8 เม.ย. เวลา 12:14 • ความคิดเห็น

อวัจนภาษาทางการบิน กับ 18 วิธีพัฒนาทักษะด้านการ 'ไม่พูด'

เคยไหม สมัยเป็นผู้ช่วยนักบิน พอขึ้นเครื่องปุ๊บ รัศมีความโหดของกัปตันแผ่ซ่าน พลางคิดในใจว่า “แค่หายใจแรงใน cockpit เราจะผิดไหมเนี่ย”
เคยไหม ตลอดเที่ยวบินบนฟ้า กัปตันไม่หันมาพูดด้วยสักคำ เที่ยวบินเงียบกริบ บรรยากาศโหวงเหวงชอบกล
ที่ว่ามานี้ เคยเกิดขึ้นจริง แต่ส่วนใหญ่เป็นการบินในยุคเก่า ยุคที่ใช้ระบบอาวุโสนำ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนไทยนะ บินกับฝรั่งก็เคยเจอมาแล้ว ในยุคสมัยที่วิชา CRM (Crew Resource Management) ยังไม่แพร่หลาย หรือแพร่หลายแต่ไม่เอามาใช้กันในทางปฏิบัติ เน้นแต่ทฤษฎีแบบลูบหน้าปะจมูก ยุคที่คอนเซ็ปต์เรื่องการทำงานเป็นทีมยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง ยุคที่วิชา KSA (Knowledge, Skills, and Attitudes) ยังไม่เกิด
การสื่อสาร หรือ Communications คือหนึ่งในเก้าสมรรถนะที่นักบินทุกคนต้องมี ต้องสามารถแสดงพฤติกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการสื่อสารได้
ทักษะนี้ ไม่ได้หมายถึงการพูดอย่างเดียว 'การไม่พูด' ก็หมายรวมอยู่ในพฤติกรรมที่ว่านี้ด้วย
ICAO กำหนดไว้ว่า “นักบินที่มีทักษะการสื่อสารที่ดี จะต้องสามารถทำการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยการพูด ท่าทาง หรือการเขียน ทั้งในยามสถานการณ์ปกติและไม่ปกติ
อวัจน แปลว่า “ไม่ใช้เสียงพูด”
อวัจนภาษา จึงหมายความว่า ภาษาที่ไม่ได้เปล่งเสียงออกมา ไร้ถ้อยคำ ไร้การเขียดเขียน มันเป็นเรื่องของการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง การสบตา การวางท่า และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง
อ้างอิงตำราวิชา KSA ของบริสโต ในหมวดของการสื่อสาร จำแนกพฤติกรรมที่ต้องการเห็นในตัวนักบินคนๆหนึ่งได้ทั้งหมด 11 พฤติกรรม ในที่นี้จะมาเจาะถึง 2 พฤติกรรมสุดท้าย ว่าด้วยเรื่องของการ 'ไม่พูด'
บางครั้งการที่เราไม่พูด มันอาจสำคัญพอๆกับการพูด
<The most important thing in communication is hearing what isn’t said.>
ในห้องนักบิน พวกเราไม่ได้เรียนรู้เพียงแค่เฟสวิทยุ การสื่อสารกับ ATC เพียงอย่างเดียว หากแต่บนนั้น เรายังมีผู้ช่วยนักบิน มีลูกเรือ มีผู้โดยสาร บางหน่วยงาน เราพาช่างอากาศยาน เราพานักกู้ภัย นักว่ายน้ำสำหรับไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขึ้นไปทำงานด้วยกันอยู่ในห้องเล็กๆบนท้องฟ้า
ภาษากายจึงสำคัญมาก ทักษะนี้ช่วยเพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดความสับสนในบางสถานการณ์ได้ดีเยี่ยม สังเกตได้จากผู้ร่วมงานที่รู้ใจกันสุดๆ แค่มองตาก็รู้แล้วว่าอยากให้ทำอะไร
พฤติกรรม 2 อย่าง ที่ไม่ต้องพูดสักนิด แต่เป็นทักษะสำคัญที่นักบินทุกคนต้องมีได้แก่
1. ความสามารถในการเข้าใจและตีความภาษากายของผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง
2. ความสามารถในการสบตา การใช้ท่าทาง และการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร
ต่อไปนี้คือ 18 วิธีพัฒนาทักษะการใช้อวัจนภาษาที่ถูกเขียนขึ้นในตำราสอนนักบิน
1.Avoid slouching (อย่านั่งหลังค่อม)
ฝึกนั่งหลังตรงหรือนั่งเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อแสดงความกระตือรือร้นและความสนใจ
2.Use appropriate humour (เมื่อจะขำ ให้ขำอย่างเหมาะสม)
เลือกที่จะยิ้มหรือหัวเราะให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หลีกเลี่ยงการหัวเราะในเรื่องจริงจัง
3.Animate (แสดงท่าทางประกอบอย่างเป็นธรรมชาติ)
ใช้มือและสีหน้าประกอบ พึงหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่มากเกิน มันจะดูวุ่นวายไป
4.Avoid 'props' becoming 'crutches' (หลีกเลี่ยงการพึ่งพาอุปกรณ์เสริมมากเกินไป)
อย่าหยิบจับสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้องบ่อย เช่น โทรศัพท์ หรือจับแก้วน้ำระหว่างสนทนา เพราะอาจทำให้ดูไม่มั่นใจ
5.Don't twitch (อย่ากระตุกหรือขยับตัวบ่อยเกินไป)
ลดอาการกระวนกระวาย เช่น บางคนชอบเขย่าขา หรือชอบดีดปากกาไปเรื่อย
6.Have 'good' eye-contact (สบตาอย่างเหมาะสม)
ฝึกสบตาที่คู่สนทนาให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ อย่าไปจ้องจนเกินไป
7.Engage (มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง)
ตั้งใจฟังและมีสมาธิกับการพูดของคู่สนทนา อย่าใจลอย หรืออย่าเล่นมือถือไปคุยไป
8.Introduce yourself (แนะนำตัวเองอย่างมั่นใจ)
เวลาแนะนำตัว ให้บอกชื่อตัวเรา พร้อมรอยยิ้ม อาจจับมืออย่างสุภาพ (ไม่บีบแรงจนเว่อร์ไป)
9.Control your hands (ควบคุมการใช้มืออย่างเหมาะสม)
หลายคนพูดไป ไม่รู้จะเอามือไปไว้ตรงไหน ขยับไปเรื่อย ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ อย่าลูบหน้าหรือเสยผมบ่อยขณะพูด เพราะอาจแสดงถึงความไม่มั่นใจ
10.Listen actively (ตั้งใจฟังอย่างจริงจัง)
อย่าขัดจังหวะผู้อื่น รับฟังอย่างตั้งใจ แสดงออกด้วยการพยักหน้าหรือทวนข้อความบ้างตามความเหมาะสม
11.Avoid folding your arms (หลีกเลี่ยงการกอดอก)
การกอดอก สื่อถึงความปิดกั้นและการปกป้องตัวเอง ควรเปิดแขนและแสดงท่าทีเป็นมิตร
12.Be interesting (ทำให้การสื่อสารน่าสนใจ)
ปรับระดับเสียงตามบริบท ควบคุมจังหวะการพูดเพื่อเน้นจุดสำคัญ หลีกเลี่ยงเสียงราบเรียบจนเกินไป
13.Show agreement (แสดงความเห็นด้วย)
พยักหน้าเบา ๆ บ้าง เพื่อแสดงความเข้าใจและสนับสนุนผู้พูด
14.Watch the body language of others (สังเกตภาษากายของผู้อื่น)
อ่านสีหน้าท่าทางของคู่สนทนา หากดูว่าเขาสับสนหรือมีทีท่าไม่สนใจเรา ควรปรับการพูดใหม่หรือสรุปให้กระชับขึ้น
15.Be authentic (เป็นตัวของตัวเองอย่างจริงใจ)
อย่าฝืนหัวเราะหรือแสดงอารมณ์เกินจริง ความจริงใจจะทำให้ผู้คนสัมผัสได้ง่ายกว่าการแสร้งทำแบบปลอมๆ
16. Respect personal space (เคารพพื้นที่ส่วนตัว)
ระมัดระวังระยะห่างระหว่างตนเองกับผู้อื่น เพื่อสร้างความสบายใจในการสนทนา
17. Smile (ยิ้มอย่างจริงใจ)
รอยยิ้มที่เป็นธรรมชาติช่วยเปิดใจคู่สนทนา และทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย
18. Stay calm (สงบนิ่ง ไม่กระวนกระวาย)
เมื่อไหร่รู้สึกประหม่า ให้หายใจลึก ๆ อย่าลังเลที่จะบอกอีกฝ่ายว่าเราตื่นเต้นเล็กน้อย บางทีเมื่อบอกไป ก็ช่วยให้ลดความตื่นเต้นของเราลงได้ และทำให้ดูสงบขึ้น
โดยสรุป
เรื่องการสื่อสารแบบ 'ไม่พูด' นี้ ต้องอาศัยการฝึกฝน ในคลาสเรียน ครูอาจให้จับกลุ่ม ฝึกพูดหน้าชั้น บันทึกวิดีโอ แล้วเอามาดูตัวเอง ก็จะเห็นจุดอ่อนในเรื่องการแสดงสีหน้า ท่าทาง ขณะพูดของตัวเราได้เป็นอย่างดี
เรื่องแบบนี้ ฝึกบ่อยๆ ได้ประโยชน์ ยิ่งวิชาชีพนักบินด้วยแล้ว ต้องเติบโตไปเป็นผู้นำในห้องนักบิน ต้องใช้การสื่อสารกับทีมตลอดเวลา
ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจคือกุญแจสำคัญของผู้นำทีม ทักษะด้านอวัจนภาษาช่วยได้ และช่วยได้เยอะด้วย เพียงไม่พูด แค่สีหน้าท่าทางก็สื่อถึงอารมณ์ได้หมดแล้ว และการสื่อสารแบบนี้ ยิงตรงทะลุถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายได้แบบกระชากวิญญาณกันเลยทีเดียว
ไม่มีใครซ่อนภาษากายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะร่างกายคนเรามักคอยกระซิบความจริงอยู่เสมอ
<You cannot hide your body language, because your body always whispers the truth.>
งานบนฟ้า ต้องใช้การทำงานแบบเป็นทีม ทีมที่ทำงานกับเราตลอดเวลานั้น เขาจะจดจำเราไปตลอดว่าเราเป็นอย่างไร ทำงานด้วยกันแล้วสบายใจไหม มันจะดีกว่าถ้างานบนฟ้าราบรื่นทุกเที่ยวบิน
ก่อนนอน ผู้ช่วยนักบินเห็นตารางบินวันรุ่งขึ้นว่าจะได้ไปบินกับกัปตันคนนี้แล้วก็นอนหลับฝันดี เอาเวลาไปเตรียมตัวเรื่องอื่นๆที่สำคัญจะดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ ทบทวนขั้นตอนการบิน และอื่นๆอีกสารพัด
เคยได้ยินไหมที่ว่า คนเรามักจะลืมในสิ่งที่คุณพูด ลืมในสิ่งที่คุณทำ แต่ไม่มีทางลืมความรู้สึกที่คุณทำให้เขารู้สึก
<People will forget what you said, people will forget what you did, but people will never forget how you made them feel.>
….
ต่อไปไม่ต้องกลัวหายใจแรงๆบนเครื่องว่าจะผิด ไม่ต้องกลัวบรรยากาศโหวงเหวง อึมครึมอะไรทั้งนั้น
เพราะบนฟ้าจะมีแต่ 'มืออาชีพ' ทำงาน ไม่ต้องพูดเยอะ เข้าใจกัน เต็มใจที่จะทำงานร่วมกัน ทักษะเรื่องอวัจนภาษาแบบนี้แหละที่งานบนท้องฟ้าต้องการ
โฆษณา