22 เม.ย. เวลา 01:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ

👑ทุเรียนไทย: เจ้าแห่งตลาดโลก...จะเป็นแชมป์ หรือแค่ตำนาน?

ในปี 2567 ประเทศไทยยังคงครองตำแหน่ง “ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก” ด้วยผลผลิตรวมกว่า 1.3 ล้านตัน ซึ่งกว่า 75% ถูกส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้จากการส่งออกทุเรียนสดกว่า 3.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย ตลาดหลัก คือ ประเทศจีน ที่นำเข้าทุเรียนจากไทยมากถึง 90% ของยอดส่งออกทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดจีนจะยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ตำแหน่งผู้นำของไทยกลับเริ่มสั่นคลอน เมื่อ “คู่แข่ง” หลายประเทศเริ่มแย่งชิงพื้นที่ตลาด และจีนเองก็เริ่มลดการพึ่งพาการนำเข้าจากไทย
-เดิมจีนเคยนำเข้าทุเรียนจากไทย เกือบ 100%
-ปัจจุบัน ไทยเหลือส่วนแบ่งเพียง ประมาณ 60%
-ส่วนที่หายไป กระจายไปยัง เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
-และที่น่าจับตา คือ จีนเริ่มปลูกทุเรียนเองในประเทศ
🇨🇳 จีน: จาก “ลูกค้าเก่า” สู่ “คู่แข่งใหม่”
จีนเริ่มปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์ในมณฑลไห่หนานตั้งแต่ปี 2551 โดยไห่หนานเป็นมณฑลเดียวในจีนที่มีภูมิอากาศเขตร้อน ผลผลิตเชิงพาณิชย์เริ่มมีในปี 2565 แม้ปริมาณยังน้อย ราคาสูงกว่าทุเรียนไทยถึง 3 เท่า และยังสู้เรื่องกลิ่น-รสชาติไม่ได้ แต่จีนไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น
จีนกำลังลงทุนพัฒนาอย่างจริงจังผ่าน:
-การวิจัยพันธุ์พืชเขตร้อน (tropical crop R&D)
-ระบบน้ำอัตโนมัติ
-โดรนควบคุมคุณภาพ
-แพลตฟอร์มเกษตรแม่นยำ (precision agriculture)
วันนี้จีนอาจยังตามหลังไทย... แต่พรุ่งนี้อาจกลายเป็นคู่แข่งตัวจริง
🇻🇳เวียดนาม: ผู้ท้าชิงที่ “พร้อมกว่า”
เวียดนามกำลังเป็นดาวรุ่งของตลาดจีน ด้วยข้อได้เปรียบที่ผลิตทุเรียนได้ ตลอดทั้งปี
สามารถส่งผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้ในช่วงที่ไทยขาดพอดี เช่น ช่วงตรุษจีนและฤดูใบไม้ผลิ
-ขนส่งเร็ว ต้นทุนต่ำ ราคาถูกกว่า
-ได้ใบอนุญาตนำเข้าเพิ่มจากทางการจีนต่อเนื่อง
-เดือนก.พ. และ ก.ย. 2567 เวียดนาม แซงไทยเป็นอันดับ 1 ผู้ส่งออกทุเรียนไปจีน
→เติมเต็มช่วงว่างในตลาดได้แม่นยำ ขณะที่ไทยยังเน้นผลผลิตฤดูเดียว
🇲🇾มาเลเซีย: เล่นเกมพรีเมียมด้วย “Musang King: The Rolex of Durian”
ในขณะที่ไทยเน้นปริมาณ มาเลเซียเลือกจับตลาดบน ด้วยแบรนด์ “Musang King” ที่เน้นรสชาติพิเศษและคุณภาพสูง
-ราคาสูงกว่าทุเรียนไทยหลายเท่า แต่ตลาดยังตอบรับดี
-สร้างแบรนด์ร่วมกันระหว่างภาครัฐ-เอกชน
-ส่งออกได้ไกลถึงสหรัฐฯ และยุโรป
→ตัวอย่างของการเปลี่ยน "สินค้าเกษตร" เป็น “สินค้าระดับโลก”
⚠️ “Perfect Storm” ของทุเรียน
สถานการณ์ของทุเรียนไทยในวันนี้เผชิญความเสี่ยงหลายด้านพร้อมกัน:
-ผลผลิตลดลงจากภาวะโลกร้อน ฤดูฝนไม่แน่นอน
-คุณภาพไม่สม่ำเสมอ ถูกตีกลับจากตลาดจีน
-คู่แข่งขนส่งได้เร็วกว่า และตั้งราคาขายได้ต่ำกว่า
-ทุเรียนไทยนอกฤดูยังคุมคุณภาพไม่ได้เท่าที่ควร
-การพึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป
🧭 ทางรอดของไทย: คุณภาพนำหน้า มาตรฐานนำทาง
ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว หากต้องการรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดโลก ด้วยการ:
-ยกระดับมาตรฐาน GAP & GMP อย่างจริงจัง
-สร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability)
-สื่อสารเชิงคุณภาพกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
-ปรับยุทธศาสตร์ส่งออกจาก “ปริมาณนำ” → “คุณภาพนำ”
ในวันที่คู่แข่งมีทั้ง “ต้นทุนที่ต่ำ” และ “เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า”
สิ่งที่ไทยยังมีอยู่คือ “ชื่อเสียง” และ “ความไว้ใจของผู้บริโภค”
ซึ่งอาจเป็นแต้มต่อสุดท้าย... ที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้
เพราะในโลกที่คู่แข่งมีทั้ง “ต้นทุน” และ “เทคโนโลยี”
ชื่อเสียง อาจเป็นแต้มต่อสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่
.
เรื่องและภาพ: กุสุมา ธะนะวงศ์ & ธนโชติ นนทกะตระกูล Economist, Bnomics
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#ทุเรียนไทย #DurianKingdom #สงครามทุเรียน #เศรษฐกิจเกษตร #ธนาคารกรุงเทพ #Bnomics #BBL #BangkokBank
โฆษณา