25 เม.ย. เวลา 11:33 • บันเทิง

“ยกประโยชน์แห่งความสงสัย..” repost

มีเพื่อนสอบถามมาเรื่องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย..
วันนี้จะมาเล่าให้ฟังคร่าวๆ..
1. คดีอาญากับคดีแพ่งนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งทฤษฎี แนวคิด วิธีการ ผลที่ได้ และบทบาทของศาล..
คดีแพ่งเป็นเรื่อง การจัดการผลประโยชน์ให้ลงตัว.. ไม่ให้คู่ความได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยยึดกฎหมายแพ่งเป็นกติกา..
การแพ้ชนะ ก็เอาพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายมาเทียบเคียงกัน..
แล้วดูว่า พยานหลักฐานของใครดีกว่า.. น่าเชื่อกว่า.. มีน้ำหนักมากกว่ากัน.. ไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของสังคม.. เรียกว่า Preponderance of Evidence..
พูดง่ายๆ คือ ดูความน่าจะเป็น (probability).. ว่า ใครเป็นฝ่ายถูก.. ไม่ต้องชนะขาด ขนาดชัดเจนก็ได้..
แต่คดีอาญา เป็นเรื่องประโยชน์ของสังคม ของรัฐ.. คือความสงบและความเป็นระเบียบ.. ไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของเอกชนคนใดแบบกฎหมายแพ่ง..
โทษทางอาญาก็มีประหารชีวิต จำคุก ปรับ.. มีความร้ายแรงกว่าคดีแพ่งมาก..
การชี้ขาดให้ใครแพ้ชนะ.. การจะลงโทษจำเลยได้.. จะใช้เกณฑ์ความน่าจะเป็นแบบคดีแพ่งไม่ได้.. เพราะถ้าผิดพลาดไป จะเกิดผลเสียหายมาก..
คดีอาญา จึงใช้เกณฑ์ว่า ศาลต้องมั่นใจโดยไม่สงสัยว่า จำเลยกระทำผิดจริง จึงจะลงโทษตามฟ้องได้.. เรียกว่า Beyond Reasonable Doubt..
2. คดีอาญาในระบบไต่สวน (Inquisitorial) ของฝรั่งเศษ เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน รัสเซีย สวิส อิตาลี ลาว และกัมพูชานั้น..
ศาลมีหน้าที่ค้นหาความจริง และสืบพยาน.. ศาลเรียกพยาน หาพยาน ถามพยานเองได้..
ส่วนคดีอาญาในระบบกล่าวหา (Accusitorial System) ของศาลไทยนั้น.. การค้นหาความจริง การนำพยานมาศาลไม่ใช่หน้าที่ศาล..
แต่เป็นหน้าที่คู่ความ คือ โจทก์ (พนักงานอัยการ) มีหน้าที่ต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่า เกิดความผิดตามฟ้องจริง และจำเลยเป็นคนร้ายตัวจริง..
จำเลยจะให้การรับสารภาพ จะให้การปฏิเสธ หรือไม่ให้การเลยก็ได้.. โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นำสืบอยู่.. เว้นแต่คดีมีโทษเล็กน้อย..
เมื่อโจทก์สืบพยานหมดแล้ว จำเลยก็มีสิทธิเอาพยานมาสืบในศาล..
3. ในคดีแพ่ง เวลาศาลจะตัดสิน จะชั่งน้ำหนักพยานของโจทก์และจำเลยมาเทียบกันว่า ใครมีน้ำหนักมากกว่า..
แต่ในคดีอาญา เวลาศาลจะตัดสิน ต้องวินิจฉัยพยานของฝ่ายโจทก์ก่อน..
ถ้าโจทก์ไม่เอาพยานมาสืบ หรือพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง.. ศาลจะพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ต้องให้จำเลยสืบพยานเลยก็ได้..
แต่ถ้าโจทก์สืบพยานมีน้ำหนักพอรับฟังได้แล้ว ต้องให้โอกาสจำเลยนำสืบพยานมาหักล้างพยานของโจทก์ก่อน จึงจะตัดสินคดีได้..
ศาลจะพิพากษาลงโทษ โดยไม่ให้โอกาสจำเลยสืบพยานเลยไม่ได้..
4. คำพิพากษายกฟ้อง.. คือ จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง ให้ปล่อยจำเลยเป็นอิสระนั้น มีหลายประเภท ดังนี้..
1) ยกฟ้องขาด.. หมายถึง ฟังไม่ได้อย่างเด็ดขาดว่า จำเลยมีความผิด..
เพราะโจทก์ไม่สืบเลย.. หรือสืบ แต่ไม่สม ไม่ตรงตามฟ้อง.. หรือสืบ แต่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้อง..
ศาลจะพิพากษายกฟ้อง เพราะโจทก์มีหน้าที่นำสืบตามกฎหมาย แต่ไม่ทำหน้าที่..
เช่น โจทก์ไม่นำพยานประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์มานำสืบ ทั้งที่เป็นพยานสำคัญ.. โจทก์ไม่มีพยานมายืนยันว่า ความผิดตามฟ้องเกิดขึ้นและจำเลยเป็นผู้กระทำผิด..
2) ยกฟ้องเพราะเหตุสงสัยตามสมควร (ปวิอ มาตรา 227 วรรคสอง)..
หมายถึง กรณีที่โจทก์สืบสมตรงตามคำฟ้อง.. สืบครบองค์ประกอบความผิด.. สืบพยานที่พอรับฟัง พอมีน้ำหนักให้ลงโทษจำเลยอยู่บ้างแล้ว..
แต่ความน่าเชื่อถือยังไม่มากพอ ที่จะรับฟังได้อย่างแน่แท้ถึงขนาดศาลปราศจากสงสัย..
ถ้าศาลไม่เรียกพยานมานำสืบให้ได้ความชัดเจนในบางเรื่องบางประเด็น.. ทำให้ประเด็นนั้นยังคลุมเครือว่า เกิดความผิดตามฟ้องจริงมั้ย หรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงมั้ย..
กฎหมายจึงบัญญัติว่า หากพยานหลักฐานไม่มั่นคง ยังมีความสงสัยตามสมควร.. ก็ให้อำนาจศาลวินิจฉัยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง ปล่อยจำเลยไปได้..
เรื่องนี้ มีข้อสังเกต 3 ประการ..
1. ข้อบกพร่อง ข้อพิรุธที่ศาลจะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยว่า เป็นความสงสัยถึงขนาดยกฟ้องได้นั้น..
ต้องเป็นข้อพิรุธในประเด็นสำคัญ หรือที่มีน้ำหนักมากพอ จนทำให้ศาลไม่แน่ใจว่าเกิดความผิด หรือจำเลยกระทำผิดจริงมั้ย..
ไม่ใช่ข้อพิรุธในพลความ หรือข้อพิรุธที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ..
เช่น พยานโจทก์หลายคนเบิกความแตกต่างกันในเรื่องเดียวกัน แต่เรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญในคดี..
แบบนี้ ศาลจะยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า เป็นข้อพิรุธน่าสงสัย และยกประโยชน์ให้จำเลยไม่ได้..
2. ข้อบกพร่อง ข้อพิรุธที่ชวนให้ศาลสงสัยนั้น อาจเกิดจากพยานหลักฐานของโจทก์เองที่นำสืบยังไม่แน่น ยังไม่ชัดเจนพอ..
เช่น มีประจักษณ์พยานมาเบิกความว่า เห็นจำเลยเป็นคนร้าย แต่พยานคนนี้เคยยืนยันในชั้นสอบสวนมาก่อนว่า พยานไม่เห็นคนร้าย..
หรือนำสืบว่า มีสายลับล่อซื้อยาเสพติด แต่โจทก์ไม่นำสายลับมาเบิกความ หรือไม่มียาเสพติด หรือไม่มีเงินล่อซื้อมาแสดงให้ศาลเชื่อ..
3. พยานหลักฐานของโจทก์หนักแน่นดีแล้ว.. แต่พยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบหักล้าง มีน้ำหนักน่าเชื่อพอที่จะลดทอนความน่าเชื่อของพยานโจทก์ลง ..
ทำให้ศาลไม่แน่ใจว่า เกิดความผิดจริง หรือจำเลยเป็นคนร้ายจริงหรือไม่..
เช่น ประจักษ์พยานโจทก์ยืนยันน่าเชื่อว่า จำเลยกระทำผิดที่กรุงเทพ แต่จำเลยมีหลักฐานน่าเชื่อพอกันว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยอยู่ต่างจังหวัด..
หรือ ประจักษณ์พยานเป็นผู้เสียหาย รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุโกรธเคือง ขณะถูกข่มขืน เห็นจำเลยชัดเจน..
แต่ผลการตรวจ DNA ที่น่าเชื่อในขณะนั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่สารคัดหลั่งของจำเลย..
กรณีนี้ ศาลก็ยกฟ้องด้วยเหตุสงสัยได้เช่นกัน..
“ถ้าพยานโจทก์ไม่มี หรือมีน้ำหนักน้อย.. ยกฟ้องขาด..
ถ้าพยานโจทก์มีน้ำหนักมาก แต่พยานจำเลยหักล้างได้ชัดเจนในประเด็นสำคัญ.. ก็ยกขาด..
แต่ถ้าพยานโจทก์มีน้ำหนักมาก พยานจำเลยหักล้างได้บ้าง.. ทำให้สงสัยยกฟ้องด้วยเหตุสงสัยได้..”
หวังว่า หลายท่าน โดยเฉพาะน้องๆ นักศึกษากฎหมายใหม่ คงได้ประโยชน์บ้างนะครับ..
โฆษณา