31 มี.ค. เวลา 03:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุปแถลงการณ์ 6 องค์กร ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ระบบการเงิน จากแผ่นดินไหว

เช้านี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงการณ์ร่วมภาคเศรษฐกิจจริงและระบบทางการเงิน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สภาวิศวกร, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, คปภ., ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และแบงก์ชาติ
1
มาให้คำตอบว่า ข้อเท็จจริง (FACT) ที่เกิดขึ้น มีอะไรบ้าง และผลกระทบรุนแรงขนาดไหน ซึ่งเนื้อหาสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. สภาวิศวกร
สรุปสั้น ๆ คือ ประเทศไทยผ่านบททดสอบครั้งใหญ่ ตามเกณฑ์ที่ใช้กันทั่วโลก เรียบร้อยแล้ว
ผนังแตก เป็นเรื่องปกติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
แต่หลังจากนี้ เราก็ควรประเมินกันเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับแผ่นดินไหวครั้งถัดไป
แต่จากสถานการณ์เมื่อศุกร์ที่แล้ว หากไม่มีเหตุการณ์ตึกถล่ม
อาคารทั้งหมดในประเทศไทย ยังปลอดภัยดี..
2. ประธานอุตสาหกรรม
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่าส่วนใหญ่แล้วการผลิตทั้งระบบ ไม่ว่าจะโรงงานเล็กหรือใหญ่ กลับมาผลิตได้แทบทั้งหมดในวันเสาร์ และสถานการณ์กลับสู่ปกติในวันจันทร์
รวมถึงระบบแก๊ส สาธารณูปโภค และการขนส่ง ก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน
แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง คือภาคการก่อสร้าง จะต้องมีการเพิ่มมาตรฐาน และคำนึงถึงความเสี่ยงทางภัยพิบัติมากขึ้น
1
สำหรับภาคการผลิต ที่เรามีคู่ค้าเป็นประเทศพม่า
ตั้งแต่ประเทศพม่ามีปัญหาภายใน กลุ่มธุรกิจไทยที่ไปลงทุนจึง มีไม่ได้มากแล้ว
และส่วนใหญ่โรงงานผลิตไทย จะตั้งอยู่นอกบริเวณมัณฑะเลย์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงจำกัด
กลับกันในภาพใหญ่ ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคในพม่า จะมากขึ้นด้วย..
3. ธนาคารแห่งประเทศไทย
- สรุปได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ของระบบธนาคาร ยังมีเสถียรภาพดี
จะมีติดขัดแค่เรื่องบุคลากร เช่น พนักงานประจำสาขา ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้สะดวก
- ธปท. มีการยืดหยุ่นให้กับทางธนาคารต่าง ๆ ในเรื่องของการ Settlement ทำรายการต่าง ๆ ออกไปตามความเหมาะสม
- เราผ่าน Stress Test ทั้งหมด ธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการทางธุรกรรมได้ทั้งหมด
2
- ตั้งแต่วันเสาร์ การให้บริการของธนาคารต่าง ๆ ส่วนมากกลับมาให้บริการได้ตามปกติแล้ว มีน้อยสาขามาก ในบางพื้นที่ ที่ยังติดขัดเรื่องการให้บริการ จากอุปสรรคเรื่องความเสียหายของอาคาร
- การเบิกจ่ายเงินของภาครัฐ ตรวจสอบจากธุรกรรมเคลื่อนไหวผ่านบัญชีเงินคงคลังที่อยู่กับ ธปท. ยังไม่พบความผิดปกติอะไร
- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ธปท. มองว่าไม่กระทบทั้งระบบเหมือนตอนวิกฤติโรคระบาด และคาดว่าเป็น Shock ระยะสั้นเท่านั้น
- ธปท. มีการกำชับกับธนาคารพาณิชย์ เรื่องมาตรการผ่อนปรน ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
เช่น ผู้ที่บ้านต้องซ่อมแซม ก่อสร้าง ก็มีการผ่อนปรนในเรื่อง การลดค่างวดผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิต หรือให้วงเงินเพิ่ม ช่วยเรื่องสภาพคล่องฉุกเฉิน
4. คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
เวลานี้การเคลมยังไม่เริ่มเข้ามา แต่เป็นช่วงเวลาของการสอบถามข้อมูลและตรวจสอบเกี่ยวกับแนวทางการเคลมประกัน
ซึ่งกรมธรรม์ประกันชีวิตส่วนใหญ่ จะคุ้มครองเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงเรื่องแผ่นดินไหวอยู่แล้ว
ส่วนประกันวินาศภัย แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรรม์
ส่วนฐานะการเงินของธุรกิจประกันภัยของไทยยังแข็งแกร่ง
ซึ่งอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฏหมาย โดยธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตในไทย มีเงินกองทุนส่วนนี้ประมาณ 3 เท่าของที่กฏหมายกำหนด
ธุรกิจประกันภัยของไทย จึงยังมีสภาพคล่องมากพอที่จะรองรับวิกฤติของประเทศได้..
5. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
- ระบบตลาดทุนไทย มีความยืดหยุ่นได้ดี
- ผลกระทบในเรื่องของราคาในระยะสั้น ยังให้คำตอบไม่ได้ แต่ย้ำว่าข้อมูลข่าวสารในตอนนี้ล้นโซเชียล เราต้องแยกข้อเท็จจริงให้ออก
- วันนี้เป็นวันครบรอบการส่ง One Report ซึ่งสำนักงานฯ ก็ได้มีการออกมาตรการรองรับไว้แล้วตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา
6. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ระบบของตลาดทุน ยังทำงานได้ดี ไม่ได้รับความเสียหาย ทุกระบบผ่านการตรวจสอบ
- ผู้ว่าการตลาดหลักทรัพย์ ย้ำเหมือนกับ ก.ล.ต. ว่าโลกโซเชียลมิเดียที่ผ่านมา Information Overload มาก
ซึ่งเราควรมองที่ FACT FACT แล้วก็ FACT เพื่อหาข้อเท็จจริง และแยกมันออกให้ได้ ว่าอันไหนข้อเท็จจริง อันไหนไม่ใช่
สำหรับคำถามอื่น ๆ
ความกังวลต่างชาติ ต่อหนี้เสียตึกสูง ในประเทศไทย ?
- หลายประเทศทั่วโลก เผชิญภัยพิบัติเยอะกว่าเรามาก
นักลงทุนต่างชาติไม่ได้มีความกังวลอะไร แค่เป็นห่วง
จากการพูดคุยกับภาคธนาคาร เห็นแล้วว่าช่วงแผ่นดินไหว
เสถียรภาพของการให้บริการต่าง ๆ ภาคการเงิน ไม่มีปัญหาอะไร
ขณะที่สถาบันการเงินหลายแห่ง ก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบ แทบจะในทันที
แต่ละฝ่ายประเมินผลประทบแผ่นดินไหวอย่างไร ?
- โครงสร้างอาคารหลัก ได้รับการตรวจสอบจากสภาวิศวกรเบื้องต้นแล้วว่าไม่ได้กระทบ
เครื่องมือทางการเงินที่ผูกกับสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น REITs หรือ Investment Token จึงไม่น่าเป็นห่วง
มองพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างไร ?
- ความแข็งแกร่งในพื้นฐาน อุตสาหกรรม แข่งขันได้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
- เหตุการณ์นี้ จะเป็น SHOCK ระยะสั้น เพราะเราเคยผ่านภัยพิบัติ เช่น สึนามิ น้ำท่วมมาแล้ว
- จริง ๆ แล้ว วันนี้มีหนึ่งเรื่องใหญ่ในตลาดทุนโลก
คือความกังวลต่อ สงครามการค้าจีน สหรัฐฯ กระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นโซนเอเชีย ที่ได้เปิดไปแล้ว เช่น
ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น -4%
ดัชนีตลาดหุ้นไต้หวัน -2%
นักลงทุนควรแยกให้ออกว่าผลกระทบ ที่จะเกิดกับตลาดหุ้นไทย มาจากเรื่องอะไร..
สรุปแล้ว ทั้ง 6 หน่วยงาน พูดตรงกันว่า แผ่นดินไหววันศุกร์ที่ผ่านมา เหมือนกับการทำ Stress Test ซึ่งเราสามารถรับมือได้ ระบบต่าง ๆ ยังสามารถรันต่อไปได้ และสร้างผลกระทบต่อเราเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ที่ยังคงเหลืออยู่ ก็คงจะเป็นสภาพจิตใจต่อภัยพิบัติ
ซึ่งเดี๋ยวเราก็จะผ่านมันไปได้เหมือนทุกครั้ง
และที่สำคัญสุดเลย คือการแยกแยะข้อเท็จจริง ออกมาจากข้อมูลที่กระหน่ำไหลเข้าหัวเรา ออกจากกัน..
โฆษณา