7 เม.ย. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดอาณาจักร “ไชน่า เรลเวย์” เจ้าพ่อก่อสร้างจีน รายได้ติด Top 50 ของโลก!

เจาะลึกอาณาจักรธุรกิจก่อสร้างระดับโลกสัญชาติจีน “ไชน่า เรลเวย์” จากหน่วยงานรัฐ สู่รัฐวิสาหกิจรายได้ปีละหลายล้านล้านบาท
หากเปิดทำเนียบ Fortune Global 500 ซึ่งจัดอันดับธุรกิจที่มีรายได้มากที่สุดในโลกประจำปี 2024 พบว่า เกินครึ่งมีแต่องค์กรธุรกิจจากมหาอำนาจสหรัฐฯ (139 แห่ง) และจีน (133 แห่ง)
ที่น่าสนใจคือในฝั่งของจีน เพราะบริษัทส่วนใหญ่ที่ติดอันดับเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่มีรัฐเป็นเจ้าของ หนึ่งในนั้นคือ “ไชน่า เรลเวย์ เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป” หรือ “ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป” (CREC) บริษัทที่มีรายได้มากเป็นอันดับที่ 35 ของโลก ณ ปี 2024 ด้วยรายได้สูงถึง 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.1 ล้านล้านบาท)
ผลงานการก่อสร้างของ ไชน่า เรลเวย์
ไชน่า เรลเวย์ ยังอยู่ในการจัดอันดับของ Fortune Global 500 มานานเกือบ 20 ปีแล้วด้วย โดยเป็นหนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างและวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตอุปกรณ์อุตสาหกรรม การวิจัยและให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาทรัพยากร
ที่ผ่านมา ไชน่า เรลเวย์ ได้เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยเช่นกันผ่านบริษัทลูก โดยหลายคนอาจเพิ่งเคยได้ยินชื่อ แต่ความจริงแล้วนี่เป็นบริษัทที่มีประวัติค่อนข้างเกาแก่เลยทีเดียว
ก้าวแรกจากหน่วยงานรัฐ
จุดเริ่มต้นของ ไชน่า เรลเวย์ ต้องย้อนไปตั้งแต่ยุคของการเปลี่ยนผ่านจากสาธารณรัฐจีน มาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้มีการสถาปนากระทรวงการรถไฟขึ้นในปี 1949
ปีต่อมา เดือน มี.ค. 1950 กระทรวงได้ตั้ง สำนักงานวิศวกรรมการรถไฟ และสำนักงานออกแบบการรถไฟ และต่อมาได้ควบรวมหน่วยงานเป็นสำนักงานการก่อสร้างเมืองหลวงในปี 1958
ตลอดเวลาเกือบ 40 นับตั้งแต่ก่อตั้ง สำนักงานก่อสร้างเมืองหลวงได้ดำเนินการในฐานะหน่วยงานราชการ
จนกระทั่งเดือน ก.ค. 1989 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติยุบสำนักงานก่อสร้างเมืองหลวง และแปรรูปเป็นบริษัท ไชน่า เรลเวย์ เอนจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น (CRECG) แทน โดยอยู่ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินงานอิสระ การบัญชีอิสระ การจัดหาเงินทุนด้วยตนเอง และสถานะนิติบุคคลภายใต้การนำของกระทรวงการรถไฟ
จากนั้นในเดือน ก.ย. 2000 CRECG ได้แยกตัวออกจากกระทรวงการรถไฟโดยสมบูรณ์ และย้ายไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่บริหารโดยรัฐบาลส่วนกลาง
CRECG ยังได้ตั้งบริษัท ไชน่า เรลเวย์ (CREC) ขึ้นในปี 2007 และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ก่อนที่ 10 ปีถัดมาจะเปลี่ยน CREC มาเป็นรัฐวิสาหกิจและคงสถานะนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ผลงานการก่อสร้างของ ไชน่า เรลเวย์
ผลงานมีมากจนนับไม่หวาดไม่ไหว
ไชน่า เรลเวย์ ได้รับการรับรองจากกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมืองและชนบทของจีน โดยสามารถรับการว่าจ้างโครงการรถไฟ โครงการถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกของเทศบาล สะพาน อุโมงค์ ทางเท้า ผิวถนน และโครงการระบบขนส่งทางรางในเมือง นอกจากนี้ ยังได้รับใบรับรองสำหรับการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศและธุรกิจนำเข้าและส่งออก
ผลงานของ ไชน่า เรลเวย์ นั้นต้องใช้คำว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟมากกว่า 2 ใน 3 ของทางรถไฟทั้งหมดในประเทศจีน รวมถึงทางรถไฟฟ้า 90% ของประเทศ และยังมีส่วนสนับสนุนการสร้างทางด่วน 1 ใน 8 และโครงการระบบขนส่งทางรางในเมือง 3 ใน 5 ของจีนอีกด้วย
ขอบเขตธุรกิจของ ไชน่า เรลเวย์ ครอบคลุมเกือบทุกสาขาของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางรถไฟ ทางหลวง สิ่งอำนวยความสะดวกของเทศบาล ที่อยู่อาศัยและอาคาร ระบบขนส่งทางรางในเมือง สถานีไฟฟ้าพลังน้ำ สนามบิน ท่าเรือ ท่าเทียบเรือ ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น ยังให้บริการแบบครบวงจรสำหรับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ
ไชน่า เรลเวย์ มีผลงานที่โดดเด่นตั้งแต่สมัยยังเป็นหน่วยงานรัฐ เช่น ทางรถไฟเฉิงตู-ฉงชิ่ง ซึ่งเป็นทางรถไฟสายแรกของจีนหลังการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน, ทางรถไฟเป่าจี-เฉิงตู ทางรถไฟฟ้าสายแรกของจีน, ทางรถไฟเป่าโถว-หลานโจว ทางรถไฟทะเลทรายสายแรกของจีน, ทางรถไฟปักกิ่ง-เกาลูน ทางรถไฟรางคู่ที่ยาวที่สุดในจีน, ทางรถไฟความเร็วสูงฉินหวงเต่า-เสิ่นหยาง ซึ่งเป็นเส้นทางโดยสารความเร็วสูงสายแรกของจีน, ทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต ทางรถไฟบนที่ราบสูงสายแรกของโลก ฯลฯ
รวมแล้ว ไชน่า เรลเวย์ สร้างทางรถไฟความยาวรวมกว่า 90,000 กิโลเมตรเข้าไปแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นผู้สร้างทางรถไฟที่หลายคนอาจคุ้นหูดี นั่นคือทางรถไฟจีน-ลาว ที่เชื่อมระหว่างคุนหมิงและเวียงจันทน์
ในส่วนของทางหลวง ไชน่า เรลเวย์ ได้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ ก่อสร้าง และดูแลทางหลวงคุณภาพสูงมากกว่า 100 สาย เช่น ทางด่วนปักกิ่ง-จูไห่, ทางหลวงฉงชิ่ง-จ้านเจียง, ทางหลวงเหลียนหยุนกัง-คอร์กอส ฯลฯ รวมความยาวกว่า 40,000 กิโลเมตร
ไชน่า เรลเวย์ ยังได้สร้างโครงการสำคัญต่าง ๆ มากมายของจีน เช่น สถานีรถไฟปักกิ่ง, สถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง, หอสมุดแห่งชาติ, สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง และสนามแข่งรถ F1 เซี่ยงไฮ้
บริษัทระบุว่า พวกเขาได้ออกแบบและสร้างสะพานข้ามแม่น้ำและข้ามทะเลมากกว่า 10,000 แห่ง รวมถึงสะพานแม่น้ำแยงซีเกียงอู่ฮั่น ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีแห่งแรกของจีน, สะพานรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ตันหยาง-คุนซาน ซึ่งเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวรวม 164.851 กิโลเมตร ยังไม่นับสะพานตงไห่ หรือสะพานข้ามทะเลแห่งแรกของจีน และสะพานข้ามทะเลอ่าวเจียวโจวชิงเต่า สะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก
ในส่วนของผลงาน ไชน่า เรลเวย์ ในต่างประเทศเองไม่ได้น้อยหน้า เพราะสร้างชื่อมาตั้งแต่มีการก่อสร้างทางรถไฟแทนซาเนีย-แซมเบีย ระยะทาง 1,861 กิโลเมตรในช่วงทศวรรษ 1970 และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนมาโดยตลอด
ตั้งแต่นั้นมา ไชน่า เรลเวย์ ยังได้สร้างทางรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงในอินโดนีเซีย, ทางรถไฟฮังการี-เซอร์เบีย, ทางรถไฟบ่อเต็น-เวียงจันทน์ในลาว, ทางรถไฟฟ้าในอิหร่าน, ทางรถไฟความเร็วสูงในเวเนซุเอลา และอีกหลายโครงการ
หรือถ้าเป็นถนนหนทาง ก็มีผลงานในโบลิเวีย ปาปัวนิวกินี ศรีลังกา กานา ฟิจิ ฯลฯ ส่วนสะพานที่สร้างในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในบังกลาเทศ และประเทศแถบแอฟริกาเสียเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ไชน่า เรลเวย์ ยังสร้างรถไฟฟ้าในหลายประเทศของเอเชีย ทั้งมาเลเซีย หรือสิงโปร์ ยังไม่นับอาคารราชการต่าง ๆ ในอีกหลายประเทศ
เรียกได้ว่า ผลงานของ ไชน่า เรลเวย์ นั้น มีมากจนนับและไล่เรียงให้เห็นได้ไม่หมดจริง ๆ
ผลงานการก่อสร้างของ ไชน่า เรลเวย์
ผ่าโครงสร้าง มีบริษัทลูกบริษัทหลานนับไม่ถ้วน
ปัจจุบัน ไชน่า เรลเวย์ มีพนักงานประมาณ 290,000 คน รวมถึงช่างเทคนิคที่มีทักษะ 85,000 คนและนักวิชาการจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีน (CAE) ซึ่งมีตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญระดับสูงมากกว่า 2,400 คน โดยมีสำนักงานตัวแทนและดำเนินโครงการในกว่า 90 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก
ด้วยความที่ ไชน่า เรลเวย์ มีขอบเขตการดำเนินธุรกิจที่กว้างอย่างมาก ชนิดที่แทบจะครอบจักรวาลการก่อสร้างทุกประเภท และขยายไปในหลายประเทศ ทำให้บริษัทไม่สามารถขยับได้ง่ายหากรวมทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลาง จึงจำเป็นต้องมีบริษัทลูกเพื่อช่วยขับเคลื่อน
นั่นเป็นผลให้ ไชน่า เรลเวย์ มีบริษัทลูกมากกว่า 50 แห่งเลยทีเดียว โดยแบ่งเป็นบริษัทด้านการก่อสร้าง โครงการต่างประเทศ วิศวกรรมการออกแบบ การผลิตอุปกรณ์เครื่องจักร อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมแร่ ฯลฯ
แต่ที่เป็นเหมือนรากฐานที่สุดของ ไชน่า เรลเวย์ คือบริษัทลูกที่อยู่ในขาของการก่อสร้าง โดยเฉพาะที่มีหมายเลขกำกับอยู่ในชื่อ เช่น ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ทู, ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์ไฟฟ์ หรือไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เพราะนี่คือบริษัทที่อยู่ภายใต้ ไชน่า เรลเวย์ มาตั้งแต่สมัยยังเป็นหน่วยงานราชการ
โดยเลข 1-10 (ยกเว้นเลข 4 ที่ไม่มีการนำมาใช้ คาดว่าเป็นไปตามความเชื่อจีน) สื่อถึงหน่วยงานย่อยภายในสำนักงานวิศวกรรมการรถไฟ และสำนักงานออกแบบการรถไฟ ที่เป็นจุดตั้งต้นของ ไชน่า เรลเวย์
บริษัทลูกเหล่านี้จะมีสโคปและแผนการดำเนินงานที่แตกต่างและเป็นเอกเทศจากกัน อาทิ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ไฟฟ์ เน้นการสร้างทางรถไฟใต้ดินและทางรถไฟความเร็วสูง โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการหลักอยู่ในสิงคโปร์และประเทศแถบแอฟริกา
ส่วน ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เซเว่น โฟกัสการสร้างสะพานเป็นหลัก และดำเนินธุรกิจส่วนใหญ๋ในแอฟริกาตะวันตก หรือไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ไนน์ มีทั้งโครงการในประเทศจีนและต่างประเทศ แถบมาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย เวเนซุเอลา
หรือ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น (CREC10) ที่หลายคนอาจจำชื่อได้ขึ้นใจ ให้บริการด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง รับงานรับเหมาก่อสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ อุโมงค์ เทศบาล และโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ โดยมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ที่ได้มีการตั้งบริษัทลูก บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นในไทย เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศ
ผลงานการก่อสร้างของ ไชน่า เรลเวย์
ความน่าเชื่อถือสั่นคลอน เมื่อปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง
ทั้งนี้ แม้บริษัทแม่อย่าง ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป จะมีชื่อเสียงและผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกว่ามีมาตรฐาน แต่บ่อยครั้งมักเกิดชื่อเสียและข่าวฉาวเกี่ยวกับบริษัทลูก ทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป ด่างพร้อยตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น เหตุสะพานที่กำลังก่อสร้างยาว 25 เมตรข้ามแม่น้ำ Nzioa ทางตะวันตกของประเทศเคนยา เกิดพังถล่มเมื่อปี 2017 ส่งผลให้คนงานอย่างน้อย 27 คนได้รับบาดเจ็บ โดยบริษัทที่รับผิดชอบโครงการคือ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น โครงการครั้งนั้นมีมูลค่า 1.2 พันล้านชิลลิงเคนยา
ในเวลานั้น มีการกล่าวหาว่า ความไม่สมดุลของน้ำหนักบรรทุกของสะพานเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการพังทลาย
หรือในปี 2022 มีรายงานว่า สัญญาการก่อสร้างรางรถไฟใหม่ในเมืองหลวงของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนากับบริษัทจีน คือ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น มีความเชื่อมโยงกับอุบัติเหตุหลายกรณีในโครงการก่อสร้างในประเทศ ส่งผลให้มีคนงานได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ขณะที่ในปี 2023 กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารเปรู และกระทรวงที่อยู่อาศัย ก่อสร้าง และสุขาภิบาลเปรู ได้สั่งระงับสัญญาการก่อสร้างของบริษัท China Tiesiju Civil Engineering Group Co. Ltd., Peru Branch (CTCEG) และ China Railway Tunnel Group Co. Ltd., Peru Branch (CRTG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยจากบริษัทลูกของ ไชน่า เรลเวย์ อีกที หลังจากพบความผิดปกติในกระบวนการประมูลโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะมูลค่ารวม 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทางการเปรูระบุในเวลานั้นว่า บริษัทจีนหลายแห่งซึ่งมีความเชื่อมโยงกันเป็นบริษัทลูก ได้เข้าร่วมในกระบวนการประมูลเดียวกันในหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง เพื่อแข่งกันเองและผูกขาดการประมูล
เปเรซ เดอ ซูเอลลา รัฐมนตรีกระทรวงที่อยู่อาศัย ก่อสร้าง และสุขาภิบาลเปรูในเวลานั้น บอกว่า “บริษัทจีนทั้งหมดสุดท้ายแล้วก็เป็นบริษัทพี่น้องหรือบริษัทย่อย เพียงแต่ใช้ชื่อบริษัทที่แตกต่างกัน สำหรับโครงการนี้ ผู้เสนอราคารายแรกคือ CTCEG แต่บริษัทแม่อย่าง ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็นก็เข้าร่วมประมูลด้วย ...อาจจะมีข้อตกลงหรือข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ยื่นประมูลโดยใช้ชื่อบริษัทที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้ว บริษัททั้งหมดก็มาจากบริษัทแม่เดียวกัน ถือเป็นหนึ่งเดียวกัน”
และเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา ซินหัว สื่อของรัฐบาลจีน รายงานว่า อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโส 2 คนของบริษัท China Railway Tunnel Group (CRTG) หนึ่งในบริษัทลูกของ ไชน่า เรลเวย์ ถูกศาลจีนตัดสินจำคุกและโทษปรับจากคดีรับสินบน
โดยศาลประชาชนระดับกลางของเมืองกว่างโจวตัดสินจำคุกอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโส 2 คน คือ สี เจิ้งปิ่ง และ โจว จงเหอ ในข้อหารับสินบนและจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศ สีได้รับโทษจำคุก 5 ปี และปรับเงิน 300,000 หยวน ขณะที่โจวถูกตัดสินจำคุก 2 ปี และปรับเงิน 100,000 หยวน
ศาลพบว่า ตั้งแต่ปี 2017-2019 ทั้งสีและโจวเสนอสินบนเป็นเงิน 220,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสิงคโปร์
ตัวอย่างเคสเหล่านี้จึงเป็นที่มาของชื่อเสียงที่เสื่อมเสียลงเรื่อย ๆ ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ซึ่งสวนทางอย่างยิ่งกับสถานะการเป็นบริษัทระดับท็อปในระดับโลก และเป็นสถานการณ์ที่บริษัทต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะปลาเน่าตัวเดียวยังเหม็นทั้งข้อง แต่ลูกปลาทั้งหลายของ ไชน่า เรลเวย์ นั้นไม่ได้เน่าอยู่เพียงตัวเดียว หากปล่อยทิ้งไว้นานกว่านี้ ต่อให้เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็อาจมีวันพังครืนลงมาได้เหมือนกัน
ประวัติธุรกิจ ไชน่า เรลเวย์
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/246277
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา