Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted investor
•
ติดตาม
10 เม.ย. เวลา 06:41 • หนังสือ
📌บทสรุปบางส่วนจากหนังสือ “ลงทุนสวนกระแสอย่าง…แอนโทนี โบลตัน” (Investing Against the Tide) [PART: 2]
🔥มาต่อกันที่บทสรุปสาระสำคัญจากหนังสือแปลไทยหายากของ ‘แอนโทนี โบลตัน’ ในตอนที่ 2
ผมได้รับหนังสือเล่มนี้มาแบบฟรีๆ งงๆ เมื่อสักประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว จากการเข้าร่วมงานของสมาคมไทยวีไอ (คลับคล้ายคลับคลาน่าจะเป็นงานสัมมนา VI101) โดยที่ไม่ได้ทราบสถานะการเลิกผลิตและราคาตลาดของหนังสือเล่มนี้เลย ณ ตอนนั้น
นับตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ หนังสือ “ลงทุนสวนกระแสอย่าง…แอนโทนี โบลตัน” ยังคงไม่ได้รับการตีพิมพ์ใหม่ และหนังสือเล่มนี้มีราคาขายในท้องตลาด (มือสอง) ประมาณ 2,000 – 3,000 บาท ถ้าเป็นหุ้นก็นับเด้งไม่ได้เลยทีเดียว เพราะไม่มีต้นทุน ฮ่าๆ ในงานวันนั้นมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้รับการแจกหนังสือจากสมาคมไปร่วมร้อยคน ไม่รู้ว่าตอนนี้หนังสือเล่มนี้กระจัดกระจายไปอยู่ส่วนไหนของประเทศไทยแล้วบ้าง
🌟เกริ่นกันมาพอสมควร ไม่พูดพร่ำทำเพลง มาต่อกันที่เนื้อหาในตอนที่ 2 คุณผู้อ่านท่านใดยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 สามารถกดที่ Link ด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ
.
📎
อ่านเพิ่มเติม
facebook.com
Introverted investor
📌บทสรุปบางส่วนจากหนังสือ (น่าจะ) หายาก (มั้ง) “ลงทุนสวนกระแสอย่าง…แอนโทนี โบลตัน” . ◼️[PART: 1] . ตอนที่ 1/2 (พยายามสรุปให้กระชับแล้ว แต่สุดท้ายก็ยาวยืดเยื้อ ขออนุญาตแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ตอนนะครับ)…
🟢หลักการประเมินมูลค่าหุ้น
“เข้าซื้อหุ้นที่เชื่อว่าตลาดประเมินมูลค่าผิดพลาด และอดทนรอคอยให้ความผิดพลาดนั้นหายไป” การดูว่าหุ้นตัวไหนมีราคาผิดพลาดนั้นง่ายกว่าการรู้ว่าเมื่อไหร่ความผิดพลาดที่ว่าจะหายไป ด้วยเหตุนี้ก็คงต้องให้ ‘เวลา’ อยู่ข้างเรา โดยสถานการณ์ปกติเวลาซื้อหุ้น โบลตันจะมองกรอบเวลา 1-2 ปี ระยะเวลาถือครองหุ้นเฉลี่ยคือ 18 เดือน แต่หากเขาเชื่อว่า ‘เหตุผลในการลงทุน’ นั้นถูกต้อง ก็ยินดีที่จะอดทนรอคอยนานหลายปี
การเข้าซื้อหุ้นราคาถูก โดยเฉพาะบริษัทที่มีงบดุลแข็งแกร่ง จะมอบส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยให้แก่เรา ราคาหุ้นที่ผิดพลาดในตลาดมักเกิดขึ้นกับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก หนึ่งในเข็มทิศการลงทุนของโบลตันคือ ‘มูลค่าในอดีต’ เราควรตรวจสอบประวัติมูลค่าหุ้นในระยะยาว หากเป็นไปได้ควรย้อนหลังไปสัก 20 ปี อย่างน้อยที่สุดควรหาข้อมูลให้ครอบคลุมหนึ่งรอบของวัฏจักรธุรกิจ
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า ณ ปัจจุบัน ราคาหุ้นอยู่ในระดับสูงหรือต่ำผิดปกติหรือไม่ การเข้าซื้อหุ้นเมื่อมีมูลค่าต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต จะทำให้เรามีโอกาสได้กำไรมากขึ้น
โบลตันไม่มีวิธีการประเมินมูลค่าสุดโปรด ‘การพึ่งพาตัวชี้วัดมูลค่าเพียงชนิดเดียวเป็นเรื่องอันตราย’ เขาจะตรวจสอบทั้งมูลค่าเชิงเปรียบเทียบ (Relative basis) และมูลค่าของตัวมันเอง (Absolute basis) สำหรับบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จะดู 5 อัตราส่วนทางการเงินหลักๆ คือ
🔹P/E : ทั้งปัจจุบัน และคาดการณ์ในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า ตรวจสอบทั้งของตัวมันเอง (Absolute P/E) และเชิงเปรียบเทียบ (Relative P/E)
🔹EV/EBITDA (Enterprise Value to Earnings Before Interest Taxes Depreciation Amortization Ratio) : อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย
🔹EV/S (Enterprise Value to Sales Ratio) : อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อยอดขาย (มีประโยชน์ต่อการประเมินมูลค่าบริษัทที่กำลังขาดทุนหรือมีกำไรต่ำ)
🔹FCF/S : กระแสเงินสดอิสระที่คาดการณ์ว่าจะสร้างได้ในอนาคต ต่อหุ้น
🔹P/S : ราคาหุ้นต่อยอดขาย
🔹CFROI : กระแสเงินสดตอบแทนจากการลงทุน (ดูเปรียบเทียบกับราคาหุ้นและจำนวนเงินลงทุน)
เราจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าการประเมินมูลค่าหุ้นแบบไหนเหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรม วิธีการประเมินมูลค่าที่โบลตันใช้งานจริงน้อยที่สุดคือ ‘DCF’ และ ‘PEG’
🔸‘DCF : Discounted Cash Flow’ ต้องอาศัยการคาดการณ์กระแสเงินสดระยะยาวอย่างละเอียด ปัญหาคือ แค่การคาดการณ์อนาคตไปข้างหน้าอีก 2-3 ปี ให้ถูกต้องก็ยากพออยู่แล้ว
🔸‘PEG : Price per Earning to Growth Ratio’ ถูกใช้เพื่อประเมินมูลค่าหุ้นเติบโตสูงๆ แต่เขามองว่ามันไม่มีความสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่
โบลตันใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อตรวจสอบยืนยันสมมติฐาน โดยไม่ลืมข้อด้อยของแต่ละวิธีการ เขาไม่ดูเงินปันผลในการประเมินมูลค่า เพราะอย่างไรเสียเงินปันผลก็มาจากกำไร ก็ตรวจสอบกำไรไปเลยทีเดียว แต่เงินปันผลที่สม่ำเสมอมีประโยชน์มากสำหรับการดูโอกาสขาดทุน ยึดมั่นไว้เสมอว่าการประเมินมูลค่าสิ่งใดก็ตาม ต้องอนุรักษ์นิยมไว้ก่อนเสมอ
🟢เป้าหมายของนักลงทุน บางครั้งอาจเป็นการที่หุ้นของเราถูกเสนอซื้อกิจการ
สิ่งดีๆในการถือครองหุ้น บางครั้งบริษัทจะถูกซื้อกิจการในราคาพรีเมียม โบลตันเชื่อว่าการค้นหาหุ้นที่มีโอกาสถูกซื้อกิจการ จะทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นไปยังบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นมีโอกาสถูกซื้อกิจการมากขึ้น หากสมมติให้คุณสมบัติอื่นๆเหมือนกันทั้งหมด ผู้เสนอซื้อกิจการจะชอบบริษัทที่มีกระแสเงินสดมั่นคง สม่ำเสมอ และคาดการณ์ได้
เบาะแสความเป็นไปได้ในการถูกซื้อกิจการคือ ‘รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่’ หากผู้ถือหุ้นบางกลุ่มมีอำนาจควบคุมบริษัท การถูกซื้อกิจการจะขึ้นอยู่กับความเห็นของพวกเขาเท่านั้น แต่บริษัทที่มีการถือครองหุ้นแบบกระจายตัวอย่างมาก ไม่มีใครที่มีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จอย่างแท้จริง แถมยังมีกระแสเงินสดส่วนเกินมหาศาล ยิ่งมีโอกาสถูกซื้อกิจการมากขึ้น
การคาดการณ์การควบรวมหรือซื้อกิจการในระยะสั้นเป็นเรื่องยาก และการซื้อหุ้นตามคนอื่นเป็นหนทางอันแน่นอนที่สุดที่จะทำให้เราขาดทุน
🟢หุ้นสุดโปรด
แนวทางการลงทุนของโบลตัน ส่วนใหญ่คือการเข้าซื้อหุ้นฟื้นตัว (Turnaround/Recovery) ในระดับราคาที่น่าสนใจ หุ้นฟื้นตัวมักเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานย่ำแย่มาช่วงเวลาหนึ่ง นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่อยากข้องแวะกับบริษัทที่มีผลงานเลวร้าย โบลตันชอบหุ้นที่ไม่ได้รับความนิยม คนส่วนใหญ่มองข้าม สิ่งเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดโอกาสทางการลงทุนที่น่าสนใจได้ นักวิเคราะห์เลิกติดตาม ไม่มีใครมานั่งคาดการณ์ผลการดำเนินงาน มีโครงสร้างเงินทุนซับซ้อน
หุ้นฟื้นตัวที่ดีที่สุดคือ บริษัทที่มีทีมผู้บริหารใหม่เข้ามาแทนกลุ่มคนชุดเก่า และพวกเขารู้ว่าบริษัทล้าหลังกว่าคู่แข่งด้านไหน มีแผนการชัดเจนที่จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทกลับไปทัดเทียมคู่แข่งขันในตลาด คุณต้องเข้าซื้อหุ้นฟื้นตัวก่อนที่จะมีข้อมูลครบทุกด้าน และเข้าซื้อในจังหวะที่เกิดความรู้สึกไม่สบายใจอยู่หน่อยๆ เพราะเมื่อไหร่ที่ข้อมูลทั้งหมดมากองอยู่ตรงหน้าและการฟื้นตัวเริ่มชัดเจน คุณจะพลาดช่วงเวลาของการถือหุ้นที่มอบผลตอบแทนสูงที่สุดช่วงหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว
🌿นักลงทุนในหุ้นฟื้นตัวต้องมีความอดทน หากคุณเชื่อมั่น การซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอีกเมื่อราคาร่วงลง ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี
หุ้นอีกประเภทที่โบลตันชื่นชอบคือ บริษัทที่มีระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่สมดุลกัน หุ้นที่เขาคิดว่าอาจให้ผลตอบแทนสูง แต่มั่นใจว่าจะไม่ขาดทุนหนัก เขาไม่สนใจหุ้นที่อาจทำกำไรได้เยอะ แต่ก็อาจขาดทุนหนักๆได้เช่นกัน
แนวทางการลงทุนเช่นนี้มักน่าเบื่อหน่าย หลายบริษัทกำลังดิ้นรนเอาชีวิตรอด ผลงานแย่ๆอย่างต่อเนื่องนั้นดูเหมือนเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ แน่นอนว่าในช่วงเวลาสั้นๆ สไตล์การลงทุนหนึ่ง อาจให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าต่อเนื่องหลายปี แต่ในที่สุด ‘ลูกตุ้มก็จะแกว่งกลับไปในฝั่งตรงกันข้าม’
🌿“น้อยครั้งมากๆที่คุณจะมีโอกาสซื้อหุ้นในระดับราคาหนึ่งเพียงครั้งเดียว หากคุณอดทนรอ ก็มักจะได้โอกาสครั้งที่สองเสมอเมื่อความกระตือรือร้นของคนซื้อมอดดับไป ตลาดหุ้นจะให้โอกาสแก้ตัวแก่คุณมากมายหลายครั้ง”
🟢ความสำคัญของการวิเคราะห์ทางเทคนิค
เวลาโบลตันวิเคราะห์หุ้น สิ่งแรกที่เขาจะดูก็คือกราฟราคาหุ้นย้อนหลัง 3-5 ปี เพื่อเปรียบเทียบราคา ณ ปัจจุบันกับอดีต เมื่อมีข่าวสารที่น่าสนใจเกี่ยวกับบริษัท สิ่งแรกที่โบลตันต้องการรู้คือ เขาเป็นคนกลุ่มแรกๆที่ได้ยินข่าวนี้ หรือมีนักลงทุนคนอื่นๆอีกจำนวนมากเข้ามาซื้อเพราะข่าวดีนั้นๆไปแล้ว
โบลตันมองการวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นเหมือนกรอบทับซ้อนการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอีกชั้นหนึ่ง มองมันเป็นวินัยสำหรับการคัดเลือกหุ้นเพื่อยืนยันมุมมองเชิงพื้นฐาน เขาอาจซื้อหุ้นนั้นๆมากขึ้นหรือน้อยลงด้วยเครื่องมือทางเทคนิคต่างๆ มันเป็นสัญญาณเตือนปัญหาในอนาคตได้ และเขายังใช้กราฟราคาเพื่อคัดกรองหุ้นนำมาศึกษาปัจจัยเชิงพื้นฐานโดยละเอียดอีกด้วย
🌿คำแนะนำคือ ให้คุณพยายามหาระบบที่ใช้ได้ผลสำหรับตัวคุณเองและใช้มันไปตลอด หนึ่งในข้อดีของการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือมันบังคับให้คุณตัดขาดทุน และปล่อยให้กำไรดำเนินต่อไป โบลตันเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า แต่เขาพบว่าการผสานรวมสองแนวทางเข้าด้วยกันมันใช้ได้ผลมากกว่าการใช้เพียงแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
🟢แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการลงทุน
ณ ปัจจุบัน การหาข้อมูลที่คนอื่นหาไม่ได้เป็นเรื่องยากมาก งานสำคัญของนักลงทุนเปลี่ยนจากการหาข้อมูลไปเป็นการวิเคราะห์มัน โบลตันหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เฝ้ามองหาความคิดเห็นที่แตกต่าง การตรวจสอบและเปรียบเทียบข้อมูลจากหลากหลายแหล่งคือหัวใจของแนวทางการลงทุน หัวใจหลักคือการรู้ว่าเราสนใจอะไร? จะตรวจสอบสิ่งต่างๆอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างไร? ในทุกคำถามมีคำตอบเสมอ ขอแค่เรารู้ว่าจะถามใคร? และถามอะไร?
🟢การคาดการณ์และจับจังหวะตลาด
“ตลาดหุ้นเป็นตัวสะท้อนอนาคตชั้นเยี่ยม อย่าละเลยข้อเท็จจริงนี้เป็นอันขาด” ความเคลื่อนไหวของตลาดจะอ้างอิงจากสิ่งที่นักลงทุนโดยรวมคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า
เราควรหลีกเลี่ยงการคาดการณ์และจับจังหวะตลาด คนจับจังหวะตลาดที่ประสบความสำเร็จต้องสามารถคิดสวนทางกับอารมณ์โดยรวมของตลาดได้ และยังต้องสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองอีกด้วย ยิ่งมีคนเชื่อว่าแนวโน้มจะดำเนินต่อไปมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งมีโอกาสเป็นอย่างที่ว่าน้อยลงไปเท่านั้น
อย่าลืมว่าแนวโน้มระยะยาวของตลาดคือ “การขึ้น” ดังนั้นการมองโลกเอนเอียงไปทางบวกจึงสมเหตุสมผล ถ้าคุณพลาดวันดีๆ เพียงไม่กี่วันในตลาดกระทิง ผลตอบแทนของคุณก็จะถดถอยลงอย่างมากทีเดียว โดยทั่วไปราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวสะท้อนเหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่ตอนที่มันยังไม่เกิดขึ้น ตลาดหุ้นดำเนินไปเป็นวัฏจักร ไม่สามารถขึ้นได้ตลอดไป ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าภาพต่างๆดูเป็นอย่างไร? แต่อยู่ที่ว่าเรื่องราวทั้งหมดทั้งปวงมันถูกสะท้อนในราคาหุ้นแล้วหรือยัง?
หากจำเป็นต้องประเมินแนวโน้มตลาด สิ่งที่โบลตันจะไม่ดูเลยคือแนวโน้มเศรษฐกิจ เขาจะดูรูปแบบของตลาดกระทิงและตลาดหมีในอดีต ตัวชี้วัดอารมณ์และพฤติกรรมของนักลงทุน และตัวชี้วัดมูลค่าหุ้นในระยะยาว หากทั้งสามปัจจัยนั้นยืนยันซึ่งกันและกัน ตลาดก็น่าจะใกล้ถึงจุดกลับตัวแล้ว โบลตันจะตั้งคำถามกับตนเองว่ามุมมองของเขาแตกต่างจากนักลงทุนส่วนใหญ่ตรงไหน? และเข้าเดิมพันในจุดที่เขามองต่างจากคนอื่น
หากโบลตันเชื่อมั่นในมุมมองของตนเองเกี่ยวกับภาพในอนาคต เขาจะทดสอบด้วยการจินตนาการว่า “คาดว่าโลกจะเป็นไปในลักษณะแบบไหน? แล้วมองย้อนกลับมาปัจจุบัน จากนั้นลองวิเคราะห์ดูว่า มันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?” การมองจากจุดสุดท้าย ย้อนกลับมา ช่วยให้เราสามารถประเมินได้ว่ามุมมองของเราสมเหตุสมผลหรือเปล่า?
การลงทุนในหุ้นควรมีมุมมองยาวนานอย่างน้อย 3 ปี อย่านำเงินที่คุณต้องใช้เร็วกว่านี้มาลงทุนเด็ดขาด ตลาดหุ้นผันผวนมากกว่าผลกำไรและเงินปันผลในอนาคตมากนัก แก่นกลางของตลาดหุ้นคืออารมณ์พื้นฐานสองอย่างของมนุษย์ นั่นคือ “ความกลัวและความโลภ” มันเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักร หากเรามีสติและแสวงหาประโยชน์จากมันโดยไม่ถูกกลืนกิน เท่านี้ก็ถือได้ว่าคุณมีพื้นฐานของการเป็นนักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จแล้ว
🟢จะทำอย่างไรเมื่อผลงานการลงทุนออกมาไม่ดี?
สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด ที่จะทำให้สร้างผลงานได้ดีก็คือ สภาพแวดล้อมที่เราไม่รู้ว่าผลงานตัวเองเป็นอย่างไร เมื่อทำผลตอบแทนได้แย่นั้นความกดดันจะอยู่ในระดับสูงมาก การจัดการกับเรื่องนี้คือ อย่ายึดติดกับมุมมองของตนเองมากเกินไป แต่ก็อย่าถึงขนาดสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งหมด ควรยืดหยุ่น และมีทางออกให้ตนเองเสมอ
เปิดใจกว้างรับฟังคำแนะนำจากคนอื่นเกี่ยวกับความผิดพลาดของคุณ พร้อมยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ เปิดใจรับฟังมุมมองที่ขัดแย้ง ประเมินอย่างตรงไปตรงมาว่าเหตุใดคุณจึงคิดถูกและคนอื่นคิดผิด? ลองคิดดูว่ากระบวนการลงทุนของตัวเองสามารถเกิดความผิดพลาดอะไรได้บ้าง? มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้คุณไม่ประสบความสำเร็จ?
มุมมองของคุณสอดคล้องกับมุมมองของคนส่วนใหญ่หรือไม่? ถ้าใช่ ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้น อย่าโยนหลักการส่วนตัวของคุณทิ้งเด็ดขาด
จดบันทึกการลงทุนที่แย่ที่สุด 20 ครั้ง ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หาสาเหตุของความผิดพลาด สิ่งใดคือบทเรียน? อะไรคือปัจจัยร่วมในความผิดพลาดทั้งหมด
จัดสรรวันเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ทำในสิ่งที่คุณเลือกเอง ใช้เวลาให้มากพอกับการค้นหาหุ้นใหม่ๆ หากยังไม่เคยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ลองใช้ดูเพื่อตรวจสอบยืนยุนมุมมองเชิงพื้นฐาน
พอร์ตหุ้นในภาพรวมนั้นสะท้อนระดับความเชื่อมั่นของคุณไหม? อย่าปกป้องตนเองด้วยการบอกว่าที่ผลงานของคุณย่ำแย่ก็เพราะว่าตลาดมันแย่ และหากวันใดเมื่อผลงานกลับมาดีอีกครั้ง ก็จงอย่าลืมคืนวันอันแสนเลวร้าย
🟢คุณสมบัติของนักลงทุนที่ดี
📍มีวิสัยทัศน์ มีมุมมองล้ำหน้ากว่าคนส่วนใหญ่ไปสองสามก้าวเสมอ คิดแตกต่างและรอบด้าน ตั้งคำถามกับความเชื่อของคนอื่น
📍มีภาวะอารมณ์เหมาะสม สงบและตอบสนองต่อทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในลักษณะเดียวกัน อ่อนน้อมถ่อมตน สามารถรับมือกับความผิดพลาดและเรียนรู้จากมันได้ งานนักลงทุนมีความกดดันสูงตลอดเวลา เป็นการแข่งขันที่ไม่มีวันรู้จบ มีความท้าทายตลอดเวลา คุณต้องใช้ทุกสรรพสิ่งเพื่อประลองกับนักลงทุนคนอื่นๆที่กำลังพยายามทำอย่างเดียวกับคุณ
📍มีระเบียบวินัย งานนักลงทุนไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุด เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะรู้ทุกอย่าง คุณต้องวางแผนการทำงานในแต่ละวัน ต้องมีระบบการทำงานและจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆให้ดี
📍หลงใหลการวิเคราะห์ข้อมูล อยากรู้กลไกการทำงานของสิ่งต่างๆ ไม่ได้อยากรู้เพียงข้อสรุป แต่อยากรู้กระบวนการอันนำไปสู่ข้อสรุป ต้องการรู้ว่าผลลัพธ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็น ตั้งคำถามและใช้ความคิดตลอดเวลา “ในเรื่องการลงทุน ไม่มีอะไรมาแทนที่การครุ่นคิดและใคร่ครวญได้”
📍รู้กว้างและละเอียด ต้องรู้ข้อมูลมากเพียงพอ หลากหลาย กว้างและลึกพอสมควร แถมยังต้องศึกษาเรื่องใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะรอบรู้ในเรื่องนั้นๆมากกว่านักลงทุนทั่วไปโดยเฉลี่ย
📍โหยหาชัยชนะ การลงทุนคืองานที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ผู้เล่นที่แย่ที่สุดต้องเดินออกจากเกม มาตรฐานของผู้เล่นสูงขึ้นทุกวัน คุณต้องมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะชนะ
📍มีความเชื่อมั่นอันยืดหยุ่น เชื่อมั่นในมุมมองของตนเอง แต่มีความสามารถที่จะเปลี่ยนมุมมอง หากหลักฐานมีการเปลี่ยนแปลงไป ในโลกการลงทุนนั้นระหว่างความแน่นอนและความไม่แน่นอน มีเพียงแค่เส้นบางๆกั้นอยู่ หลีกเลี่ยงการเชื่อมั่นสิ่งใดเกินเหตุและการดื้อด้านแบบโง่ๆ หากไม่เตรียมตัวที่จะเปลี่ยนความคิดก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ
📍ยินดีที่จะสวนกระแสฝูงชน เป็นตัวเอง มีความคิดอิสระ ไม่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อโดยทั่วไปมากนัก ไม่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่ฝูงชนกำลังทำ ไม่รู้สึกกังวลกับความคิดเห็นของคนอื่น
📍รู้จักตนเอง รู้จุดแข็งและจุดอ่อน พยายามชดเชยจุดอ่อน เสาะหาแนวทางที่เหมาะสมกับสภาวะอารมณ์ตนเองและยึดมั่นมันเอาไว้ นักลงทุนคืองานฉายเดี่ยว การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นการตัดสินใจของคนคนเดียว หัวใจประชาธิปไตยไม่ใช่คุณสมบัติของนักลงทุนที่ดี
📍ประสบการณ์เป็นสิ่งล้ำค่า คุณไม่สามารถเป็นนักลงทุนที่ดีได้หากไม่เคยผ่านภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจนครบรอบวัฏจักร ความสามารถในการนำเหตุการณ์ปัจจุบันไปเทียบเคียงอดีตคือสิ่งที่มีประโยชน์
📍มีสามัญสำนึก นักลงทุนหลายคนชอบมองหาทางลัดในการลงทุน แต่ขอบอกว่ามันไม่มีอะไรมาทดแทนการใช้ความคิดของตนเองได้เลย
📌มีคุณสมบัติที่สำคัญสองอย่างคือ “สามัญสำนึก และภาวะอารมณ์” หากสามารถคิดแบบใช้เหตุผล คิดแบบเป็นกลางอย่างอิสระ และหนักแน่นในยามที่ใครๆพากันตื่นกลัว ถือได้ว่าคุณมีพื้นฐานของการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จแล้ว
🙏ขอขอบคุณบางส่วนจากหนังสือ
📖ลงทุนสวนกระแสอย่าง…แอนโทนี โบลตัน (Investing Against the Tide) Lessons from a Life Running Money.
🖋️ผู้เขียน : แอนโทนี โบลตัน (Anthony Bolton)
🗣️ผู้แปล : พรชัย รัตนนนทชัยสุข
🏠สำนักพิมพ์ : วิสดอมเวิร์ค เพรส (พิมพ์ครั้งที่ 1). 244 หน้า. พ.ศ.2554
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 😊
การลงทุน
หุ้น
การเงิน
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย