26 เม.ย. เวลา 12:00 • ธุรกิจ

ราคาทองคำพุ่ง ทำให้ดูไบ “นครแห่งทองคำ” ขายทองได้ยากขึ้น แต่ที่ไทย ยังขายดี

เมื่อไม่นานมานี้ ราคาทองคำได้พุ่งแตะ 3,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในขณะเดียวกัน เหล่าบรรดาร้านค้าทองคำในตลาดค้าทองชื่อดังอย่าง Gold Souk ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานที่ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “นครแห่งทองคำ” ต่างออกมาพูดถึงผลกระทบที่ได้รับ จากเหตุการณ์ทองคำพุ่งว่า
แม้ว่าราคาทองคำ จะเพิ่มขึ้น 27% ในปีที่แล้ว
แต่ยอดขายทองรูปพรรณ ลดลงกว่า 13% ซึ่งลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 11% ซึ่งเดิมที เคยได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวอินเดีย และอิหร่าน ที่มักจะซื้อทองรูปพรรณ เพื่อใส่ในงานแต่งงาน และงานพิธีต่าง ๆ แต่มาวันนี้กลับเป็นสินค้าที่ขายยากขึ้น
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ยอดขายทองรูปพรรณในประเทศไทย กลับยังคงแข็งแรง ด้วยการปรับตัวลดลงเพียงแค่ 2% เท่านั้น
ทำไมยอดขายระหว่างไทยกับดูไบ ถึงลดลงแตกต่างกัน ?
พฤติกรรมการซื้อทองคำของทั้ง 2 ประเทศ เหมือนกันหรือไม่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น มารู้จักกับประเภทของทองคำที่เป็นที่นิยมมากที่สุดกันก่อน
ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “ทองคำแท่ง” และ “ทองรูปพรรณ”
ทองคำแท่ง ทำมาจากทองคำบริสุทธิ์ 96.5% หรือ 99.99% ลักษณะจะเป็นแผ่นหรือแท่งทอง มีขนาดแตกต่างกัน ไม่ได้มีลวดลายสวยงามที่จะเอาไปเป็นเครื่องประดับหรือเอาไว้สวมใส่
ปกติจะนิยมซื้อไว้เพื่อลงทุนระยะยาวเป็นหลัก เพราะค่ากำเหน็จต่ำ หรือไม่มีค่ากำเหน็จเลย ทำให้เวลาขายคืน จะได้ราคาที่เต็มกว่า
ทองรูปพรรณ ส่วนมากทำมาจากทอง 96.5% มักจะเอามาทำเป็น สร้อยคอ กำไล แหวน มีลวดลายสวยงาม เหมาะกับการเป็นเครื่องประดับเอาไว้สวมใส่
แต่การซื้อ จะมีค่ากำเหน็จเพิ่มเติมจากการออกแบบ มากน้อยแล้วแต่ลวดลาย
ปกติจะนิยมซื้อมาไว้สวมใส่เพื่อความสวยงาม เพราะหากขายคืน อาจได้ราคาน้อยกว่าทองคำแท่ง เพราะจะเสียค่ากำเหน็จที่มากกว่า นั่นเอง
แล้วทำไมราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น แต่ยอดขายทองรูปพรรณในดูไบ กลับลดลง ?
จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ความตึงเครียดทางการค้าอย่าง จีน-สหรัฐฯ ที่ทำให้ผู้คนต่างเริ่มหวั่นไหว และวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยกันมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ทองคำ
ทำให้กระแสเงินลงทุน ไหลมายังทองคำ จากการที่นักลงทุนต่างมองเห็นถึงความเสี่ยงในตลาดหุ้น
และก็เป็นสาเหตุที่ช่วงนี้ ราคาทองคำพุ่งจนทำ New High อยู่เรื่อย ๆ
แต่ทองรูปพรรณที่ดูไบ กลับมียอดขายที่ลดลง เพราะด้วยราคาทองที่แพงขึ้น ทำให้ถูกมองว่า กลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะคนที่นิยมซื้อทองรูปพรรณมาเพื่อสวมใส่ ไม่ได้ซื้อมาเพื่อเก็งกำไร การที่จะควักเงินเพื่อจ่ายในราคานี้ ถือว่าแพงมากเกินไป
ทำให้ผู้คนต่างเริ่มชะลอการซื้อ หรือเริ่มหันไปสนใจซื้อเครื่องประดับที่มีน้ำหนักเบา หรือเพชรแทน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มองหาเครื่องประดับที่มีดิไซน์ทันสมัย น้ำหนักเบา และราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น
ทีนี้ เราลองเปลี่ยนมาดูความนิยมทองคำ ในประเทศไทย ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ?
ภาพรวมประเทศไทย ยังเป็นตลาดทองคำที่ใหญ่อันดับ 7 ของโลก โดยในปี 2024 มีปริมาณความต้องการรวมทั้งปีอยู่ที่ 39.8 ตัน เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้า
1
ซึ่งปริมาณ 39.8 ตัน เยอะขนาดไหน ก็ลองนึกภาพตามดูว่า เราเข้าฟิตเนส มองไปที่ดัมเบล 10 กิโลกรัมที่วางรวมกันอยู่ 3,980 ลูก
ปัจจัยที่ทำให้ภาพรวมตลาดทองคำของเรายังแข็งแรงนั้นคือ ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำ เพื่อการลงทุน
1
ส่วนทองรูปพรรณ มีความต้องการหดตัวลง แต่หดตัวเล็กน้อยเพียง 2%
1
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างกลุ่มเครื่องประดับ ประกอบกับราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยพฤติกรรมการซื้อทองรูปพรรณของคนไทย ที่ยังคงนิยมซื้อทองรูปพรรณในช่วงโอกาสพิเศษต่าง ๆ เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น งานมงคล, ของขวัญวันสำคัญ, การเก็บเป็นมรดก
หรือลงทุนในระยะยาว โดยมุมมองของคนไทยที่มีต่อ “ทองคำรูปพรรณ” นั้นมองว่าไม่ได้เป็นแค่เครื่องประดับ แต่ถือว่าเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย มีมูลค่าคงที่ในระยะยาว สามารถส่งต่อให้ลูกหลานได้
1
ที่สำคัญยังเป็นค่านิยมทางสังคม ที่สะท้อนสถานะทางสังคมอีกด้วย อย่างการมอบทองให้ในงานแต่งงาน มอบเป็นของขวัญรับขวัญลูกหลาน หรือมอบให้ในเทศกาลต่าง ๆ
1
ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้ซื้อทองรูปพรรณในดูไบอย่างสิ้นเชิง ที่มองแค่ว่าเป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง
เมื่อราคาทองคำแพงขึ้น กลุ่มคนซื้อในดูไบ เลยชะลอการซื้อ หรือเปลี่ยนไปซื้อสินค้าอื่นแทน
ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อทองรูปพรรณในไทย จะมีความหลากหลายมากกว่า และยังมีกลุ่มที่ซื้อทองสะสม เพราะไม่ได้มองว่าเป็นแค่เครื่องประดับเท่านั้น ทำให้ยังคงมีการซื้อขายทองรูปพรรณอยู่ ถึงแม้ว่าราคาทองคำ จะสูงขึ้นมากแล้วก็ตาม
ความต้องการในทองรูปพรรณของไทย เลยไม่ได้หดตัวมากเท่าที่ดูไบ
1
ซึ่งแนวโน้มทองคำในอนาคต
การลงทุนซื้อทองคำแท่ง ก็ยังคงนิยมเหมือนเดิม ถ้าผู้คนยังเชื่อว่า เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงเศรษฐกิจผันผวน
1
แต่ทองรูปพรรณในบางประเทศ อาจจะมีกำลังซื้อลดลง เพราะราคาทองที่แพง
ดังนั้นการปรับกลยุทธ์ ที่จะทำให้ทองรูปพรรณ กลับมามีมูลค่าชวนให้น่าซื้อเหมือนเดิมนั้น อาจจะต้องปรับให้เข้ากับพฤติกรรมผู้ซื้อในอนาคต เช่น การดิไซน์ทองรูปพรรณให้มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร
หรือนำไปประกอบกับสินค้าที่ใช้ทองคำเป็นส่วนประกอบ เช่น แว่นตากรอบแว่นเคลือบทอง, เคสมือถือหุ้มทองคำ, เชิงเทียน, ช้อนส้อมทอง ที่เราเห็นในเอ็มวีของศิลปินแนวฮิปฮอป K-pop เป็นต้น
ถึงแม้สถานการณ์ราคาทองคำที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องประดับทองคำในบางประเทศ ทำให้ยอดขายลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แหล่งขายเครื่องประดับทองคำ ที่คึกคักเป็นอย่างมาก
ส่วนในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบด้านราคาทองที่สูงขึ้นเช่นกัน แต่การซื้อทองคำในไทย ยังคงเป็นที่นิยม เนื่องจากทองคำไม่ได้ถูกมองว่าเป็นแค่เครื่องประดับ แต่ยังสามารถลงทุนในระยะยาวเพื่อความปลอดภัย และสะท้อนถึงสถานะทางสังคม
1
ขณะที่ในภาคธุรกิจร้านค้าทองคำ อาจจะต้องมีการปรับตัว เพื่อรักษาความนิยมของผู้บริโภค ไม่ให้เปลี่ยนไปซื้อสินค้าอื่นแทน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทองคำ ที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป..
โฆษณา