Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
รูปรูป คำคำ
•
ติดตาม
9 เม.ย. เวลา 11:19 • นิยาย เรื่องสั้น
“ทฤษฎีหน้าต่างแตก”
ประสาผู้ใช้ถนนหนทาง ผมพบเจอกับเรื่องราวน่าประหลาดใจอยู่บ่อยครั้ง และบางเรื่องนั้นเป็นเรื่องซ้ำ ๆ เดิม ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่เป็นเรื่องผิดกฏหมายซะด้วย ... คืองี้ครับ
ภาพชินตาที่สี่แยกไฟแดงในกรุงเทพฯ ที่พบเจอได้ไม่ยากเลยก็คือ รถมอเตอร์ไซค์ที่ไม่เคารพสัญญาณไฟจราจร คือไม่ว่าสัญญาณไฟจราจรจะเป็นยังไง ถ้าหนทางข้างหน้าสะดวกพอไปได้ หรือแม้จะไม่สะดวกทางแต่สะดวกใจ พี่ ๆ มอเตอร์ไซค์เหล่านั้นจะออกตัวไปบนถนนอย่างไม่สนใจสัญญาณไฟจราจรเลย
การฝ่าไฟแดงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอกครับ ผิดกันอยู่บ่อยครั้งประสาคนขับรถบนถนนด้วยแล้ว บางทีมันก็มีอารมณ์ไหลตามน้ำ คาบลูกคาบดอกตามคันหน้าไป ทั้งที่สัญญาณไฟนั้นผ่านจากเหลืองมาเป็นแดงแล้ว
หรือไม่ก็พวกใจร้อน ยังไม่ทันจะไฟเขียว พอเห็นตัวเลขนับถอยหลังใกล้ถึงเวลา อาจจะเหลือสักสองสามวินาที พี่เค้าก็เหมือนจะอดทนรอไม่ไหว ต้องออกตัวไปก่อนสัญญาณไฟเขียวซะอย่างนั้น
แต่ไอ้ที่มันน่าแปลกใจอย่างที่ผมว่านั้น ก็คือจอดติดสัญญาณไฟอยู่ดี ๆ ยังไม่ทันจะอะไรเลย ก็ออกตัวไปตามความพอใจ เรียกว่าเอาสะดวกตัวเองไว้ก่อน ใครจะโง่จอดติดสัญญาณไฟต่อไปก็เรื่องของมัน เห็นแล้วก็ส่ายหัวถอนใจว่า กติกาง่าย ๆ ในสังคมแค่นี้ยังรักษากันไม่ได้ ก็ท่าจะอยู่ที่ไหน ๆ ยากเต็มทีล่ะครับ
แย่ไปกว่านั้นก็คือ หลายต่อหลายครั้งที่พี่ ๆ ตำรวจจราจรที่อยู่ตามสี่แยกเหล่านั้น กลับไม่ทำอะไรเลย เห็นกันเต็ม ๆ ในระยะมือเอื้อม แต่พี่ตำรวจแกก็เหมือนไม่เห็น หรือไม่ใส่ใจจะควบคุม จะบอกว่าหยวน ๆ กันไปผมก็ว่ามันไม่ใช่เรื่องละ
ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีนึงขึ้นมา ทฤษฎีที่ชื่อว่า “ทฤษฎีหน้าต่างแตก”
Broken Windows Theory (ทฤษฎีหน้าต่างแตก) คือแนวคิดที่บอกว่า "ความเล็กน้อย ถ้าปล่อยไว้ อาจนำไปสู่ความใหญ่โตได้"
อธิบายแบบง่าย ๆ ได้ประมาณว่า ถ้ามีหน้าต่างแตก 1 บาน แต่ไม่ยอมซ่อม มันก็อาจทำให้คนผ่านไปมาจะคิดว่า "ที่นี่ไม่มีใครดูแล" จนอาจมีคนขว้างก้อนหินเพิ่มจนหน้าต่างแตกมากขึ้น อาจจะหนักหนาเกินเลยไปจนถึงบางคนอาจเริ่มทิ้งขยะ หรือพ่นสี ขีดเขียน หรือลวดลายกราฟฟิตี จนสุดท้ายพื้นที่นั้นอาจกลายเป็นจุดเสี่ยงอาชญากรรมไปซะ
ผู้ที่คิดทฤษฎีหน้าต่างแตก คือนักสังคมศาสตร์ เจมส์ คิว วิลสัน และ จอร์จ แอล เคลลิ่ง ครับ ทั้งคู่บอกว่าการปล่อยให้เกิดความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ เช่น กฎหมายไม่เข้มงวด, การทุจริตเล็กน้อย, การไม่รักษาความสะอาด อาจส่งสัญญาณว่า "สังคมนี้ไม่เป็นระเบียบ" จนนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในที่สุด
ก็เมื่อผู้คนรู้สึกว่า “ไม่มีระเบียบ” มันก็จะสร้างพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้ารักษาระเบียบและความสะอาดตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ การกระทำนั้นจะช่วยป้องกันอาชญากรรมที่ใหญ่กว่านั้นได้
คันแรกฝ่าไฟแดงไปแบบหน้าตาเฉยได้ มันก็มักจะมีคันที่สองที่สามตามไปเสมอครับ เรื่องนี้เห็นได้ด้วยตาในสี่แยกใหญ่กลางเมืองหลวง ผมมั่นใจว่าหลายท่านก็คงเคยได้เห็น เหมือนสัญญาณไฟจราจรเป็นของเล่นที่ไม่ต้องเชื่อตามนั้นก็ได้ และตำรวจจราจรก็เป็นเหมือนแค่ รปภ. ที่มีไว้ยืนโบกรถเท่านั้น บังคับจับอะไรไม่เป็น
นี่ยังไม่นับรวมเรื่องการขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า หรือขับย้อนศรหน้าตาเฉย และอะไรต่ออะไรที่เราพบเรื่องทำผิดกฏจราจรกันได้อย่างง่ายดายเป็นปกตินะครับ
“เริ่มดูแลสิ่งเล็กน้อยตั้งแต่ต้น ก่อนจะสายเกินไป” คือใจความของ Broken Windows Theory ครับ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย