14 เม.ย. เวลา 10:00 • ความงาม

‘เครื่องสำอาง-อุปกรณ์แต่งหน้า’ อาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

☝️Click >> รู้หรือไม่? เครื่องสำอางและอุปกรณ์แต่งหน้าที่ใช้อยู่ทุกวัน อาจจะเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรีย และอันตรายต่อสุขภาพได้
🔎Clear >> คุณลองถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า ครั้งสุดท้ายที่คุณตรวจสอบวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์แต่งหน้าคือเมื่อไหร่? เครื่องสำอางที่หมดอายุอาจทำร้ายผิวของคุณหรือทำให้สุขภาพของคุณเสี่ยงอันตรายหรือไม่?
คุณล้างแปรงที่ใช้สำหรับแต่งหน้าบ่อยแค่ไหน? คุณเคยยืมมาสคาร่าของเพื่อนหรือลองลิปสติกที่ร้านเครื่องสำอางหรือไม่? อุปกรณ์แต่งหน้าชิ้นใดในกระเป๋าเครื่องสำอางของคุณที่เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียมากที่สุด มาสคาร่า อายไลเนอร์ ฟองน้ำ หรือแปรงแต่งหน้า?
“ฉันต้องยอมรับว่า ฉันไม่ได้ทำความสะอาดแปรงแต่งหน้าหรือตรวจสอบวันหมดอายุของเครื่องสำอางที่ใช้บ่อยนัก ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจทดสอบมัน ผ่านกล้องจุลทรรศน์ของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย ลอนดอนเมโทรโพลิแทน ในสหราชอาณาจักร”
ดร.มาเรีย ปิลาร์ โบเตย์-ซาโล นักวิชาการอาวุโสด้านชีววิทยาศาสตร์ที่คณะมนุษยศาสตร์ เป็นผู้ดูแลการศึกษาชิ้นนี้ เธอเป็นผู้นำการวิเคราะห์อายไลเนอร์ มาสคาร่า ลิปกลอส ลิปสติก และรองพื้นที่หมดอายุมากกว่า 70 รายการในห้องปฏิบัติการ รวมถึงแปรงแต่งหน้าและฟองน้ำของเธอด้วย
ตัวอย่างถูกสกัดออกมาและใส่ไว้ในจานแก้วใสกลมมีฝาปิด จากนั้นจึงนำไปฟักตัวเชื้อโรคเพื่อเผยให้เห็นสิ่งที่แฝงอยู่บนเครื่องสำอางหมดอายุเหล่านี้
“กลุ่มแบคทีเรียบนจานแก้วใสกลมมีฝาปิดจากตัวอย่างของฉันมีขนาดใหญ่จนน่าตกใจ ดินสอเขียนขอบตาเป็นชิ้นตัวอย่างทดลองที่มีการปนเปื้อนมากที่สุด โดยมีแบคทีเรียมากกว่าเครื่องมือแต่งหน้าอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด” ดร.โบเตย์-ซาโล กล่าวพร้อมอธิบายว่านี่อาจเป็นเพราะดินสอเขียนขอบตาได้รับแบคทีเรียจากผิวหนัง รวมถึงเชื้อ สแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus) เนื่องจากมันสัมผัสกับเปลือกตา
ดร.โบเตย์-ซาโล กล่าวว่า “หาก [เครื่องสำอาง] ได้รับความชื้นจากสิ่งแวดล้อม ก็อาจทำให้จุลินทรีย์เติบโตมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เรายังพบแบคทีเรียชนิดสตาฟีโลค็อกคัสในตัวอย่างทดลองอื่น ๆ รวมทั้งแปรง ฟองน้ำแต่งหน้า และมาสคาร่า”
แบคทีเรียชนิดสตาฟีโลค็อกคัสอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่อาการระคายเคืองเล็กน้อยไปจนถึงการติดเชื้อขั้นรุนแรง เช่น เยื่อบุตาอักเสบ โรคอีริซิเพลาส (erysipelas) และโรคเริม
คำถามคือแล้วทำไมบางคนถึงไม่เคยมีอาการเหล่านี้เลย?
ดร.โบเตย์-ซาโล อธิบายว่า “หากผิวหนังของคุณไม่มีแผล แสดงว่าผิวหนังของคุณมีสิ่งกีดขวางที่แข็งแรงและจะไม่เกิดการติดเชื้อหรืออาการใด ๆ ขึ้น อย่างไรก็ตามหากคุณมีบาดแผล มีรอยฟกช้ำ หรืออาจมีแผลที่ผิวหนัง แบคทีเรียสามารถแทรกซึมเข้าไปและก่อให้เกิดอันตรายได้ และหากใครมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ สิ่งนี้ก็อาจเป็นข้อกังวลได้เช่นกัน”
อีกเรื่องที่ต้องใส่ใจคือการล้างมือให้สะอาดก่อนเริ่มแต่งหน้า เพราะมือสามารถนำสิ่งปนเปื้อนได้หลายชนิด และหากไม่รักษาความสะอาดให้ดี เชื้อโรคเหล่านี้อาจมาติดกับเครื่องสำอางได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้มือทาอายแชโดว์ ลิปบาล์ม และรองพื้น
ดร.โบเตย์-ซาโล เปิดเผยผลการศึกษาที่น่าตกใจว่า “เราพบแบคทีเรียกลุ่มเอนเทอโรแบคเตอร์ โคลเอเซ (Enterobacter cloacae) ในผลิตภัณฑ์บางชนิด ซึ่งมักพบในลำไส้ นี่เป็นสัญญาณบ่งชี้การปนเปื้อนของมูลอุจจาระอันเป็นผลมาจากการรักษาความสะอาดมือที่ไม่ดีหรือแม้กระทั่งน้ำกระเซ็นจากชักโครก”
งานวิจัยระบุว่า การกดชักโครกสามารถปล่อยละอองฝอยที่ลอยสูงถึง 2 เมตรได้ภายในไม่กี่วินาที ละอองฝอยเหล่านี้อาจปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวได้ ดังนั้น หากผลิตภัณฑ์แต่งหน้าของคุณอยู่ภายในระยะดังกล่าว ก็มีแนวโน้มว่ามันจะปนเปื้อนแบคทีเรียข้างต้นด้วย
แบคทีเรียกลุ่มเอนเทอโรแบคเตอร์บางชนิดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อทางเดินหายใจ กระดูกอักเสบ และเยื่อบุหัวใจอักเสบ
จากการศึกษาในอดีตพบว่าเชื้อ อีโคไล (E. coli) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนของอุจจาระ สามารถอยู่รอดได้ในผลิตภัณฑ์แต่งหน้า ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากังวลใจ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกใช้บนใบหน้า รวมถึงบริเวณรอบดวงตา
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย เมโทรโพลิแทน ยังพบเชื้อราที่เรียกว่า แคนดิดา (Candida) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอีกด้วย โดยหากเชื้อราชนิดนี้เข้าสู่ผิวหนัง อาจทำให้เกิดโรคเชื้อราในช่องคลอดหรือโรคปากนกกระจอก ได้
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแอสตัน ในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ยังทำการวิจัยเพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเกือบ 500 รายการ โดยการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า 79-90% ของเครื่องสำอางที่ผู้คนใช้มีปรสิต แบคทีเรีย หรือเชื้อราบางชนิด ซึ่งมีตั้งแต่แบคทีเรียที่มีความอันตรายต่ำไปจนถึงเชื้ออีโคไลที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ดร.แอมรีน บาเชียร์ หัวหน้าคณะนักวิจัยของการศึกษากล่าวว่า “แม้ว่าแบคทีเรียในเครื่องสำอางและอุปกรณ์แต่งหน้าที่ใช้แล้ว บ่งชี้ถึงการปนเปื้อน แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ การติดเชื้อยังต้องอาศัยช่องทางการแพร่เชื้อ เช่น บาดแผล เยื่อเมือก หรือการกลืนกิน การรักษาสุขอนามัยที่ดี รวมถึงการล้างและฆ่าเชื้ออุปกรณ์แต่งหน้าต่าง ๆ และทิ้งเครื่องสำอางที่หมดอายุแล้ว จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย"
นอกจากนี้เรื่องของวันหมดอายุก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสารกันเสียในผลิตภัณฑ์สามารถป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้นานเพียงใด ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำสูงมักเกิดการปนเปื้อนได้ง่ายหลังจากถูกเปิดใช้งานครั้งแรก เนื่องจากเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา
“ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ วันหมดอายุจะอยู่ระหว่าง 3 ถึง 12 เดือน หลังจากการเปิดใช้งาน หากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีวันหมดอายุระบุ เราแนะนำให้ทิ้งเครื่องสำอางเหล่านั้น หลังจากสามเดือน หรือทันทีที่ทราบว่ามันอาจมีสารปนเปื้อน เช่น หลังทำเครื่องสำอางตกพื้น หรือมีผู้อื่นนำไปใช้ เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อน” ดร.บาเชียร์ กล่าว
“หากผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าเครื่องสำอางของตนหมดอายุแล้วหรือไม่ ก็เป็นเรื่องสมควรที่จะใช้ผลิตภัณฑ์อันใหม่ แทนที่จะเสี่ยงต่อการเกิดสารปนเปื้อนข้าม (ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง)" เธอกล่าวเสริม
ตามงานวิจัยของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน พบว่าเครื่องสำอางและอุปกรณ์แต่งหน้าที่มีการปนเปื้อนและจุลินทรีย์หลากหลายชนิดอยู่ในระดับที่สูง ได้แก่ มาสคาร่า และรองพื้นชนิดน้ำ โดยเครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนมากที่สุดคือแปรงและฟองน้ำแต่งหน้าที่ใช้ลงรองพื้นชนิดน้ำ
“สิ่งของที่มีปริมาณน้ำสูง เช่น ฟองน้ำและแปรง มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งสะสมของจุลินทรีย์ได้มากกว่า” ดร.โบเตย์-ซาโล กล่าว “งานวิจัยของเราทดลองกับเฉพาะผลิตภัณฑ์แต่งหน้าที่หมดอายุและอุปกรณ์แต่งหน้าที่ใช้แล้วเท่านั้น”
ท้ายที่สุด ดร.โบเตย์-ซาโล ได้ทิ้งเคล็ดลับในการหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน ไว้ให้ด้วย ได้แก่
-ล้างมือให้สะอาดก่อนแต่งหน้า
-อย่าใช้ตัวอย่างเครื่องสำอางในร้านค้า เพราะคุณไม่รู้ว่า คนที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้างมือก่อนหรือไม่
-ทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ เช่น ฟองน้ำและแปรงแต่งหน้าเป็นประจำด้วยน้ำร้อนและสบู่ และอย่าลืมเช็ดให้แห้งสนิท ปล่อยให้อุปกรณ์แห้งสนิทโดยทั่วก่อนเก็บใส่ถุงเล็กแยกต่างหาก เพื่อป้องกันการสัมผัสกับแบคทีเรียและฝุ่นละออง
-สถานที่ที่แย่ที่สุดในการเก็บเครื่องสำอางคือห้องน้ำ เนื่องจากห้องน้ำมีความชื้นและมืด
-ควรปิดฝาผลิตภัณฑ์รองพื้น มาสคาร่า และอายไลเนอร์ให้สนิท เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรคในอากาศและฝุ่นละอองฝุ่นเกาะติดผลิตภัณฑ์
-ใส่ใจวันหมดอายุ เขียนโน้ตไว้บนผลิตภัณฑ์แต่งหน้าทุกชิ้นเพื่อเตือนตัวเองเมื่อถึงเวลาที่ต้องทิ้ง
-อย่าใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น
ที่มา: BBCThai
โฆษณา