่วยเหลือได้เสมอ
🤍จำกัดการเข้าถึงสื่อ
ปกป้องเด็กจากการเห็นภาพสะเทือนขวัญซ้ำๆ เช่นการบาดเจ็บหรือความเสียหายรุนแรง ปกป้องเด็กจากคนที่ต้องการจะสัมภาษณ์เด็กซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการช่วยเหลือ
🤍ปรับกิจวัตรประจำวันของเด็กให้เข้าสู่ปกติ
การมีกิจวัตรประจำวันตามปกติช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ทั้งในเรื่องเวลาเข้านอน-ตื่นนอน เวลากินข้าว เวลาคุณภาพของเด็กกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอเช่นการเล่านิทานก่อนนอน การได้เล่นของเล่นกับพ่อแม่
ปฏิกิริยาต่อความเครียดของเด็กแต่ละคนอาจหายไปได้เร็วช้าแตกต่างกัน ขึ้นกับหลายปัจจัย หากผ่านไป 2 สัปดาห์แล้วเด็กยังมีพฤติกรรม/อารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แนะนำให้พามาพบผู้เชี่ยวชาญเช่นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินอีกครั้งค่ะ
สุดท้ายนี้ เน็ตป๊าม้าอยากให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน อย่าลืมที่จะดูแลร่างกายจิตใจตัวเอง เด็กจะรับมือสถานการณ์ได้ดี เมื่อมีผู้ใหญ่ที่สงบและมั่นคงอยู่กับพวกเขา ครอบครัวจะเป็นแหล่งปกป้องคุ้มครองและสนับสนุนทางอารมณ์ที่สำคัญของเด็ก ให้เขาสามารถผ่านสถานการณ์ต่างๆ ไปได้ค่ะ
ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านและขอให้ทุกท่านปลอดภัยนะคะ💛
ข้อมูลจาก NetPama/SirirajKids
https://www.facebook.com/100069167585019/posts/pfbid0YgzisH19T5YA6MFDynLdjkpGiqVBR8jezzpZhUbSv8BsQyFZSvbCudzFiCe1PTsjl/
?
https://www.facebook.com/100057329805848/posts/pfbid02WpmWUSoRqsU4CGARkVewmtU81HU59cFDZggyua5jgePxT2YiArwBB1xb7qKxMRUel/
?
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย