เมื่อวาน เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ผีเสื้อวันเดียว ตอน 1 : จุดสีฟ้าอ่อนในทางช้างเผือก

ภาพถ่ายนั้นค่อนข้างมัว รูปจุดเล็กๆ สีฟ้าอ่อนจุดหนึ่งกลางห้วงอวกาศว่างเปล่า ขนาดจุดสีฟ้านั้นเล็กกว่าหนึ่งพิกเซล มันเป็นภาพถ่ายโลก ถ่ายจากยานวอเยเจอร์ 1 จังหวะของรูปถ่ายเหมาะเจาะ แสงกำลังพอดี
1
มันเป็นภาพถ่ายโลกที่ถ่ายจากจุดไกลที่สุด จุดที่ถ่ายรูปนี้อยู่ห่างจากโลกหกพันล้านกิโลเมตร หรือ 43 เท่าของระยะทางโลกกับดวงอาทิตย์
3
Voyager 1-2 เป็นยานสำรวจอวกาศไร้มนุษย์ ขององค์การนาซาสหรัฐฯ ส่งสู่อวกาศในปี 1977 เป็นโครงการสำคัญของมนุษยชาติ ยานทั้งสองลำศึกษาระบบสุริยะ ถ่ายรูปดาวเคราะห์และดวงจันทร์ต่างๆ ส่งข้อมูลกลับสู่โลก
บุคคลหนึ่งที่มีบทบาทมากในโครงการนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์และศาสตราจารย์ชาวอเมริกันผู้เกี่ยวข้องกับโครงการอวกาศมานาน ในปี 1977 เขาเสนอให้องค์การนาซาบรรจุ ‘จดหมาย’ ไว้ในยานวอเยเจอร์ 1 (Voyager 1) เป็นแผ่นดิสก์ทองสองแผ่น บันทึกหลายเรื่องราว บรรจุเสียงและภาพต่างๆ ที่จำลองความหลากหลายของชีวิต วัฒนธรรม ศิลปะ บนโลก
2
ส่งจดหมายไปทำไม? ให้ ‘มนุษย์ต่างดาว’ อ่านหรือ?
1
คำตอบคือใช่!
เขาเชื่อว่าสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาวที่ฉลาดพอ ย่อมสามารถหาวิธีอ่านจดหมายจากโลกได้
เขาเป็นหัวหน้ากรรมการคัดสรรสิ่งที่จะส่งไปต่างดาว ข้อมูลประกอบด้วยภาพทั้งหมด 115 ภาพ ภาพโครงสร้างของระบบสุริยะ ดีเอนเอ โครงสร้างของมนุษย์ สัตว์ พืช ธรรมชาติต่างๆ อาหาร สถาปัตยกรรม เสียงต่างๆ เช่น เสียงลม เสียงฟ้าร้อง เสียงสัตว์ เสียงนก เสียงวาฬ ดนตรีแบบต่างๆ จากทั่วโลก โมสาร์ท เบโธเฟน ดนตรีสมัยใหม่ ไปจนถึงเสียงหัวเราะ ภาษามนุษย์ต่างๆ รวมคำทักทายใน 55 ภาษา
1
นอกจากนี้ยังมีบันทึกคลื่นสมองของคน คือสมองของภรรยาเขาเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ในทีม
ตอนนี้วอเยเจอร์ 1 เดินทางออกพ้นระบบสุริยะแล้ว และมุ่งไปในพื้นที่แปลกหน้า ราวเรือที่ออกจากชายฝั่งแล่นไปสู่ทะเลแห่งเอกภพ
3
เราไม่มีทางรู้ว่าจะมีสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาวสักสายพันธุ์หนึ่งจะพบบันทึกของเราหรือไม่ หากพวกเขาพบ ก็อาจรู้ว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตแบบใด แต่นี่เป็นความพยายามหนึ่งที่เปิดโอกาสให้มีการติดต่อระหว่างดวงดาว แม้ว่าไม่มีอะไรรับประกันความสำเร็จ
หลายคนถาม ทำไมต้องติดต่อกับต่างดาว? คำตอบก็คล้ายทำไมเราเดินเรือข้ามห้วงสมุทรไปค้นหาแผ่นดินใหม่ การเดินทางผจญภัยอยู่ในสายเลือดของเรา ตั้งแต่วันแรกที่มนุษย์ก้าวเท้าออกจากแอฟริกา เดินทางกระจายไปทั่วโลก
1
ชาวโลกจำนวนมากเห็นว่าเราไม่ควรเสียเงินไปกับโครงการอวกาศ น่าจะเอาเงินไปพัฒนาคุณภาพชีวิตคนมากกว่า แต่ข้อมูลชี้ว่า ค่าใช้จ่ายที่มนุษย์ใช้ไปในโครงการอวกาศไม่ถึงเสี้ยวของเสี้ยวที่ใช้ในการสร้างอาวุธและก่อสงคราม
3
ตลอดหลายสิบปีนี้ สหรัฐอเมริกาก่อสงครามในแทบทุกมุมโลก ครั้งแล้วครั้งเล่า สงครามกลายเป็นสินค้าส่งออก สูญเสียทั้งชีวิตและเงินทอง
1
คาร์ล เซเกน และ แอนน์ ดรูแยน เขียนในหนังสือ Billions and Billions (1997) ว่า การแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์และสงครามเย็นนั้นแพงมหาศาล ใช้เงินและทรัพยากรบุคคลจำนวนมหาศาล
3
สงครามเย็นเริ่มเมื่อปี 1946 สิ้นสุดในปี 1989 สหรัฐอเมริกาได้จ่ายเงิน (เทียบค่าเงินปี 1989) มากกว่าสิบล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้มากกว่าหนึ่งในสามถูกนำไปใช้ในยุคประธานาธิบดีเรแกน ซึ่งสร้างหนี้ให้กับชาติมากกว่าทุกๆ รัฐบาลตั้งแต่สมัย จอร์จ วอชิงตัน รวมเข้าด้วยกัน
1
คาร์ล เซเกน และ แอนน์ ดรูแยน เขียนว่า “เงินจำนวนนี้ทำอะไรได้บ้าง? (ไม่ต้องทั้งหมด เพราะงบประมาณเพื่อความมั่นคงของชาติยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่ - เอาแค่ครึ่งเดียวก็พอ) เงินมากกว่าห้าล้านล้านดอลลาร์เล็กน้อย ถ้าใช้ให้ดี สามารถสร้างความก้าวหน้าอย่างมากมายในการกำจัดความความหิวโหย การไร้บ้าน โรคติดต่อ การเขียนอ่านหนังสือไม่ออก ความไม่รู้ ความยากจน การทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา
1
หากแต่ทั่วทั้งโลก เราสามารถที่จะช่วยทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้มีความเพียงพอด้านการเกษตร และกำจัดสาเหตุมากมายของความรุนแรงและสงคราม จะสร้างประโยชน์มหาศาลต่อเศรษฐกิจอเมริกัน แก้ปัญหาหนี้ของชาติ เพียงเสี้ยวเดียวของเงินจำนวนนี้ เราสามารถรวมคนเพื่อโครงการนานาชาติระยะยาวในการส่งคนไปสำรวจดาวอังคาร สามารถช่วยสนับสนุนคนเก่งในด้านประดิษฐกรรมของมนุษย์ในด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม การแพทย์ และวิทยาศาสตร์เป็นเวลาหลายสิบปี”
ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับโครงการอวกาศ การใช้เงินไปกับสงครามจึงเป็นเรื่องไร้สาระที่สุดของมนุษยชาติ
2
และรูปถ่ายจุดสีฟ้าอ่อนนี้เป็นภาพที่เตือนสติชาวโลกว่ากำลังทำอะไรอยู่
ภาพถ่ายจุดสีฟ้าอ่อนนี้เกิดจากการที่นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ล็อบบี้องค์การนาซา ให้หันกล้องถ่ายรูปกลับมาถ่ายภาพโลก เริ่มแรกนาซาไม่ยอม เพราะกลัวว่าการถ่ายรูปสวนแสงอาทิตย์อาจทำลายเลนส์ของกล้อง
1
จนในปี 1989 หลังจากวอเยเจอร์ 1 เดินทางเกือบข้ามระบบสุริยะ ปฏิบัติภารกิจถ่ายภาพดาวเคราะห์ต่างๆ มามากมาย เขาขอร้องนาซาอีกครั้งหนึ่งให้ถ่ายภาพโลกก่อนที่ยานจะมองไม่เห็นโลกอีกต่อไป คราวนี้คำขอได้รับอนุมัติ
1
ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1990 ขณะที่ยานวอเยเจอร์ 1 ก็หันกล้องกลับไปยังโลก ถ่ายภาพโลกแล้วส่งกลับมายังโลก
และเป็นที่มาของภาพจุดสีฟ้าอ่อนที่เรียกว่า Pale Blue Dot
1
สำหรับเขานี่ไม่ใช่ภาพถ่ายเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ มันเป็นภาพเชิงปรัชญามากกว่า
1
หลังจากเหตุการณ์นั้น เขาเขียนในหนังสือชื่อ Pale Blue Dot : A Vision of the Human Future in Space ว่า “มองจุดนั้นอีกครั้ง นั่นคือที่นี่ นั่นคือบ้าน นั่นคือเรา บนจุดนั้นทุกๆ คนที่คุณรัก ทุกๆ คนที่คุณรู้จัก ทุกๆ คนที่คุณเคยได้ยินได้ฟัง มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครถือกำเนิดและได้ใช้ชีวิต
1
ผลรวมของความสุขและความทุกข์ของเรา ศาสนา แนวคิด ทฤษฎีเศรษฐกิจนับพันๆ แนวทาง นักล่าและคนหาอาหารทุกคน วีรบุรุษและคนขลาดทุกคน ผู้สร้างสรรค์และผู้ทำลายอารยธรรมทุกคน ราชาและชาวนาทุกผู้ หนุ่มสาวในห้วงรักทุกคู่ แม่และพ่อ เด็ก นักประดิษฐ์และนักสำรวจ ครูแห่งจริยธรรม นักการเมืองฉ้อฉล ดารา ผู้นำ นักบุญ คนบาปทุกคนในประวัติศาสตร์ของสายพันธุ์ของเรา อาศัยอยู่ที่นั่น บนธุลีหนึ่งใต้แสงอาทิตย์”
3
คนผู้นี้คือใคร? ทำไมเขาคิดลึกซึ้งไปไกลขนาดข้ามจักรวาล แต่ใกล้จนสัมผัสสภาวะความเป็นมนุษย์ของเราแต่ละคน?
เขาชื่อ คาร์ล เซเกน
นักวิทยาศาสตร์ นักคิด นักเขียน นักปรัชญา ในตัวคนคนเดียวกัน
โฆษณา