วันนี้ เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน คนใกล้ชิดกลายเป็นคนแปลกหน้า

คนแปลกหน้า ปรัชญาที่สวนสาธารณะ เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกๆ ของผม เขียนมาตั้งแต่ปี 2537 (อยู่ในชุดรวมเรื่องสั้น อาเพศกำสรวล)
2
เรื่องมีอยู่ว่าตัวละคร ‘ข้าพเจ้า’ ในเรื่องมีครอบครัวที่อบอุ่น ชีวิตมีความสุข มีการงานทำ แต่วันหนึ่งเมื่อเขาตื่นขึ้นมา ก็พบว่าคนรอบตัวเขาจำเขาไม่ได้
นี่เป็นเรื่องแนวเหนือจริง มันตั้งคำถามว่า บางที บางวัน บางช่วง เราก็รู้สึกเหมือนคนแปลกหน้าในครอบครัวของเราเอง หรือแม้กระทั่งกับคู่ชีวิตของเรา
ทำไมเราเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมาได้?
อาจเพราะเราเปลี่ยนไป เราทุกคนเปลี่ยนไปตามวัย ประสบการณ์ชีวิต มองโลกต่างไปจากเดิม และ ณ จุดจุดหนึ่ง เราก็อาจเกิดรู้สึกวูบขึ้นมาว่า เราอยู่ในโลกแปลกหน้า
เราไม่รู้ว่าเรามาอยู่ที่นี่ ณ จุดนี้ได้อย่างไร เรารู้สึกคล้ายคนหลงทาง
1
ความเป็นสามีภรรยาที่ใกล้ชิดกันเหลือเกินนั้นประกอบขึ้นจากคนแปลกหน้าสองคน ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด หากมองในมุมของพันธุกรรม ก็เป็นคนแปลกหน้ากัน มันผูกกันด้วยความรักและประสบการณ์ร่วมกัน และมันเปลี่ยนแปลงได้
1
อย่าว่าแต่คนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดเลย คนที่เป็นพ่อแม่ลูกกัน ก็กลายเป็นคนแปลกหน้าได้เช่นกัน
ในเรื่องนี้หลังจากตัวละครหลัก ‘ข้าพเจ้า’ พบว่าภรรยา เพื่อน และพ่อตาของเขาจำเขาไม่ได้ ก็ไปนั่งสงบอารมณ์ที่สวนสาธารณะตอนพลบค่ำ เขาพบชายแก่จรจัดคนหนึ่งที่ม้านั่ง ขวดเหล้านอนสงบอยู่ข้างกาย
ทั้งสองสนทนากัน :
1
อากาศเริ่มเย็นลงอย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้านั่งลงข้างๆ เขา เราทั้งสองสบตากัน ไม่นานตาแก่ก็ชวนคุย
2
“เหล้าซักกรึ๊บมั้ย? อากาศมันเย็น”
ข้าพเจ้าสั่นศีรษะปฏิเสธเป็นเชิงขอบคุณ
“คุณทำอะไรอยู่ที่นี่ ไม่กลับบ้านกลับช่อง?”
“แล้วลุงล่ะทำอะไรอยู่ที่นี่ ไม่กลับบ้านเหมือนกัน?”
“ผมไม่มีบ้าน”
“ผมมีบ้าน แต่ยังไม่อยากกลับไป”
“งั้นก็คือไม่มีบ้าน...” คนแก่ยื่นขวดเหล้ามาให้
“...เอาซักหน่อย อารมณ์จะได้สดใสซาบซ่าขึ้น”
“ผมไม่มีอารมณ์กินเหล้า ผมยังแก้ปัญหาของผมไม่ได้”
คนแก่จ่อขวดเหล้าเข้าปาก
“ปัญหาอะไร? ไหนเล่าให้ฟังซิ”
“เรื่องของผมแปลกมาก อยู่ดีๆ คนใกล้ชิดที่สุดของผมกลับจำผมไม่ได้เลย ไม่มีสักคน...”
คนแก่หัวเราะเอิ๊กอ๊าก
1
“หัวเราะทำไม? เรื่องแปลกๆ แบบนี้ไม่เห็นน่าขำตรงไหน”
“แปลกอาราย หา? ผมว่ามันไม่แปลกเลยสักนิด”
“แต่นี่เมียผมเองแท้ๆ ยังจำผมไม่ได้”
“คุณแต่งงานมากี่ปีแล้ว?”
“สิบห้าปี”
“เมียคุณเป็นลูกสาวคนเดียว?”
“เปล่า พ่อตาผมมีลูกสาวสองคน คนโตแต่งงานกับศิลปินอดอยากคนนึง พ่อตาผมไม่เห็นด้วยเลย ส่วนผมแต่งกับคนเล็ก”
“เรื่องธรรมดา ผมเดาว่าคุณคงมีฐานะและมีความรู้สูง? แน่นอนสินะ ไม่งั้นเขาคงไม่ยกลูกสาวคนที่เหลืออีกคนให้ง่ายๆ”
“คุณถามผมเรื่องนี้ทำไม?”
“คุณรู้จักพ่อตาคุณดีแค่ไหน?”
“ก็พบปะกันอยู่เรื่อย ทุกอาทิตย์กินข้าวเย็นพร้อมหน้ากันที่บ้านท่าน...”
1
“เขาชอบกินอะไร?”
ข้าพเจ้าเงียบ
“ความสุขของเขาคืออะไร?”
“ผมไม่รู้ ผมไม่ได้อยู่กับท่านทุกวันนี่...”
คนเมายิ้ม ข้าพเจ้าชักไม่แน่ใจว่าเขาเมาจริงหรือไม่
“โอ! ตายจริง ผมลืมไป แต่คุณก็คงต้องอยู่กับเมียคุณน่ะซี เมียคุณมีความสุขมากที่สุดในชีวิตเมื่อไหร่?”
“ผม...” ข้าพเจ้านิ่งเงียบ
“คุณตอบไม่ได้? ไม่เป็นไร ผู้ชายหลายคนก็ตอบคำถามนี้ไม่ได้เหมือนกัน เรื่องขำขันเรื่องสุดท้ายที่คุณเล่าให้เธอฟังจนเธอหัวเราะกลิ้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร?”
ข้าพเจ้าเงียบ
เขาดื่มเหล้าอีกอึกหนึ่ง กลิ่นฉุนเฉียวของมันลอยมาบาดนาสิกประสาท
“ระยะนี้เคยเห็นเส้นผมภรรยาคุณร่วงบนเตียงไหม?”
ข้าพเจ้าเงียบไปนาน “ผม... ลุงถามคำถามแปลกๆ ...”
คนแก่หัวเราะเบาๆ
“แปลกหรือ? แปลกกว่าเรื่องของคุณในวันนี้หรือเปล่า?”
สายตาเจือน้ำเมานั้นคล้ายแฝงรอยยิ้ม
“คุณเคยตื่นขึ้นมาตอนเช้าวันนึงแล้วรู้สึกว่าคุณกำลังใช้ชีวิตอยู่กับคนแปลกหน้ารึเปล่า?”
ข้าพเจ้ามองหน้าเขาอย่างพินิจพิเคราะห์เป็นครั้งแรก แสงไฟจากโคมเพียงดวงเดียวที่มีในบริเวณนั้นฉาบเค้าหน้าที่เต็มไปด้วยริ้วรอย และผมหงอกเทา
“ไม่เคย...”
“ไม่เคย หรือไม่แน่ใจ?”
“ไม่... ไม่ค่อยแน่ใจ ลุงถามผมทำไม?”
“ท่าทางคุณเป็นคนฉลาด คุณน่าจะคิดออกว่าผมถามทำไม”
คนแก่หัวเราะ “รู้ไหมว่าทำไมผมต้องมานั่งตากยุงตากน้ำค้างทุกคืนอย่างนี้ในสวนสาธารณะ? ทำไมผมไม่นอนพักอยู่ในบ้านอบอุ่นที่ไหนสักแห่ง กินอาหารค่ำร้อน ๆ หน้าจอทีวี? ผมก็เหมือนคุณ ลูกชายหญิงของผมเองแท้ๆ ยังจำผมไม่ได้เหมือนกัน ผมเลี้ยงพวกมันสามคนมากับมือมากว่ายี่สิบปี ยังไม่เคยเห็นพวกมันกลับมาเยี่ยม หรือถามผมสักคำว่าผมสบายดีไหม”
เมื่อเช้าวันใหม่มาถึง ตัวละครหลัก ‘ข้าพเจ้า’ กลับไปที่บ้าน ภรรยาของเขาจำเขาได้แล้ว เขาก็กลับไปสู่โลกเดิมของเขา
เรื่องสั้นเรื่องนี้สะท้อนว่า ลูกหลานที่ไม่ดูแลพ่อแม่ก็เปรียบเช่นคนใกล้ชิดที่กลายเป็นคนแปลกหน้า มันเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในหลายสังคม
ประเทศที่ประสบปัญหาคนแก่ถูกทอดทิ้งมากที่สุดน่าจะเป็นญี่ปุ่น เหตุอาจเพราะคนญี่ปุ่นอายุยืน ทั้งประเทศจึงมีคนแก่มาก แต่ไม่ทุกคนที่ลูกหลานดูแล ครอบครัวญี่ปุ่นที่อยู่กันหลายรุ่นในบ้านหลังเดียวกันลดลงเรื่อยๆ คนสูงอายุอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น
การตายอย่างโดดเดี่ยวในบ้านหรืออพาร์ตเมนต์กลายเป็นเรื่องปกติ เรียกว่า Kodokushi (孤独死) บางทีเรียก koritsushi (孤立死 ความตายที่โดดเดี่ยว)
บ่อยครั้งพบศพคนแก่ในบ้านนานหลังจากตาย
ความตายโดดเดี่ยวแบบนี้เกิดขึ้นประมาณปีละ 3-6 หมื่นราย
ตัวเลขชี้ว่าคนแก่อายุเกิน 65 ที่อยู่คนเดียวมีราวๆ 30 เปอร์เซ็นต์ กำลังไต่เพิ่มจาก 7.38 ล้านคนในปี 2020 ไปที่ 8.87 ล้านคนในปี 2030 และคาดว่าจะถึง 10.84 ล้านคนในปี 2050
โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป คนเปลี่ยนไป มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ตายเร็วก็ดีเหมือนกัน
1
โฆษณา