Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
7 เม.ย. เวลา 14:30 • ไลฟ์สไตล์
แม้จะเริ่มช้า แต่ยังเริ่มได้ ทำยังไงถ้าอายุ 40 แล้วเพิ่งเริ่มจัดการเงินตอนนี้?
⌛ เวลาที่ดีที่สุดในการลงทุนคือตอนเริ่มทำงานและได้เงินเดือนก้อนแรก
ตอนที่ความเสี่ยงยังไม่มาก ภาระยังไม่มี ความรับผิดชอบมีแค่ตัวเอง
นั่นเป็นเรื่องจริง แต่ยอมรับเถอะว่า ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม (บางคนต้องส่งเงินให้บ้าน บางคนเป็นหนี้ ส่งเงินเลี้ยงน้อง ฯลฯ สิ้นเดือนแค่ไม่ติดลบก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว)
เวลาอาจจะล่วงเลยมาหลายปี รายได้เริ่มมีมากขึ้น รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เจอภาวะ ‘Lifestyle Inflation’ เข้าไป มีเงินออมบ้างเล็กน้อย ย้ายงาน ขยับขยายชีวิต บ้างมีครอบครัว บ้างซื้อบ้าน ซื้อรถ
มารู้ตัวอีกทีชีวิตเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่สาม วัยกลางคน 30++ หรือเลย 40 มาแล้ว เริ่มเห็นป้ายปลายทางแล้วว่าอีกไม่นานก็เข้าใกล้เกษียณ บั้นปลายชีวิตอยู่ถัดไปอีกไม่กี่สถานี แต่ตัวเลขเงินในบัญชีไม่ได้เข้าใกล้คำว่าพร้อมเลยสักนิด
เชื่อเถอะครับว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว มีคนอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ไม่น้อย
⏰ เวลาที่ดีที่สุดอาจจะเป็นเมื่อสิบปีก่อน หรือยี่สิบปีก่อน แต่เวลาที่ดีที่สุดรองลงมาก็คือ ‘ตอนนี้’ แหละครับ
✅ 1. นับที่มีก่อนว่าเรามีอะไรบ้าง (ที่จริงอาจจะมากกว่าที่คิด)
หลายคนรู้สึกไม่มีเงินในบัญชีเกษียณหรือพอร์ตหุ้นใหญ่โตเลยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรเลย
ที่จริงแล้วทรัพย์สินของเราอาจจะมาในหลายรูปแบบ บางคนอาจจะมีบ้าน ที่ดิน คอนโด ทองคำ ธุรกิจ เงินออม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นทรัพย์สิน (Assets) ของเรา
ต่อจากนั้นก็มาดูว่ามีหนี้สินอะไรบ้างที่เราติดค้างอยู่ บัตรเครดิต หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ การศึกษา ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ นี่คือ หนี้สิน (Debts)
ลิสต์มูลค่าของทั้งสองอย่างนี้ออกมาแล้วเอาหักลบกัน จะได้ ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth) ของตัวเองออกมา
บางคนมีเยอะกว่าที่คิด...แต่บางคนก็ติดลบได้เช่นเดียวกัน
จำไว้อย่างหนึ่งว่านี่เป็นเพียงภาพรวมของเวลานี้เท่านั้น ไม่ใช่ปลายทาง แค่ทำให้รู้ว่าเรากำลังเริ่มต้นตรงไหน
✅ 2. เงินเราไปไหนบ้าง?
เหตุผลหลักที่คนไม่ลงทุนคืออะไร? เชื่อเลยว่าหนึ่งในนั้นคือ “เงินไม่พอ”
จริงหรือไม่จริง เราต้องมาดูว่าเงินของเราที่ออกไปแต่ละเดือนนั้นไปตรงไหนบ้าง
กลับไปดูเลยครับว่าสามเดือนที่ผ่านมาเราใช้เงินไปกับอะไร ดูใบเสร็จ ประวัติการโอนเงิน การใช้บัตรเครดิต
ทีนี้แบ่งรายจ่ายออกเป็น 3 ประเภท : 1) จำเป็น (Essentials) ค่าเช่าบ้าน อาหารที่ซื้อเข้าบ้าน บิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ 2) ไม่จำเป็น (Non-Essentials) ชอปปิง ความบันเทิง ทานอาหารนอกบ้าน ฯลฯ 3) รูรั่วทางการเงินที่ไม่เคยสังเกต (Hidden Leaks) สมาชิกยิมที่ไม่เคยใช้ สตรีมมิงที่ไม่ได้ดู การซื้อของตามอารมณ์ ฯลฯ
หลังจากนั้น...ให้ลิสต์ออกมาครับว่ามีรายจ่ายตรงไหนบ้างที่รู้สึกว่า ‘ไม่จ่ายก็ได้นี้หว่า’
ขั้นตอนนี้ไม่ใช่การมาโทษตัวเองว่าใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย แต่เป็นการตระหนักรู้ว่าเราใช้เงินไปตรงไหน เมื่อรู้เราถึงแก้ไขปัญหาได้
เหมือนการเปิดสวิตช์ไฟให้กับห้องมืดๆ เพื่อให้รู้ว่าที่ผ่านมาเราเดินสะดุดล้มอะไรบ้าง เมื่อห้องสว่าง เราถึงจะเคลียร์ห้องนั้นได้
✅ 3. สร้างแผนการใช้เงินแบบไม่ทำลายคุณภาพชีวิต (Concious Spending Plan)
มีตัวเลขการเงิน 4 ตัวที่เราต้องจัดการ
1) ค่าใช้จ่ายประจำ (Fixed Cost) : ประมาณ 50-60% ของรายได้จะไปอยู่ตรงนี้ ส่วนนี้จะมีค่าบ้าน ค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าเทอมลูก ค่าอาหารซื้อเข้าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ อะไรที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต
2) ลงทุน (Investment) : ‘อย่างน้อยที่สุด’ ต้องไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ อย่าลืมนะว่าเราเริ่มช้า ตอนนี้กลางคนแล้ว ตัวเลขนี้ควรสูงกว่านี้ถ้าทำได้ เพราะมันคืออนาคตของเราเอง
3) เก็บออม (Savings) : 5-10% ส่วนนี้คือเงินที่เก็บออมเผื่อฉุกเฉิน
4) เงินสำหรับการใช้จ่ายเพื่อความสุขจริงๆ (Guilt-Free Spending) : อยู่ที่ประมาณ 20-35% เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันเราก็ต้องมีสมดุลกับชีวิต หาสิ่งที่เรามีความสุขจริงๆ แล้วแบ่งเงินมาใช้ตรงนี้บ้าง
ตอนนี้ถ้าเรารู้สึกว่าเงินมันตึงมาก ทริกง่ายๆ ที่พอจะทำได้คือลองโทรไปต่อรองพวกค่าบริการต่างๆ เช่นโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ดอกเบี้ยบัตรเครดิต รวมถึงการตั้งตัดเงินบางส่วนเข้าไปบัญชีเงินออมแบบอัตโนมัติก็ช่วยได้เช่นกัน ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอ
อีกอย่างคือลองดูว่าเงินที่จ่ายออกไปแบบไม่จำเป็นเกิดจากอะไร? เช่นสั่งขนมดิลิเวอรีมาทานช่วงบ่ายที่ออฟฟิศ - ทำไมเราถึงทำ? เพราะง่วง? ทำไมเราถึงง่วง? เพราะนอนดึก? ทำไมเราถึงนอนดึก… หาต้นตอให้เจอแล้วอุดรอยรั่วตรงนั้นให้ได้
ลองหาสักอย่างหรือสองอย่างที่เราใช้เงินไปแล้วไม่ได้เพิ่มคุณค่าอะไรให้กับชีวิตเลย ซื่อสัตย์กับตัวเองแล้ว...เดือนต่อไปให้นำเงินตรงนี้...ไปลงทุนเพิ่ม
✅ 4. อย่าหวังรวยเร็ว
ความคิดหนึ่งสำหรับคนที่เริ่มช้าคือ ‘ต้องตามเขาให้ทัน’ อันนี้ขอให้หยุดก่อน
แนวคิดนี้จะยิ่งทำให้คุณเสี่ยงมากขึ้น ใจเย็นๆ
ลองมาคำนวณดูว่าเป้าหมายปลายทางช่วงเกษียณเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ แล้วจากตรงนี้ถึงตอนนั้นเราจะลงทุนได้มากแค่ไหน
หาตัวเลขของตัวเองให้เจอก่อน (มีเครื่องคิดเลขจาก SET ใส่ไว้ในลิงก์อ้างอิงนะครับ ลองไปกดเล่นกันได้) แต่เอาแบบง่ายที่สุด ถ้าคิดว่าจะเกษียณตอน 65 ปี และอยู่ถึงสัก 85 ปี แล้วรายจ่ายต่อเดือนหลังเกษียณคิดว่าจะใช้เงินสัก 20,000 บาท/เดือน ก็หมายถึง 20 * 12 * 20,000 = 4.8 ล้านบาท
พอเห็นตัวเลขคนอาจจะเริ่มท้อ แต่บอกก่อนว่าเราท้อไม่ได้ เพราะนี่คืออนาคตของเรา ต้องวางแผนเพื่อจะไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้
ลองดูว่าเรามีสิทธิ์อะไรบ้าง เช่นบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็อย่าลืมใช้ให้เป็นประโยชน์ มีค่าใช้จ่ายตรงไหนตัดได้ก็ตัดแล้วเอามาลงทุนเพิ่ม หาการลงทุนที่ปลอดภัยแต่ยังให้ผลตอบแทนที่ยังพอรับได้ ช่วงสัก 5%-7% เพราะอย่าลืมว่าเราเสี่ยงมากไม่ได้แล้ว เรามีเวลาให้แก้ไขความผิดพลาดน้อยกว่าคนอื่น (กองทุนดัชนีต่างๆ หุ้นปันผล ทองคำ กระจายความเสี่ยงสิ่งเหล่านี้ต้องหาความรู้ให้มากๆ)
ที่สำคัญอย่าลืมสร้างเกราะป้องกัน ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ซื้อให้พอเหมาะด้วย เพราะเจอค่ารักษาพยาบาลที สิ่งที่สร้างมาทั้งหมดอาจจะล่มเลยก็ได้
✅ 5. หารายได้เพิ่มสิครับ
อายุวัยกลางคนถือว่ายังเป็นช่วงที่คุณสุขภาพแข็งแรง และที่สำคัญเริ่มมีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์หลายอย่างที่สามารถนำมาสร้างเป็นรายได้เพิ่มได้
ตัดรายจ่าย เราจะตัดได้แค่ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น
แต่การหารายได้เพิ่ม โอกาสมีไม่อั้น
ลองดูว่าคุณสร้างคุณค่า แก้ปัญหาอะไรให้คนอื่นได้บ้าง สิ่งที่คุณเชี่ยวชาญ สอนคอร์สออนไลน์ได้ไหม เขียนหนังสือได้ไหม งานอดิเรกอะไรที่สร้างเป็นรายได้ได้บ้าง หรือแม้แต่การไปขอเจรจาขึ้นเงินเดือนก็ถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งเช่นเดียวกัน
เมื่อรายได้เพิ่ม...ไม่ใช่ใช้เพิ่มนะ อย่าลืมเราเริ่มช้า เพราะฉะนั้นเมื่อเงินเข้ามาเพิ่ม ใช้เพิ่มได้นิดหน่อย แต่ต้องใส่ลงทุนเพื่ออนาคตของเราเพิ่มไปด้วย
สุดท้ายอย่าลืมครับว่า เริ่มช้า ยังดีกว่าไม่เริ่มเลย และไม่ว่าตอนนี้คุณจะอายุเท่าไหร่ ถ้าเป็นเรื่องการวางแผนการเงิน เริ่มตอนนี้ก็ดีกว่าเริ่มพรุ่งนี้ครับ
อ้างอิง :
https://www.set.or.th/.../caltools/www/html/retirement.html
https://www.youtube.com/watch?v=hgUk9B1SNqA&t=658s
#aomMONEY #วางแผนการเงิน #จัดการเงิน #บริหารเงิน
1 บันทึก
9
4
1
9
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย