7 เม.ย. เวลา 09:46 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Trump กับ McKinley: ประธานาธิบดีที่รัก

Trump มักจะพูดบ่อยๆ ว่าตัวเองเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ถ้าจะมียกเว้นก็อาจจะมี William McKinley เป็นหนึ่งในนั้น
1
ถ้าอยากรู้ว่า Trump ชอบ McKinley ขนาดไหน ต้องดูตอนที่เขากลับมาเป็นประธานาธิบดีรอบนี้ หนึ่งในคำสั่งแรกๆคือการเปลี่ยนชื่อภูเขาในอลาสก้าที่สูงที่สุดในอเมริกาเหนือ ที่ Obama เปลี่ยนเป็น “Mt Denali” ให้กลับไปเป็น “Mt McKinley” เพื่อให้เกียรติผู้นำคนโปรด ทั้งที่ McKinley ไม่เคยไปอลาสก้าเลยด้วยซ้ำ
1
แต่ในสายตา Trump เขาคือ “ฮีโร่ด้านเศรษฐกิจ” ผู้กล้าใช้ภาษีศุลกากรเพื่อปกป้องประเทศ
McKinley คือใคร?
เขาคือประธานาธิบดีคนที่ 25 ของสหรัฐฯ ที่เริ่มโด่งดังจากการผลักดัน McKinley Tariff ในปี 1890
2
ต้องเล่าก่อนว่า สหรัฐฯ มีระบบภาษีศุลกากรมาตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศ โดยเริ่มเก็บจริงจังครั้งแรกในปี 1789 เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ และสร้างรายได้ให้รัฐบาลใหม่
ในยุคนั้น ยังไม่มีระบบภาษีเงินได้ รัฐบาลกลางจึงพึ่งพารายได้จาก ภาษีนำเข้า (tariff) เป็นหลัก เรียกได้ว่าเป็น “เส้นเลือดใหญ่ทางการคลัง” ของรัฐบาลอเมริกันยุคแรก ๆ
ต่อมาในช่วงสงครามกลางเมือง ปี 1861 พรรครีพับลิกันได้ออกกฎหมาย Morrill Tariff ซึ่งเพิ่มภาษีนำเข้าเป็นเท่าตัว ทั้งเพื่อ หาเงินสนับสนุนกองทัพฝ่ายเหนือ และเพื่อ ปกป้องอุตสาหกรรมทางภาคเหนือ จากสินค้าต่างชาติ
นั่นทำให้ “ภาษีศุลกากร” กลายเป็นทั้งเครื่องมือทางเศรษฐกิจ และ แหล่งรายได้ของรัฐ
แต่ภาษีที่ดราม่าที่สุดในศตวรรษที่ 19 คือ McKinley Tariff ปี 1890
1
อัตราภาษีนำเข้าถูกเพิ่มขึ้นไปถึง 38–49.5% — ในยุคที่เศรษฐกิจอเมริกาเต็มไปด้วยบริษัทขนาดใหญ่ที่ผูกขาดตลาด การขึ้นภาษีแบบนี้เป็นการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ ผลลัพธ์คือบริษัทในประเทศก็อาศัยจังหวะนี้ขึ้นราคาสินค้าเต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้นเรื่อย ๆ
3
ของแพงขึ้นทั่วประเทศ เศรษฐกิจชะลอลง และ McKinley Tariff กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่พาเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะซบเซา
ผลลัพธ์ทางการเมืองก็แรงไม่แพ้กัน คนอเมริกันลงโทษพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งกลางสมัยปลายปี 1890 — พรรคเสียเสียงข้างมากในสภา, McKinley เองก็สอบตก และนำไปสู่การถือกำเนิดของ พรรคประชาชน (People’s Party หรือ Populists) ที่รวบรวมเกษตรกรและแรงงานผู้ไม่พอใจกับระบบเดิมขึ้นมาเป็นพลังการเมืองใหม่
แต่ McKinley ไม่ได้หายไปไหน เขากลับมาอีกครั้งในปี 1896 ลงสมัครเป็นประธานาธิบดี โดยชูนโยบาย “Protection and Prosperity” และก็ชนะอย่างถล่มทลาย พอขึ้นดำรงตำแหน่ง เขาก็ออกกฎหมาย Dingley Tariff ปี 1897 ซึ่งยังคงภาษีสูงเหมือนเดิม
1
อุตสาหกรรมบางกลุ่มได้ประโยชน์ แต่ผลข้างเคียงก็ชัดเจน ราคาของยังสูง คู่ค้าระหว่างประเทศเริ่มไม่พอใจ การสะสมอำนาจของทุนใหญ่กลายเป็นปัญหาใหม่ของสังคม
สุดท้าย นโยบายแบบนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน
ในปี 1913 ประธานาธิบดี Woodrow Wilson จากพรรคเดโมแครต ออก Underwood Tariff Act ลดภาษีนำเข้าลงเหลือเฉลี่ยราว 25% และเริ่มเก็บ ภาษีเงินได้ (income tax) เป็นครั้งแรกเพื่อทดแทนรายได้จากศุลกากรที่ลดลง
เพราะโลกเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน สหรัฐฯ เริ่มกลายเป็นผู้ส่งออก ต้องการตลาดต่างประเทศ และไม่อยากให้เกิดสงครามภาษีตอบโต้
แม้ Trump จะพยายามฟื้นแนวคิดเศรษฐกิจแบบ McKinley ทั้งด้วยกำแพงภาษีและการตั้งชื่อภูเขา แต่โลกปัจจุบันเชื่อมโยงกันลึกซึ้งกว่ายุคศตวรรษที่ 19 มาก ระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ถูกฝังแน่นอยู่ในโครงสร้างโลกาภิวัตน์แบบซับซ้อน การย้อนกลับสู่ระบบปิด ไม่เพียงแค่ยาก แต่มีต้นทุนมหาศาล ทั้งต่อผู้บริโภค ผู้ผลิต และเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม
2
คำถามคือในโลกที่ทุกอย่างพึ่งพากันมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจะเลือกย้อนกลับไปหายุคกำแพงภาษีได้จริง ๆ หรือ? และต้นทุนจะใหญ่ขนาดไหน?
โฆษณา