Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
8 เม.ย. เวลา 02:35 • ท่องเที่ยว
Beijing 2025 (08) พระราชวังต้องห้ามในบางแง่มุม
Beijing 2025 (08) วังต้องห้ามในบางแง่มุม
พระรางวังต้องห้าม มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายหลายด้าน ทั้งเรื่อง สถาปัตยกรรม ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ สัญลักษณ์ อุดมการณ์ งานด้านหัตถกรรม เรื่องเล่าขาน เรื่องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัง ฯลฯ .. แต่ละด้านมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเยอะมาก สามารถเขียนเป็นหนังสือได้เลย
พระราชวังต้องห้าม เพื่อถูกพูดถึงก็มักจะเพ่งไปที่ตัวพระราชวังโดยตรง
ความโดดเด่นของอาคารพระที่นั่งขนาดใหญ่อันเป็นที่ออกว่าราชการของจักรพรรดิ ซึ่งเบื้องหน้าจะเป็นลานกว้างที่ปูด้วยอิฐหินขนาดเขื่องแข็งแรง .. แน่นอนเป็นภาพที่ดูอลังการงานสร้างจริงๆ และวิจิตรงดงามในแบบเฉพาะของจีนโบราณ ชวนให้ตะลึงแก่สายตาของผู้ที่เห็นครั้งแรก
สะพานหินอ่อนที่ถูกสลักเสลาเป็นลายต่างๆ อย่างสวยงามบนทางเดินของสะพาน .. เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดทุกสายตาให้เพ่งมอง ตรงกลาง มีภาพสลักมังกรและหงส์ที่อยู่กลางสะพาน สะพานนี้เรียกว่า สะพานแม่น้ำทองคำ (Golden River Bridge)
หิตอ่อนที่สลักเป็นภาพนูนต่ำ จามสะพานต่าง
โบราณสถานส่วนใหญ่ในประเทศจีนมีสิ่งหนึ่งที่งามสง่า น่าเกรงขาม และฉันชอบมองเป็นพิเศษ นั่น คือ สิงโตสัมฤทธิ์สองตัวที่ตั้งอยู่คู่กัน แต่คนละด้านของทางเข้า
.. อาจจะมีนัยยะว่า เป็นการเฝ้าปกปักรักษาสถานที่นั้นๆ ที่ตามมาคือ มักจะมีใครบางคนถามเสมอในเรื่องของการแยกเพศของสิงโตคู่สัมฤทธิ์
ช่างชาวจีนโบราณฉลาดและมีความคิดที่แยบยลในการแยกให้สิงโตคู่นี้เป็นตัวผู้กับตัวเมีย คือ .. ถ้าเป็นตัวผู้ ใต้อุ้งเท้าข้างหนึ่งจะเหยียบลูกบอลเอาไว้ ลูกบอลนี้เป็นเหมือนของเล่นก็จริง แต่ถูกเปรียบให้เป็นเสมือนโลกที่อยู่ใต้อำนาจของสิงโต
ซึ่ง สิงโตหรือพญาราชสีห์มักถูกเปรียบเป็นนักปกครอง และมักจะถูกใช้ให้สัญลักษณ์ของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
ส่วนสิงโตตัวเมียนั้น .. ใต้อุ้งเท้าข้างหนึ่งจะมีลูกสิงโตนอนหงายท้องอยู่ ซึ่งต้องการสื่อถึงการเป็นเพศแม่ที่กำลังเลี้ยงดูลูก ปกป้องลูก หรือกำลังเล่นกับลูกสิงโต
สิ่งที่งดงามยิ่งก็คือ เหล่าสิงสาราสัตว์ทั้งที่มีอยู่จริงและไม่มีอยู่จริงในโลกใบนี้ .. สัตว์ที่ขาดไม่ได้ก็คือ มังกร ซึ่งจะถูกวาดอยู่ตามจุดต่างๆ ถัดมาคือ หงส์ กิเลน นกกระเรียน เป็นต้น โดยบางที่หงส์จะปรากฏคู่กับมังกร แต่จะอยู่เหนือมังกรไม่ได้ เพราะมังกรคือ จักรพรรดิ
ส่วนกิเลนกับนกกระเรียนนั้น มีประเด็นที่พึงกล่าวด้วยว่า เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกฐานะของเสนามาตย์ด้วย โดยนกกระเรียนคือสัญลักษณ์ของขุนนางชั้นสูงสุดในฝ่ายพลเรือน ส่วนกิเลนเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของขุนนางฝ่ายกลาโหม หรือขุนนางฝ่ายบุ๋น (เหวิน) และฝ่ายบู๊ (อู่) ตามลำดับนั้นเอง
สัญลักษณ์นี้จะปรากฏอยู่ในเครื่องแต่งกายของขุนนางทั้งสองฝ่ายในสมัยศักดินา
คนจีนในยุคราชวงศ์หมิงมีภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมอย่างสูงส่ง ในการสร้างวังต้องห้าม ไม่เพียงเท่านั้น งานสร้างที่ว่าในบางส่วนยังขานรับกับความเชื่อทางศาสนาอีกด้วย
.. เช่น ครั้งหนึ่งในระหว่างบูรณะหลังคาพระที่นั่งองค์หนึ่งนักโบราณคดีพบว่า ใต้หลังคาพระที่นั่งมีผอบซ่อนอยู่ใบหนึ่ง ในผอบมีผ้าไหมที่เขียนข้อความเป็นบทสวดศาสนาพุทธของฝ่ายทิเบตพับอยู่อย่างเรียบร้อย บทสวดนี้คงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนาในขณะนั้น นัยว่าจะสามารถให้ความปกป้องคุ้มครองพระที่นั่งองค์นี้ได้ เป็นต้น
สมบัติล้ำค่าของแผ่นดินจีน
พระราชวังต้องห้ามสร้างมานาน จึงมีการสะสมทรัพย์สมบัติล้ำค่ามากมายซึ่งล้วนหายาก ..
ในช่วงราว 20 ปีก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมือง ในช่วงนั้นเป็นยุคสาธารณรัฐจีน (1912-1949) ภายใต้การปกครองของ พรรคจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง (国民党 )
แผ่นดินจีนตกอยู่ในสภาพวุ่นวายจากสงครามสู้รบไม่หยุดหย่อน ทั้งสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพของก๊กมินตั๋ง และกองทัพแดงของ พรรคคอมมิวนิสต์ อีกทั้งศึกรุกรานจากกองทัพญี่ปุ่นที่ทำให้คู่ปฏิปักษ์การเมืองที่กำลังรบรากันอยู่นั้นหันมาจับมือกันชั่วคราวเพื่อสู้ศึกขับไล่กองทัพแดนอาทิตย์อุทัย...ปกป้องมาตุภูมิจีน
ในยุคสงครามลุกโหมบนแผ่นดินจีนช่วงนี้ นอกจากภารกิจการสู้รบเพื่อปกป้องอธิปไตยประเทศชาติแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญในการรักษาสมบัติชาติคือ “ภารกิจขนย้ายสมบัติพระราชวังกู้กงลงใต้” ที่ในภาษาจีนเรียกว่า 故宫文物南迁 คือการขนย้ายสมบัติล้ำค่าของชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุในพระราชวังกู้กง แห่งนครปักกิ่ง ไปยังเมืองทางใต้ของประเทศ
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดครองดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในปี ค.ศ.1931 ที่เรียกว่า ‘เหตุการณ์วันที่ 18 กันยายน’ (九一八事变)หรือ อุบัติการณ์มุกเดน (Mukden Incident) แผ่นดินจีนตกอยู่ในความวุ่นวายระส่ำระสายอย่างหนัก บรรดาผู้ทรงความคิดมองการณ์ไกลต่างวิตกกังวลกันว่าสมบัติล้ำค่าของชาติในปักกิ่งซึ่งอยู่ทางภาคเหนือจะถูกศัตรูต่างชาติที่เข้ามารุกรานแผ่นดินปล้นสะดมเอาไป หรือไม่ก็มอดไหม้สูญไปในไฟสงคราม จึงวางแผนขนย้ายสมบัติชาติออกจากปักกิ่งไปไว้ยังที่ปลอดภัยในเมืองทางใต้
ด้วยจีนมีประวัติศาสตร์อารยธรรมยิ่งใหญ่ยาวนานถึงราว 3 พันปี (ประมาณจากโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ) สมบัติโบราณวัตถุย่อมมหาศาลน่าตื่นตะลึง...
จีนใช้เวลานานราว 1 ปีจากปี 1932 คัดเลือกและจัดสมบัติชาติบรรจุในลังไม้ โบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ในปักกิ่งที่ถูกจัดเก็บลงลังไม้มีจำนวนถึง 19,557 ลัง ในจำนวนนี้เป็นโบราณวัตถุจาก พระราชวังกู้กง มากกว่า 13,000 ลัง นอกนั้นเป็นโบราณวัตถุจากพระราชวังฤดูร้อน (อี๋เหอหยวน/颐和园) และ พิพิธภัณฑ์กั๋วจื่อเจียน (国子监)
จนกระทั่งในปี 1933 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมก็ทยอยขนย้ายสมบัติชาติลงใต้ไปเก็บรักษาไว้ที่นครเซี่ยงไฮ้ หลังจากที่ห้องเก็บสมบัติใน วังเฉาเทียนที่หนันจิง (南京朝天宫)สร้างเสร็จในปลายปี 1936 โบราณวัตถุเหล่านี้ถูกขนย้ายไปไว้ที่นครหนันจิง ซึ่งเป็นนครหลวงของสาธารณรัฐจีนในช่วงนั้น
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกลงใต้มาถึงนครเซี่ยงไฮ้ในปี 1937 ผู้นำสาธารณรัฐจีน เจียงไคเช็ก (蒋介石) ก็สั่งการขนย้ายสมบัติชาติออกจากหนันจิงโดยด่วนขณะที่ไฟสงครามกำลังลุกลามเข้ามายังหนันจิง
การขนย้ายสมบัติครั้งนี้ได้จัดแบ่งลังสมบัติแยกกันเดินทางไปใน 3 เส้นทาง ไปยังมณฑลเสฉวนซึ่งอยู่ในภาคตะวันตก เมื่อถึงเสฉวนก็นำสมบัติเหล่านี้ไปเก็บไว้ตามเมืองต่างๆ เช่น ปาเสี้ยน 80 ลัง เอ่อเหม่ยเสี้ยน 7,287 ลัง เล่อซันเสี้ยน 9,331 ลัง และบางส่วนถูกนำไปไว้ที่นครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงอีกแห่งของสาธารณรัฐจีนในช่วงสงครามญี่ปุ่น (ปี 1937-1945)
หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 ต่อมาในปี 1947 สมบัติชาติจีนก็ถูกขนกลับมาเก็บไว้ที่นครหนันจิง ถือเป็นการสิ้นสุดของ “การเดินทางไกลลงใต้นับหมื่นลี้ของสมบัติชาติจีน”
‘ภารกิจขนย้ายสมบัติพระราชวังกู้กงลงใต้’ ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการปกป้องมรดกวัฒนธรรมแห่งมนุษยชาติ กลุ่มบุคคลที่ควรคารวะอย่างสูงส่งในความเสียสละปฏิบัติภารกิจนี้คือ กลุ่มผู้รับผิดชอบดูแลและคนงานของพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง
พวกเขาทนความลำบากแสนเข็ญ แบกรับงานหนักสาหัสในการขนย้ายสมบัติชาติกว่าล้านชิ้น ฝ่าฟันไฟสงครามห่ากระสุนปืนที่บางครั้งซัดสาดราวสายฝน เดินทางไกลไปตามพื้นที่ต่างๆ ถึงครึ่งแผ่นดินใหญ่อันกว้างขวางเป็นเวลานานถึง 15 ปี เพื่อนำสมบัติชาติไปยังที่ปลอดภัย ที่น่าทึ่งก็คือ โบราณวัตถุจำนวนมหาศาลนั้นไม่ตกหล่นหายไปสักชิ้นเดียว อีกทั้งแทบไม่เกิดความเสียหายใด
“ภารกิจขนย้ายสมบัติพระราชวังกู้กงลงใต้” แสดงถึงยอดนักฝ่าฟันอุปสรรคของชาวจีนในยุคสมัยนั้น และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งบนโลก จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมโลกเลยทีเดียว
‘สมบัติพระราชวังกู้กงบางส่วน’ ถูกขนย้ายอีกครั้งไปยังไต้หวัน
ในเดือนธันวาคม ปี 1948 ถึงเดือนธันวาคมปี 1949 ช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังพิชิตชัยชนะในสงครามกลางเมืองอย่างแน่นอนแล้ว ผู้นำก๊กมินตั๋งได้ขนย้ายสมบัติล้ำค่าของชาติจากเมืองต่างๆ ในจีนไปยังนครไทเป บนเกาะไต้หวัน 5 ครั้งด้วยกัน โบราณวัตถุที่ถูกขนส่งไปไทเปรวมทั้งสิ้น 5,606 ลัง ในจำนวนนี้ 3,879 ลัง ซึ่งบรรจุโบราณวัตถุรวมกันมากกว่า 250,000 ชิ้น ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง นครไทเป
สำหรับโบราณวัตถุของพระราชวังกู้กงที่ขนไปจากหนันจิง ไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กงนครไทเป มีจำนวน 2,972 ลัง ประกอบด้วยโบราณวัตถุกว่า 68,000 ชิ้น
แม้ว่าโบราณวัตถุที่ถูกขนส่งไปไต้หวัน มีไม่ถึง 1 ใน 4 ของสมบัติพระราชวังต้องห้ามที่ถูกขนย้ายลงใต้ ทว่า จำนวนไม่น้อยเป็นของหนักของล้ำค่าที่สุด มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างเอกอุ
ปี 1951 โบราณวัตถุที่เหลืออยู่ในหนันจิง รวมกว่า 10,000 ลัง ก็ถูกทยอยขน ‘กลับบ้าน’ คือพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงปักกิ่ง ส่วนที่เหลืออีก 2,221 ลัง ยังเก็บไว้ที่นครหนันจิง
สมบัติชาติจีนแห่งสองนคร : ปักกิ่ง-ไทเป
พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง ซึ่งมีชื่อสากล คือ The Palace Museum และ พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครไทเป ซึ่งมีชื่อสากล คือ National Palace Museum
พิพิธภัณฑ์ 2 แห่งนี้เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าของชาติจีน โดยต่างมีความโดดเด่นระดับไร้เทียมทานในใต้หล้า แต่ต่างก็ไม่สมบูรณ์ พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงนครปักกิ่ง มีสมบัติล้ำค่ากว่า 1.8 ล้านชิ้น ส่วนพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงนครไทเป มีสมบัติล้ำค่า 700,000 ชิ้น
ไม่ว่าจะเป็นสมบัติล้ำค่าที่เก็บรักษาไว้ในจีนฝั่งไหน ทุกๆ ชิ้นล้วนแฝงจิตวิญญาณบรรพบุรุษจีนเดียวกัน
ตัวอย่างภาพสมบัติล้ำที่ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ ณ กรุงปักกิ่ง (ภาพจาก Internet)
ตัวอย่างภาพสมบัติล้ำที่ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ ณ กรุงไทเป (ภาพจาก Internet)
Ref :
https://mgronline.com/china/detail/9650000080058
ส่วนเรื่องราวบางสิ่งที่ขาดหายไปในการไปเยือนพระราชวังต้องห้ามในทริปนี้ของเรา คือ พระที่นั่งต่างๆไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมโบราณวัตถูที่เคยจัดแสดง ต่างจากครั้งก่อนๆที่เคยไปเยือน .. ทั้งการจัดแสดงเครื่องหยก การจัดแสดงนาฬิกาโบราณ รวมถึงเก้าอี้ของจักรพรรดิ
ใครที่เคยไปปักกิ่งตรงบริเวณรอบๆ กับด้านหน้าวังต้องห้ามแล้วจะพบว่า บริเวณดังกล่าวจะมีสิ่งปลูกสร้างที่อยู่นอกตัวพระราชวัง เช่น กำแพงเมืองโบราณปรากฏอยู่บางส่วน และมีประตูเมืองที่งดงามตั้งตระหง่านอยู่ด้วย ดูแล้วก็อาจชื่นชมจีนที่ดูแลรักษาโบราณสถานเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
กำแพงเมืองโบราณที่เราเห็นอยู่เบื้องหน้านั้น ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร .. ส่วนที่เป็นกำแพงเมืองจริงๆ บางส่วนได้ถูกทำลายไปเป็นส่วนมากแล้ว ส่วนประตูเมืองที่ตั้งเด่นเป็นสง่าก็เพิ่งสร้างขึ้นใหม่จากร่องรอยเดิมเมื่อไม่นานมานี้เอง
ประเทศจีนตั้งแต่โบราณกาลมานั้น แทบทุกเมืองจะมีกำแพงเมืองและประตูเมืองตั้งไว้ทั้งสิ้น .. เมื่อเวลาผ่านไปนับร้อยนับพันปี ดังนั้น กำแพงเมืองและประตูเมืองเหล่านี้ก็ย่อมชำรุดทรุดโทรมลงไปบ้างตามกาลเวลา แล้วถูกซ่อม บูรณะ หรือสร้างขึ้นใหม่ตามแต่สภาพ
ตราบจนในยุคคอมมิวนิสต์ กำแพงเมืองและประตูเมืองเหล่านี้จึงยังคงตั้งอยู่เรื่อยมา และตอนที่ตั้งอยู่นั้นเราไม่รู้ว่า กลุ่มผู้นำจีนคิดเห็นอย่างไรกับกำแพงเมืองและประตูเมืองเหล่านี้ แต่เดาว่าไม่น่าคิดมากจนถึงกับจะต้องทุบทำลาย
พอมาถึงช่วงเวลาตอนที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นมาในปี 1966 นั้น .. พวกเรดการ์ดที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิวัติวัฒนธรรมได้รับคำชี้นำว่า เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยมอย่างแท้จริง เราจะต้องทำลายสิ่งเก่าลงไปก่อน จึงจะสร้างสังคมใหม่ขึ้นมาได้
การทำลายสิ่งเก่านี้เรียกว่า “วิพากษ์สี่เก่า” (พ่อซื่อจิ้ว, 破四旧) อันหมายถึง การวิพากษ์ความคิดเก่า วัฒนธรรมเก่า ประเพณีเก่า และนิสัยเก่า ที่เคยเป็นที่เชื่อและยึดถือกันมาช้านาน
ด้วยเหตุนี้ .. กำแพงเมืองและประตูเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งเก่าจึงต้องถูกทำลายไปด้วย ซึ่งการทำลายกำแพงเมืองและประตูเมืองนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ใช่ปักกิ่งที่เดียว เรียกได้ว่าเป็น “เหยื่อ” รายแรกๆ ของพวกเรดการ์ด
กำแพงเมืองเหลืออยู่นั้น ว่ากันว่า ได้ซ่อมและสร้างจากส่วนที่เหลือของซากเดิม และได้กลายเป็นหลักหมายว่านี่คือที่ตั้งกำแพงเมืองมาก่อน
ส่วนประตูเมืองถูกทำลายไม่มีเหลือ ดังนั้น หลังจากที่จีนเข้าสู่ยุคปฏิรูปนับแต่ปี 1979 ไปแล้วจึงได้มีการสร้างประตูเมืองขึ้นมาใหม่บนที่ตั้งเดิม ว่ากันว่า ประตูเมืองเดิมที่ถูกทำลายไปนั้นไม่ได้งดงามดังประตูเมืองที่สร้างใหม่ และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะไม่มีหลักฐานภาพถ่ายเก่าที่ให้รายละเอียดได้ .. มีก็แต่ภาพเก่าที่ถ่ายจากระยะไกล ซึ่งเห็นได้แค่โครงสร้างเท่านั้น
เมื่อพูดถึงเรื่องกำแพงเมืองกับประตูเมืองของปักกิ่ง ในฐานะส่วนหน้าก่อนที่จะถึงวังต้องห้ามแล้วก็อาจมีคำถามว่า .. ความเก่าแก่ของกำแพงเมืองกับประตูเมือง อาจจะไม่ได้สะท้อนความเป็นสิ่งเก่าได้มากเท่ากับวังต้องห้าม แล้วทำไมวังต้องห้ามไม่ถูกทำลายไปด้วย?
พระราชวังต้องห้าม โดยความจริงแล้วเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของพวกเรดการ์ดเลยทีเดียว .. แต่ที่ไม่ถูกทำลายก็เพราะโจวเอินไหล (1898-1976) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีสั่งการให้ทหารจากกองทัพปลดแอกมาเฝ้ารักษาเอาไว้ พระราชวังต้องห้ามจึงรอดจากการบุกเข้าทุบหรือเผาทำลายจากพวกเรดการ์ดมาได้
https://mgronline.com/daily/detail/9660000099119
https://mgronline.com/daily/detail/9660000101343
https://mgronline.com/daily/detail/9660000094764
บันทึก
3
1
2
3
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย