26 เม.ย. เวลา 05:29 • ความงาม

เรื่องเล็กๆแต่มีคุณค่าสร้างสรรค์โลกให้ดีขึ้น

------------------------
    ครั้งหนึ่งนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะคนหนึ่งของโลก พอล แอร์ดิช (Paul Erdős) ได้ยินว่าลูกศิษย์คนหนึ่งไม่สามารถเรียนต่อที่ฮาร์วาร์ดได้ เพราะขาดเงิน เขาจึงมอบเงินให้ลูกศิษย์เรียนต่อจนจบ หลายปีต่อมาลูกศิษย์คนนั้นกลับมาหาอาจารย์และคืนเงินที่อาจารย์ให้ยืม อาจารย์ตอบว่า“คุณเอาเงินนี้ไปให้นักศึกษาคนอื่นที่ต้องการใช้เงิน ให้เขาใช้เรียนต่อ”
เคยไหมที่เรายื่นหนังสือที่อ่านแล้วให้คนแปลกหน้า เขาบอกว่า “แล้วผมจะคืนคุณยังไง?”
“ก็ส่งต่อให้คนอื่นอ่านก็แล้วกัน”
เคยไหมที่เมื่อการจราจรติดขัด รถคันหนึ่งยอมเปิดทางรถให้เรา เรารู้สึกดีจนเมื่อมีรถคันอื่นขอทางบ้าง เราก็เปิดทางให้รถอีกคันหนึ่ง
เหล่านี้ดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ เหมือนหยดน้ำใสหยดเล็กที่ไม่มีพลังอำนาจใด แต่เมื่อรวมกัน ด้วยจำนวนคนที่ส่งต่อหยดน้ำใสมากพอและนานพอ หยดน้ำใสก็สามารถเปลี่ยนบ่อน้ำครำทั้งบ่อเป็นน้ำใสได้
สังคมเราโอบรับความเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกที มากจนสำลัก คนส่วนใหญ่ไม่คิดจะทำดีเพื่อคนอื่นหากไม่ได้รับสิ่งตอบแทน และมองว่าการให้คนอื่นเป็น ‘ความโง่’
นี่คือแนวคิดที่เรียกว่า pay it forward
pay it forward เป็นสำนวน หมายถึงการตอบแทนบุญคุณที่ได้รับจากใครคนหนึ่งให้คนอื่นแทน
นี่มิใช่แนวคิดใหม่ เชื่อว่ามันเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ และมีนักคิดนักเขียนไม่น้อยเขียนแนวคิดนี้ มันเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างสรรค์โลกให้ดีขึ้น
นักเขียนผู้เริ่มใช้วลี Pay It Forward คนแรกคือ Lily Hardy Hammond ในหนังสือเรื่อง In the Garden of Delight ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1916 ท่อนหนึ่งในหนังสือเขียนว่า “You don’t pay love back; you pay it forward.”
จากหนังสือ "1 เปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้"
วินทร์ เลียววาริณ
โฆษณา