4 เม.ย. เวลา 11:24 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

What your neighbourhood now says about your dementia risk

ที่ที่คุณอาศัยอยู่สามารถจะบอกเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมของคุณ
การอาศัยอยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาส อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมและเร่งการเสื่อมของสมองคุณได้อย่างมาก
สถานที่ที่คุณอาศัยอยู่นั้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของคุณ ตั้งแต่อากาศที่คุณหายใจเข้าไป จนถึงรายได้ของคุณ มีปัจจัยมากมาย ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาวของคุณ และตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมด้วย
การวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร ประสาทวิทยา Neurology พบว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านหรือชุมชนที่ด้อยโอกาส มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านที่ร่ำรวยกว่า ถึงสองเท่า
งานวิจัยนี้นำโดย เดไซ Pankaja Desai ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย รัช Rush เมืองชิคาโก การวิจัยนี้ได้ติดตามผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวนกว่า 6,800 คน ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในชุมชน 4 แห่งในเมืองชิคาโก ผู้เข้าร่วมการวิจัยทุกคน ได้เข้ารับการทดสอบความจำ และทักษะการคิดเป็นประจำ ส่วนข้อมูลการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ได้รวบรวมจากผู้เข้าร่วมการวิจัย ประมาณ 2,500 คน
เมื่อสิ้นสุดการวิจัยที่กินระยะเวลานาน 6 ปี ผลพบว่า กลุ่มผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านที่ด้อยโอกาสมากที่สุด เป็นโรคสมองเสื่อมถึงร้อยละ 22 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านที่ด้อยโอกาสน้อยที่สุด ซึ่งพบเป็นโรคสมองเสื่อมเพียงร้อยละ 11
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะได้ปรับปัจจัยที่มีผลอื่นๆ ที่มีผลต่อโรคสมองเสื่อมเช่น อายุ เพศ และระดับของการศึกษาแล้วก็ตาม แนวโน้มของการเป็นโรคสมองเสื่อมดังกล่าวก็ยังคงเดิม โดยกลุ่มผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านที่ด้อยโอกาสมากที่สุด ยังคงมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าสองเท่า
แล้วคำว่า 'ด้อยโอกาส' ในบริบทนี้ หมายถึงอะไร นักวิจัยได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ดัชนีความเปราะบางทางสังคม หรือชื่อย่อว่า เอสวีไอ SVI ซึ่งดัชนีความเปราะบางทางสังคมนี้ เป็นเครื่องมือที่ได้รวมปัจจัย16 ปัจจัยเข้าด้วยกัน ได้แก่ การว่างงาน รายได้ อายุ เชื้อชาติ ประเภทที่อยู่อาศัย และการเข้าถึงการขนส่ง เพื่อจะใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ในระดับชุมชน
เดไซ กล่าวว่า “ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า ชุมชนที่คุณอาศัยอยู่ มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม” “การวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ มักจะเน้นที่ระดับบุคคล ไม่ใช่ระดับชุมชน”
ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่งคือ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านที่ด้อยโอกาสมากที่สุด เป็นโรคสมองเสื่อมเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่ออายุมากขึ้น โดยไม่คำนึงว่า พวกเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ โดยเฉลี่ยแล้ว ทักษะความจำและการคิดจะเสื่อมเร็วขึ้นประมาณร้อยละ 25 สำหรับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเหล่านี้
การวิจัยนี้ยังได้ให้ข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับความแตกต่างทางเชื้อชาติของโรคสมองเสื่อม ผู้เข้าร่วมการวิจัยนี้ สองในสามเป็นคนผิวดำ และผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นคนผิวดำ อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาสในสัดส่วนสูงกว่าผู้คนในกลุ่มอื่น ถ้าไม่คำนึงถึงความด้อยโอกาสของชุมชนหรือสถานที่ที่อาศัยอยู่ ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม ทั้งผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นคนผิวดำ และผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นคนผิวขาว จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในอัตราเท่าๆ กัน
เดไซ เชื่อว่า สิ่งนี้มีนัยที่สำคัญ ต่อวิธีการวางแผนบริการด้านสุขภาพของเรา “ลักษณะทางสังคมที่อยู่ในระดับชุมชนต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการวางแผนทรัพยากรและการให้การบริการ เพื่อจะลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์” เดไซ บอกกับวารสาร บีบีซี ไซเอนซ์ โฟกัส BBC Science Focus ว่า “การคำนึงถึงปัจจัยในระดับบุคคล และการคำนึงถึงปัจจัยระดับชุมชน อาจเป็นประโยชน์ ที่จะรวมไว้เป็นส่วนหนึ่ง ในการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม”
ในแถลงการณ์ที่แยกกัน เดไซ ได้กล่าวเสริมว่า “แน่นอนว่า การเข้าไปจัดการช่วยเหลือทางสังคมในด้านต่างๆ ในระดับชุมชนนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่การให้ความสำคัญกับชุมชนที่ด้อยโอกาสนั้น อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการระดมทรัพยากรสำหรับผู้สูงอายุ และยังเป็นการจัดเตรียมช่องทาง ในการลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม สำหรับชุมชนโดยรวม”
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การวิจัยนี้ ได้เน้นการวิจัยไปที่ชุมชนต่างๆ ในชิคาโก ดังนั้นผลการวิจัยอาจใช้ไม่ได้กับทุกที่ และแม้ว่าการวิจัยนี้ จะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอันแน่นแฟ้นระหว่างชุมชนที่ด้อยโอกาสและโรคสมองเสื่อม แต่ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่า สิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกสิ่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้ได้บ่งบอกชัดเจน นั่นคือ สุขภาพของสมอง ไม่ได้หมายความถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายของคุณเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณด้วย
ผู้เขียน : Tom Howarth
แปลไทยโดย : Wichai Purisa (senior scientist)
โฆษณา