24 เม.ย. เวลา 02:56 • หนังสือ

14 บทเรียนชีวิตนักลงทุน "ทัตสึโระ คิโยฮาระ” มนุษย์เงินเดือนผู้ร่ำรวยมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

🟩ตลาดหุ้นจะเป็นมิตรกับคุณ ตราบใดที่ความคิดเห็นของคุณจัดอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย การลงทุนในหุ้นบนพื้นฐานของความคิดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เลียนแบบใครนั้นถือว่าได้เปรียบอย่างมาก “หากมีความคิดเหมือนคนส่วนน้อย แม้ผิดพลาด ก็ขาดทุนน้อย” ความคิดของตนเองที่เหมือนกับความคิดของคนส่วนใหญ่ไม่ถือเป็นไอเดียการลงทุน
เมื่อคุณมีความคิดที่แตกต่าง เมื่อนั้นจึงถือเป็นไอเดียการลงทุน “แนวคิดการลงทุน” คือแนวคิดที่ไม่ได้ถูกเหมารวมไว้ในราคาหุ้น หากแนวคิดของคุณเป็นเหมือนกลุ่มคนหมู่มาก ก็ถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่าง เหตุเพราะมีความเป็นไปได้สูงที่คุณกำลังแบกรับความเสี่ยงขนาดใหญ่บางประการอยู่
🟩หากคุณตั้งใจจะคิดให้แตกต่างออกไปจากนักลงทุนส่วนใหญ่ วิธีที่ดีที่สุดคือ “ตั้งคำถามกับสามัญสำนึก” ความเป็นจริงนั้นแตกต่างจากสิ่งที่ทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา คงเป็นเรื่องเศร้าหากเราเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขียนไว้ในตำราคือเรื่องจริง
“แม้จะดูเป็นเรื่องสามัญสำนึก แม้จะคิดว่าถูกต้อง 99.99% แต่การคิดว่ามันถูกต้อง 100% เป็นเรื่องอันตราย” ข้อมูลทุกอย่างล้วนมีอคติแฝงอยู่ทั้งสิ้น เฝ้านึกเสมอว่าใครเป็นผู้ให้ข้อมูล ข้อมูลที่ไม่รู้ว่ามาจากไหนจะมีคุณค่าในฐานะแหล่งข้อมูล ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คุณควรคิดเผื่อไว้ด้วยว่ายังมี “ความน่าจะเป็น” ที่อาจไม่เป็นอย่างที่คิดอยู่บ้างเช่นกัน
🟩ตลาดหุ้นมักได้รับอิทธิพลจากภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง นักลงทุนมืออาชีพจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษให้ได้ หากชีวิตคุณพึ่งพาเพียงแค่แหล่งข้อมูลภาษาท้องถิ่นอย่างเดียว คิดว่าคงไม่สมกับการเป็นมืออาชีพเท่าไหร่นัก
การทำกำไรในตลาดหุ้นนั้น วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ “การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะทั่วไป” นักลงทุนคนอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ (หรือไม่คิดจะเข้าถึง) ข้อมูลบางอย่างที่อยู่นอกเหนือออกไปจากสื่อ นักวิเคราะห์ และการเปิดเผยข้อมูลทั่วไปจากบริษัทจดทะเบียน
🟩ยังมีหุ้นขนาดเล็กอีกจำนวนมากที่แทบไม่มีใครสนใจ แม้บริษัทเล็กๆเหล่านั้นจะมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ แต่ก็มีคนสนใจน้อยมาก “นี่ถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะทั่วไปชั้นเยี่ยม” แม้คุณจะต้องเหนื่อยขึ้นหลายเท่าตัว ใช้เวลาศึกษาค้นคว้ายาวนาน แต่อัตราการชนะมีสูงมาก
มีหุ้นขนาดเล็กจำนวนมากที่ถูกปล่อยทิ้งร้างให้อยู่ในราคาต่ำ หากเราสามารถค้นพบ ‘หุ้นเติบโต’ จากกลุ่มหุ้นขนาดเล็กเหล่านี้แล้วเข้าลงทุนแต่เนิ่นๆ ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อพอร์ตการลงทุนให้เติบโตแบบก้าวกระโดด “หุ้นเติบโตมักปะปนอยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดเล็กราคาถูก” แม้มีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นวิธีที่ทำกำไรได้ง่ายและมากที่สุด
🟩ความสามารถในการเติบโตของหุ้นขนาดเล็กอยู่ที่ฝีมือผู้บริหาร 90% ลองสังเกตดูว่าเขา “มีความตั้งใจอันแรงกล้าในการทำให้บริษัทเติบโตหรือไม่?” สำหรับหุ้นขนาดเล็กนั้นบุคลิกภาพ ความดีและเลวของผู้บริหารจะส่งผลต่อกิจการอย่างมากมายมหาศาล
ถัดจากเรื่องผู้บริหารคือ “มองการเติบโตในระยะยาวให้ออก” จุดแข็งของบริษัทสามารถแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีกพร้อมๆกับการเติบโตหรือไม่? เช่น หากส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นแล้วทำให้ความสามารถในการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆด้วยหรือเปล่า?
🟩คุณควรทำความคุ้นเคยกับ “ทฤษฎีความน่าจะเป็น” ไว้บ้างก็น่าจะดี การคิดถึงสิ่งต่างๆในเชิงความน่าจะเป็นนั้นช่วยขจัดอคติของตนเองได้ในระดับหนึ่ง และหากเรามองเห็นอคติของคนส่วนใหญ่ได้อย่างทะลุปรุโปร่งก็อาจใช้มันหาเงินในตลาดได้ด้วยสิ่งที่แน่นอนบนโลกใบนี้มีไม่มาก เราต่างใช้ชีวิตอยู่บนบรรทัดฐานของความน่าจะเป็นอันคลุมเครือว่า “น่าจะเป็นแบบนี้”
การลงทุนในหุ้นคือเกมที่ต้องคิดเชิงความน่าจะเป็น ด้วยเหตุนี้การปักใจเชื่อคือสิ่งต้องห้าม มันจะทำให้เรามองข้ามข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งอาจปรากฎออกมาในภายหลัง สำหรับโลกการลงทุนนั้นความน่าจะเป็นแทบไม่อาจนิยามได้ในเชิงคณิตศาสตร์เลย ด้วยเหตุนี้การลงทุนเชิงปริมาณ (Quantitative) แม้จะไม่ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่มักล้มเหลว
🟩หากประเมินแล้วว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังสูงมากๆ การวิเคราะห์เพียงคร่าวๆก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ พวกมืออาชีพยังทำการศึกษาให้ครบสมบูรณ์แบบรอบด้านไม่ได้เลย ไม่เช่นนั้นเราคงพลาดโอกาสการลงทุนดีๆไปเสียหมด หากมีเพียงคุณเท่านั้นที่สังเกตเห็นความสำคัญของข้อมูลและทำการวิเคราะห์อย่างจริงจัง จากนั้นผลลัพธ์ของการศึกษาค้นคว้าก็สามารถกลายเป็นไอเดียการลงทุนที่ดีได้ สิ่งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเชื่อมโยงไปสู่ผลตอบแทนก้อนใหญ่
หน้าที่ของคุณคือการค้นหาหุ้นขนาดเล็ก (ในความหมายของคิโยฮาระคือหุ้นที่มี Market Cap <50,000 ล้านเยน) ที่เติบโต ซึ่งซ่อนตัวอยู่ คนอื่นยังไม่สนใจ หาหนทางเข้าลงทุนด้วยเงินจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ “แต่หากว่าไอเดียที่ดีของคุณเริ่มเป็นที่นิยมแล้ว ก็ถึงเวลาต้องแยกย้าย”
🟩การเพลิดเพลินไปกับ “หุ้นเติบโตขนาดเล็ก ราคาถูก” ควรเข้าซื้อตั้งแต่ช่วงแรก แม้เสี่ยงที่จะผิดพลาดอยู่บ้าง จงอย่าซื้อหลังจากมองเห็นอย่างชัดเจนว่ามันเติบโตแล้ว “คุณต้องซื้อหลังจากคาดการณ์ว่ามันจะเติบโต” หลีกเลี่ยงการเข้าซื้อหุ้นที่ราคาวิ่งสูงขึ้นไปแล้วให้มากที่สุด
🟩นักลงทุนมือใหม่ควรหลีกเลี่ยงการกู้เงินมาลงทุน (Margin) หากต้องการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่นั้นคิดว่า ETF หรือกองทุนรวมดัชนีจะสะดวกกว่า เพราะว่าหุ้นขนาดใหญ่นั้นต่อให้เราขยันศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากมายขนาดไหน ผลตอบแทนที่ได้รับก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มันจึงสมเหตุสมผลที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกองทุน
หุ้นใหญ่มีนักวิเคราะห์ติดตามอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ถึงเราจะขยันไปเยี่ยมชมบริษัท (CV) คุยกับนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) ก็แทบไม่ได้ข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์เลย สู้ใช้วิธีลงทุนแบบ ‘Bottom Up’ (วิเคราะห์รายบริษัท) ในหุ้นขนาดเล็กจะได้ประโยชน์มากกว่า
🟩นักลงทุนรายย่อยไม่ควรทำการชอร์ตหุ้นรายตัว เหตุเพราะความเสี่ยงสูงสุดของการซื้อหุ้นคือบริษัทนั้นล้มละลาย ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายเท่ากับจำนวนเงินที่คุณลงทุนไป “แต่ในทางกลับกัน ความเสี่ยงของการชอร์ตหุ้นนั้นเป็นอนันต์” หากคุณคิดอยากทำกำไรด้วยการขายชอร์ตก็ควรชอร์ตดัชนี (Index) จะดีกว่า ส่วนการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กราคาถูกก็ไม่จำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยง หากราคาหุ้นพุ่งขึ้นก็ได้กำไร หากราคาร่วงลงก็ซื้อเพิ่ม ทำแค่นี้พอ
🟩นักลงทุนรายย่อยไม่ควรผันตัวมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา (Full-time investor) เมื่อคุณไม่มีรายได้จากเส้นทางอื่นและเมื่อคุณทุ่มเทสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดไปกับการลงทุน หากทุกสิ่งไม่เป็นดั่งใจหวัง เมื่อนั้นก็ไม่สามารถกลับตัวทำอะไรได้อีกแล้ว แต่หากคุณยังมีรายได้จากหนทางอื่นนั้นระดับความมีอิสรภาพจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง
🟩การเฝ้ารอคอยเข้าซื้อหุ้นราคาถูกยามตลาดตกต่ำเป็นเรื่องยาก หากคุณทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดี “การติดตามบริษัทที่คุณสนใจอย่างใกล้ชิด และเข้าซื้อหุ้นเมื่อตลาดตกต่ำ เป็นวิธีการที่ดีที่สุด” แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ไม่ค่อยมีเวลานั้นการลงทุนเป็นประจำสม่ำเสมอ (DCA) ในกองทุนรวมก็สมเหตุสมผลที่สุด มันทำให้เราสามารถลงทุนได้ตลอดเวลาแม้ตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงตกต่ำก็ตาม
🟩การเอามือเข้าไปรับมีดที่กำลังตก เข้าซื้อหุ้นที่ราคากำลังร่วงหล่นเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในโลกความเป็นจริงสิ่งต่างๆไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดเสมอไป หากคุณตั้งใจที่จะเข้าซื้อหุ้น ณ ราคาใกล้จุดต่ำสุด ก็ต้องเอามือเข้าไปรับมีดที่กำลังตกอยู่สิครับ
หากคิดอยากเป็นนักสวนกระแส (Contrarian) การเอามือเข้าไปรับมีดในช่วงแรกจะขาดทุนแน่นอน คุณไม่จำเป็นต้องกังวลว่าราคาหุ้นจะร่วงลงต่อไปอีกหรือไม่ เพราะมันเป็นเพียงสถานการณ์ปกติที่จะต้องเกิดขึ้นเท่านั้น (และหากราคาหุ้นพุ่งขึ้นมา 20-30% ก็อย่าเพิ่งรีบขาย)
🟩มนุษย์จำเป็นต้องมีรายได้เพียงเพื่อใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย แต่เพื่อให้มีความสุขมากกว่านั้น การได้รู้สึกว่าตนเองทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่หรือ? นักลงทุนที่บริหารเพียงแต่เงินของตัวเองจะเป็นอย่างไร? อาจรู้สึกโดดเดี่ยวก็เป็นได้ ไม่ว่าเขาจะหาเงินได้มากมายเพียงใด หากตัวคนเดียวก็คงมีความสุขได้ไม่เต็มที่ การได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์นั้นสำคัญ
🌿การศึกษาหุ้นอย่างไร้เป้าหมาย จะทำให้คุณต้องกระจายพลังงานออกมากเกินไป จนการเอาชนะตลาดเป็นเรื่องยาก
🌿แม้ว่านักวิเคราะห์จะไม่ใช่ศัตรู แต่หากคุณไม่มีความสามารถเหนือพวกเขาก็คงไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ (แต่หากเป็นหุ้นขนาดเล็กล่ะ?)
🌿โลกที่ปราศจากความเสี่ยง คือโลกที่ตายแล้ว ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ ย่อมหนีความเสี่ยงไม่พ้น
🌿พรสวรรค์ด้านการลงทุนนั้นไม่มี หากมี ก็มีเพียง “เราเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองได้มากแค่ไหน?”
🌿ไม่ควรคิดและตัดสินใจไปเองว่าคนอื่นเขาคิดอย่างไรกัน? “คนอื่นคิดแบบนี้ ต้องทำแบบนี้แน่ๆ” นี่เป็นเรื่องของนักกลยุทธ์ที่ใช้กลยุทธ์มากเกินไป และสุดท้ายมักจบด้วยความล้มเหลว
🌿เราเรียกนักลงทุนที่มีอำนาจกดดันทีมผู้บริหารของบริษัทให้สะท้อนคุณค่าบางอย่างของกิจการลงไปในราคาหุ้นว่า ‘Activist’ ผมคิดว่า “นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าขั้นสุด จะต้องมีความเป็น ‘Activist’ อยู่หน่อยๆ”
🌿หากเรามุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างจริงๆ วิธีการที่ดีที่สุดคือ “ควรตัดอะไรบางอย่างทิ้งไป”
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 😊
🙏ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ ‘วิถีแห่งการลงทุนของผม บทเรียนจากเซียนหุ้นญี่ปุ่น’
🖋️ผู้เขียน : Tatsuro Kiyohara
📖ผู้แปล : พรทิพย์ สุทธิทวีสุข
🏢สำนักพิมพ์ : เอ็มพิริก้าบุ๊คส์
🌟คุณผู้อ่านที่สนใจสั่งซื้อหนังสือราคาพิเศษ ‘วิถีแห่งการลงทุนของผม บทเรียนจากเซียนหุ้นญี่ปุ่น’ สามารถเข้าไปสั่งซื้อตามช่องทางด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ
โฆษณา