Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดร. ธีร์รัฐ บุนนาค
•
ติดตาม
31 มี.ค. เวลา 11:59 • การศึกษา
“ไม่ห้าม.. แต่ก็ไม่เคยอนุญาต.. ทำได้มั้ย..”
หลายคนสงสัยว่า.. คำสอนในศาสนาพุทธล้าสมัย.. แต่ทำไมพระพุทธเจ้าบอกว่า ธรรมของท่าน เป็นอกาลิโก.. ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา.. ไม่มีวันล้าสมัย..
แต่หลายอย่างในปัจจุบัน ไม่เคยปรากฏในอดีต..
ลองคิดดู.. ทุกวันนี้ เทคโนโลยีพัฒนาโลกก้าวหน้าไป 2,568 ปีแล้วนะ..คำสอน พระวินัยหลายเรื่องดูจะไม่ทันสมัยไปแล้ว เราควรปรับปรุงใหม่มั้ย..
เช่น สมัยนี้ ภิกษุต้องใช้เงินจับจ่ายใช้สอย.. ภิกษุควรจับ รับ ครอบครองใช้เงินทองได้.. ไม่น่าผิดพระวินัย..
สมัยนี้ เขาใส่รองเท้ากันหมด.. ภิกษุก็ควรสวมรองเท้าได้ แม้ในเวลาบิณฑบาต..
สมัยนี้ เขาใช้โซเชี่ยลมีเดีย.. ภิกษุใช้ไลน์ ใช้เฟสคุยกับสาว.. ไม่น่าจะผิดลับหูลับตา อยู่กับสีกาสองต่อสอง.. ไม่น่าผิดศีลพระ..
แล้วโทรรุ่นใหม่ออกมา.. หรูหรา.. รถยนต์โยมถวายหรูหรา.. อาสนะเก้าอี้ ก็ชุดหลุยส์ โยมถวายของดีปราณีต อยากได้บุญ.. พระก็น่าจะรับ จะใช้ได้.. โยมจะได้ปิติ..
ในอดีตไม่มีรถยนต์ ทุกวันนี้ น่าจะให้ภิกษุสอบใบขับขี่ ขับรถยนต์เดินทางไปมาตามปกติได้..
ภิกษุต้องปรับตัวเข้ากับยุคสมัย.. จะได้รักษาพระศาสนา.. จนคนรุ่นใหม่ยอมรับได้..
เหตุผลสำคัญ ที่ภิกษุและชาวพุทธต้องปรับตัวคือ..
1) เพื่อความทันสมัย ให้สังคมยอมรับศาสนา คำสอน และพระภิกษุ.. ไม่เห็นเป็นของเก่าโบราณคร่ำครึ ตัวประหลาด.
2) สิ่งทันสมัยต่างๆ.. พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้าม.. ไม่มีพระวินัยบัญญัติห้ามไว้โดยตรง.. จึงน่าจะทำได้..
3) สิ่งทันสมัยต่างๆ.. เพราะไม่ทรงอนุญาตให้ทำได้ชัดเจน.. จึงน่าจะทำได้.. เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่มีในสมัยพุทธกาล..
เช่น การกราบไหว้รูปปั้นพระพุทธเจ้า.. การใช้โทรศัพท์มือถือ.. และการใช้สื่ออนไลน์ติดต่อสื่อสาร.. หรือการสวดคาถาบทนิยมที่แต่งขึ้นใหม่..
อยากจะตอบว่า..
1) หลายเรื่อง เคยมีแต่ในอดีตแล้ว.. เช่น รองเท้า.. สมัยโน้นเขาก็ใส่กัน.. เน้นความหรูหราสวยงามตามรายได้และตำแหน่ง..
พระองค์ก็อนุญาตให้ ภิกษุสวมรองเท้าไม้ใบ้ชั้นเดียวได้.. ห้ามปิดส้น มีสีสวยแบบชาวบ้าน..
การสูบบุหรี่ สูบไปป์ในยุคนี้.. ในยุคนั้น ก็มีกล้องสูบยานัตถุ์ ก็ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้ได้.. แต่ต้องไม่หรูหรา..
เก้าอี้ เตียงตั่ง ก็มีมาแต่ยุคนั้น.. แต่ท่านห้ามใช้ขาสิงห์ ฝังเพชร สูง เบาะหนา ตกแต่ง สวยงามแบบฆราวาสใช้..
ยาน ก็มีมาแต่ยุคนั้น.. ก็มีพระวินัยเรื่องยาน เทียบได้กับม้า กับเกวียน กับรถยนต์ในปัจจุบันได้..
2) การปรับตัว โดยเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกเลิกคำสอน.. หากเป็นไปเพื่อความสะดวกสบายเยี่ยงปุถุชน.. เพื่อตามใจกิเลสตน.. นั่นคือ การทำลายคำสอนศาสนา.. ทำไม่ได้..
เช่น เรื่องภิกษุอยากใช้เงินทองมาแบ่งกัน เอาถาดทองให้ชาวบ้าน เขาถวายเงินให้พระโดยไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าห้ามรับเงิน ก็มีมาแต่ยุคนั้นแล้ว..
หลังปรินิพพานราว 100 ปี..ภิกษุกลุ่มใหญ่ในเมืองวัชชีในยุคนั้น ก็แอบรับเงินทอง ขอให้ชาวบ้านถวายเงินทองให้..
พอพระอรหันต์องค์หนึ่งเดินทางมาพบไม่ยอมรับเงิน.. และไปสอนชาวบ้านว่า อย่าถวายเงิน ผิดศีลพระ..
ภิกษุส่วนใหญ่ เห็นว่า ภิกษุควรรับเงินทองได้.. และพระพุทธเจ้าสั่งเสียไว้ว่า พระวินัยเล็กๆน้อยๆ จะยกเลิกแก้ไขให้ทันสมัยก็ได้ไม่ผิด..
ภิกษุวัชชีจึงระดมเสียงข้างมากได้ จัดการแก้ไขสังคายนาพระไตรปิฏกเอง ให้ยกเลิกพระวินัยข้อห้ามรับเงิน..
พระอรหันต์มีเสียงข้างน้อยกว่า.. ก็รีบประชุมกันทำสังคายนาอีกกลุ่ม ยืนยันพระวินัยข้อนี้ว่า ห้ามรับเงินทอง..
แนวคิดของกลุ่มภิกษุวัชชีเพิ่มมากขึ้น.. จนกลายเป็นพุทธนิกายมหายานในปัจจุบัน..
ข้ออ้างเรื่องภิกษุควรใช้เงินได้ ก็เถียงกันมาแต่ยุคโน้นแล้ว.. ไม่ใช่เรื่องใหม่..
ยังมีอีกนะ.. บางคนบอกว่า คำบริกรรมต่างๆ.. เช่น สัมมาอรหัง.. นะมะพะธะ.. พุทโธ.. ยุบหนอพองหนอ.. เหล่านี้ ไม่ควรทำตามเพราะพระองค์ไม่เคยสอน..
คำตอบก็คือ..
ถ้าเราศึกษาพระไตรปิฏก ในพระสูตรต่างๆหลายสูตรที่มีอยู่จนถึงก่อนปรินิพพาน ท่านสั่งไว้ว่า..
1. พระวินัยเล็กน้อย ให้แก้ไขได้..
2. คำสอนใหม่ที่อ้างว่า เป็นธรรมของเรา.. ถ้าสอดคล้องเข้ากันได้กับพระธรรมวินัย (พระสูตรและพระวินัย ในพระไตรปิฏก) ให้เชื่อได้..
3. คำสอนใด.. เป็นไปเพื่อลด ละ เลิก ความชั่วและกิเลส.. เป็นคำสอนเรา.. และ
4. สิ่งใดแม้ไม่ห้าม.. แม้ไม่อนุญาตนั้น ขัดต่อสิ่งควร (คำสอนว่าดี).. สอดคล้องกับสิ่งไม่ควร (ส่งเสริมความชั่ว).. ถือว่า ไม่ควร..
สิ่งใดแม้ไม่ห้าม.. แม้ไม่อนุญาตนั้น เข้ากับสิ่งควร (คำสอนว่าดี).. ค้านกับสิ่งไม่ควร (ตรงข้ามกับความชั่ว).. ถือว่า สมควร..
ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า.. ธรรมคำสอนที่ถูกนั้น จะไม่ขัดแย้งกันเลย.. จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด..
ดังนั้น พระวินัยข้อใดเรื่องใดเล็กน้อย.. เช่น ไม่ใช่เรื่องหนัก ปาราชิก หรือสังฆาทิเสส.. เป็นต้น
ถ้าไม่ได้เป็นไปเพื่อกิเลสตน.. ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ ลาภสักการะ.. พระพุทธเจ้ายอมให้ปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย..
เรื่องแก้ไข ตีความพระวินัย.. เช่น..
ภิกษุรับเงิน เป็นอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์.. คือ แก้ไขได้โดยคืนเงินแล้วค่อยปลงอาบัติ.. เป็นเรื่องเล็กน้อยมั้ย..
ภิกษุวัชชีเห็นว่า เล็กน้อย.. จึงทำต่อๆกันมา จนเป็นวินัยของนิกายมหายาน.. แต่กลุ่มพระอรหันต์ท่านเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่..
แม้จะตีความว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย.. ที่เน้นย้ำกว่านั้นคือ เจตนา.. ถ้าเป็นไปเพื่อส่งเสริมกิเลสตนเองแล้ว.. ไม่ใช่เป็นไปเพื่อเลิกลาวาง.. สอดคล้องกับความชั่วแล้ว..
ถือว่า เจตนาเป็นร้าย.. แก้ไขพระวินัยไม่ได้..
เรื่องการกราบพระพุทธรูป.. การสวดมนต์บทแต่งใหม่.. การบริกรรมภาวนา..
โดยสรุป ก็คือ..
ถ้าเป็นไปเพื่ออวิชชา.. ร้องขอ ไม่เชื่อกรรม เชื่อการดลบันดาลของความศักดิ์สิทธิ์.. เพื่อกิเลส.. ทำแล้วหลงสมาธิออกนอกอริยสัจ 4.. ทำแล้วติดยึดตัวตน โกรธ รัก โลภมากขึ้น.. แบบนี้ ไม่ใช่ธรรมคำสอน..
ถ้ากราบบูชาแล้ว เลื่อมใสศรัทธาในคุณพระรัตนตรัย.. มีสมาธิที่ถูกแนวทาง เกิดสติ เกิดปล่อยวางอัตตาตัวตนได้.. แบบนี้เป็นพระธรรม.. ควรส่งเสริม..
หวังว่า คงทำให้หลายท่านคลายความสงสัยลงได้บ้างนะครับ..
ในแง่กฎหมายนั้น ก็เช่นเดียวกัน..
ถ้ากฎหมายไม่เขียนรองรับไว้.. แต่ก็ไม่ห้าม.. ถามว่า จะทำได้มั้ย..
เช่น หมายจับ หมายค้น หมายเรียก.. คนที่จะถูกจับ ถูกค้น ถูกเรียก.. มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลมั้ย..
ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งมั้ย..
เช่น การไต่สวนคำร้องขอบล็อกเวปตามพรบ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 20 ..
ศาลจะเรียกไต่สวน 2 ฝ่ายแบบคดีแพ่ง โดยใช้ ปวิอ มาตรา 15 ให้นำปวิพ มาใช้ “เพียงเท่าที่จะใช้บังคับได้” มั้ย..
คำตอบ คือ..
พระพุทธเจ้าท่านให้ความสำคัญ โดยตีความที่เจตนารมย์ (อรรถ)ว่า เป็นไปเพื่อลดละกิเลสมั้ย.. มากกว่าดูพระบาลี (พยัญชนะ) ว่าอนุญาต ไม่อนุญาตไว้หรือไม่อย่างไร..
คำตอบของนักกฎหมาย คือ ดูเจตนารมย์ของกฎหมายครับ..
เจตนารมย์ในการออกหมายอาญาเพื่ออะไร.. ต่างจากแพ่งตรงไหน..
ต้องการตรวจสอบอำนาจรัฐ ด้วยความรวดเร็ว และเป็นเรื่องระหว่างศาลกับผู้ร้อง ใช่หรือไม่..
การไต่สวนคดีอาญา ต้องรัดกุม ตีความแคบ กฎหมายไม่เปิดช่อง ทำไม่ได้ใช่มั้ย..
การใช้ปวิพ ผ่านมาตรา 15 ในเรื่องทางอาญา ต้องไม่ขัดต่อหลักการอาญา เป็นเรื่องระหว่างศาลกับผู้ร้องใช่มั้ย..
ฝากนักกฎหมาย คิดพิจารณาดูนะครับ..
ถ้าเข้าใจเจตนารมย์.. แม้ยังไม่มีคำพิพากษาฎีกาเป็นแนว.. แม้ไม่มีกฎหมายเขียนรับรอง หรือห้ามไว้..
เราก็จะได้หาคำตอบที่ถูกต้องได้ด้วยตนเอง..
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย