Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BeautyInvestor
•
ติดตาม
19 เม.ย. เวลา 23:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
⁉️ ทำไมสงครามการค้าถึงไม่มีใคร Win
เราเจอ trade war กันมาซักพักแล้ว เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมกูรูหลายคนถึงบอกว่าสุดท้ายแล้วจะ "ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ" จริงๆ? เดี๋ยววันนี้แอดจะมาอธิบายเรื่องนี้ให้อ่านกันค่ะ 😉
🎯สงครามการค้า คืออะไรกันแน่?
ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจอาวุธหลักในสงครามนี้กันก่อน นั่นคือ "ภาษีศุลกากร" หรือที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า "Tariff" ค่ะ
นึกภาพง่ายๆ เหมือนเวลาเราจะเอาของจากต่างประเทศเข้ามาขายในบ้านเรา แล้วรัฐบาลประเทศเราบอกว่า "อ้อ! ของชิ้นนี้ต้องจ่ายค่าผ่านประตูเพิ่มนะจ๊ะ" ไอ้ค่าผ่านประตูที่เก็บเพิ่มนี่แหละค่ะคือ Tariff พอโดนเก็บเพิ่มเยอะๆ ของที่นำเข้ามาก็จะแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ 💸
⁉️ ทำไมสงครามการค้า (ที่ใช้ Tariff) ถึงไม่มีใคร Win?
ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญ ทำไมถึงบอกว่าเจ็บกันถ้วนหน้า? มาดูเหตุผลในมุมเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ กันค่ะ
💰ของแพงขึ้น ผู้บริโภครับเต็มๆ (Higher Prices)
อันนี้ชัดเจนสุด! พอต้นทุนนำเข้าสินค้ามันแพงขึ้นเพราะภาษี คนที่ต้องจ่ายแพงขึ้นก็คือพวกเรานี่แหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ เสื้อผ้า ของกิน หรือแม้แต่วัตถุดิบที่โรงงานในประเทศเรานำเข้ามาผลิตสินค้าอื่นๆ ต่อ สุดท้ายราคาสินค้าโดยรวมก็ขยับขึ้น กระทบค่าครองชีพเราเต็มๆ เลย 😭
🚢 ค้าขายกันน้อยลง ธุรกิจสะดุด (Less Trade)
พอตั้งกำแพงภาษีใส่กัน ประเทศต่างๆ ก็จะซื้อขายสินค้าระหว่างกันน้อยลงโดยธรรมชาติ
👉🏻 ฝั่งนำเข้า: บริษัทที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้ามาขายต่อก็เจอต้นทุนสูงขึ้น กำไรน้อยลง อาจต้องลดการผลิตหรือขึ้นราคาสินค้า
👉🏻 ฝั่งส่งออก: ไม่จบแค่นั้น! ประเทศที่โดนเราตั้งภาษี ก็มักจะตอบโต้ (Retaliation) ด้วยการตั้งภาษีกับสินค้าส่งออกจากบ้านเราเหมือนกัน! กลายเป็นว่าบริษัทที่ส่งออกเก่งๆ ของเราก็ขายของยากขึ้น ตลาดหดตัว อาจกระทบถึงการจ้างงานในประเทศได้เลยค่ะ
📉 เศรษฐกิจโดยรวมด้อยประสิทธิภาพลง (Economic Inefficiency)
อันนี้อาจจะฟังดูยากนิดนึง แต่สำคัญมากค่ะ ลองนึกภาพตามนะคะ ปกติแล้วหลักเศรษฐศาสตร์บอกว่า การค้าขายระหว่างประเทศมันเวิร์ค เพราะแต่ละประเทศจะหันไปผลิตในสิ่งที่ตัวเอง "เก่ง" หรือ "ถนัด" ที่สุด (มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า หรือที่เรียกว่ามีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ - Comparative Advantage) แล้วเอามาแลกเปลี่ยนกัน
เหมือนเราแต่ละคนก็มีงานที่ตัวเองถนัดใช่มั้ยคะ ประเทศก็เหมือนกัน บางประเทศเก่งผลิตรถยนต์ บางประเทศเก่งทำเกษตร การค้าเสรีก็คือเปิดให้แต่ละคนทำในสิ่งที่เก่งแล้วมาแลกกัน ทุกคนจะได้ประโยชน์สูงสุด ใช้ทรัพยากร (ทั้งแรงงาน เงินทุน วัตถุดิบ) ได้คุ้มค่าที่สุดค่ะ
‼️ทีนี้ พอมีภาษี Tariff มาปุ๊บ! มันจะเข้าไป "บิดเบือน" กลไกนี้ค่ะ
สมมติเราไม่เก่งเรื่องผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปกตินำเข้าจะถูกกว่า แต่พอโดนภาษีแพงๆ เข้าไป กลายเป็นว่าของนำเข้าแพงกว่าที่ผลิตเองซะงั้น หรือแพงกว่าแค่นิดเดียว
👉🏻 มันก็เลยจะเกิดการ "ใช้ทรัพยากรผิดที่ผิดทาง" (Resource Misallocation) ค่ะ
เงินทุน แรงงาน ที่ดิน ที่ควรจะไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่เราเก่งจริงๆ เช่น ท่องเที่ยว เกษตรแปรรูป อาหาร กลับต้องถูกดึงไปพยายามผลิตในสิ่งที่เราไม่ถนัด หรือผลิตได้ด้วยต้นทุนที่สูงกว่า เพียงเพื่อหนีภาษีนำเข้าแพงๆ หรือเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมนั้นๆ ในประเทศ
⚠️ ผลลัพธ์คืออะไร? อุตสาหกรรมที่ได้รับการปกป้องอาจจะอยู่รอดได้ระยะสั้น แต่มักจะไม่ค่อยพัฒนา ไม่พยายามลดต้นทุน หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะไม่มีแรงกดดันจากการแข่งขันจากของนอกที่ถูกกีดกันด้วยภาษี
และที่สำคัญคือ ทรัพยากรของประเทศโดยรวมถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า ทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบผลิตของได้น้อยลง หรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็นค่ะ‼️
เหมือนเราเอาคนเก่งคำนวณไปฝืนทำอาหาร อาจจะทำได้ แต่ก็ไม่ดีเท่าเชฟมืออาชีพ แถมเสียเวลาที่ควรจะได้ไปคิดค้นอะไรเจ๋งๆ ด้วย ซึ่งมันคือความสูญเสียโอกาสของเศรษฐกิจโดยรวมค่ะ
🔃 วงจรตอบโต้ไม่จบสิ้น (Cycle of Retaliation)
อย่างที่บอกไปค่ะ พอประเทศหนึ่งเริ่มก่อน อีกประเทศก็มักจะเอาคืน กลายเป็นสงครามภาษีที่สาดใส่กันไปมา สุดท้ายเศรษฐกิจก็เสียหายทั้งคู่ อาจจะมีบางอุตสาหกรรมในประเทศได้ประโยชน์ระยะสั้นๆ แต่ภาพรวมคือเจ็บกันหมด บริษัทเดือดร้อน คนตกงาน เงินเฟ้อตามมา วุ่นวายกันไปหมดค่ะ
🎯 สรุป
สงครามการค้าก็เหมือนสองคนทะเลาะกันแล้วปาสิ่งของใส่กัน สุดท้ายบ้านก็พังทั้งคู่ ไม่มีใครได้ประโยชน์จริงจังในระยะยาวค่ะ ส่วนคนที่รับเคราะห์มากที่สุดก็คือประชาชนอย่างเราๆ และภาคธุรกิจโดยรวม
นี่แหละคือเหตุผลที่ในทางเศรษฐศาสตร์ การเปิดเสรีทางการค้า (ลดภาษี ลดอุปสรรค) ถึงมักจะเป็นทางออกที่ดีกว่าในระยะยาวค่ะ เพราะภาษีไม่เคยทำให้ใครชนะ มีแต่คนที่เจ็บตัวน้อยกว่าเท่านั้น
การลงทุน
เศรษฐกิจ
หุ้น
2 บันทึก
11
2
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย