15 เม.ย. เวลา 10:52 • ท่องเที่ยว

Egypt (12) Luxor : มหาวิหารแห่งคาร์นัก (Karnak Temple)

กลุ่มวิหารแห่งคาร์นัค .. ครอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งรวมถึงกลุ่มวิหารที่ปรักหักพัง ห้องสวดมนต์ กำแพง-ประตู (pylons) และอาคารวิหารอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองทีบส์ (Thebes - ลุกซอร์ปัจจุบัน) ทางฝั่งขวาของแม่น้ำไนล์
วิหารแห่งคาร์นัค .. ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองลักซอร์ 3 กิโลเมตร ซึ่งในสมัยโบราณมีทางเดินที่เรียงรายด้วยสฟิงซ์ระหว่าง 2 วิหาร คือ วิหารคาร์นัก และวิหารลักซอร์ ที่เรียกว่า “ถนนสฟิงซ์”
ชาวอียิปต์โบราณสร้างวิหารคาร์นักด้วยวิธีเดียวกับการสร้างพีระมิด โดยไม่ใช้ลิ่มสลักหรือสิ่งใดๆ เชื่อมให้ยึดติดกัน ..
สถาปัตยกรรมมีรูปแบบแตกต่างกันไป แต่ก็มีจุดร่วมเหมือนกัน คือ สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์แห่งทีบส์ (Thebes) คือครอบครัวของเทพเจ้า อันประกอบไปด้วย .. บิดา Amon-Ra, มารดา เทพี Mut, และ Khonsu บุตรชายของเทพเจ้าทั้งสอง
.. เทพเจ้าแต่ละองค์มีวิหารเป็นของตนเองภายในวิหารคาร์นัค ซึ่งสร้างไว้ตั้งแต่ยุคแรกๆของอียิปต์
“คาร์นัก Karnak” เป็นชื่อหมู่บ้านของเทพอะมอน เดิมชื่อ “เมืองวาเซ็ต” แล้วต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนครธีบส์ .. เป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรไอยคุปต์มาตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 11 จนถึงราชวงศ์ที่ 21 รวมเวลานับ 1,000 ปี (2120-1085 ปีก่อนคริสตกาล) และกลับมาเป็นเมืองหลวงอีกครั้งเป็นเวลา 50 ปี ในราชวงศ์ที่ 25 (716-666 ปีก่อนคริศตกาล)
วิหารคาร์นักสร้างโดย “ฟาโรห์เซซอสตริสที่ 1” ( Sesostris I ) และอีกหลายพระองค์ต่อมา ซึ่งอยู่ในสมัยยุคกลาง .. หลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ใน “หมู่วิหารของเทพอะมอนรา” คือห้องบูชาและห้องแท่นบูชาเรือศักดิ์สิทธิ์ของ “เทพอะมอนรา” ที่สร้างโดยฟาโรห์เซซอสตริสที่ 1 (Sesostris I) ) แห่งอาณาจักรกลาง กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ที่ 12 ราว 1991 ปีก่อนคริสตกาล และดำเนินเรื่อยมา
อย่างใดก็ตาม ผู้ปกครองอียิปต์แต่ละองค์ได้ทิ้งร่องรอยสถาปัตยกรรมของตนเองไว้ด้วย จากการสร้าง ต่อเติม และขยายวิหารแห่งนี้
ในช่วงของราชวงศ์ที่ 18 - 20 มีการบูรณะวิหารแห่งนี้มากที่สุด และบูรณะต่อเนื่องมาจนถึงสมัยปโตเลมี เมื่อโรมันเข้าครอบครองอียิปต์ ในอีก 2,000 ปีต่อมา .. จนกระทั้งกลายเป็นวิหารที่มีอาคารมากมายกว้างขวางและใหญ่โตที่สุดในโลก ในอาณาเขตลักษณะสี่เหลี่ยมจตุรัสกว่า 2 ตร.กม.
วิหารแห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวอียิปต์โบราณ “เทพเจ้าอะมอนรา” ก็เป็น “สุริยะเทพ” อันยิ่งใหญ่และเป็นเทพประจำเมืองนี้มาโดยตลอด
วิหารนี้มีลักษณะเฉพาะตัวตามพระอาทิตย์ขึ้นในช่วงครีษมายัน วิหารนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวที่เส้นครีษมายันตั้งฉากกับเส้นทางของแม่น้ำไนล์
แหล่งมรดกโลก: บริเวณวิหารคาร์นัคเป็นส่วนสำคัญของแหล่งมรดกโลก "ธีบส์โบราณพร้อมสุสาน" ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2522
… เนื่องจากมีคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล โดยเป็นแหล่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแง่ของอนุสรณ์สถานจำนวนมากซึ่งแสดงถึงความเชี่ยวชาญของชาวอียิปต์โบราณในด้านต่างๆ ของชีวิต
การไปเดินชมและถ่ายภาพให้ครบถ้วนล้วนต้องใช้เวลายาวนาน เราไปเยือนเป็นเวลาสั้นๆ จึงอาจจะไม่สามารถที่จะนำเสนอและเล่าให้ฟังได้ครบถ้วน แต่แม้จะไม่มีภาพประกอบอยู่บ้าง ผู้เขียนก็จะพยายามเล่าให้มากเท่ากับข้อมูลที่มีอยู่ค่ะ
.. โดยจะเล่าเรียงกันไปตั้งแต่ทางเขาทางด้านทิศใต้ไปเลยนะคะ และหากสามารถบอกได้ชัดเจน จะอ้างอิงหมายเลขสถานที่ตามผังที่มาจากหนังสือ Luxor by Kent R. Weeks
ด้านนอกกำแพง
มีคูน้ำ และมีสะพานไม้ข้ามไปยัง Sphinx Avenue .. บริเวณนี้ยังคงเห็นซากสิ่งก่อสร้างในสมัยโบราณ เป็นที่จอดเรือ เรียกว่า The Quay of Amen
ในสมัยโบราณมีการแห่รูปปั้นของเทพ Amen มาทางน้ำ มาขึ้นที่ท่าเรือแห่งนี้ จารึกบอกด้วยว่ามีชาวบ้านมาชมและบูชาขบวนแห่นี้ทั้ง 2 ฝั่งก่อนที่จะมีการสร้างกำแพงชั้นที่ 1 และจากการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้พบจารึกถึงระดับของแม่น้ำไนล์ในแต่ละปีด้วย
ด้านนอกของกำแพงชั้นที่ 1 ..
สองข้างทางเข้าสู่ลานหลังประตูแรก เป็น Avenue of Sphinx (#1) เรียงรายด้วย “สฟิงซ์หัวแพะ” ที่เรียกว่า Criosphinxes สัญลักษณ์ของเทพเจ้า Amen ตลอดสองข้างทาง
ระหว่างอุ้งเท้าของสฟิงซ์มีรูปสลักบนแผ่นศิลาเล็กๆของรามเสสที่ 2 ในลักษณะของเทพเจ้าโอซิริส สัญลักษณ์ของการปกป้องฟาโรห์รามเสส II .. ถนนสฟิงซ์นี้นำไปสู่ประตูทางเข้ากำแพงชั้นนอก
ตัวสฟิงซ์เดิม สร้างเพื่อฟาร์โรห์ Amenhetep III และฟาร์โรห์ Thtmes IV ของราชวงศ์ที่ 18 แล้วนำไปไว้ที่วิหารลักซอร์ แต่ต่อมาฟาร์โรห์รามเสสที่ 2 ได้รื้อมาไว้ที่วิหารแห่งนี้
ก่อนที่ประตูอันแรกที่เราเห็นจะถูกสร้างขึ้น .. ถนนสฟิงซ์ทอดยาวไปจนถึงกำแพงชั้นที่ 2 และมีสฟิงซ์อยู่ 124 ตัว
ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 40 ตัวเท่านั้น ส่วนอีก 84 ตัวถูกเอาไปวางเอาไว้ที่บริเวณลานวิหารด้านในของ First Court (หน้าวิหารของรามเสสที่ 2)
ส่วนบริเวณต้นทาง ปรากฏมีเสาโอเบลิสก์ขนาดเล็กของฟาโรห์เซติที่ 2 ฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 19 ตั้งอยู่ ความหมายของเสาโอเบลิสก์ก็คือชีวิตรุ่งโรจน์และความสว่าง เพื่อบูชาสรรเสริญเทพเจ้ารา
โฆษณา