11 เม.ย. เวลา 04:00 • นิยาย เรื่องสั้น
มหาวิทยาลัยโมนาช

จากบ้านหินกองสู่ Clayton #3/14

[------เท้าแตะ Down Under------]
6 มิถุนายน 37 ถึงสนามบิน Tullamarine ของเมลเบิร์นน่าจะสักตีห้า
สนามบิน Tullamarine หรือบางทีก็เรียก Melbourne Airport ภาพเมื่อปี 1995
ก่อนหน้านี้ผมได้นัดให้รถของโรงเรียนมารับล่วงหน้าแล้ว พอรับกระเป๋าแล้วเดินออกมาก็เจอลุงฝรั่งมีพุงคนนึงชูป้ายชื่อผมอยู่ เอาหล่ะ รอดแล้ว
แกพาผมไปขึ้นรถตู้กลางเก่ากลางใหม่สีขาวคันย่อม ๆ พอขึ้นไปนั่งปุ๊บแกก็เริ่มขู่เลย “ถ้าไม่รัดเข็มขัดจะไม่ออกรถนะ” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ผมติดเป็นนิสัยที่จะคาดเข็มขัดทันทีที่ขึ้นรถ
ระหว่างทางผมก็คุยอะไรกับแกไปเรื่อยเปื่อย ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นยังพูดติด ๆ ขัด ๆ แต่สำเนียงของแกก็ไม่ได้แย่อย่างที่เคยได้ยินว่าคนที่มีสำเนียงออสซี่แท้ ๆ จะฟังยากมาก สำเนียงแกไปทางอังกฤษนิดนึงมากกว่า
เรื่องสำเนียงออสซี่กว่าผมจะได้ยินก็เมื่อผ่านไปสองปีหลังจากนั้น
คือตอนนั้นเพื่อนคนไทยต้องการที่จะซื้อรถมือสอง และได้ไปเจอคนประกาศขายรถที่น่าสนใจอยู่ในหนังสือพิมพ์ ผมเลยโทรไปถามตามเบอร์ที่ได้มา
พอเริ่มคุยนี่ก็มึนตึ้บเลย เสียงปลายทางเหมือนกับคนเมาที่พูดไปเคี้ยวลิ้นไป เอาเป็นว่าไม่รู้เรื่องเลยว่าพูดอะไร ผมเลยรีบ “แต๊งกิ้ว ๆ” แล้วรีบวางเลย
ผมคุยไปคุยมากับลุงซัก 20 นาที ระหว่างที่รถอยู่บริเวณ Queen Victoria Market โทรศัพท์มือถือของแกก็ดังขึ้น (เมื่อ 30 ปีที่แล้วคนที่มีมือถือนี่หายากนะ แต่มันเป็นของจำเป็นที่ลุงต้องใช้)
แกจอดรถแอบข้างทางแล้วคุยอยู่พักนึง ได้ความว่ายังมีนักเรียนอีกคนนึงที่มาเที่ยวบินเดียวกับผมแต่ยังรออยู่ที่สนามบิน
โอ้โห... 20 นาทีที่ผ่านมาเรามาไกลราว 20 กิโลฯ แล้ว แต่ยังไงก็ต้องวกกลับอยู่ดี
ลุงแกบ่นออกมานิดหน่อย แล้วพาผมวกกลับไปชมวิวรอบสอง ไปรับไอ้หนุ่มตี๋อินโดที่ตกรถอยู่
ผมจำไม่ได้ว่าทำไมมันถึงพลาดจากรถตู้ แล้วตอนที่ลุงแกโชว์ป้ายชื่อผมเขาได้ชูป้ายหมอนี่ด้วยหรือเปล่า
ผมเห็นหมอนี่ขึ้นมาจากเด็นปาซาร์แล้วเพราะมีขึ้นมาใหม่ไม่กี่คน ดูมันโดดเด่นด้วยลุคแบบพระเอกสมัยน้าสมบัติ คือหวีผมเรียบแปล้ด้วยน้ำมันใส่ผม
มันชื่อ ซัฟฟรี่ (Sapphry Laksmana) จะมาเรียนภาษาที่เดียวกับผม แล้วจะต่อโทที่โมนาชด้วย ด้วยภาษาอังกฤษมันดีกว่าผม มันเลยทำหน้าที่คุยกับลุงไปตลอดทาง ทุ่นน้ำลายผมไปเยอะ
[------ELICOS at Normanby House------]
นอมันบี้เฮ้า (Normanby House) เป็นโรงเรียนสอนภาษาที่ขึ้นกับ Monash University ที่สอนหลักสูตร ELICOS - English Language Intensive Courses for Overseas Students ทั้งแบบภาษาทั่วไป และพวกที่มุ่งจะสอบ IELTS
นักเรียนที่ตั้งใจจะเข้าเรียนโมนาชหรือพวกที่ยังคิดไม่ออกว่าจะสอบเข้าที่ไหนดีก็จะเริ่มต้นโดยมาพักที่นอมันบี้ก่อน โดยเรียนห้องข้างล่างพักห้องข้างบน
พอปีกกล้าขาแข็งแล้วแทบทุกคนก็จะย้ายออกไปหาบ้านพักที่พอใจในด้านราคาและทำเลข้างนอก
ราคาที่พักที่นอมันบี้นี้ค่อนข้างแพง แต่ก็สะดวกสำหรับผู้มาใหม่
ลุงมาส่งพวกผมกับซัฟฟรี่ที่นอมันบี้ราว ๆ แปดโมงเช้า
พอลากกระเป๋าเข้าไปที่หน้าออฟฟิศของนอมันบี้ผมก็ต้องตะลึง..
[------วันแรกที่ Clayton------]
เจ้าหน้าที่ ๆ มาต้อนรับผมก็คือ เจฟฟรี่
หา!!!
ผมอุทานในใจ มาได้ไงวะ แต่ก็ดีใจเพราะเจฟฟรี่พูดภาษาไทยได้ดีมาก
คนดังมาต้อนรับเลยนะ
ได้ความว่าเขาเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่โมนาช เขาพักอยู่ที่หอของนอมันบี้ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรับรองนักเรียนใหม่ด้วย
ผมได้ห้อง 239 ส่วนซัฟฟรี่อยู่ห้องเยื้องกับผม จำไม่ได้ว่าเบอร์อะไร เรารีบ ๆ วางของแล้วผมกับมันก็ชวนกันสำรวจโลกภายนอก
ห้องพักในปี 2016 น่าจะเหมือนเดิมเกือบ 100% กับปี 1994 ที่ผมอยู่
ภาพถ่ายแรกที่ออสเตรเลียของผมคือภาพที่ซัฟฟรี่ถ่ายให้ในตอนสายของวันที่ 6 มิถุนายน 2537 แล้วเราก็เดินลัดเลาะไปยังตึก union ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโมนาช วิทยาเขตเคลย์ตั้น (Clayton Campus)
สามภาพนี่ถ่ายคนละวัน 6, 7, 10 มิถุนายน 37
วันแรกในเคลย์ตั้นเป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก มันเป็นเมืองน้อกกกกกเมืองนอก ทั้งถนนหนทาง สนามหญ้าที่นิยมตัดเรียบร้อยไปซะทุกแห่ง บ้านที่ไม่มีรั้ว ดอกหญ้าแดนดิไลออน (Dandelion) ที่สีเหลืองสดดูไฮโซเกินกว่าจะเป็นวัชพืชที่พบเห็นทั่วไป มองไปเห็นนกกระจอกขนหนาตัวอ้วนปั้กน้อง ๆ นกเขาบ้านเรา และความเย็นฉ่ำของอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส
เดือนมิถุนายนของเมลเบิร์นจะเป็นช่วงที่อากาศหนาวตรงข้ามกับเมืองไทย ช่วงนั้นอุณหภูมิตอนกลางคืนราว 6 องศา ดีที่อยู่ในห้องแคบ ๆ ที่มีฮีตเตอร์ ส่วนกลางวันก็ราว 15 องศาเซลเซียส แต่ไม่ค่อยมีลม เสื้อหนาวตัวเดียวก็เอาอยู่ แต่ดันมาหนาวเอาช่วงขาที่ไม่เคยนึกถึงเลยว่ามันจะหนาว ต้องทนอีกวันสองวันถึงได้มีโอกาสไปซื้อลองจอน (Long John) มาใส่ตอนนอนและตอนกลางวันด้วย ที่จริงเรื่องลมก็แล้วแต่วัน บางวันก็ลมแรงจนมือปวดใบหูชา
ปัญหาใหญ่ในวันแรกที่ไม่ได้นึกถึงมาก่อนเลยคือเรื่องอาหาร
ตามประสาคนกรุงเทพฯ ที่คิดว่ามีเงินก็ไปหาซื้อเอา แต่ปรากฎว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด บริเวณนอมันบี้มีแค่ตู้กดน้ำอัดลมอยู่ 1 ตู้ ถ้าอยากกินน้ำเปล่าเขาก็ให้กินจากในก๊อกน้ำ ตู้ขนมขบเคี้ยวก็ไม่มี โรงอาหารก็ปิดอยู่เพราะเป็นช่วงปิดเทอมที่แทบจะไม่มีใครพักอยู่ในหอนอมันบี้เลย
ตอนนั้นผมก็ตัดสินใจเร็วเกินไป แทนที่จะไปเคาะประตูถามคนที่อยู่ห้องอื่นซึ่งมีอยู่ไม่กี่ห้องว่าจะหาของกินได้ที่ไหน แต่ผมตัดสินใจเดินสุ่มหาเอาเอง
ผมเดินข้ามถนนนอมันบี้ไปยังหอพักที่อยู่ตรงข้าม สองตึกแรกสังเกตเห็นบริเวณที่เหมือนเป็นที่ขายอาหารก็ปิดไฟมืด มองไปรอบตัวไม่เห็นคนแม้แต่คนเดียว ที่นั่นบางช่วงเวลาจะหานกแก้วหลากสีได้ง่ายกว่าหาคนเสียอีก
ผมเดินไปจนไปเจอหอ Howitt Hall เห็นด้านล่างหอมีมุมขายอาหารเหงา ๆ อยู่
ในตู้มีอาหารอยู่สองอย่าง อย่างแรกเป็นมันฝรั่งบด 1 ถาด อีกถาดคือไข่ต้มไม่กี่ใบ
ตึกสูงนี่แหละ Howitt Hall
ผมซึ่งไม่ถนัดอาหารฝรั่งถึงตอนนั้นก็ยังทำใจไม่ได้ เลยสั่งไข่ต้มมา 2 ฟอง แล้วโชคดีที่โต๊ะที่นั่งเขามีซอสแม็กกี้อยู่ด้วย แค่นี้ก็ดีใจสุด ๆ ไปแล้ว
วันรุ่งขึ้นผมมาที่นี่อีก ตอนนี้มีแฮมเพิ่มขึ้นมา ได้กินพร้อมซอสกับพริกไทยนี่คืออิ่มอร่อยเลย
พอกลางวันผมก็ชวนซัฟฟรี่ไปเดินสำรวจทางเล่น ๆ ครั้งที่แล้วสำรวจใน u. แต่คราวนี้เดินออกไปถนนใหญ่
เราสองคนเดินเลี้ยวซ้ายออกจากหอไปตามถนนหน้านอมันบี้ ผ่าน Hallmark บริษัทการ์ดอวยพรชื่อดัง แล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีไปตามถนน Blackburn
เดินไปไม่นานก็เจอปั๊มน้ำมัน มีคนที่น่าจะเป็นเจ้าของร้านอยู่ 1 คนคอยเก็บเงิน
เป็นประสบการณ์แรกอีกแล้วที่เห็นการเติมน้ำมันแบบที่ไม่เหมือนเมืองไทย ที่จะมีคนเติมน้ำมันให้เรา ส่วนเราก็แค่นั่งอยู่ในรถรอจ่ายเงิน
ส่วนที่นั่นเราต้องไปหยิบหัวจ่ายน้ำมันมาเติมเองแล้วเก็บหัวจ่ายเอง แล้วเดินไปจ่ายเงินที่ในร้านโดยจำนวนเงินจะไปขึ้นที่จอในร้าน ทั้งร้านมีคนเก็บเงินคนเดียวก็พอแล้ว
ในร้านของปั๊มนี้ขายของกินนิดหน่อยและก็หนังสือพิมพ์ แล้วดันมีบะหมี่สำเร็จรูป Maggi ซองสีเขียวด้วย สุดแสนจะดีใจเลย รีบซื้อตุนเอาไว้แล้วก็เดินกลับ
แถวนั้นไม่มีรถรับจ้างหรือรถประจำทางอะไรเลย จะมีเฉพาะถนนบางสายแถวนั้นที่มีรถประจำทางเพราะ Clayton ถือว่าเป็นบ้านนอกที่ห่างจากตัวเมืองเมลเบิร์นราวยี่สิบกว่ากิโลฯ แล้วเมื่อสามสิบปีก่อนระหว่างทางจะไม่ค่อยมีชุมชนอะไรมากนัก
อีกสองสามวันต่อมาก็เริ่มมีนักเรียนทยอยเข้ามาพักที่นอมันบี้
นักเรียนส่วนมากเป็นคนอินโดฯ ช่วงแรกผมมักจะไปซื้อของกับพวกนี้โดยการชักนำของซัฟฟรี่
ร้านที่ไปประจำในตอนแรกนั้นคือร้านของชำเอเชียชื่อร้าน Hong Kong อยู่ที่บริเวณชุมชนการค้าเล็ก ๆ ที่เรียกว่า Clayton Shopping Center ซึ่งเป็นตลาดที่ใกล้ที่สุดของพวกเรา
ตอนแรกได้ยินพวกอินโดฯ ชวนกันไป "ฮ่องกง" ก็คิดว่าโอ้โหมันรวยกันจริง ชวนกันไปบ่อย ๆ  ไม่รู้ว่าเป็นชื่อร้าน
แถวนั้นจะมีสถานีรถไฟ Clayton, ร้านให้เช่าวิดีโอ, ร้านผลไม้, ร้านเนื้อสัตว์และอาหารทะเล, ร้านขายยา-ล้างอัดรูป, ร้าน Dick Smith, ….
ตอนแรกผมจะไปซื้อพวกบะหมี่หรือขนมเอเชียกินที่ร้านนี้ พอได้ย้ายไปบ้านที่มีครัวที่สะดวกทำกับข้าวได้เองก็จะไปหาซื้อพวกเนื้อสัตว์และอาหารทะเลที่ร้านแถวนั้นบ่อย ๆ
มีอยู่วันนึงก่อนเปิดเรียน ไม่รู้ว่าเป็นโอกาสอะไรพิเศษ เจฟฟรี่ได้พาพวกนักเรียนเอเชียจากนอมันบี้ออกไปกิน “เฝอ” ที่ร้านอาหารเวียดนาม
รสชาติของเฝอร้านนั้นถูกปากมาก เห็นสวรรค์รำไรเลยทีเดียว เป็นครั้งแรกที่ได้กินเฝอด้วย อยู่เมืองไทยก็ไม่เคยได้กิน
ช่วงนั้นผมยังไม่เจอคนไทยเลย
โฆษณา