9 เม.ย. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไม RAM ถึงมีโอกาสถือหุ้น THG เกือบครึ่ง โดยไม่ต้อง ซื้อหุ้นเพิ่มจากรายย่อย

ช่วงที่ผ่านมา ใครติดตามข่าวหุ้นก็คงเห็นชื่อ โรงพยาบาลธนบุรี หรือ THG โผล่บนหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง
ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง และทางอ้อมกับภาพลักษณ์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น
- ราคาหุ้นที่ร่วงลงกว่า 90% จากจุดสูงสุด
- การตรวจพบรายการน่าสงสัยเกี่ยวกับการกู้เงิน
- คดีฉ้อโกงของอดีตผู้ก่อตั้ง มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท
แต่รู้หรือไม่ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ THG ไม่ใช่กลุ่มวนาสินของผู้ก่อตั้งเดิมมาสักพักแล้ว แต่เป็นโรงพยาบาลรามคำแหง หรือ RAM ที่ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 24.59%
จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ทาง THG ก็ได้ประกาศว่าจะมีการเพิ่มทุนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ซึ่งจะเปิดทางให้ RAM ขยับถือหุ้นเพิ่มเป็น 49.99%
ซึ่งโดยปกติแล้ว ตามกฎของทาง ก.ล.ต. การที่บริษัทหนึ่งเข้าถือหุ้นอีกบริษัทหนึ่งเกิน 25% จะต้องยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือที่เรียกว่า Tender Offer ด้วย
แต่ที่น่าสนใจคือ แม้หลังเพิ่มทุน RAM จะสามารถเข้ามาถือหุ้นเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัท แต่กลับมีโอกาสที่จะไม่ต้องทำ Tender Offer
1
หากอยากรู้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการของบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ได้มีมติเสนอแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ พร้อมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด 941 ล้านหุ้น
โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
1. การเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP)
คือ การขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด ที่บริษัทเลือกไว้แล้ว แบบเฉพาะเจาะจง
ในกรณีนี้คือ การขายให้โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) จำนวน 430.50 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 8.65 บาท
ซึ่งการเพิ่มทุนแบบ PP มักใช้กับพันธมิตรทางธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อดึงเงินก้อนโตเข้าบริษัทอย่างรวดเร็ว
2. การเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิม หรือ Right Offering (RO)
1
คือ การขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกราย ตามสัดส่วนที่ถืออยู่
ในกรณีนี้คือ การขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 511 ล้านหุ้น ในราคา 5 บาทต่อหุ้น ที่อัตราส่วน 5 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นใหม่
หมายความว่า ผู้ถือหุ้นเดิมที่มีหุ้นอยู่ 5 หุ้น จะมีสิทธิจองซื้อหุ้นใหม่ได้ 2 หุ้น ในราคาหุ้นละ 5 บาท
ซึ่งหากการเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นไปตามแผน THG จะได้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้ราว ๆ 6,279 ล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนครั้งนี้ RAM จะได้สิทธิในการเพิ่มทุนทั้ง 2 วิธี จากทั้งการเพิ่มทุน PP โดยตรง และในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมที่มีสิทธิ RO ด้วย
ซึ่งหาก RAM ใช้สิทธิทั้งหมดที่ได้รับ จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน THG เพิ่มขึ้นจากเดิม 24.59% เป็น 49.99% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัท
และถ้าผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่ใช้สิทธิ RAM อาจใช้สิทธิเหล่านั้นแทน จนอาจทำให้ สัดส่วนการถือหุ้น ขยับขึ้นไปเกิน 50% ได้อีกด้วย
แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สิ่งที่น่าจับตาคือ RAM กำลังจะเข้าถือหุ้นเกือบครึ่งหนึ่งของ THG แต่มีโอกาสที่จะไม่ต้องทำ Tender Offer แม้จะถือหุ้นเกิน 25% ก็ตาม
ทั้งที่โดยปกติแล้ว หากกว้านซื้อหุ้นของบริษัทในตลาดถึงร้อยละ 25, 50 และ 75 ขึ้นไป จะต้องทำ Mandatory Tender Offer ซึ่งก็คือ การเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายอื่นในตลาด ตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
2
ซึ่งสิ่งที่ทำให้ RAM สามารถถือหุ้นเกือบ 50% ได้ โดยไม่ต้องทำ Tender Offer ก็คือการใช้สิทธิที่เรียกว่า Whitewash
โดย Whitewash คือ การขอผ่อนผันไม่ต้องทำ Tender Offer ซึ่งต้องได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 3 ใน 4 และต้องไม่นับรวมคะแนนเสียงของ RAM ที่เกี่ยวข้องกับดีลนี้
พูดง่าย ๆ คือ ถ้าผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ของ THG ที่ไม่ใช่ RAM เห็นด้วยเป็นเสียงข้างมาก
RAM ก็สามารถถือหุ้นเกิน 25% ได้เลย โดยไม่ต้องซื้อหุ้นจากรายย่อยทั้งหมด และไม่ต้องทำ Tender Offer ให้ยุ่งยากนั่นเอง
ซึ่งก็จะทำให้ RAM ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม มากไปกว่าเงินที่เพิ่มทุนให้กับ THG เพื่อขอซื้อหุ้นกับผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ จากการทำ Tender Offer
อีกทั้งยังทำให้ตัวเองมีอำนาจในกิจการของ THG ได้ โดยที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง ด้วยการครอบครองกิจการทั้งหมดของ THG เหมือนการซื้อหุ้นทั้งหมดด้วย
อย่างไรก็ตาม วาระการอนุมัติเพิ่มทุนแบบ PP และ RO รวมถึงการขอผ่อนผัน Tender Offer หรือ Whitewash ต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ THG ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2568
ในมุมของ THG การเพิ่มทุนครั้งนี้ คือโอกาสในการระดมเงินก้อนใหญ่ เพื่อนำไปลดหนี้ และช่วยเพิ่มสภาพคล่อง
ขณะที่ในมุมของ RAM การเพิ่มทุนครั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่การลงทุนเพิ่มเพื่อช่วยระดมทุนให้ THG เพียงอย่างเดียว
แต่ยังเป็นการขยับสถานะจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไปสู่ผู้มีอำนาจควบคุมกิจการอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งก็อาจเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ในการขยับตัวของเครือข่ายโรงพยาบาลที่น่าจับตามอง..
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#THG
#RAM
โฆษณา