26 เม.ย. เวลา 09:00 • ข่าวรอบโลก

นักวิทย์พบ “หลุมดำโดดเดี่ยว” แห่งแรกในทางช้างเผือก

นักวิทยาศาสตร์ยืนยันการมีอยู่ของ “หลุมดำโดดเดี่ยว” แห่งแรกในกาแล็กซีทางช้างเผือก
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ระบุว่า จากการสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล นักวิจัยสามารถระบุการมีอยู่ของ "หลุมดำโดดเดี่ยว" (Lone Blcak Hole) ซึ่งหมายถึงหลุมดำที่ไม่มีดาวฤกษ์โคจรรอบ ได้แล้ว
โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 ไกรลาส ซาฮู นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ของสหรัฐฯ และทีมวิจัย ได้ค้นพบ "วัตถุมืด" ที่คาดว่าเป็นหลุมดำ เคลื่อนที่ไปมาในกลุ่มดาวธนู (Sagittarius)
นักวิทย์พบหลุมดำโดดเดี่ยวแห่งแรกในทางช้างเผือก
อย่างไรก็ตาม ผลการค้นพบของพวกเขาในเวลานั้น ยังถูกโต้แย้งโดยนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่ง ที่อ้างว่าวัตถุดังกล่าวเป็น "ดาวนิวตรอน"
หลังจากนั้น ทีมวิจัยยังคงศึกษาเกี่ยวกับวัตถุมืดนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลและยานสำรวจอวกาศไกอา และพบหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า "วัตถุนั้นน่าจะเป็นหลุมดำโดดเดี่ยว"
ที่น่าสังเกตคือ หลุมดำทั้งหมดที่นักวิทยาศาสตร์เคยค้นพบ ล้วนมีดาวฤกษ์โคจรรอบหลุมดำ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุตำแหน่งหลุมดำได้โดยดูจากแสงของดาวฤกษ์
อย่างไรก็ตาม ซาฮูและทีมวิจัยสังเกตเห็นหลุมดำนี้ หลังจากที่มันเคลื่อนที่ผ่านดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลออกไป ทำให้แสงของหลุมดำขยายใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปชั่วขณะ
วัตถุมืดที่พวกเขาค้นพบนี้ มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 7 เท่า ซึ่งบ่งชี้ว่ามันไม่น่าจะใช่ดาวนิวตรอน
หลุมดำโดดเดี่ยวนี้อยู่ห่างจากโลก 5,000 ปีแสง ซึ่งอยู่ใกล้กว่าหลุมดำมวลยิ่งยวด อย่างหลุมดำ “ซาจิทาเรียส เอ สตาร์” (Sagittarius A*) ซึ่งอยู่ใจกลางทางช้างเผือก ที่ห่างจากโลกไป 27,000 ปีแสง
จากการค้นพบดังกล่าว ซาฮูและทีมวิจัย หวังว่าพวกเขาจะค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมโดยใช้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศแนนซี เกรซ โรมัน ซึ่งมีกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 2027
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/news/247417
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา