กะเรกะร่อน ออกช่ออวดนักท่องเที่ยว ที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน

กะเรกะร่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbidium aloifolium (L.) Sw. จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เอื้องปากเป็ด (เชียงใหม่), เอื้องด้ามข้าว (ลำปาง), กล้วยหางไหล (ชุมพร), กาเรการ่อน (ภาคกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของกะเรกะร่อน ต้นกะเรกะร่อน มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้อื่น ๆ ลำต้นมีขนาดสั้น เกาะรวมกันเป็นกระจุกแน่น ต้นมีรากออกเป็นเส้นแข็งชี้ขึ้นไปในอากาศ สามารถพบได้ตามป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบ ตามที่โล่งแจ้งมีแสงแดดจัด ในระดับหลายความสูง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ
ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนเว้าเล็กน้อย โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะหนาแข็ง หลังใบและท้องใบเรียบ
ดอกกะเรกะร่อน ออกดอกเป็นช่อสายห้อยลง โดยจะออกที่โคนต้น มีช่อดอกประมาณ 1-2 ช่อ ในช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสั้นสีเหลืองมีลักษณะเป็นรูปแถบ มีแถบสีม่วงหรือสีน้ำตาลอมแดงขอบขาว ส่วนกลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปแถบ โดยกลีบดอกจะแคบและสั้นกว่ากลีบเลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้มีสีเหลือง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
ข้อมูล : Medthai, ข่าวสด, เทคโนโลยีชาวบ้าน
📹 : อุทยานแห่งชาติคลองลาน - Khlong Lan National Park จังหวัดกำแพงเพชร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)
#กะเรกะร่อน #กล้วยไม้ #อุทยานแห่งชาติคลองลาน #กำแพงเพชร #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา