24 เม.ย. เวลา 01:11 • สุขภาพ

หลายคนมีความเป็น perfectionist ระดับสูง

กล่าวคือ เวลาที่พวกเขาทำอะไรสักอย่าง (ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อสอบ การนำเสนองานในที่ประชุม การออกกำลังกาย ฯลฯ) พวกเขาจะคาดหวังอยากให้ตัวเองทำสิ่งนั้นให้ได้ในระดับ “ไร้ที่ติ”
ในใจของพวกเขาจะเต็มไปด้วยความคิดที่คอยส่งเสียงเป็นระยะๆว่า “ฉันยังดีไม่พอ” “ฉันควรต้องทำให้ได้ดีกว่านี้” “แค่นี้ยังใช้ไม่ได้” ฯลฯ
เสียงเหล่านี้คอยสร้างความกดดันให้กับพวกเขา ส่งผลให้พวกเขาถีบตัวเองให้ได้ในระดับ “ไร้ที่ติ” อย่างต่อเนื่อง
แต่เนื่องจากในที่สุดแล้ว พวกเขายังคงเป็นมนุษย์ ต่อให้พวกเขาจะสามารถ “ไร้ที่ติ” ได้ระยะหนึ่ง แต่พวกเขาก็จะไม่สามารถ “ไร้ที่ติ” ได้ตลอดไป
วันที่พวกเขาพบว่าตัวเองไม่สามารถ “ไร้ที่ติ” ได้ เสียงของความคิดในใจพวกเขาก็จะเริ่ม “ถ่มถุย” พวกเขาด้วยคำต่อว่าและคำตัดสินต่างๆนานา
มันเหมือนกับว่า ในใจของพวกเขามีคุณครูโหดๆแบบสมัยโบราณที่ยืนถือไม้เรียวอยู่ และพร้อมที่จะใช้ไม้เรียวกระหน่ำฟาดใส่พวกเขาทุกครั้งที่ไม่สามารถ “ไร้ที่ติ” ได้
หลายคนไม่อยากที่จะให้คุณครูในใจมีอิทธิพลมากขนาดนี้อีกแล้ว แต่พวกเขาก็จนใจเพราะไม่รู้ว่าจะจัดการกับคุณครูในใจนี้อย่างไร
ผมขอนำเสนอแนวทางในเบื้องต้นที่อาจจะช่วยให้ทุกคนรับมือกับคุณครูในใจได้ง่ายขึ้นดังต่อไปนี้ครับ
.
.
.
# 1 อะไรคือ “คำพูดติดปาก” ของคุณครูในใจบ้าง? (เขียนมันลงบนกระดาษให้หมดเลยครับ)
ถ้าเราอยากจะรับมือกับสิ่งใดให้มีประสิทธิภาพ ขั้นแรก เราควรที่จะมองเห็นให้ชัดเจนก่อนว่า สิ่งที่เรากำลังรับมืออยู่นั้น มันมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรบ้าง
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเชิญชวนให้เราฟังเสียงของคุณครูในใจเราให้ชัดๆ และเขียน “คำพูดติดปาก” ของคุณครูลงในกระดาษทุกๆประโยคครับ
# 2 ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “คำพูดติดปาก” เหล่านี้ของคุณครู มันเป็นประโยชน์ (และโทษ) ในการช่วยให้เรามีชีวิตที่เราต้องการมากน้อยแค่ไหน? (เขียนทั้งประโยชน์และโทษลงบนกระดาษให้หมดเช่นกันครับ)
ยกตัวอย่างเช่น การที่คุณครูส่งเสียงในใจเราว่า “มีปัญญาทำได้แค่นี้หรือ!? นี่มันห่วยแตกสิ้นดี!” มันอาจจะเป็นประโยชน์ในแง่ที่กระตุ้นให้เราไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกหมดกำลังใจที่จะสู้ต่อเช่นกัน เป็นต้น
# 3 ถ้าเราจะเปลี่ยน “คำพูดติดปาก” ของคุณครูเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์กับการใช้ชีวิตของเรามากกว่าเดิม เราจะเปลี่ยนเป็นอะไร? (ใช้ปากกาหรือดินสอขีดฆ่า “คำพูดติดปาก” เหล่านั้น และเขียนคำพูดเวอร์ชั่นใหม่ต่อท้ายเลยครับ)
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่คุณครูจะส่งเสียงในใจว่า “มีปัญญาทำได้แค่นี้หรือ!? นี่มันห่วยแตกสิ้นดี!” คำพูดที่ดีกว่าก็คือ “ในการทำงานครั้งล่าสุด เรายังมีข้อผิดพลาดในจุด X จุด Y และจุด Z มันน่าเสียดายนะที่เราพลาดในจุดเหล่านี้ แต่เราสามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านี้เพื่อที่จะทำงานนี้ได้ดีกว่าเดิมในครั้งต่อไปได้” เป็นต้น
# 4 หยิบกระดาษที่เราใช้ในการทำขั้นตอนที่ 1 ถึง 3 ในข้างต้น มาอ่านทุกๆวัน เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ใจเราค่อยๆคลายอิทธิพลจาก “คำพูดติดปาก” ของคุณครูเวอร์ชั่นเก่าได้มากขึ้น
.
.
.
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวทางที่ผมนำเสนอในวันนี้จะเป็นประโยชน์ (ในเบื้องต้น) กับทุกๆคนที่อยากจะ “ปลดแอก” ตัวเองจากอิทธิพลของคุณครูในใจนะครับ
โฆษณา