22 เม.ย. เวลา 07:11

สาธารณสุขเปิดอกเคลียร์ปม ไทยพาวิเลียน ยันไม่มีเงินทอน

สาธารณสุข เคลียร์ปมร้อนใช้งบเกือบ 900 ล้านจัดทำ ไทยพาวิเลียน ที่งาน World Expo 2025 แจงเหตุต้องเลือกวิธี "เฉพาะเจาะจง" หลังล้มเหลวสองครั้ง ยันไม่มีเงินทอน เวลากระชั้นชิด-ญี่ปุ่นเร่งรัด
จากกรณีที่มีเสียงวิพากวิจารณ์ถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณเกือบ 900 ล้านบาทที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำ Thailand Pavilion ภายในงาน World Expo 2025 ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. - 13 ต.ค. 2568 นั้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และกิจการค้าร่วม RMA110 ร่วมแถลงข่าวชี้แจงประเด็นการจัดทำอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวขยายในส่วนของการจัดงาน World Expo 2025 ว่า โจทย์ในแต่ละปีจะมีโจทย์ที่ต่างกันในการที่จะนำเสนอของแต่ละประเทศ โจทย์ในครั้งนี้ คือ Designing Future Society for Our Lives
แปลเป็นไทย คือ การออกแบบในอนาคตเพื่อชีวิตที่ดีร่วมกันซึ่งเราเองมีการแบ่งเป็น 3 โซนย่อย คือ Saving Lives คือ เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง และ Innovative Lives ศักยภาพ การศึกษาและนวัตกรรม
ของประเทศไทยจะอยู่ในโซนที่ เรียกว่า Connecting life ซึ่งการมุ่งเน้นการสร้างสังคมที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน เสริมสร้างความเข้าใจและความแตกต่างทางวัฒนธรรม และเคารพในความหลากหลาย ซึ่งไทยแลนด์พาวิเลียนตอบโจทย์ในส่วนของ Connecting life zone
โดยมุ่งนำเสนอการสร้างสรรค์ชีวิตและความสุขที่ยิ่งใหญ่ในฐานะศูนย์กลางทางสุขภาพโลกโดยมีการเชื่อมโยงของ Soft Power ทางวัฒนธรรมไทยกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ด้านสุขภาพ และ Wellness ซึ่งต้องการสื่อถึงศักยภาพที่โดดเด่นของไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเอาใจใส่ และเรื่องของการแพทย์แผนไทยบนเวทีระดับโลก
เพราะฉะนั้น มาถึงจุดที่เราจำเป็นที่จะต้องทำคอนเท้นท์ที่จะต้องตอบสนองกับสิ่งเหล่านี้ เป็นโจทย์ที่ทางทีมจะต้องพิจารณาต่าง ๆ ได้มีความเห็นร่วมกันในการที่จะจัด Thailand Pavilion ขึ้นมาในรูปของการนำเสนอรูปแบบดังกล่าวทั้งหมดทั้งสิ้น นอกจากจะมีเรื่องการจัดแสดงภายในแล้วก็จะมีบางประเด็นในส่วนของ Temporary Exhibition ที่จะมีการชี้แจงเพิ่มเติม ในส่วนของการโชว์ต่าง ๆ ก็จะมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปทุกเดือน
ประเด็นสำคัญวันนี้คงเป็นเรื่องของประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง ผมในฐานะตัวแทนของ กรม สบส.ได้รับมอบหมายมาเล่าให้กับสื่อมวลชนได้รับทราบว่า ประเด็นสำคัญในการจัดซื้อจัดจ้างและไทม์ไลน์ต่าง ๆ โดยในส่วนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นปรากฎในทางเว็บไซต์อยู่แล้ว โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ครม. ได้มีมติเห็นชอบเรื่องงบประมาณและแผนการดำเนินงานและเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ครม.ได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2566-2569 จำนวน 867,881,611 บาท
โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นผู้ดำเนินการหลักและเนื่องจากการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งแรกมีการกำหนดราคากลางขึ้นมา คือ 867,880,000 บาท โดยการใช้วิธีการคัดเลือกจากเดิมเราคิดว่า อยากให้บริษัทที่มีศักยภาพสามารถที่จะเข้ามาแข่งขันในการดำเนินการได้
แต่ปรากฎว่า ผลการคัดเลือกในครั้งนั้นเอกสารไม่ครบถ้วนทั้ง 3 บริษัท จึงจำเป็นที่จะต้องยกเลิกไป เอกสารที่ขาด คือ การแสดงผลงานในส่วนของ International ยังไม่มีบริษัทใดเข้าเกณฑ์จึงได้ยกเลิกในครั้งที่หนึ่งไป ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566
ต่อมาในครั้งที่สองในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ได้มีการกำหนดราคากลางใหม่ที่ 867,880,000 บาท และในวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ได้มี กิจการร่วมค้า RMA 110 จำกัด เข้ามา ต่อมาได้ประกาศผู้ชนะในการเสนอราคา คือ กิจการร่วมค้า RMA 110 ด้วยวงเงิน 862,000,000 บาท ซึ่งเป็นผู้ชนะจากการประกวดราคาของเรา
หลังจากนั้นได้มีการร้องเรียนจากบริษัทที่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการซึ่งได้มีการยื่นอุทธรณ์ หลังจากยื่นอุทธรณ์แล้วเนื่องจากกรมบัญชีกลางได้ตอบข้อวินิจฉัยกลับมาว่า สามารถให้ทางกรม สบส. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้
สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงนี้ เนื่องจากว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น กระบวนการตอบข้อวินิจฉัยดังกล่าวเกินกำหนดเวลาการยืนราคากลาง 90 วัน ทำให้กระบวนการลงนามสัญญาไม่เกิดขึ้นและผู้ชนะไม่ประสงค์จะทำสัญญาเนื่องจากยืนราคาไม่ได้แล้ว ณ เวลานั้นเนื่องจากเกิน 90 วัน ทำให้ กรม สบส.จึงจำเป็นต้องประกาศครั้งที่ 3
สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น คือ เวลากระชั้นชิดแล้ว และทางองค์กรผู้จัดงานที่ญี่ปุ่นได้มีการเร่งรัดกับทางประเทศไทยว่า ให้ต้องดำเนินการและต้องมีผู้รับจ้างแล้วและต้องแล้วเสร็จซึ่งเรามีไทม์ไลน์ในการก่อสร้างถึงภายในวันที่ 13 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันเปิดงาน
กรม สบส.จึงได้ตัดสินใจใช้วิธีการแบบเฉพาะเจาะจงแทนเนื่องจากเวลาค่อนข้างกระชั้นชิด โดยกระบวน "การเฉพาะเจาะจง" นั้น ต้องมีการสืบราคาซึ่งกระบวนการของเรานั้นได้มีการส่งจดหมายลงทะเบียนไปให้กับผู้ที่สนใจที่เคยยื่นความประสงค์เข้ามาจำนวน 3 บริษัท แต่มีเพียงบริษัทเดียวที่ยื่นราคากลับมาจากการสืบราคา ถึงเวลานี้ตามระเบียบพัสดุสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบพัสดุและเนื่องจากมีผู้ยื่นบริษัทเดียวก็จำเป็นต้องใช้ราคาของบริษัทนั้นในการทำเชิง "เฉพาะเจาะจง"
1
เราเชิญทั้ง 3 บริษัทแต่ยื่นกลับมาในการสืบราคาเพียงแค่บริษัทเดียวเท่านั้น สิ่งสำคัญเราก็มีจดหมายลงทะเบียนถึงทั้ง 3 บริษัทเป็นที่เรียบร้อย เมื่อยื่นกลับมาก็จำเป็นที่จะต้องใช้ราคานี้ตามระเบียบพัสดุฯในการที่จะดำเนินการ สรุปราคาที่ยื่นกลับมา คือ 867,877,000 บาท แพงกว่าเดิมประมาณ 5 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1%
หลังจากนั้นจึงได้มีการลงนามสัญญาโดยได้มีการประกาศให้ อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ เป็นผู้ชนะในวงเงิน 867,800,000 บาท ลดลงไปประมาณ 7 หมื่นบาท
ขอนำเรียนว่า กรม สบส.ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลฯไม่ได้รับธุรกรรมใด ๆ จาก บริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด เลยแม้แต่เรื่องเดียว
ทั้งหมดเป็นการทำกับ "กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ" ชื่อคล้ายกันก็จริงแต่เป็นคนละบริษัทในการที่จะดำเนินการซึ่งเป็นผู้ชนะในครั้งนี้
พร้อมกันนี้ได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนกรณีที่ สส.พรรคประชาชนออกมาพูดข้อมูลว่า โครงการนี้อาจจะมีเรื่องของเงินทอน ระหว่างบริษัทเอกชนกับทางกรมหรือไม่ โดย นพ.กรกฤช รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ทางกรมขอยืนยัน เอกสารทุกอย่างเราดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัดและสามารถตรวจสอบได้ ถ้าช่องทางหลัก ๆ เลย คือ เว็บไซต์ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้
ในส่วนของเงินทอนนั้น ผมในฐานะเป็นผู้บริหารกรม เป็น รองอธิบดี ขอยืนยันตรงนี้ว่า ทางกรมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างใด ๆ ในเรื่องของเงินทอน ผมยืนยันทุกวันนี้ แม้กระทั่งการเดินทางยังไม่ให้เขามารับจากสนามบินเราไปเอง นั่งรถไฟไปและก็มีหลักฐานว่า ผมนั่งรถไฟจากสถานีคันไซมาที่บ้านพักด้วยตัวเอง ไม่มีการรับส่งใด ๆ รองอธิบดี สบส. กล่าว
โฆษณา