7 เม.ย. เวลา 22:38 • ท่องเที่ยว

Beijing 2025 (05) พระราชวังต้องห้าม : สถาปัตยกรรม (1)

The Forbidden City พระราชวังต้องห้าม หรือพระราชวังกู้กง (จีน: 紫禁城) มรดกโลกแห่งเมืองจีน ..จากชื่อภาษาจีนสามารถแปลตามตัวอักษรได้ว่า "เมืองต้องห้ามสีม่วง เดิมพระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับของจักรพรรดิจีนมาหลายราชวงศ์
ปัจจุบันพระราชวังต้องห้ามกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในปักกิ่ง และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายจากทั่วโลกเพื่อมาชมความยิ่งใหญ่อลังการของสถาปัตยกรรมจีนโบราณ
พระราชวังต้องห้ามตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจัตุรัสเทียนอันเหมินใจกลางของกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน .. นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมพระราชวังต้องห้ามได้ผ่านทางจตุรัสนี้ผ่านประตูเทียนอัน บริเวณรอบจัตุรัสเทียนอันเหมินเรียกว่า "อาณาเขตหลวง" มีสถานที่สำคัญรายล้อมอยู่โดยรอบ เช่น มหาศาลาประชาคม
การเข้าสู่พระราชวังต้องห้ามสามารถเข้าทางประตูอื่นได้อีก 3 ประตู
คณะของเราเข้าสู่พระราชวังต้องห้ามโดยเดินผ่านทางสวน ..
มีทางเดินเลียบคูเมืองที่ร่มรื่น มองเห็นกำแพงสูงใหญ่ที่สร้างล้อมรอบพระราชวัง รวมถึงภาพส่วนบนของพระที่นั่งหลายองค์ของวังหลวงที่อยู่หลังกำแพง
เมื่อภาพสะท้อนน้ำเกิดเป็นภาพเป็นฉากหน้าที่แปลกตาสวยงามมาก โดยเฉพาะเมื่อมีใบของต้นหลิวในสวนที่เรากำลังยืนชื่นชมอยู่ที่กำลังลู่ลมก่อเกิดทัศนียภาพที่งดงามมากมาย
สาวจีนหลายคนแต่งตัวสวยงามแบบสาวชาววังโบราณ เพื่อมาเดินชมและถ่ายภาพในพระราชวังต้องห้าม .. เรามีโอกาสไปขอถ่ายภาพร่วมกับพวกเธอเป็นที่ระลึกด้วย
เมื่อเดินออกจากสวน ก่อนจะผ่านเข้าสู่พระราชวังจะพบกับ “ประตูอู่เหมิน” (Meridian Gate) สีแดงที่คุ้นตากันเป็นอย่างดีจากภาพถ่ายประชาสัมพันธ์ .. ประตูนี้มีขนาดมหึมา มีปีกอยู่ทั้งสองข้าง ทำให้เกิดเป็นด้านของสี่เหลี่ยมทั้งสามด้าน เราจะรู้สึกได้ถึงพลังและความยิ่งใหญ่ของสถานที่ แม้จะยังไม่ได้เหยียบย่างเข้าสู่ด้านใน
การตรวจตรารักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้ามงวดเหมือนเช่นทุกทางเข้า แต่ที่นี่นักท่องเที่ยวจะน้อยกว่าการเข้ามางจตุรัสเทียนอันเหมิน
เมื่อผ่านประตูทางเข้ามหึมาแล้ว พื้นที่เบื้องหน้าเราคือลานพระราชวังขนาดใหญ่มาก .. เรามาทำความรู้จักพระราชวังแห่งนี้ในเบื้องต้น ก่อนเดินชมกันนะคะ
พระราชวังต้องห้าม .. เป็นพระราชวังหลวงมาตั้งแต่สมัยกลางราชวงศ์หมิงจนถึงราชวงศ์ชิง และยังเป็นที่รู้จักกันในนามของ พิพิธภัณฑ์พระราชวัง (ภาษาจีน: 故宫博物院) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 720,000 ตารางเมตร หรือ 450 ไร่ (0.72 ตร.กม.)
พื้นที่ของพระราชวังต้องห้ามประกอบไปด้วย อาคาร 980 หลัง พระราชวังต้องห้ามมีห้องทั้งหมด 9,999 ห้อง และมีพระที่นั่ง 75 องค์ หอพระสมุด และห้องลับต่าง ๆ อีกมาก ทั้งยังมีสวน ลานกว้าง และทางเดินเชื่อมกันโดยตลอด มีคูและกำแพงที่สูงถึง 11 เมตร ล้อมรอบ พระราชวังต้องห้ามใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 14 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1406 จนถึง ค.ศ. 1420
"พระราชวังต้องห้าม" .. เป็นชื่อที่แปลมาจากชื่อในภาษาจีนว่า จื่อจิ้น เฉิง (จีน: 紫禁城) และแปลตามตัวอักษรได้ว่า "เมือง ต้องห้าม สีม่วง") ชื่อ จื่อจิ้น เฉิง ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1576 สำหรับในภาษาอังกฤษเรียกพระราชวังนี้ว่า เมืองต้องห้าม (Forbidden City)
ปัจจุบัน "พระราชวังต้องห้าม" เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า กู้กง (จีน: 故宫) ซึ่งหมายถึง "พระราชวังเก่า" ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บนอาคารเหล่านี้รู้จักในชื่อ "พิพิธภัณฑ์พระราชวัง" (จีน: 故宫博物院)
โครงสร้างและสถาปัตยกรรม
พระราชวังต้องห้าม ตั้งอยู่บนพื้นที่รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ... กว้างจากเหนือถึงใต้ 961 เมตร และจากตะวันออกถึงตะวันตก 753 เมตร ประกอบด้วยอาคารที่หลงเหลืออยู่ 980 องค์ พร้อมด้วยห้อง 8,886 ห้อง ซึ่งตามตำนานบอกว่ามีห้องจำนวน 9,999 ห้องรวมถึงห้องขนาดเล็กที่เป็นทางผ่านด้วย ซึ่งจำนวนนี้อยู่บนตำนานปากเปล่าและไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานด้านการสำรวจแต่อย่างใด
พระราชวังต้องห้าม ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นศูนย์กลางทางอำนาจในสมัยโบราณ .. เป็นกำแพงเมืองแห่งปักกิ่ง พระราชวังนี้ถูกปิดล้อมด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ก่อเป็นกำแพง เรียกว่า นครหลวง (Imperial City) นครหลวงนี้เป็นลำดับชั้นการปิดล้อมจากพระราชวังชั้นใน ไปยังพระราชวังชั้นนอก
พระราชวังต้องห้าม .. ยังคงมีความสำคัญและเป็นส่วนของแกนกลาง เหนือ–ใต้ที่เหลืออยู่ในแกนกลางของปักกิ่ง แกนนี้ขยายออกไปทางใต้จนถึงประตูเทียนอันเหมินไปยังจตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นลานประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนจีน และยาวไปจนถึงประตูหย่งติ้ง
.. ส่วนทางด้านเหนือขยายไปจนถึงเนินเขาจิ่งชาน ถึงหอระฆังและกลอง แกนนี้ไม่ได้ขยายไปในแนวเหนือใต้ตรง ๆ แต่มีความเอียงเล็กน้อยสององศา การศึกษาเชื่อว่าแกนนี้ถูกออกแบบในสมัยราชวงศ์หยวนเพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งแซนาดู ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งอื่นของอาณาจักร
นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมมีความเห็นว่า ... หากพิจารณาด้านจังหวะการจัดวางอาคารบนเส้นแกนกลาง จะพบว่าแนวคิดเบื้องหลัง “ประตูต้าชิง” คือการเลือกใช้วิธีกดลงแล้วค่อยยกขึ้น หรือทำให้ดูเรียบง่ายก่อนแล้วกระตุ้นอารมณ์ภายหลัง ให้ความรู้สึกเหมือนค่อย ๆ ก้าวไปสู่พระราชวังอันยิ่งใหญ่งดงามและน่าเกรงขาม
เมื่อคณะทูตจากต่างแดนมาถวายบรรณาการ ตามระเบียบพระราชพิธีจะต้องผ่านประตูต้าชิงเพื่อเข้าไปเฝ้า โดยต้องเดินประมาณ 1,500 เมตร ผ่านทั้ง 5 ประตู ข้ามลานจตุรัสหลายลานไปจนถึงจตุรัสหน้า “พระที่นั่งไท่เหอ” .. สิ่งเหล้านี้เป็นอิทธิพลจากคติ "โอรสสวรรค์จะต้องมี 5 ประตู 3 เขตพระราชฐาน" ของพระราชวังตามขนบดั้งเดิมของจีน
.. ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ประตู ได้แก่ ประตูเทียนอัน ประตูตวน ประตูอู่ ประตูไท่เหอ และประตูเฉียนชิง และ 3 เขตพระราชฐาน คือ เขตพระราชทานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน
กำแพงและประตูวัง
พระราชวังต้องห้ามล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองสูง 7.9 เมตร และลึก 6 เมตรจาก 52 เมตรของคูเมืองกว้าง .. กำแพงมีความกว้าง 8.62 เมตรที่บริเวณฐานกำแพง และค่อย ๆ เรียวลงไปจนถึงยอดกำแพง ซึ่งมีความกว้าง 6.66 เมตร
กำแพงเหล่านี้ทำหน้าที่ทั้งเป็นกำแพงป้องกันและกำแพงกันดินให้กับพระราชวัง พวกมันถูกสร้างขึ้นมาจากแกนดินอัด และปูผนังด้วยอิฐอบพิเศษสามชั้นในทั้งสองด้าน โดยใช้การฉาบปูนลงไปในร่องเล็ก ๆ
ที่มุมทั้งสี่ของกำแพงเป็นที่ตั้งของป้อม (E) ที่มีหลังคาอันวิจิตรประณีต ซึ่งมีซี่หลังคาจำนวน 72 ซี่ เป็นการคัดลอกแบบของพลับพลาของ “องค์ชายเติ้ง” และ “หอคอยหวางเห้อ” ที่ปรากฏในจิตรกรรมแบบราชสำนักซ่ง
ป้อมเหล่านี้เป็นส่วนที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดของพระราชวังจากราษฎรที่อยู่ภายนอกกำแพง ประเพณีความเชื่อของผู้คนจึงยึดติดกับป้อมเหล่านี้ .. ตามตำนานหนึ่งกล่าวว่า ช่างฝีมือไม่สามารถจัดวางมุมของป้อมให้เข้ากันได้ หลังจากที่ถูกรื้อถอนเพื่อบูรณะในยุคเริ่มแรกของราชวงศ์ชิง และมันถูกสร้างขึ้นใหม่หลังจากที่มีการแทรกแซงของเซียนช่างไม้ชื่อ หลู่ปัน
กำแพงถูกล้อมรอบด้วยประตูในทุก ๆ ด้าน .. ประตูที่อยู่ทางใต้สุดคือประตูอู่เหมิน (A) ทางเหนือ คือ “ประตูเสินอู่เหมิน” (B) ซึ่งหันหน้าเข้าหาสวนจิ่งชาน ทางตะวันออกสุดคือ "ประตูตงหวาเหมิน" (D) และทางตะวันตกสุดคือ "ประตูซีหวาเหมิน (C) ประตูทั้งหมดของพระราชวังต้องห้ามมีการประดับตกแต่งด้วยหมุดประตูทองคำ 9 แถว ยกเว้นประตูตงหวาเหมินที่มีเพียง 8 แถว
“ประตูอู่เหมิน” มีปีกอยู่ทั้งสองข้าง ทำให้เกิดเป็นด้านของสี่เหลี่ยมทั้งสามด้าน ประตูนี้มีช่องประตูทั้งหมดห้าช่อง ช่องประตูตรงกลางเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งมีการทำเครื่องหมายด้วยหินซึ่งเป็น “แกนกลาง” ของ “พระราชวังต้องห้ามและนครโบราณปักกิ่ง”
ตลอดแนวจากประตูจงหวาเหมินทางใต้ไปจนถึงจิ่งชานทางเหนือ มีเพียงฮ่องเต้เท่านั้นที่จะสามารถทรงพระดำเนินหรือทรงนั่งผ่านเส้นทางนี้ได้ ยกเว้นสมเด็จพระจักรพรรดินีในพระราชวโรกาสงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และบัณฑิตที่สอบผ่านการสอบขุนนาง
เขตพระราชฐานชั้นนอก
พระราชวังต้องห้ามถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก (外朝) หรือส่วนหน้า (前朝) ประกอบด้วยส่วนทางใต้ ถูกใช้ในวัตถุประสงค์ด้านการพระราชพิธี และเขตพระราชฐานชั้นใน (内廷) หรือวังหลัง (后宮)
ประกอบด้วยส่วนทางเหนือ ถูกใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ และถูกใช้ในการบริหารกิจการรัฐประจำวัน (มีเส้นแบ่งโดยประมาณสีแดงตามแผนผังด้านบนเป็นเส้นแบ่งเขต) โดยทั่วไปแล้ว พระราชวังต้องห้ามมีแกนแนวตั้งเป็นสามแฉก อาคารที่สำคัญที่สุดตั้งอยู่ที่แฉกตรงกลางในแนวเหนือ–ใต้
เมื่อเข้าจากประตูอู่เหมิน .. จะพบกับพื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่ มีแม่น้ำสีทองที่คดเคี้ยวไหลผ่าน ซึ่งมีสะพานข้ามทั้งหมด 5 สะพาน เมื่อข้ามสะพานไป เบื้องหน้าจะเป็นประตูไท่เหอ (F) ตั้งอยู่
ด้านหลังถัดไปจากประตูคือพื้นที่จัตุรัสของ “พระที่นั่งไท่เหอ” ซึ่งเป็นพระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่บนแท่นหินหยกขาวยกพื้นสูงจากจตุรัสนี้
โดยมีพระที่นั่งทั้งหมด 3 องค์ตั้งอยู่บนแท่นหินหยกขาว ซึ่งเป็นจุดที่โดดเด่นของพระราชวังที่ซับซ้อนนี้ .. ประกอบด้วย (จากด้านทางใต้) พระที่นั่งไท่เหอ (太和殿) พระที่นั่งจงเหอ (中和殿) และพระที่นั่งเป่าเหอ (保和殿)
“พระที่นั่งไท่เหอ” (G) เป็นพระที่นั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด .. อยู่สูงกว่าปริมณฑลโดยรอบประมาณ 30 เมตรเศษ พระที่นั่งนี้เป็นศูนย์กลางพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิ และเป็นโครงสร้างไม้ที่ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศจีน
.. มีมุขกว้าง 9 มุขและมุขลึก 5 มุข .. ซึ่งเลข 9 และ 5 เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงฮ่องเต้
.. บนเพดานตรงกลางของพระที่นั่งนั้นเป็นช่องทึบที่ถูกตกแต่งอย่างประณีตด้วยมังกรกำลังม้วนตัว ที่ปากของมังกรนั้นห้อยด้วยลูกโลหะทรงกลมปิดทองคำที่ถูกจัดไว้คล้ายกับโคมระย้า เรียกว่า "กระจกซวนหยวน"
.. ในสมัยราชวงศ์หมิง ฮ่องเต้ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งองค์นี้ขึ้นเพื่อไว้ทรงบริหารราชกิจของประเทศ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง ฮ่องเต้เสด็จพระราชดำเนินมายังพระที่นั่งนี้บ่อยครั้งขึ้น ทำให้พระที่นั่งนี้ถูกใช้งานบ่อยขึ้น และ “พระที่นั่งไท่เหอ” นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการพระราชพิธีเท่านั้น เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีสถาปนา และพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
“พระที่นั่งจงเหอ” .. มีขนาดรองลงมา เป็นพระที่นั่งทรงจตุรัส ถูกใช้สำหรับให้ฮ่องเต้ทรงเตรียมพระองค์เอง และเป็นที่สำหรับทรงพักผ่อนในช่วงก่อนและในระหว่างพระราชพิธี
ด้านหลังเป็น “พระที่นั่งเป่าเหอ” .. ใช้สำหรับฝึกซ้อมการพระราชพิธี และยังถูกใช้เป็นสนามสอบขั้นสุดท้ายของการสอบขุนนางด้วย ทั้งสามพระที่นั่งมีพระราชบัลลังก์หลวง ซึ่งพระราชบัลลังก์ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนที่สุดประดิษฐานอยู่ภายในพระที่นั่งไท่เหอ
บันไดตรงกลางที่ตรงขึ้นสู่แท่นจากด้านเหนือและด้านใต้เป็นบันไดพระราชพิธี เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของฮ่องเต้ .. โดยมีรูปแกะสลักนูนต่ำประดับอยู่
บันไดด้านเหนืออยู่ด้านหลังพระที่นั่งเป่าเหอ .. ตัวบันไดแกะสลักขึ้นจากหินชิ้นเดียวขนาดยาว 16.57 เมตร กว้าง 3.07 เมตร และหนา 1.7 เมตร มีน้ำหนัก 200 ตันเศษ และเป็นวัตถุแกะสลักขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน
บันไดด้านใต้อยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งไท่เหอ มีความยาวกว่า แต่ประกอบจากหินสองชิ้นเชื่อมกันด้วยคอนกรีต รอยต่อถูกซ่อนไว้อย่างชาญฉลาดโดยใช้การแกะสลักนูนต่ำที่ทับซ้อนกัน ถูกค้นพบจากการผุพังที่ทำให้ช่องว่างนั้นขยายขึ้นในศตวรรษที่ 20
ด้านใต้ฝั่งตะวันตกและด้านใต้ฝั่งตะวันออกของเขตพระราชฐานชั้นนอกเป็น “พระที่นั่งอู่อิง” (H) และ “พระที่นั่งเหวินฮวา” (J) ซึ่งในอดีตเคยถูกใช้สำหรับฮ่องเต้เสด็จออกรับเหล่ารัฐมนตรีและการเปิดศาล .. ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์ในพระราชวัง
อีกพระที่นั่งถูกใช้เป็นสถานที่บรรยายพิธีการทางศาสนาโดยนักพรตขงจื้อขั้นสูงที่ได้รับการยกย่อง และต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นสำนักงานราชเลขาธิการ สำเนาของหนังสือซื่อคูเฉียนชูถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่ ส่วนด้านเหนือฝั่งตะวันออกเป็นหมู่ “พระที่นั่งหน่านซัน” (南三所) (K) ซึ่งเป็นที่ประทับของพระรัชทายาท
โฆษณา