11 เม.ย. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“Circuit Breaker” มาตรการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว

รู้หรือไม่! ถ้าตลาดหุ้นผันผวนรุนแรง และราคาโดยรวมลดลงอย่างมาก ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีมาตรการรองรับเพื่อลดความร้อนแรงลง โดยการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว หรือเรียกอีกชื่อว่า “มาตรการ Circuit Breaker”
นักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการลงทุนไม่นานอาจจะยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker กัน เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และในอดีตผ่านมาเคยเกิด Circuit Breaker เพียง 6 ครั้งเอง
วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “มาตรการ Circuit Breaker” จะมีหลักการทำงานและกระบวนการยังไงบ้าง ตามมาอ่านต่อกัน
Circuit Breaker เป็นเครื่องมือในตลาดหลักทรัพย์นำมาใช้เมื่อตลาดร่วงอย่างหนัก เพื่อชะลอความร้อนแรงของตลาด และเพื่อให้นักลงทุนมีเวลาตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว
ปัจจุบันระบบ Circuit Breaker ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- ระดับที่ 1 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 8% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที
- ระดับที่ 2 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 15% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที
- ระดับที่ 3 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 20% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
หลังจากใช้ Circuit Breaker ครบ 3 ครั้งแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดให้ซื้อขายต่อไปจนถึงเวลาปิดทำการปกติ โดยไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก ไม่ว่าดัชนีจะลดลงมาเป็นเท่าไหร่ก็จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
สำหรับในไทยเคยเกิด Circuit Breaker มาแล้วทั้งหมด 6 ครั้ง
ครั้งที่ 1 - วันที่ 19 ธันวาคม 2549
เป็นการเกิด Circuit Breaker ครั้งแรก ทางธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศมาตรการกันสำรอง 30% ของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท
 
ครั้งที่ 2 - วันที่ 10 ตุลาคม 2551
เจอวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นทั่วโลกที่ดิ่งลงจากความวิตกปัญหาวิกฤตการเงินโลก
ครั้งที่ 3 - วันที่ 27 ตุลาคม 2551
ผลต่อเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์
ครั้งที่ 4 - วันที่ 12 มีนาคม 2563
การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 ที่สร้างความกังวลต่อนักลงทุน
ครั้งที่ 5 - วันที่ 13 มีนาคม 2563
ต่อเนื่องจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรค Covid-19
 
ครั้งที่ 6 - วันที่ 23 มีนาคม 2563
ต่อเนื่องจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรค Covid-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้น และครั้งนี้เป็นการใช้มาตรการ Circuit Breaker ใหม่ครั้งแรก โดยระดับ Circuit Breaker ระดับแรกเป็น 8% (จากเดิมระดับแรก หากดัชนีร่วง 10%)
ทั้งนี้ การเกิดเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างหนักจนต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หากเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นอีกครั้ง อยากให้เพื่อนๆ ระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น ตรวจสอบข่าวสารก่อนตัดสินใจลงทุน
แม้การเกิด Circuit Breaker หลายคนอาจจะมองว่าเป็นช่วงวิกฤต ไม่กล้าลงทุนต่อ หรือบางคนอาจจะตัดใจขายล้างพอร์ตไปเลย แต่ในวิกฤตก็มักจะมีโอกาสเสมอ อาจเป็นโอกาสในการเก็บหุ้นที่ดีในราคาถูกก็ได้นะ ดังนั้นอย่าลืมวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบหล่ะ
โฆษณา