11 เม.ย. เวลา 04:12 • นิยาย เรื่องสั้น
มหาวิทยาลัยโมนาช

จากบ้านหินกองสู่ Clayton #7/14

[------บ้านใหม่ที่ Morton Street------]
18 กรกฎาคม 37 และแล้วก็ถึงเวลาอำลาห้องหอ 239 ที่อยู่มาตั้งแต่ 6 มิถุนายน 37
ผมไม่ได้ดูฤกษ์ยามอะไร พอดีเป็นวันที่พี่ติ๊กย้ายออกและผมก็ได้พี่หมอกับพี่เล็กช่วยขนของมาอยู่ที่ 8/23 Morton Street ที่แชร์กับอ้อย ก็เป็นวันที่สะดวกดี
ปากซอยถนน Morton ภาพเมื่อปี 2019
Morton Street เป็นถนนซอยตันสั้นๆ ยาวประมาณ 400 เมตร เป็นถนนที่แยกมาจากถนน Blackburn ต้นซอยเป็น Milk Bar ที่ขายของกินเล็ก ๆ และหนังสือพิมพ์ ถัดไปเป็นร้านซักอบผ้าที่มีเครื่องซักและอบขนาดใหญ่ที่ผมจะใช้บริการทุกสัปดาห์ ทั้งสองร้านนี้ยังคงเห็นอยู่ใน Google street view ในปี 2019
ถัดไปก็จะไปร้าน Fish and chips ที่ผมซื้อกินบ้าง มันเป็นอาหารฝรั่งไม่กี่อย่างที่ผมชอบ ร้าน Fish and chips นี้หายไปแล้วตอนปี 2019
ติดกับร้าน Fish and chips เป็นบ้านของ ดร.เดชา แกสอนวิชาอะไรไม่รู้อยู่ที่ Monash U. แกน่าจะมาอยู่นานแล้วจนมีบ้านให้เช่ามากกว่า 1 หลังภายในถนนนี้
บ้านของ อาจารย์เดชาเป็นบ้านที่ผมมักจะเดินช้า ๆ ตอนผ่านบ้านแก แต่ละครั้งก็จะแอบชำเลืองเข้าไปในบ้าน เพราะตอนนั้นได้ยินมาว่าแกมีลูกสาววัยรุ่นที่สวยทีเดียว
บ้าน อ.เดชา นาจะทั้งสองบ้านที่เห็น
แล้วบ่ายวันนึงระหว่างกำลังหอบเสื้อผ้าใส่ถุงปุ๋ยจะไปซักผ้าต้นซอย ผมก็ต้องหยุดเดิน
ที่ผมพบกำลังยืนอยู่หน้าบ้านคือ คุณแม่ของอาจารย์เดชา ซึ่งท่านก็เมตตาคุยกับผมหลายนาที เป็นการให้กำลังใจหนุ่มผู้จากบ้านมาศึกษาแดนไกลที่มาอยู่ใหม่
เดินเลยบ้านอาจารย์เดชาก็จะเป็นบ้านที่คุณทรงพลเช่าอยู่กับ David กับเพื่อนฝรั่งอีกคนนึง แล้วถัดไปอีกสามช่วงบ้านก็จะเป็นบ้านที่ผมอยู่
ภายในถนนนี้ลึกเข้าไปอีกเกือบสุดซอยจะเป็นบ้านให้เช่าของอาจารย์เดชา มี ต้า-Mamtaranee Arora คนลำปาง อยู่กับเพื่อนคนไทยชี่อ “ติ๋ม” ซึ่งผมจำข้อมูลติ๋มไม่ได้ ต้าจะสนิทกับ Ami Ek สาวอินโดฯ ที่สนิทกับคนไทยด้วย
บ้านที่ ต้า-มัมตารานีอโรร่า เช่า อ.เดชา อยู่ท้ายซอย
บนฟุตบาธของถนนจะเป็นสนามหญ้ามีต้น Flax-leaf Paperbark ที่ทรงเหมือนบล็อกเคอรี่ยักษ์ ผมชอบตรงที่เปลือกของมันที่ลอกยื่นออกมา เปลือกนี้จะลอกแต่ยังติดกับต้น ลอกเป็นปึก และในปึกนี้สามารถลอกออกเป็นแผ่นที่บางและเรียบเหมือนกระดาษ ผมยังฉีกเอามาเขียนตัวหนังสือเก็บไว้จนถึงวันนี้
Flax-leaf Paperbark
ถนนเส้นนั้นข้างทางบางทีก็มีพุ่ม Rosemary ที่เป็นของแพงในไทย แต่ที่นั่นดูเหมือนเป็นต้นไม้ที่บังเอิญขึ้นมาเองแบบไม่มีใครสนใจ ราคาใน Shopee ตอนนี้ในไทย ที่เป็น Rosemary สดกิโลกรัมละประมาณ 2,990 บาท
ที่ริมถนนที่นี่ผมเจอเรื่องใหม่ที่น่าสนใจก็คือการเก็บขยะ
ทุกบ้านจะมีถังขยะขนาดเดียวกันหมด บางบ้านก็อาจจะมีสองถัง พอถึงวันเวลาที่นัดหมายกันเป็นประจำ แต่ละบ้านก็จะเข็นถังขยะจากบ้านตัวเองมาเรียงไว้ที่ริมถนน เราจะต้องวางถังให้ขนานแนวถนนและหันด้านของฝาให้ถูกทิศทางด้วย
ถ้าวางผิดรถเก็บขยะก็จะไม่เก็บ รถขยะจะมีคนขับคนเดียว พอเขาขับรถมาถึงถัง เขาก็จะใช้แขนเหล็กแบบก้ามปูสอดไปที่ถังแล้วยกกระดกเทลงที่รถ เมื่อสามสิบปีที่แล้วมันเป็นเรื่องที่น่าตื่นใจดี
เจ้าของบ้านที่ผมอยู่เป็นหญิงร่างท้วมอายุราวห้าสิบกว่า ชื่อ Lorain Baker ได้เจอตัวจริงก็ตอนจ่ายค่ามัดจำตอนเข้าบ้านและตอนที่แกมาตรวจสถาพก่อนการคืนบ้านเท่านั้น นอกนั้นก็จะคุยกันทางโทรศัพท์
บ้านเลขที่ 8/23 ที่เช่าอยู่คือหลังแรกที่มีถังขยะตั้งอยู่ข้างๆ
บ้านนี้มี 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ มีอ่างอาบน้ำ มีครัวโล่ง ๆ ติดห้องรับแขกที่มีฮีตเตอร์ที่จุดด้วยแก๊สรุ่นเก่า โซฟาผ้าเก่า ๆ โต๊ะกระจกเตี้ย โต๊ะกินข้าวเล็ก ๆ พื้นปูพรมสีน้ำตาลแบบหยาบ ๆ ทั้งหลัง พื้นที่ไม่ปูพรมก็จะเป็นครัวและในห้องน้ำ ค่าเช่าทั้งบ้านเดือนละ 480 AUD
ที่ถูกใจมากคือครัวที่มีอุปกรณ์ครบ เช่น ครก เขียง กระซอน กระทะ ฯลฯ
ครกนี่ถือว่าเป็น rare item ของคนไทย ผมได้รับการตกทอดมาพร้อมกับบ้านที่เช่าต่อจากพี่ติ๊ก ส่วนพี่ติ๊กจะรับมายังไงก็ไม่ได้ถาม
ครัวและโต๊ะกินข้าว
มีอยู่ครั้งหนึ่งน้องที่อยู่ South East Flat มายืมไปใช้ ผ่านไปสักสัปดาห์นึงผมก็เกิดอยากกินน้ำพริกกะปิ ก็เลยไปตามครกกับน้องที่นั่น ปรากฏว่าบ้านพี่จำนงยืมไปอีกทีนึง ก็ต้องเดินทางไปรับกลับมาจากบ้านพี่จำนง รอบนี้ครกผมเดินทางไกลอยู่ ไม่รู้ว่าผ่านไปสามสิบปี ครกนี้จะไปอยู่ไหนแล้ว
ผมซื้อไมโครเวฟมาตั้งแต่ตอนอยู่หอนอมันบี้แล้ว และก็ยกมาด้วย พอมาอยู่บ้านใหม่ก็ซื้อเครื่องดูดฝุ่น และ ทีวี 14 นิ้ว ที่เอาไว้ดูในห้องนอน ส่วนอ้อยเขาก็มีทีวีอยู่ในห้องนอนเขาเหมือนกัน
ห้องนอน
เรามักจะเลี่ยงเวลาทำกับข้าวและเวลากินข้าวกัน เรื่องกับข้าวนี่ต่างคนต่างเล่นใหญ่ ใครอยากกินอะไรก็จะใส่ความพยายามไปเต็มที่ และฝีมืออ้อยที่เป็นสาวเชียงใหม่นี่เขาก็เด็ดจริง ๆ บางทีเขาก็แบ่งให้ผมกินด้วย
ความสุขเพิ่มขึ้นสูงมากเพราะมีครัวให้ทำอาหารกินเองได้หลังจากอึดอัดมานานที่หอนอมันบี้ ผมจะทำอาหารทีละเยอะ ๆ ทำทีเดียวกินไปหลายมื้อ เช่น ผัดซีอิ๊ว, หมูหมักกระเทียม, ซุปไก่, ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ, ขนมจีนน้ำยา, แกงป่า, ต้มข่าไก่, แกงเหลืองหน่อไม้ดอง, ผัดกะเพรา, แกงจืดผัดกาดดอง
มีบ้างที่โทรไปคุยกับแม่ให้แม่หายคิดถึง โดยแกล้งทำเป็นถามเรื่องสูตรอาหาร เช่น ข้าวยำปักษ์ใต้, สาคูไส้หมู, เมี่ยงคำ, ปลาร้าสับ
ผมจะเอาอาหารใส่กล่องไปกินสองมื้อที่โรงเรียน ทั้งประหยัด ทั้งอร่อย
เรื่องอาหารนี่เป็นเรื่องสมควรที่จะระลึกถึงเป็นอย่างยิ่ง ขอเชิญอ่านกันยาว ๆ ไปละกัน
[------จิตสดใส เพราะกินอาหารไทยทุกวัน-------]
วันแรก ๆ ที่มาถึง ที่เคยพูดถึงมาแล้วว่าผมค่อนข้างจะต้องกล้ำกลืนกับไข่ต้มในมื้อแรก แล้วสถานการณ์ค่อยดีขึ้นเมื่อเจอบะหมี่ซอง และเมื่อโรงเรียนเปิดก็ดีขึ้นอีกมากที่ได้กินอาหารของร้านอินโดฯ และร้านเกาหลีที่นอมันบี้
ก่อนย้ายออกจากหอนอมันบี้ก็มีการพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นด้วยการซื้อหมูบ้าง ปลาสเกต (skate) บ้าง เอามาหมักน้ำปลากระเทียมพริกไทย ทอดกินกับข้าวสวยบ้างข้าวเหนียวบ้าง
ตอนนั้นผมจะใช้ไมโครเวฟหุงทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า หุงจนชำนาญทั้งสองอย่าง โดยแค่ซาวข้าวใส่ในชามแก้วใสยี่ห้อ Pyrex ที่ซื้อมาจาก Chadstone ถ้าเป็นข้าวเหนียวจะแช่น้ำไว้ก่อน 1 ชั่วโมงถึงจะหุง ได้ข้าวเหนียวออกมาหอมนุ่มกำลังดี และเก็บไว้ได้หลายมื้อโดยที่ยังนุ่มเหนียวด้วย
พอย้ายมาอยู่บ้านที่ Morton มีครัวที่สะดวกใช้ก็ยิ่งพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ
ช่วงนั้นก็เริ่มไปจ่ายตลาดที่ Springvale Shopping Center ที่อยู่ไกลจากบ้านราว 7 กม. เป็นตลาดชุมชนชาวเวียดนามและมีชาวลาวปะปนอยู่บ้าง ที่นี่มีผักสดแบบของเอเชีย เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก กะเพรา แมงลัก หอมเป มะขามเปียก น้ำปลา ปลาร้า ฯลฯ เหมือนได้พบขุมทรัพย์เลย
ผักสดที่นั่นผมถามได้ความว่าปลูกที่ Darwin ซึ่งเป็นเมืองหลวงของ Northern Territory ที่อยู่ตอนบนของทวีปใกล้เส้นศูนย์สูตรที่สุด สภาพอากาศทำให้สามารถปลูกพืชผักเหล่านั้นได้
นอกจากผักสดก็จะมีพวกน้ำพริกซองที่เป็นของไทย มีปลาทูนึ่งเวียดนามตัวใหญ่ มีสะตอแช่แข็งจากอินโดฯ เม็ดใหญ่เท่าหัวแม่มือ มาทีได้ของไปทำกับข้าวครบจบในที่เดียว
มีร้านประจำที่ผมไปทุกอาทิตย์ร้านนึงชื่อว่าร้าน “ลาวเจริญ” เจ้าของเป็นลุงกับป้าอายุราว 50 กว่าปี ผมจำชื่อลุงไม่ได้ จำได้แต่ป้าว่าชื่อ “มะลิวัลย์” ทั้งสองคนพูดไทยชัดเหมือนคนไทย เพราะแกเคยอยู่ในค่ายอพยพในประเทศไทยก่อนย้ายมาที่นี่
สิ่งที่ทำให้ผมต้องเป็นขาประจำร้านนี้ก็คือ “มติชนสุดสัปดาห์” และ “ทอฝันกับมาวิน” ซึ่งปกติผมจะไปวันพฤหัสฯ ตอนเย็น เพื่อไปรับมติชนสุดสัปดาห์ที่ออกทุกวันอังคาร และยังมีวิดีโอหนังไทยกับละครไทยให้เช่าอีกด้วย ตอนนั้นเรื่องที่กำลังออกอากาศคือเรื่อง “ทอฝันกับมาวิน” ผมก็จะเช่าไปพร้อมกันกับมติชนและเอาไปคืนในวันพฤหัสฯ หน้า
ไม่น่าแปลกใจที่ภาษาอังกฤษของผมแทบไม่ได้พัฒนาเลยจากการที่ขลุกอยู่กับคนไทย อ่านหนังสือไทย แถมดูละครไทยอีก
หนู ๆ ที่จะไปเรียนเมืองนอกอย่าทำแบบนี้นะจ๊ะ ขอเตือนจากประสบการณ์จริง
อาหารที่ผมทำที่น่าภูมิใจก็มีแกงป่า ที่ทำออกมาแล้วอ้อยบอกว่าอร่อย, ขนมจีนน้ำยาที่เอาน้ำยากระป๋องมาเติมกระชายสดให้ถึงใจ, ก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ใช้น้ำก๋วยเตี๋ยวสำเร็จจากเมืองไทยเอามาปรุงเพิ่ม, ผัดไทยเส้นจันทน์สูตรมะขามเปียก, ข้าวยำปักษ์ใต้ที่ทำครั้งเดียวเข็ดจนบัดนี้ มันอร่อยใช้ได้เลย แต่ทรมาณกับการเตรียมเครื่องมาก
อาหารที่น่าอับอายก็มีอยู่สองอย่างที่ทำตอนนั้นแล้วไม่ได้ทำอีกเลย อย่างแรกคือซูชิ ที่ใช้ข้าวญี่ปุ่นคลุกน้ำส้ม-น้ำตาลทราย-เกลือ ทำไส้ได้อย่างถูกต้อง มีสาหร่ายห่อ มีเสื่อม้วน แต่พอม้วนแล้วออกมาได้มาเป็นข้าวปั้นขนาด “ข้าวหลาม” ที่กินได้ลำบากยิ่ง
อาหารอีกอย่างที่ไม่เคยได้ทำอีกเลยคือ สาคูไส้หมู
อันนี้อุตส่าห์โทรทางไกลไปถามแม่ว่าจะทำยังไง ก็ถือว่าเป็นการทำให้แม่หายคิดถึงไปในตัวด้วย พอได้สูตรมาแล้วก็ลองปั้นดู ปั้นเท่าไหร่ก็ไม่ลงตัว สุดท้ายได้สาคูยักษ์มาลูกเดียวขนาดเท่าลูกเทนนิส ก็เลยใช้วิธีนึ่งสาคูมันทั้งถ้วย พอสุกแล้วก็เอาช้อนตักใส่จานกินกับไส้สาคูที่อยู่อีกถ้วยนึง ดีกว่าทิ้ง
[------ใคร ๆ ก็ใช้แต่รถมือสอง------]
ตอนที่ผมไปแชร์บ้านกับอ้อยที่ถนน Morton นั้นอ้อยเพิ่งซื้อรถไม่นาน เรื่องรถของเขาก็เป็นอีกเรื่องนึงที่แปลกไปจากเมืองไทย
รถที่อ้อยซื้อมาน่าจะผ่านคำแนะจากช่าง “เมษา” ช่างคนไทยที่พวกนักเรียนไทยมักจะใช้บริการในการซ่อมหรือซื้อรถ
อ้อยซื้อ Ford Cortina ปี 1969 สีขาวหม่นมาในราคา 800 AUD เป็นราคาที่ถูกจนผมนึกว่าผมฟังผิด คิดเป็นเงินไทยก็ราว 16,000 บาท ราคารถเท่านี้ 3 คันยังซื้อคอมพิวเตอร์ไม่ได้เลย
ที่นั่นจะมีรถเก่าวิ่งอยู่มาก แต่รถทุกคันจะต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์โดยต้องผ่านการตรวจสภาพรถก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้รถได้
นักเรียนไทยที่ผมรู้จักที่นั่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะใช้รถมือสอง รถคันนี้ของอ้อยก็อยู่ในสภาพที่วิ่งได้ แต่มันดูเก่าขนาดที่ผมคิดว่ามันน่าจะผ่านมือมาไม่ต่ำกว่า 5 เจ้าของ
รถใหม่ที่เห็นที่นั่นมักจะเป็น Ford หรือ Holden และ Toyota ซึ่งมีโรงงานผลิตที่นั่น
ผมเห็นคนไทยใช้รถใหม่อยู่สองคนเท่านั้น คือ รถ Camry ของ อาร์ดี้-อดิศักดิ์ MBA ใช้อยู่ และรถใหม่อีกคันเป็นของของ อ้อย-RMIT ก็คือ Honda Prelude
ตอนเช้าบางทีผมก็ติดรถ Ford Cortina ของอ้อยไปเรียนบ้าง แต่ส่วนมากก็จะเดินไปเอง โดยเดินจากบ้านออกจากถนน Morton แล้วก็จะเดินเลียบถนน Blackburn ข้ามแยกถนนใหญ่ Wellington พอเจอบริษัท Hallmark ก็เลี้ยวช้ายเข้าถนน Normanby อีกนิดเดียวก็ถึงโรงเรียน
ที่ไม่ค่อยได้ติดรถไปกับอ้อยเพราะว่าเธอมักจะตื่นนอนแบบจวนเจียน เธออาจจะมั่นใจว่าขับรถไปไม่ถึง 5 นาทีก็ถึง แต่ผมจะชอบไปถึงเช้า ๆ ก่อนเวลาเข้าเรียนสักครึ่งชั่วโมง เพื่อจะได้มีเวลาโสเหล่กับเพื่อน ๆ ที่อยู่ต่างห้องกันกลางสนามหญ้า จิบกาแฟ ดมกลิ่นบุหรี่เพื่อน ก่อนที่จะแยกย้ายกันเข้าห้องเรียนห้องใครห้องมัน
โฆษณา