7 เม.ย. เวลา 10:38 • ท่องเที่ยว

Beijing 2025 (04) เมืองปักกิ่ง กับพระราชวังต้องห้าม : ประวัติ

ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง (1368-1644) เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ชิง (1644-1911) และหลังจากชิงล่มสลาย ฐานะเมืองหลวงของปักกิ่งก็หลุดลอยไปมาไม่แน่นอน .. ดังนั้น การทำความเข้าใจปักกิ่งในฐานะเมืองหลวงจึงควรเริ่มจากสมัยหมิง ว่าเหตุใดหมิงจึงเลือกเอาปักกิ่งเป็นเมืองหลวง และเมื่อเลือกแล้วหมิงได้ทำอะไรไปบ้าง ก่อนที่ปักกิ่งจะมีกำแพงเมือง ประตูเมือง และพระราชวังต้องห้าม
เดิม “หนานจิง” เป็นเมืองหลวงของจีน .. แต่เมื่อ “จักรพรรดิหย่งเล่อ” (1360-1424) แห่งราชวงศ์หมิง ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงมีดำริที่จะให้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง เหตุผลแรกที่ทรงคิดที่จะให้เมืองนี้เป็นเมืองหลวงก็คือ พระองค์ทรงทรงคุ้นเคยกับเมืองนี้มาก่อน ด้วยเคยเป็นผู้ปกครองเมืองนี้มาก่อนที่จะเป็นจักรพรรดิ .. ซึ่งในเวลานั้นเมืองนี้คือ “รัฐเอียน” และชื่อเอียนนี้ก็เป็นชื่อดั้งเดิมของปักกิ่งมาอย่างยาวนานนับพันปี
เหตุผลต่อมาที่ “จักรพรรดิหย่งเล่อ” ให้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงคือ .. พระองค์ต้องการใช้เมืองหลวงแห่งนี้ตั้งรับการรุกรานของมองโกล อันเป็นชนชาติที่ตั้งราชวงศ์หยวน (1271-1368) และถูกโค่นล้มลงไปจนเป็นที่มาของราชวงศ์หมิง โดยหลังจากที่ถูกโค่นล้มแล้วก็ยังมีกองกำลังเหลืออยู่ กองกำลังนี้จะก่อกวนจีนอยู่ตรงชายแดน เพื่อหวังจะกู้คืนหยวนให้ได้ .. ซึ่งความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงนี้หย่งเล่อทรงปรึกษากับเหล่าเสนามาตย์มาแล้ว มิได้ย้ายตามแต่ใจของพระองค์ไม่
.. เมื่อเลือกปักกิ่งเป็นเมืองหลวงแล้ว พระองค์ก็ทรงเรียกเมืองหลวงแห่งนี้ว่า เป่ยจิง (ปักกิ่ง)
แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า .. ปักกิ่งเป็นเมืองที่มีประชากรเบาบาง เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ผ่านศึกสงครามมายาวนาน หากเป็นเมืองหลวงแล้วย่อมมิอาจเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดังเมืองหลวงทั้งหลายพึงเป็น
ปัญหานี้ “จักรพรรดิหย่งเล่อ” ทรงแก้โดยให้เกณฑ์นักโทษที่ต้องโทษเนรเทศหรือโทษอื่นที่เบาลงมา มาเป็นแรงงานในการหักร้างถางพงเพื่อบุกเบิกปักกิ่งเป็นเมืองหลวง และให้ย้ายเศรษฐีจากกว่าสิบจังหวัดและเก้ามณฑลให้มาอยู่ที่เมืองนี้ เพื่อให้เศรษฐีเหล่านี้ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เจริญ
นอกจากนี้ ก็ยังให้ลดจำนวนข้าราชการลงเป็นเวลา 5 ปี รวมถึงให้อพยพราษฎรจากเมืองอื่นนับหมื่นครัวเรือน และคนเร่ร่อนจากที่ต่างๆ กว่าแสนครัวเรือนให้มาอาศัยในบริเวณเมืองปักกิ่งนี้ด้วย ... จากนั้นจึงมอบเครื่องมือการเกษตรและเมล็ดพันธุ์ให้แก่ราษฎรเหล่านี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้ทำการเกษตร ส่วนช่างฝีมือหรือช่างหัตถกรรมจำนวนมากที่ย้ายมาเมืองนี้ก็จะให้สิทธิพิเศษต่างๆ
... จากนโยบายนี้พอเวลาผ่านไปไม่กี่ปี ประชากรในปักกิ่งก็เพิ่มจำนวนขึ้น เศรษฐกิจก็เจริญเติบโตขึ้นไปด้วย
เมื่อแก้ปัญหาประชากรที่เป็นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว งานในลำดับถัดมาก็คือ การวางผังเมืองและโครงสร้างต่างๆ .. งานในส่วนนี้รวมไปถึงคูเมือง กำแพงเมือง และวังหลวง โดยวังหลวงจะสร้างอยู่บนฐานรากเดิมของ “ต้าตู” อันเป็นชื่อเดิมของปักกิ่งในสมัยหยวน
ผังเมืองและโครงสร้างเมืองหลวงจึงแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ กำแพงวัง กำแพงเมือง เมืองภายใน และเมืองภายนอก จากนั้นจึงให้ขยายเมืองรอบนอกให้กว้างขึ้น
ถัดจากงานผังเมืองและโครงสร้างแล้วก็เป็นงานขนส่งเสบียงอาหารที่จะหล่อเลี้ยงเมือง และกองกำลังรักษาเมืองจำนวนมาก การขนส่งเสบียงอาหารทำได้ก็แต่ทางน้ำเท่านั้น ด้วยทางบกเป็นเส้นทางวิบากและต้องใช้งบประมาณสูง …
ด้วยการขนส่งทางน้ำก็ได้ทำให้แหล่งอาหารจากพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ถูกส่งมายังเมืองหลวง งานในส่วนนี้จึงอยู่ตรงการขุดลอกคูคลองต่างๆ เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จในเวลาต่อมา
ส่วนวังหลวงก็สร้างขึ้นใหม่มีชื่อว่า นครต้องห้าม (จื่อจิ้นเฉิง, Forbidden City) อันเป็นที่สิงสถิตของผู้ที่เป็นโอรสแห่งสวรรค์ ..
โดยนัยยะนี้ ปักกิ่งย่อมต้องเป็นเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย เพราะฉะนั้นแล้วการเลือกเอาปักกิ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นที่ตั้งของวังหลวงนั้น ย่อมต้องมีที่มาที่ไปและความเชื่อรองรับการเป็นเมืองหลวงของปักกิ่งไปด้วย
หากจินตนาการย้อนอดีตไปยังสมัยที่มีการสร้างบ้านแปงเมืองปักกิ่งในยุคเก่าอย่างแท้จริง .. ในห้วงนึกเราจะเห็นภาพปักกิ่งที่มีกำแพงเมืองและประตูเมืองตั้งอยู่อย่างโดดเด่น
ถัดจากประตูก็จะเห็นสะพานข้ามคูเมืองที่ทำด้วยหินอ่อน .. เมื่อเดินข้ามสะพานนี้ไปแล้วก็จะเห็นกำแพงสีแดงของวังต้องห้าม กำแพงนี้จะทอดยาวและโอบล้อมวังต้องห้ามเอาไว้ โดยตรงกึ่งกลางกำแพงจะมีพลับพลาสูงตระหง่านตั้งอยู่ และใต้พลับพลาลงมาจะเป็นประตูทางเข้าวังที่สูงใหญ่เอาการ
ประตูนี้ทาสีแดงเหมือนกำแพง .. แต่ที่พิเศษคือ บานประตูทั้งสองข้างจะมีหมุดสีทองฝังอยู่ด้วย หมุดนี้ถูกฝังอยู่เต็มบานประตูเป็นแถวๆ แถวละ 9 หมุด โดยชาวจีนถือว่า เลขเก้าเป็นเลขสูงสุดเพื่อแสดงถึงฐานะของจักรพรรดิที่อยู่สูงสุด ภายใต้ฐานคิดเรื่อง “โอรสแห่งสวรรค์”
ชื่อ "พระราชวังต้องห้าม" นั้นแปลมาจากชื่อในภาษาจีนว่า “จื่อจิ้น เฉิง” (จีน: 紫禁城 แปลตามตัวอักษรได้ว่า "เมือง ต้องห้าม สีม่วง")
ชื่อ “จื่อจิ้น เฉิง” .. เป็นชื่อที่มีความสำคัญหลายระดับ คำว่า จื่อ หรือ "สีม่วง" อ้างอิงถึงดาวเหนือ ซึ่งจีนโบราณเรียกดาวดวงนี้ว่า ดาวจื่อเว่ย (ดาวเหนือ)
และในดวงจีนแบบดั้งเดิมถือว่าเป็นสรวงสวรรค์ที่ประทับของเง็กเซียนฮ่องเต้ โดยดาวจื่อเว่ยนี้อยู่ตรงกลาง วงล้อมจื่อเว่ย (จีน: 紫微垣) โดยมีดาวบริวารต่างๆรายล้อมดาวจื่อเว่ย(ดาวเหนือ)อยู่ภายในวงล้อมดังกล่าว ถือเป็นราชอาณาจักรของเง็กเซียนฮ่องเต้และพระบรมวงศานุวงศ์ของพระองค์
พระราชวังต้องห้ามถือเป็นที่ประทับของจักรพรรดิ (ฮ่องเต้) บนแผ่นดิน ซึ่งเป็นโลกคู่กัน คำว่า จิ้น หรือ "ต้องห้าม" อ้างอิงถึงความจริงที่ว่าไม่มีผู้ใดที่สามารถผ่านเข้าออกพระราชวังได้ โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จจักรพรรดิ ส่วนคำว่า เฉิง หมายถึง "เมือง"
ดาวเหนือก็ถูกอุปมาดุจดังจักรพรรดิผู้ปกครองโลกในฐานะโอรสแห่งสวรรค์ และรักษาความสมดุลของพิภพและจักรวาลให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ .. ฐานะเช่นนี้ของจักรพรรดิจึงสูงส่งเกินเอื้อมของสามัญชนคนธรรมดา อันสะท้อนถึงนัยต้องห้ามสำหรับสามัญชนคนธรรมดา ชื่อของวังหลวงนี้จึงแปลว่า นครต้องห้ามสีม่วง
พระราชวังต้องห้ามมีความยาวจากเหนือถึงใต้ 960 เมตร จากตะวันออกถึงตะวันตก 720 เมตร มีเนื้อที่ราว 300,000 ตารางเมตร ถือเป็นวังที่มีความอลังการและวิจิตรพิสดาร ทั้งรูปแบบและที่ตั้งของวังนี้ก็เป็นไปตามหลัก เฟิงสุ่ย (ฮวงจุ้ย) อันเป็นศาสตร์โบราณของจีน
การก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามดำเนินไปเป็นระยะเวลา 14 ปี และใช้กรรมกรมากกว่าหนึ่งล้านคน วัสดุที่ถูกนำมาใช้ ประกอบด้วย ท่อนไม้ชั้นเยี่ยมจากไม้ Phoebe zhennan (จีน: 楠木; พินอิน: nánmù) ซึ่งพบได้ทางป่าด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และหินอ่อนขนาดใหญ่จากเหมืองใกล้กับปักกิ่ง พื้นของตำหนักส่วนใหญ่ถูกปูด้วย "อิฐทองคำ" (จีน: 金磗; พินอิน: jīnzhuān) ซึ่งเป็นอิฐเผาพิเศษจากซูโจว
ในอดีต พระราชวังแห่งนี้เป็นเขตหวงห้ามไม่ให้ประชาชนเข้า แม้แต่ข้าราชการชั้นสูงก็ยังต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ จึงเป็นเหตุที่เรียกพระราชวังนี้ว่า "พระราชวังต้องห้าม"
จักรพรรดิจะประทับอยู่ในพระราชวังแห่งนี้โดยกั้นพระองค์จากโลกภายนอก มีสนมกำนัล ขันที และข้าหลวงคอยรับใช้ คนเหล่านี้ต้องอาศัยอยู่ในนครต้องห้ามตลอดชีวิตเพื่อตอบสนองความสำราญของจักรพรรดิ ในพระราชวังต้องห้ามจะมีวิเสท 6,000 คนคอยประกอบพระกระยาหาร มีสนมกำนัล 9,000 นาง และมีขันที 70,000 คน คอยดูแล
ตั้งแต่ ค.ศ. 1420 ถึง ค.ศ. 1644 พระราชวังต้องห้ามเป็นศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์หมิง ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1644 พระราชวังแห่งนี้ถูกยึดครองโดยกลุ่มกบฏที่นำโดย “หลี่ จื้อเฉิง” โดยเขาประกาศตัวเองเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชุน แต่ไม่ช้าเขาก็ต้องลี้ภัยออกจากพระราชวังต้องห้ามไปก่อนที่กองทัพซึ่งเป็นกองผสมของอดีตผู้บัญชาการ “อู่ ซานกุ้ย” แห่งราชวงศ์หมิงและกองกำลังแมนจู จะเข้ายึดชิงบางส่วนของพระราชวังต้องห้ามคืน
ต่อมาในเดือนตุลาคม กองกำลังแมนจูประสบความสำเร็จอย่างสูงในภาคเหนือของจีน และมีการจัดพระราชพิธีบรมจักรพรรดิยาภิเษกขึ้นที่พระราชวังต้องห้าม ในการประกาศการเสวยราชย์ของ “สมเด็จพระจักรพรรดิซุ่นจื้อ” ในฐานะทรงปกครองแผ่นดินจีนทั้งหมดภายใต้ราชวงศ์ชิง
ราชสำนักชิงมีการเปลี่ยนแปลงชื่อพระตำหนักบางองค์เพื่อเน้น "ความสามัคคี" มากกว่า "ความยิ่งใหญ่" สร้างป้ายชื่อสองภาษา (ภาษาจีนและภาษาแมนจู) และได้นำองค์ประกอบเชมันเข้าสู่พระราชวัง
ใน ค.ศ. 1806 ระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่สอง .. กองกำลังแองโกล-เฟรนซ์ได้เข้ามายึดครองพระราชวังต้องห้ามและครองไว้จนสิ้นสุดสงคราม ใน ค.ศ. 1900 “สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี่” พระพันปีหลวงทรงลี้ภัยออกจากพระราชวังต้องห้ามในช่วงที่เกิด “กบฏนักมวย” และทรงปล่อยให้พระราชวังต้องห้ามถูกยึดครองโดยกองกำลังตามอำนาจในสนธิสัญญาจนถึงปีถัดมา
หลังจากที่พระราชวังต้องห้ามแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิ 24 พระองค์ … ในจำนวนนั้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง 14 พระองค์ และราชวงศ์ชิง 10 พระองค์
พระราชวังต้องห้ามถูกยุติการเป็นศูนย์กลางทางการเมืองของประเทศจีนลงใน ค.ศ. 1912 พร้อมกับการสละราชสมบัติของ “สมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋” จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งมหาจักรวรรดิจีน จากข้อตกลงกับรัฐบาลสาธารณรัฐจีนใหม่ อดีตสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋จะยังประทับอยู่ภายในเขตพระราชฐานชั้นในได้ ในขณะที่เขตพระราชฐานชั้นนอกนั้นยกให้ใช้เป็นที่สาธารณะ จนกระทั่งอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ทรงถูกขับออกจากพระราชวังต้องห้ามภายหลังการรัฐประหารใน ค.ศ. 1924
พิพิธภัณฑ์พระราชวังถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1925 ใน ค.ศ. 1933 การบุกรุกจีนของญี่ปุ่น ได้บังคับให้ย้ายสมบัติประจำชาติภายในพระราชวังต้องห้ามออกไป ส่วนหนึ่งของสมบัติถูกส่งกลับคืนเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง .. แต่อีกส่วนหนึ่งถูกโยกย้ายไปยังไต้หวันใน ค.ศ. 1948 ภายใต้คำสั่งของ “เจียง ไคเชก”
เมื่อ “พรรคก๊กมินตั๋ง” ปราชัยในสงครามกลางเมืองจีน สมบัติที่มีขนาดค่อนข้างเล็กแต่มีคุณภาพสูงถูกเก็บไว้จนถึง ค.ศ. 1965 สมบัติเหล่านี้ถูกนำมาจัดแสดงแก่สาธารณะอีกครั้ง เป็นสมบัติชิ้นหลักของพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติในไทเป
หลังจากการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 ความเสียหายบางประการได้เกิดขึ้นกับพระราชวังต้องห้ามเนื่องจากถูกกวาดล้างในการปฏิวัติที่รวดเร็วเกินไป ในช่วงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ... อย่างไรก็ตาม การทำลายล้างอย่างต่อเนื่องได้รับการป้องกันจาก “นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล” ด้วยการส่งกองทัพออกไปคุ้มครองป้องกันพระราชวังต้องห้าม
แม้ว่าประเทศจีนจะไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว พระราชวังต้องห้ามก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีน .. ภาพประตูเทียนอันเหมินยังคงปรากฏอยู่ในตราประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ พระราชวังต้องห้ามยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งไม่นานมานี้ทางรัฐบาลจีนได้มีนโยบายจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์สภาพของอาคารและสวนหย่อมไว้
พระราชวังต้องได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อ ค.ศ. 1987 โดยยูเนสโก ในชื่อ "พระราชวังแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง" เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในการพัฒนาของสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมจีน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของพิพิธภัณฑ์พระราชวัง ซึ่งมีการดำเนินโครงการการบูรณะสิบหกปี เพื่อซ่อมแซมและบูรณะอาคารทั้งหมดภายในพระราชวังต้องห้ามให้กลับไปอยู่ในสภาพก่อน ค.ศ. 1912
ขอยคุณเนื้อความบางส่วนจาก : https://mgronline.com/daily/detail/9660000096855
โฆษณา