13 เม.ย. เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายนของทุกปี ระลึกถึงความสำคัญ ‘ผู้สูงอายุ’ ผู้เสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรในบ้าน

☝️Click >> 13 เมษายน ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ ร่วมแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ เพราะผู้สูงอายุเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ ร่มไทร เป็นที่พักใจในบ้าน
🔎Clear >> ‘ผู้สูงอายุ’ ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญของครอบครัวคนไทย เพราะเป็นทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และคนไทยมักจะอาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผู้คนส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้ต้องจากบ้านมา เมื่อถึงเทศกาลวันหยุดยาวจึงมักจะเดินทางกลับบ้าน
โดยเฉพาะวันสงกรานต์ เพราะหลายที่มักจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ และมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทางรัฐบาลไทยจึงสนับสนุนให้ 13 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ และกำหนดนโยบายส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ เป็นวันที่ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทยหรือก็คือ ‘วันสงกรานต์’ ซึ่งหน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วนก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้นทุกปี เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ตามศักยภาพของตนเองอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ส่งเสริมการเรียนรู้และการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ
>> ดอกไม้สัญลักษณ์ผู้สูงอายุ
ในรัฐบาลสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กำหนดให้ ‘ดอกลำดวน’ เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นลำดวนหรือหอมหวล เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มาก ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรมคุณงามความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป
แน่นอนว่าเมื่อลูกหลานเดินทางกลับมาเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันที่ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา การทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุในบ้านก็เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ โดยกิจกรรมที่นิยมทำ ได้แก่
-ประเพณีรดน้ำดำหัว เป็นประเพณีในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเคารพนบน้อมต่อบิดามารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ของผู้น้อยและขอขมาลาโทษที่ผู้น้อยอาจเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็นการขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตัวเองตลอดไป
-ทำอาหารและรับประทานอาหารร่วมกัน แน่นอนการทำงานในเมืองใหญ่แล้วได้กลับมารวมกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การได้ทำอาหาร นั่งล้อมวงกินข้าว พูดคุยกันก็ช่วยให้ผู้สูงอายุหายคิดถึงลูกหลานและสร้างรอยยิ้ม ความผูกพันธ์ของครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
-ออกไปท่องเที่ยวด้วยกัน สำหรับวันผู้สูงอายุที่จัดอยู่ในช่วงวันสงกรานต์ ถือเป็นวันหยุดยาวที่ทำให้หลายครอบครัวมีเวลาว่างอยู่ด้วยกัน การใช้ช่วงเวลานี้พาพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติผู้ใหญ่ ไปเปิดหูเปิดตาข้างนอกก็คงสร้างความสุขให้กับท่านไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการไปไหว้พระที่วัด ไปทานข้าว ชอปปิงใกล้ ๆ หรือจะวางแผนท่องเที่ยวต่างจังหวัด สำหรับช่วงวันหยุดยาวแบบนี้ถือว่าเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, วิทยาลัยการอาชีพไชยา, บ้านผู้สูงอายุปทุมธานี และ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
โฆษณา