25 เม.ย. เวลา 07:30 • ไลฟ์สไตล์

ลงทุนยังไงให้พอใช้ในวันข้างหน้า?

ธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS) พบคนอายุ 25-44 ปี รู้ว่าต้องลงทุน แต่เลือกลงทุนความเสี่ยงต่ำจนเสี่ยงไม่พอใช้หลังเกษียณ
ในวันที่ทุกอย่างแพงขึ้นทุกเดือน แต่รายได้ยังเท่าเดิม และภาระในชีวิตเพิ่มขึ้นแบบไม่มีปุ่ม Pause ให้กดหยุดพัก การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ “ปลอดภัย” อย่างพันธบัตร หรือไม่ลงทุนเลย ก็อาจดูสมเหตุสมผล…ในสายตาหลายคน
แต่รายงานล่าสุดจาก ธนาคาร DBS ประเทศสิงคโปร์ ทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามใหม่ว่า “เรากำลังเซฟชีวิตวันนี้…ด้วยการแลกกับความลำบากในวันหน้าอยู่หรือเปล่า?”
[ คนรุ่นใหม่กำลังลงทุน “น้อยเกินไป” และ “ปลอดภัยเกินไป” 🧐 ]
ข่าวจาก Straits Times Singapore รายงานข้อมูลจาก DBS Bank (ธนาคารดีบีเอส) วิเคราะห์พฤติกรรมการเงินของคนวัยทำงานอายุระหว่าง 25–44 ปี หรือที่เรารู้จักกันในนาม Gen Z และ Millennials
ผลคือที่ออกมา…น่ากังวลไม่น้อย เพราะ
- คนกลุ่มนี้จัดสรรเงินแค่ 15–17% ของรายได้ เพื่อการลงทุน ในขณะที่คนอายุมากกว่าลงทุนสูงถึง 30–49%
- ภายในพอร์ตการลงทุนของพวกเขา มากกว่า 52–57% อยู่ในตราสารหนี้หรือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น Treasury Bills (T-Bills), Singapore Savings Bonds, พันธบัตรรัฐบาลอื่นๆ
แม้จะฟังดูไม่แย่ เพราะอย่างน้อยก็ลงทุนแล้ว
แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่านี่คือ “การลงทุนที่อนุรักษ์นิยมเกินไป”
จนผลตอบแทนในระยะยาวอาจไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณเลย
[ จัดพอร์ตลงทุนยังไงให้เหมาะกับชีวิตจริง? 📍 ]
ก่อนจะไปดูสูตรจัดพอร์ต มาทำความเข้าใจหลักคิดง่ายๆ กันก่อนว่า
“ยิ่งอายุน้อย ยิ่งรับความเสี่ยงได้เยอะ”
หากเข้าใจเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการรับความเสี่ยง”
เราจะพบว่า ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวขึ้น = ความเสี่ยงที่รับได้มากขึ้น
ยิ่งคุณอายุยังน้อย แปลว่าคุณยังมีเวลาในการทำงานและสะสมเงินไปอีก 20–30 ปีข้างหน้า
เงินที่คุณลงทุนตั้งแต่วันนี้ (โดยเฉพาะเงินเพื่อการเกษียณ) จึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่ เสี่ยงปานกลางถึงเสี่ยงสูง ได้อย่างสบายใจ เพราะแม้มีช่วงที่ขาดทุน ก็ยังมีเวลาฟื้นคืนกลับมา
ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการ การลงทุน ได้แนะนำแนวทางการลงทุนแบบกลางๆ ในแต่ละช่วงอายุของคนไว้ดังต่อไปนี้
🔹 อายุ 21–30 ปี เป็นช่วงที่ยังไม่มีภาระมาก รับความเสี่ยงได้สูง
ควรจัดพอร์ตแบบหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นถึง 90% ที่เหลืออีก 10% อยู่ในเงินฝากหรือพันธบัตรก็พอเพราะแม้ขาดทุน ก็ยังมีเวลา “แก้เกม” ได้อีกหลายสิบปี
🔹 อายุ 31–40 ปี เริ่มมีภาระ ชีวิตต้องบาลานซ์ ในช่วงวัยนี้อาจมีภาระเพิ่มทั้งบ้าน รถ ครอบครัว ความเสี่ยงก็ต้องลดลง เขาแนะนำไว้ว่าให้ลดสัดส่วนการลงทุน ในตราสารทุนหรือหุ้นจากเดิมเป็น 50% อีก 50% เป็นตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง
🔹 อายุ 41–55 ปี เก็บให้พอ ช่วงวัยนี้มักจะเป็นช่วงที่รายได้สูง แต่เริ่มเข้าใกล้ “วัยเกษียณ” ดังนั้นต้องเพิ่มความปลอดภัยในพอร์ต เช่น 70% เงินฝาก / พันธบัตร / กองทุนรวมตราสารหนี้ 30% หุ้น หรือกองทุนรวมหุ้น
[ แล้วทำไมพวกเขาถึงกลัวความเสี่ยง? 🔥 ]
สาเหตุหลักๆ ไม่ใช่เพราะคนรุ่นใหม่ไม่รู้ ว่าหุ้นหรือ ETF มีผลตอบแทนดีกว่า แต่เพราะ “รู้มาก” ต่างหาก เช่น รู้ว่าพ่อเคยเจ๊งจากหุ้น รู้ว่าแม่เคยโดนหลอกเล่นแชร์ รู้ว่าเพื่อนเคยโดนฟันกำไรจากคริปโต และรู้ว่าชีวิตมีรายจ่ายจริงเกินกว่าจะแกล้งทำเป็นคนมีวินัยได้ทุกเดือน
คนรุ่นนี้เติบโตมากับเศรษฐกิจที่ผันผวน หนี้ครัวเรือนสูง ราคาทองไม่เคยลง และข่าวคนล้มละลายที่แชร์กันเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การเลือก “เซฟไว้ก่อน” อาจไม่ใช่ความกลัวเกินเหตุ แต่มันคือการ เอาตัวรอดในยุคที่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน
อย่างไรก็ตาม #กลัวความเสี่ยงคือกับดัก เพราะในบางช่วงวัยการไม่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเลย ก็เหมือนการว่ายน้ำในสระเด็ก ปลอดภัย…แต่ไปถึงไหน
พี่ก้อย วิวรรณ จากหนังสือ #เงินไม่ใช่ทุกอย่างแต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน เขียนไว้ว่า
“ผู้ออมเงินเพื่อการเกษียณเกินกว่าครึ่งกลัวความเสี่ยงมากจนเกินไป คือกลัวว่าเงินต้นจะหดหาย จึงนำเงินออมไปลงทุนแบบอนุรักษนิยม โดยอาจนำไปฝากธนาคาร ซื้อสลากออมสิน กองทุนตรงสารหนี้ ซึ่งในปัจจุบันให้ผลตอบแทนประมาณ 0.5 - 4% เรียกว่าแทบจะไม่ชนะเงินเฟ้อเลย”
โดยเฉพาะเป้าหมายระยะยาวอย่าง “เงินเกษียณ” 👵
aomMONEY ของเราเคยนำเสนอสูตร หลังเกษียณจะใช้เงินเท่าไหร่?
โดยแนะนำว่าให้เริ่มคำนวณจาก
ค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเกษียณ x จำนวนปีที่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ
เช่น ระยะเวลาหลังเกษียณอายุของ A อยู่ที่ (80-40) = 40 ปี
ซึ่ง A มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 25,000 บาท
ใน 1 ปี A จะมีค่าใช้จ่าย (25,000 X 12) = 300,000 บาท
ดังนั้น A ควรจะมีเงินหลังเกษียณอยู่ที่ (300,000 X 40) = 12,000,000 บาท *
ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้คิดตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ปกติจะเฟ้ออยู่ที่ราวๆ 2 - 3% ต่อปี
(ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.23 ในขณะที่เดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 2.17%)
หรือใครอยากเกษียณแบบไปใช้ชีวิต เช่น ได้เที่ยวได้บ้าง กินอาหารดีๆ บ้าง ก็อาจจะต้องใช้เงินมากกว่า 25,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแปลว่าจำนวนเงินที่ต้องมีมากกว่า 12 ล้าน ไปอีก 🥹
ฟังดูเป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหม? แต่ความจริงคือ… มันเป็นไปได้ ถ้าคุณเริ่มลงทุน ตั้งแต่ตอนนี้ แม้จะเริ่มด้วยเงินหลักร้อย หลักพันก็ตาม
[ แล้วจะเริ่มยังไงในวันที่ยังไม่พร้อม? 🔍 ]
คุณไม่จำเป็นต้องพร้อม 100% ถึงจะเริ่มได้
แต่คุณต้องเริ่มก่อน…ถึงจะมีโอกาส “พร้อม” จริงๆ สักวัน
ลองคิดง่ายๆ ว่า สมมติตอนนี้คุณอายุ 22 ปี
- ถ้าเริ่มออมเงินเพื่อนำไปลงทุนวันละ 50 บาท = เดือนละ 1,500 ปีนึงคุณมีเงินลงทุน 18,000 บาท
- ถ้าเก็บเฉยๆ ผ่านไป 10 ปี คุณก็จะมีเงินแค่ 180,000 บาท
แต่ถ้าเงินก้อนนี้ถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้นที่มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 6–8% เป็นระยะเวลา 10 ปี จะเท่ากับว่า ในตอนที่คุณอายุ 32 ปี
ถ้าลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี 👉 จะมีเงินประมาณ 232,000 บาท
(มากกว่าออมเฉยๆ ถึง 52,00 บาท)
ถ้าลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี 👉 จะมีเงินประมาณ 262,000 บาท
(มากกว่าออมเฉยๆ ถึง 82,00 บาท)
พอมีเงินก้อนตรงนี้คุณก็สามารถที่จะเอาไปลงทุนเพิ่มเติม หรือจะเก็บไปลงทุนในการทำธุรกิจ ลงทุนหุ้นปันผล เพื่อเพิ่มรายได้ประจำเดือนหลังเกษียณก็ได้
วิธีเดียวที่จะได้เห็นพลังของ “เวลา + ดอกเบี้ยทบต้น” ก็คือการเริ่มศึกษาการลงทุน และเริ่มต้นลงทุนให้ไว
🔚 สรุป: การลงทุนไม่ใช่ความกล้า มันคือ “การรักตัวเองในเวอร์ชั่นที่โตขึ้น” ไม่ต้องรอให้พร้อม ไม่ต้องเป็นเซียน ไม่ต้องเริ่มใหญ่ แค่เริ่มตอนนี้ ค่อยจัดสรร ค่อยๆ ลงทุน เพราะยิ่งเริ่มไวคุณก็มีเวลามากขึ้น
“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินในลงทุน”
#aomMONEY #การเงิน #การลงทุน #การเงินส่วนบุคคล
โฆษณา