29 มี.ค. เวลา 12:00 • ข่าว

เปิด 4 แนวทางลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาท ที่สภาอุตสาหกรรมเสนอ แต่ รมว. พลังงานไม่เอา

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แสดงความกังวลหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วยในช่วง พ.ค.-ส.ค. 2568
โดยระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการแข่งขัน และยังคงภาระค่าไฟแพงให้กับประชาชน ทั้ง ๆ ที่ภาคเอกชนได้เคยเสนอแนวทางลดค่าไฟลงเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยให้พิจารณาแล้ว
แต่ข้อเสนอกลับไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟในอัตราเดิมต่อไปอีก 4 เดือน ท่ามกลางอากาศร้อนที่ผลักดันการใช้ไฟฟ้าให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ 4 แนวทางดังกล่าวนั้นประกอบไปด้วย
1 การ Refinance หนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล – คาดว่าจะลดราคาค่าไฟลงได้ 10 สตางค์/หน่วย
2 ลดส่วนต่างแฝงทั้งระบบ โดยไม่ผลักภาระไปที่ผู้บริโภค เช่นการจัดหาก๊าซธรรมชาติ (NG) หรือการปรับลดค่าความพร้อมในการลดการใช้ไฟฟ้า (Availability Payment: AP) ของผู้ผลิตไฟฟ้า – คาดว่าจะลดราคาค่าไฟลงได้ 15 – 20 สตางค์/หน่วย
3 เพิ่มเชื้อเพลิงถูก เช่น การเปิดเสรีพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ และปรับราคาค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) ในโรงไฟฟ้าที่คืนทุนแล้ว ในขณะที่ลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพง ซึ่งนี่รวมไปถึงสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่มีราคา LNG ต่ำลง – คาดว่าจะลดราคาค่าไฟลงได้ 10 - 15 สตางค์/หน่วย
4 ปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เช่น ประมูลการซื้อไฟฟ้า และจัดหา LNG แบบเสรี แทน การกำหนดราคาเป้าหมาย และหาทางลดการสูญเสียจากผู้ลักลอบใช้ไฟฟ้าฟรี ไปพร้อมกับการส่งเสริมมาตรการประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) – คาดว่าจะลดราคาค่าไฟลงได้ 10 สตางค์/หน่วย
อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.ย. 2567 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน สั่ง กกพ.ให้ชะลอแผนลดค่าไฟ 17 สตางค์ต่อหน่วย
โดยให้เหตุผลว่าแนวทางที่เขาจะดำเนินการสามารถลดค่าไฟได้มากกว่าแนวทางของ กกพ. โดยใช้วิธีการปรับพอร์ต Pool Gas ซึ่งหมายถึงการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ทั้งจาก ก๊าซอ่าวไทย ก๊าซจากเมียนมา และ LNG นำเข้าที่มีราคาผันผวนสูง
 
แต่จนถึงปัจจุบัน แนวทางดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน
#TheStructure
#TheStructureNews
#พีระพันธุ์ #ค่าไฟ
#สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โฆษณา