ในวันนี้ Art of จะขอเล่าเรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังของผลงานการออกแบบรองเท้าผ้าใบพื้นยางรุ่นบุกเบิกที่ได้พิสูจน์ตัวเองผ่านกาลเวลาอันยาวนานมากกว่าศตวรรษ รองเท้าผ้าใบที่จะฆ่ายังไงก็ไม่ตายอย่าง “Chuck Taylor All Star” ผลงานการออกแบบประจำตัวอักษร C ในซีรี่ย์ Design A – Z กันเลย
Converse Chuck Taylor หรือ Converse All Star ถูกออกแบบในปี 1922 เป็นผลงานการพัฒนาต่อยอดจากรองเท้าบาสเก็ตบอลของ Converse รุ่นปี 1917 โดย Chuck Taylor อดีตนักบาสเก็ตบอลสังกัดทีม Akron Firestone Non-Skids จากรัฐ Ohio
หนึ่งในทีมบาสเก็ตบอลยุคบุกเบิกของ NBL National Basketball League (ภายหลังถูกรวมเข้าเป็น NBA National Basketball Association) ที่ได้ผันตัวมาทำงานด้านการขายให้กับ Converse ซึ่งในยุคแรกนั้นรองเท้า Converse ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นรองเท้าสำหรับบาสเก็ตบอลอย่างจริงจัง ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์แบบที่เรารู้จัก
นอกเหนือไปจากการพัฒนาลักษณะทางกายภาพของรองเท้าแล้ว ชัคก็ได้ขอเปลี่ยนโลโก้ตรงแผ่นป้องกันข้อเท้า จากตัวอักษร C แบบเดิมมาเป็น All Star โลโก้รูปดาวแบบที่เราคุ้นตาเพื่อเพิ่มความโดดเด่น และแสดงถึงคุณภาพที่เป็นเลิศ
ก่อนที่หลังจากนั้นในปี 1934 ลายเซ็นของชัคจะถูกเพิ่มลงไปบนโลโก้ จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Chuck Taylor All Star” และเป็นรองเท้าคู่แรกของโลกที่มีชื่อเรียกรุ่นตามนักกีฬาที่ให้การรับรอง (เหมือน Nike Air Jordan ในเวลาต่อมา)
หลังจากนั้นเขาได้ก่อตั้งทีมบาสเก็ตบอล Converse All Star ที่ร่วมเดินทางไปกับเขาเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าจากการแข่งขันกับทีมท้องถิ่น และเก็บข้อมูลจากการพูดคุยกับตัวแทนจำหน่าย และผู้ใช้อย่างใกล้ชิดในแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้นเขายังได้จัดทำนิตยสารรายปีเกี่ยวกับบาสเก็ตบอลเพื่อประชาสัมพันธ์กีฬาชนิดนี้ให้กว้างขวาง และเสริมภาพลักษณ์ของ แบรนด์แฝงไปด้วย
จากความมุ่งมั่น ตั้งใจของชัคนี้เองทำให้ Converse ได้กลายเป็นรองเท้าบาสแห่งชาติอย่างแท้จริง ในปี 1936 เมื่อบาสเก็ตบอลได้ถูกบรรจุเป็นกีฬาในโอลิมปิก Chuck Taylor All Star ได้ถูกเลือกให้เป็นรองเท้าประจำทีมชาติ โดยเขาได้ออกแบบรองเท้ารุ่น High-Top สีขาวที่เดินเส้นเป็นสีแดง และน้ำเงินแทนที่เส้นสีดำในรุ่นปกติ
เปิดตัว Converse All Star Low-Cut การแผ่ขยายความนิยมไปสู่นอกสนาม
Converse Chuck Taylor มีบทบาทอีกมากมายในประวัติศาสตร์อเมริกาทั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รองเท้า Converse ได้ถูกเลือกให้เป็นรองเท้าสำหรับฝึกในกองทัพสหรัฐ และหลังจากสงครามที่กลายเป็นรองเท้ามาตรฐานในหมู่ผู้เล่นบาสเก็ตบอลตั้งแต่ระดับมัธยม ไปจนถึงอาชีพ
เรียกได้ว่าในยุค 60 Converse ครองส่วนแบ่งตลาดรองเท้าบาสถึง 70-80% โดย Chuck Taylor All Star เป็นรองเท้าที่นักบาสระดับมหาวิทยาลัย และอาชีพเลือกใช้ถึง 90% บริษัทจึงขยายกิจการและเปิดโรงงานผลิตมากขึ้นหลายต่อหลายแห่ง
ในปี 1949 Converse ได้ปล่อย All Star ข้อสั้นแบบ Oxford สีขาว-ดำ ตามคำแนะนำของผู้เล่น และโค้ชที่ต้องการรองเท้าที่ช่วยให้เคลื่อนไหวได้เป็นอิสระมากขึ้น
แต่หลังจากนั้นมาวงการรองเท้าบาสก็ได้เริ่มเปลี่ยนไป การมาของเทคโนโลยีต่างๆ และความต้องการรองเท้าบาสที่ทำจากหนัง ทำให้ Chuck Taylor ที่ทำมาจากผ้าค่อยๆ ลดลงจากสนาม แต่ภายนอกสนามนั้นกลับตรงกันข้ามโดยเฉพาะรุ่นข้อต่ำที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนทั่วไป
แต่หลังจากนั้นในช่วง 70 Converse ก็เริ่มประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากการตัดสินใจทางธุรกิจที่ผิดพลาด และความนิยมในหมู่นักกีฬาที่ลดลง โดยนักกีฬาส่วนใหญ่หันมาใช้รองเท้าหนังบนพื้นยางที่แข็งกว่า ซึ่งในปี 1980 คือปีสุดท้ายที่มีผู้เล่น NBA ที่ใช้รุ่น Chuck Taylor All Star แบบผ้าใบตลอดฤดูกาล
ถึงแม้ว่าประตูฝั่งกีฬาอาชีพจะปิดลง แต่ประตูบานใหม่ของการเป็นรองเท้าไลฟ์สไตล์ที่ใส่ในชีวิตประจำวันก็ได้เปิดออก Chuck Taylor All-Stars กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในช่วงปี 80-90
ซึ่งคนมีชื่อเสียงที่ใส่ Chuck Taylor จนกลายเป็นภาพจำในยุคนั้นก็คือ James Dean, Elvis Presley นักร้อง นักแสดง และ Kurt Cobain นักร้องนำวง Nirvana
สานต่อตำนานภายใต้ร่มของ Nike
จนมาถึงปี 2000 Converse All Star ขายไปมากกว่า 600 ล้านคู่ตลอดระยะเวลา 80 ปี แต่ถึงแม้ว่าในจะเคยเป็นอดีตตำนานรองเท้าบาสแห่งยุค 20 – 70 ด้วยคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น การตัดสินใจทางธุรกิจที่ผิดพลาด และการขาดเงินสนับสนุนทำให้ Converse ต้องตัดสินใจยื่นล้มละลาย
จนในปี 2003 Nike ก็เข้ามาซื้อกิจการในราคาประมาณ 305 ล้านดอลลาร์ และดำเนินการผลิต Chuck Taylor All Star ซึ่งย้ายฐานการผลิตไปที่จีน อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซียแทน
ด้วยเหตุนี้เองทำให้ Converse ของญี่ปุ่นนั้นจึงมีรุ่น วัสดุ และคุณภาพที่แตกต่าง แล้วว่ากันว่า Chuck Taylor All Star ที่ผลิตในญี่ปุ่นนั้นมีความใกล้เคียงกับแบบดั้งเดิมมากกว่า Converse ที่ถูกซื้อไปโดย Nike เสียอีก
อิทธิพลของ Chuck Taylor All Star นั้นไม่เหมือนกับรองเท้าคู่อื่นๆ ด้วยประวัติศาสตร์ และหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ว่าจะเพศอะไร อายุเท่าไหร่ หรือจะแต่งตัวแบบไหน รองเท้าคู่นี้ที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานก็ยังสามารถอยู่รอดมาได้โดยคงความดั้งเดิมเอาไว้
ทำให้ในปี 2013 Converse ได้ปล่อย Chuck Taylor All Star '70 ออกมาเพื่อตอกย้ำความเป็น Original ซึ่งยึดการออกแบบตามรุ่นที่ผลิตในช่วงยุค 60-70 ผ้าหนา พื้นยางหนาชิ้นเดียว (รุ่นใหม่เป็น 3 ชิ้นประกบ) ยางหัวรองเท้าเล็ก ปิดส้นเท้าด้วยแผ่นสีดำ (ของใหม่เป็นสีขาว) และเย็บวัสดุพิเศษด้านในช่วงหัวรองเท้าเพิ่มเพื่อความแข็งแรง
ในปี 2015 Converse ได้ปล่อย Chuck Taylor All Star II ซึ่งเป็นการยกเครื่องใหม่เกือบทั้งหมด ผ้าหนาขึ้น พื้นหนาขึ้น ซึ่งภาพรวมฟังดูเหมือนรุ่น 70 แต่ว่าจริงๆ แล้วมีเทคโนโลยี และรายละเอียดที่เปลี่ยนไปหลายอย่าง
Chuck Taylor II ควรจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ Converse แต่มันก็ไม่ได้กระแสตอบรับที่ดีนัก จนในท้ายที่สุดก็เลิกผลิตไปหลังจากปล่อยไปได้ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม Converse ก็ไม่ยอมแพ้และปล่อย Converse Modern ในปี 2016 โดยคราวนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ยิ่งกว่าโดยเก็บแค่ภาพรวมของ Chuck Taylor ไว้ แต่เปลี่ยนวัสดุไปเลย เช่น การใช้หนังแบบรองเท้าหนัง หรือ การเอาปลายหัวรองเท้ายาง และรูร้อยเชือกโลหะออกไปเลย ไปจนถึงใช้เทคโนโลยี Nike แบบจัดเต็ม ทั้งการใช้ Knit และใช้พื้นโฟมแบบ Air Jordans
ถึงแม้ว่า Chuck Taylor All Star อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนเมื่อก่อน แต่นี่ก็เป็นเป็นผลงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่ได้รับการพิสูจน์ผ่านกาลเวลามามากกว่าร้อยปี เป็นรองเท้าที่ใส่เข้ากับการแต่งตัวได้แทบทุกสไตล์ เป็นความเรียบง่ายที่ไม่เคยล้าสมัย และยังคงส่งต่อความคลาสสิคแบบที่ไม่มีรองเท้าคู่ไหนทำได้จนมาถึงทุกวันนี้