28 เม.ย. เวลา 08:00 • ท่องเที่ยว
เซี่ยงไฮ

วางแผนและเตรียมตัวไปเซี่ยงไฮ้ด้วยตัวเองครั้งแรก

ทำไมถึงเลือกเซี่ยงไฮ้?
ตอนที่เริ่มวางแผนทริปนี้ จริง ๆ มีหลายเมืองที่อยู่ในใจ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน แต่สุดท้ายเซี่ยงไฮ้กลับเป็นชื่อที่เด้งขึ้นมาในหัวแบบไม่ต้องคิดนาน เพราะรู้สึกว่า...อยากไปเห็น "มหานครแห่งอนาคต" ด้วยตาตัวเองสักครั้ง
เซี่ยงไฮ้ในภาพจำของผมคือเมืองที่ผสมผสานระหว่างความล้ำสมัยของตึกระฟ้า กับเสน่ห์แบบจีนเก่า ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ มันดูน่าค้นหา เหมือนมีหลายมิติในเมืองเดียว ไม่ได้มีแค่แลนด์มาร์คสวย ๆ แต่ยังมีตรอกซอกซอยที่มีชีวิต มีวัฒนธรรม และมีอะไรให้เดินสำรวจได้ทั้งวันแบบไม่เบื่อ
อีกอย่างคือ ผมอยากลองเดินทางไปจีนด้วยตัวเองสักครั้ง เพราะได้ยินมาทั้งเรื่องดีและเรื่องท้าทาย การไปเซี่ยงไฮ้ครั้งนี้เลยเหมือนเป็นการ "เปิดประสบการณ์" ว่าเราจะปรับตัวได้ยังไงกับเมืองที่มีภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แตกต่างจากที่เราคุ้นเคย
และที่สำคัญ เซี่ยงไฮ้เดินทางง่าย เมืองทันสมัย ระบบขนส่งดี ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่ เลยคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวจีนแบบจริงจัง
สรุปง่าย ๆ ว่า เซี่ยงไฮ้ = เที่ยวง่าย + เมืองสวย + วัฒนธรรมแน่น + มีสีสันตลอดทริป
ความคาดหวังหรือความรู้สึกก่อนเดินทาง
ก่อนเดินทาง ความรู้สึกผมมีทั้งตื่นเต้นและกังวลไปพร้อมกัน
ตื่นเต้น...เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ได้ไปจีน และเซี่ยงไฮ้ก็คือหนึ่งในเมืองที่มีอะไรใหม่ ๆ รออยู่เต็มไปหมด ทั้งตึกสูงระฟ้าที่เห็นในรูปมาตลอด ถนนนานกิงที่คึกคัก รวมถึงย่านเก่า ๆ อย่างเมืองโบราณที่อยากไปเดินดูด้วยตัวเอง ไม่ต้องดูจากรีวิวของคนอื่นอีกต่อไป
แต่ในขณะเดียวกันก็แอบกังวลเล็ก ๆ เพราะได้ยินมาว่าภาษาจีนสำเนียงเซี่ยงไฮ้ฟังยาก คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ
ระบบชำระเงินใช้แต่ QR code (ซึ่งเราไม่เคยใช้มาก่อนในจีน)
อินเทอร์เน็ตบางอย่างก็อาจใช้งานไม่ได้ตามปกติ เช่น Google, Facebook, Line
เลยแอบคิดในใจว่า "ทริปนี้เราจะรอดไหมนะ?"
แต่ก็เตือนตัวเองว่า นี่แหละคือเสน่ห์ของการเดินทาง
การได้ออกไปเจออะไรที่ไม่เคยเจอมาก่อน ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้ลองใช้ชีวิตในแบบที่ต่างจากที่บ้าน
สุดท้ายเลยปรับความคาดหวังใหม่ ไม่ตั้งเป้าให้ทริปสมบูรณ์แบบ แต่ตั้งใจไปเปิดใจรับประสบการณ์ให้มากที่สุด สนุกกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดีหรือไม่ก็ตาม
วางแผนการเดินทาง
การหาข้อมูล
พอเริ่มคิดจริงจังว่า “เอาวะ ไปเซี่ยงไฮ้” สิ่งแรกที่ทำเลยคือ...เปิด Google
ผมเริ่มจากค้นคำง่าย ๆ อย่าง “เที่ยวเซี่ยงไฮ้ครั้งแรกต้องไปไหนบ้าง” หรือ “Shanghai travel guide” ซึ่งบอกเลยว่าข้อมูลเยอะมาก! แต่ก็ต้องค่อย ๆ คัด เพราะบางเว็บก็เก่าแล้ว บางเว็บก็ไม่ละเอียดพอสำหรับคนที่ไม่เคยไปเลยแบบผม
สิ่งที่ผมใช้ในการหาข้อมูลมีหลายแหล่งครับ เช่น:
YouTube: คลิปรีวิวเที่ยวเซี่ยงไฮ้แบบ 3 วัน 4 วัน 5 วัน มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ที่ช่วยให้เห็นภาพจริงว่าบรรยากาศเป็นยังไง ต้องเผื่อเวลากี่นาทีแต่ละสถานที่ ควรนั่งรถไฟสายไหน ฯลฯ
ช่องที่ชอบ: GoWentGo, เที่ยวจีนไม่ง้อทัวร์, และบางช่องฝรั่งที่เดินทางแบบ budget traveler
Blockdit / Pantip: อ่านรีวิวประสบการณ์ของคนที่ไปมาแล้ว รู้เลยว่าอะไรที่ควรเตรียมพร้อม อะไรที่ไม่เหมือนในรีวิวทั่วไป
ที่ชอบมากคือรีวิวที่เล่าพร้อมงบ เพราะมันช่วยวางแผนเรื่องเงินได้ง่ายขึ้น
Google Maps: ใช้ดูโลเคชันของแต่ละสถานที่ ว่ามันอยู่ห่างกันแค่ไหน ถ้าเที่ยวแบบวางแผนวันละโซน จะจัดยังไงให้คุ้มที่สุด
เว็บไซต์การท่องเที่ยวทางการ: เช่น VisitShanghai หรือเว็บของสถานที่ท่องเที่ยวโดยตรง พวกนี้จะบอกเวลาทำการและค่าตั๋วที่อัปเดตสุด
หนังสือท่องเที่ยวจีน/เซี่ยงไฮ้: แม้ยุคนี้จะไม่ค่อยมีใครเปิดหนังสือแล้ว แต่ผมยังชอบซื้อพ็อกเก็ตบุ๊กพกไว้ เพราะอ่านง่ายตอนอยู่บนเครื่องบินหรือเวลาที่ไม่มีเน็ต
สรุปง่าย ๆ ว่าการหาข้อมูลเที่ยวเซี่ยงไฮ้ไม่ยากเลย แต่ถ้าอยากให้ทริปไหลลื่น ไม่สะดุด ต้องหาข้อมูลให้ละเอียดตั้งแต่ที่พัก การเดินทางในเมือง ไปจนถึงวิธีสั่งอาหารแบบไม่มีภาษาอังกฤษ!
การวางแผนเรื่องระยะเวลา
ทริปนี้ผมมีเวลาไม่มากนัก เพราะวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมามีแค่ 15 ถึง 20 เมษายน รวมแล้วก็แค่ 6 วัน (ถ้านับวันเดินทางไป-กลับด้วย ก็คือเหลือวันเที่ยวจริงไม่ถึง 4 วันเต็ม)
ตอนแรกก็แอบลังเลว่าจะไปดีไหม เพราะรู้ว่าเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองใหญ่ เที่ยวทีเดียวคงเก็บไม่หมดแน่ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจว่า “ไปแค่ไหนก็เอาแค่นั้น” เพราะถึงไม่ได้เก็บครบทุกที่ อย่างน้อยก็ได้ไปเปิดโลกในเมืองที่อยากเห็นมานาน
ผมเลือกวางแผนแบบ กระชับแต่ไม่รีบเร่ง
15 เม.ย. เดินทางออกจากไทย (ไฟลต์ดึก ไปถึงเช้า)
16–18 เม.ย. เที่ยวเต็มวันในเซี่ยงไฮ้ แบ่งโซนให้ชัด วันละย่าน เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปกับการเดินทางมากเกิน
19 เม.ย. วันสุดท้าย เลือกเที่ยวเบา ๆ เดินชิลแถวที่พัก ซื้อของฝาก
20 เม.ย. เดินทางกลับ
สิ่งสำคัญคือ พอมีเวลาจำกัด ผมต้องเลือก “สถานที่ที่อยากไปจริง ๆ” เท่านั้น
ไม่พยายามยัดโปรแกรมให้แน่นจนไม่มีเวลาพัก เพราะจะกลายเป็นเหนื่อยมากกว่าสนุก และที่สำคัญคือเผื่อเวลาให้หลง-หลงบ้างตามสไตล์คนต่างถิ่น
สรุปคือ ถึงเวลาไม่เยอะ แต่ถ้าวางแผนดี ๆ ก็เที่ยวได้คุ้มครับ โดยเฉพาะในเมืองอย่างเซี่ยงไฮ้ที่ระบบขนส่งดีมาก เที่ยววันละหลายที่แบบไม่เหนื่อยเกินไปยังพอไหว
จองตั๋วเครื่องบิน — เจอ "Spring" เข้าเต็ม ๆ
การจองตั๋วไปเซี่ยงไฮ้รอบนี้ ไม่ได้พิถีพิถันอะไรเยอะมากครับ ขอแค่ 3 อย่างพอ:
ถูก, บินตรง, และ พอไหว
แล้วก็มาเจอกับ "Spring Airlines" นี่แหละ ตัวเลือกที่ตอบโจทย์เป๊ะ ๆ
ราคาค่าตั๋วตอนนั้นน่ารักมาก เทียบกับสายการบินใหญ่ ๆ แล้วถูกกว่าเห็น ๆ แถมมี ฟรีโหลดกระเป๋า 20 กิโล ด้วยนะ (อันนี้ต้องขอบคุณ เพราะผมมีภารกิจซื้อของฝากกลับมาเพียบ)
ข้อดีแรก:
ราคามิตรภาพ ทุบกระปุกแล้วเงินยังเหลือไปกินเสี่ยวหลงเปาได้อีกหลายเข่ง
ไฟลต์บินตรงจากกรุงเทพไปเซี่ยงไฮ้ ไม่ต้องต่อเครื่องให้วุ่นวาย
กระเป๋าฟรี 20 กก. เอาใจสายขนของ (แบบเรา)
แต่โลกนี้ไม่มีอะไรได้เป๊ะทุกอย่าง... ข้อเสียก็มาเหมือนกัน
ข้อเสียที่หนึ่ง:
ตอนขึ้นเครื่องไปก็ยังโอเค นั่งกันเรียบร้อยดี แต่ขากลับนี่อย่างกับตลาดนัด! คนจีนลุกยืนกันเต็มทางเดิน
บางคนคุยกันเสียงดังมาก บางคนก็เดินไปเดินมาไม่หยุด
แอบมีฟีลเหมือนยืนในรถเมล์ร้อนสาย 8 เลยครับ ฮ่า ๆ
แอร์โฮสเตสก็พยายามเตือนนะ แต่เหมือนทุกคนเซ็ตหูตัวเองเป็นโหมด "Ignore" ไปแล้ว
ข้อเสียที่สอง:
การสื่อสารกับแอร์โฮสเตสค่อนข้างท้าทาย ถามอะไรเป็นภาษาอังกฤษไป เค้าจะยิ้มหวานกลับมาให้
...แล้วตอบเป็นภาษาจีนรวดเดียวจบ!
จังหวะนั้นได้แต่พยักหน้าเออ ๆ ไปก่อน ขอแค่ไม่ขอเก็บค่าโหลดกระเป๋าเพิ่มก็พอแล้ว
แต่รวม ๆ แล้วก็โอเคนะครับ ไฟลต์ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเท่านั้น อดทนหน่อย เดี๋ยวก็ถึงบ้าน
แถมได้นั่งฟังเพลงจีนเวอร์ชันเต็มอัลบั้มฟรี ๆ (จากคนรอบข้าง) อีกต่างหาก
สรุปสั้น ๆ แบบกันเอง:
อยากประหยัดเงินและไม่แคร์ความวุ่นวายบนนิด ๆ หน่อย ๆ — Spring Airlines = ตัวเลือกที่ใช้ได้เลยครับ!
แต่ถ้าใครเป็นสายต้องการความสงบแบบสปา ขอแนะนำว่าอาจต้องทำใจนิดนึงนะ
การจองที่พัก — สรุปจบที่ Hi Inn แบบงง ๆ แต่ก็โอเคนะ
พอเรื่องตั๋วเครื่องบินเรียบร้อย ทีนี้ก็มาถึงด่านหินต่อไป — หาที่พัก!
งานนี้ไม่ใช่แค่หาคนเดียว แต่ชวนเพื่อน ๆ มานั่งชุมนุมคุยกันที่ห้อง (พร้อมเครื่องดื่มเบา ๆ) เป็นหลายชอตมาก
เหมือนจัดสัมมนาเรื่อง “นอนที่ไหนดีในเซี่ยงไฮ้” ยังไงยังงั้น
โจทย์ก็มีอยู่ว่า:
- ขอที่พัก ราคาถูก
- ใกล้ย่าน Nanjing Road จะได้เดินช้อปสะดวก
- เดินถึง The Bund ได้แบบไม่ต้องปาดเหงื่อ
หลังจากเปิดแผนที่ เปิดเว็บจองที่พัก เปิดรีวิววนไปหลายรอบ
สุดท้ายก็มาจบที่ที่หนึ่งแบบไม่รู้ว่าสติยังอยู่ดีมั้ย... นั่นคือ Hi Inn Nanjing East Station นั่นเอง!
รีวิวจากประสบการณ์จริงแบบไม่มีกั๊ก:
ราคาดีงาม: ค่าห้องถูกจนเอะใจว่ามีเตียงจริงมั้ย? (สรุปมีนะครับ เตียงนุ่มใช้ได้ด้วย)
ขนาดห้อง: เล็กกระทัดรัดพอดีตัว — คนเดียวกำลังสบาย สองคนพอเบียด ๆ ได้ แต่ไม่ถึงขั้นต้องกอดกันเดิน
เพื่อนโชคดี: บางคนได้ห้องใหญ่เท่าอพาร์ตเมนต์ญี่ปุ่น...ในราคาเท่ากัน!
ชีวิตนี้บางทีก็ขึ้นอยู่กับดวงจริง ๆ
แต่แน่นอน... ชีวิตจริงมันไม่ได้มีแต่ด้านบวก
พื้นห้อง: มีลวดลายศิลป์แนว “ร่องรอยประวัติศาสตร์” ที่น่าจะมาจากแขกคนก่อน ๆ อย่างเป็นมิตร
(อย่าคิดมาก คิดซะว่าเป็นลายหินธรรมชาติแล้วกัน)
ห้องน้ำ: เอิ่ม... คงไม่มีเจ้าหน้าที่มาส่องกล้องตรวจเช็กบ่อย ๆ แน่นอน คราบเอย อะไรเอย พอเห็นแล้วก็แอบกลืนน้ำลายดังอึก แล้วสวดมนต์เบา ๆ ว่า "ฉันแค่จะอาบน้ำ... ไม่ได้จะมาอยู่ถาวร"
อุปกรณ์: ขอชมว่าสายฝักบัวยาวมาก — ยาวพอจะลากไปอาบน้ำตรงมุมห้องนอนได้เลย (ถ้าอยาก)
สรุปสไตล์เรา:
Hi Inn Nanjing East Station อาจไม่ได้เพอร์เฟกต์เหมือนโรงแรม 5 ดาว แต่ในราคานี้ บวกกับทำเลที่เดินไป Nanjing Road กับ The Bund ได้สบาย ๆ ถือว่า “ผ่านแบบมีลุ้น” เลยครับ
ใครเป็นสายขาลุย เน้นออกเที่ยวทั้งวัน กลับมานอนอย่างเดียว ขอแค่มีเตียงกับน้ำไหล — แนะนำว่าโอเคอยู่
แต่ถ้าใครเป็นสายต้องการความเนี๊ยบ กริ๊บทุกตารางนิ้ว... อาจจะต้องเผื่อใจนิดนึงนะครับ
จองผ่านแอพ Trip.com
วางแผนเส้นทางเที่ยว — เดินทางยังไงให้ไม่งงหัวแตก
ก่อนจะไปถึงเซี่ยงไฮ้จริง ๆ เราก็ต้องมีแผนคร่าว ๆ ไว้ในใจบ้างเนอะ ไม่งั้นกลายเป็นยืนงงอยู่หน้าสถานีรถไฟแน่นอน
วิธีวางแผนของเรา:
แบ่งแบบเบา ๆ เลยว่า แต่ละวันอยากไปไหนบ้าง แล้วก็ดูเส้นทางคร่าว ๆ ก่อน
ถ้าวันไหนต้องไปหลายที่ เดินทางบ่อย ๆ เราก็จะ... เหมา 1 Day Pass รถไฟฟ้า ไปเลยจ้า!
ข้อดีของ 1 Day Pass:
- ไม่ต้องซื้อตั๋วทุกครั้งให้เมื่อยมือ
- เข้าออกผิดก็ไม่เป็นไร รูดเข้าออกได้ไม่จำกัดรอบ (รักมากตรงนี้)
- ไม่ต้องนั่งคำนวณว่าต้องจ่ายกี่หยวน กี่สถานีให้ปวดหัว
- ค่าใช้จ่ายมัน fix แล้ว คุมงบได้แบบชิล ๆ
ส่วนตัวรู้สึกยังไง?
เอาจริง ๆ นะ... คุ้มรึเปล่าไม่รู้ เพราะบางวันเราไปไม่ถึง 5 ที่เอง ฮ่า ๆ ๆ
แต่ความสบายใจที่ไม่ต้องมานั่งกดตั๋วใหม่ทุกครั้ง กับความชัวร์ที่รูดผิดก็ไม่โดนปรับ — อันนี้คือ คุ้มค่าทางจิตใจ สุด ๆ
อีกไอเท็มลับที่ช่วยชีวิต: Didi
นอกจากนั่งรถไฟฟ้า เราก็ใช้แอป Didi (เรียกรถเหมือน Grab บ้านเรา) บ้างในบางสถานการณ์ เช่น
เดินมาเหนื่อยขาลาก ขี้เกียจขึ้นบันไดสถานีอีก ไปที่ที่รถไฟฟ้าไปไม่ถึง หรือบางทีกลับดึก ๆ แล้วไม่อยากเสี่ยงหลงทาง
ข้อดีของ Didi ที่นี่:
ราคาถูกมาก!
บางเที่ยวหารกับเพื่อน 4 คนแล้วถูกกว่าค่าสตาร์ทแท็กซี่ที่กรุงเทพอีก
รถมาไว แล้วคนขับน่ารักหลายคนเลย ถึงคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องก็เถอะนะ (เปิดแอปแปลไป คุยไป ขำกันเอง)
เทคนิคเล็ก ๆ ในการวางแผนเดินทาง:
ปักหมุดล่วงหน้า: คิดคร่าว ๆ ไว้ก่อนว่าวันนี้จะไปไหนบ้าง
เลือกวิธีเดินทางให้เหมาะ: ถ้าไกล ๆ หลายที่ = ใช้ 1 Day Pass / ถ้าเหนื่อยหรือไม่อยากเดินเยอะ = เรียก Didi
จัดการงบง่ายขึ้น: เพราะรู้แล้วว่าค่าเดินทางเท่าไหร่ ไม่ต้องมานั่งกังวลเงินปลายวัน
สรุปฟีล:
เที่ยวเซี่ยงไฮ้รอบนี้เดินตัวปลิว ไม่ต้องเครียดเรื่องตั๋ว ไม่ต้องพกเหรียญแลกแบงก์ให้ยุ่งยาก แถมตอนเหนื่อย ๆ ยังมี Didi เป็นฮีโร่มารับกลับโรงแรมแบบหล่อ ๆ อีก
สบายตัว สบายใจ สไตล์เราเลยครับ!
มาถึงเวลาลงมือ เตรียมตัวแบบละเอียดก่อนบิน!
1. เตรียมเอกสารสำคัญ (พาสปอร์ต, วีซ่า, ประกันเดินทาง)
รอบนี้ชิลสุด ๆ เพราะ... จีนฟรีวีซ่า!
ไม่มีซีนยืนลุ้นหน้าสถานทูตเหมือนยุคก่อน ๆ แล้วครับ
แค่มีพาสปอร์ตที่อายุเหลือเกิน 6 เดือน ก็ผ่านฉลุย ตรงด่าน ตม. แบบสวย ๆ
ใครกลัวอะไรเพิ่มเติม ก็ทำประกันเดินทางติดมือไว้ก็ดีนะเผื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ แต่โดยรวมรอบนี้ ง่ายเหมือนเที่ยวในประเทศ เลย!
2. แลกเงิน & โหลดแอปจ่ายเงินจีน (Alipay, WeChat Pay)
เซี่ยงไฮ้เดี๋ยวนี้ แทบจะไม่ใช้เงินสดแล้ว นะครับ บอกเลย ขนาดซื้อน้ำร้านโชห่วยยังต้องสแกน QR กันไป!
สำหรับเรา:
โหลด Alipay ไว้ (แต่ใช้เพราะอยากเรียก Didi มากกว่า ฮ่า ๆ)
ใช้ TrueMoney Wallet เป็นตัวหลัก จ่ายของได้สบายดีเหมือนกันนะ
เพื่อน ๆ บางคนเลือก WeChat Pay ด้วย เอาไว้เผื่อฉุกเฉิน แต่จริง ๆ อันเดียวก็เอาอยู่
Tips:
อยากใช้ Didi (เรียกรถ) ได้ ต้องมี Alipay ติดเครื่องไว้นะจ๊ะ
ไม่งั้นจะได้แต่ยืนโบกมือโบกใจอยู่ริมฟุตปาธ ฮ่า ๆ ๆ
3. เตรียมซิมอินเทอร์เน็ต (Internet SIM Card)
สมัยนี้สบายมาก แค่ซื้อซิมตั้งแต่ไทย แล้วเปิดเครื่องปุ๊บเน็ตก็มาปั๊บ! ไม่ต้องทำอะไรเยอะ
แนะนำ:
เลือกแพ็กเกจที่ตรงกับระยะเวลาทริป เช่น 5 วัน 7 วัน 10 วัน
แต่ก็มีจุดนิดนึง คือบางโปร 5 วันราคาพอ ๆ กับ 10 วัน ก็เลือก 10 วันไปเลย เน็ตแรง เน็ตเยอะ ใช้แบบไม่ต้องห่วง
ข้อเสีย:
อยากได้แบบเน็ตเยอะ ๆ 5 วัน ราคาเบา ๆ ยังหายากอยู่นะ... ต้องยอมจ่ายเพิ่มนิดนึง แต่เพื่อความสุขในการอัปสตอรี่กับเช็กแมป ก็โอเคอยู่
4. แพ็กกระเป๋าแบบชิล ๆ (เสื้อผ้าเหมาะกับอากาศ)
ถ้ามา เมษายน - ตุลาคม:
เตรียมเสื้อผ้าตามสไตล์เที่ยวต่างจังหวัดเมืองไทยได้เลย — เสื้อยืด กางเกงสบาย รองเท้าเดินไกล
ถ้ามา พฤศจิกายน - มีนาคม:
ต้องมีเสื้อแขนยาว แจ็กเก็ตบาง ๆ ติดไว้ เพราะอากาศเริ่มเย็น แบบว่า น่านปลายปี ประมาณนั้น (แต่ไม่ถึงกับหนาวสั่นแบบญี่ปุ่น)
Tips:
อย่าลืมรองเท้าที่ใส่สบาย ๆ เพราะเซี่ยงไฮ้คือเมืองแห่งการเดินเยอะมากกกก!
... ก็พร้อมออกเดินทางแล้วครับ!
ใครเตรียมครบแบบนี้ บอกเลยว่า บินแบบนักท่องเที่ยวมือโปร แน่นอน!
ประสบการณ์วันเดินทาง: จากสนามบินไทยถึงเซี่ยงไฮ้แบบชิล ๆ
1. การเตรียมตัวที่สนามบินไทย
รอบนี้เราเลือกเอารถไปฝากไว้ที่ลานรับฝากรถแถว ๆ กิ่งแก้ว (ใกล้สุวรรณภูมิ)
ค่าฝากวันละ 159 บาทเองนะครับ สำหรับ 4 คนหารกันก็แทบไม่รู้สึกเลย คุ้มมากกก
มีหลายเจ้ามาก แค่โทรจองก็พอ แล้วเขาจะมีรถตู้เล็ก ๆ มาส่งเราที่สนามบินสุวรรณภูมิตรงเวลาแบบมือโปรสุด ๆ
(ขอสารภาพนิด เพื่อนเป็นคนจัดการจอง เราเลยไม่รู้ชื่อที่ฝากเป๊ะ ๆ ฮ่า ๆ แต่ Google เอาง่ายมาก เจอเพียบ)
Tips:
บางที่ราคาถูกกว่านี้อีก วันละร้อยมีนะ!
จอดรถแบบนี้ช่วยให้ไม่ต้องหาที่จอดสนามบินเองให้เหนื่อย สบายกว่ามาก
2. เช็กอินแล้วขึ้นเครื่อง (Spring Airlines)
สายการบินที่เราเลือกคือ Spring Airlines จ้า
ฟีลเครื่อง:
ที่นั่งไม่ได้แคบเวอร์ นั่งได้แบบสบาย ๆ ถ้าไม่ใช่คนสูงเกิน 180 ซม.
อาหารบนเครื่องมีขาย แต่ส่วนใหญ่เราหลับยันแลนด์ดิ้งเลย ฮ่า ๆ
3. ถึงเซี่ยงไฮ้! (สนามบินผู่ตง)
เครื่องแลนด์ลงที่ สนามบินผู่ตง (Pudong Airport)
สนามบินใหญ่ แต่เดินไม่งงเท่าสนามบินที่อื่น ๆ
ตม. เร็วใช้ได้ แค่มีใบเข้าเมืองที่กรอกตั้งแต่บนเครื่องก็ผ่านฉลุย
รอรับกระเป๋าไม่นาน (ถ้าโชคดี)
จากนั้นก็ไปรวมพลกับแก๊งเพื่อนที่มาก่อนหน้า พวกเรานัดเจอกันที่ร้านกาแฟชื่อว่า coffein (ร้านนี้มีหลายสาขาในสนามบินเลย) เพื่อนเราคนนึงชอบร้านนี้มาก เจอทีไรเป็นต้องแวะกินทุกที!
4. การเดินทางจากสนามบินเข้าเมือง
หลังจากเช็กชื่อ เช็กกระเป๋า เช็กเพื่อนครบแล้ว ก็มุ่งหน้าเข้าเมือง!
ตัวเลือกเข้าเมืองที่มี:
Maglev Train รถไฟแม่เหล็กเร็วปรี๊ด
Taxi นั่งตรงสบาย ๆ แต่แพงกว่านิด
Metro รถไฟใต้ดิน ใช้งบประหยัด
เราตัดสินใจเลือก Metro เพราะ...
อยากใช้ตั๋ววัน (1 Day Pass) ให้คุ้มตั้งแต่วันแรก!
ค่ารถไฟจากสนามบินเข้าตัวเมืองก็ประมาณ 7 หยวนเอง ถูกกว่าค่ารถไฟฟ้าบ้านเราอีกอะ คุ้มแบบร้องกรี๊ดในใจ
บรรยากาศ Metro:
รถไฟสะอาด มีที่นั่ง มีที่วางกระเป๋า
คนไม่แน่นมากถ้ามาเวลาไม่พีก
อ่านป้ายง่ายมาก เพราะมีภาษาอังกฤษกำกับทุกป้าย สบายใจหายห่วง
ชามะนาว หน้าร้าน Lai Lai Xiaolong
พักผ่อนให้หายเหนื่อย กับชามะนาว (แอบแปลกๆ อยู่นิด เพื่อนๆ ไม่ค่อยชอบแต่ผมว่าโอเคนะครับ สดชื่นๆ)
สรุปก่อนออกเดินทางมีค่าใช้จ่ายหลักๆ
  • 1.
    ค่าตั๋วเครื่องบิน คนละ 10,911.5 บาท (รวมไป-กลับ)
  • 2.
    ค่าที่พักต้องจองล่วงหน้าจ่ายไปคนละ 3,099.22 บาท (ห้องหนึ่งพัก 2 คน ก็คิดเป็นห้องละ 6,198.44 บาท) สำหรับ 4 คืน
  • 3.
    ค่าตั๋วดิสนีย์ (อันนี้ลืมไปว่าเราได้มาคุยกันว่าจะจองตั๋วดิสนีย์ก่อนไปเลยด้วยแอพ klook คนละ 2,075 บาท ราคาตั๋วแต่ละวันไม่เท่ากัน
  • 4.
    แต่ถ้านับถึงตอนนี้ที่จ่ายไปแล้วจะมีค่า Metro 1 Day pass อีก 20 หยวน ก็ประมาณ 92 บาท
92 บาท ถ้าเราจองผ่านแอพ klook มาก่อนนะครับ
รวมค่าใช้จ่าหลักๆ ต่อคน 16,177.7 บาท
จองผ่านแอพ klook
ด้วยค่าใช้จ่ายเท่านี้ เราก็ไปเซี่ยงไฮ้ได้แล้ว ส่วนเรื่องค่ากินค่าเดินทาง เดี๋ยวเรามีดูกันต่อว่า ถ้าใช้จ่ายแบบกลางๆ ไม่ประหยัดเกิน ไม่จ่ายเยอะเกินอย่างเรา จะใช้ไปเท่าไหร่
มาถึงตอนนี้แล้วทุกคนอยากไปต่อแล้วใช่มั้ยครับว่า 5 วัน 4 คืน ในเซี่ยงไฮ้เราไปไหนมาบ้าง ไปต่อกันเลยครับ
ยาวหน่อยครับ จริงๆ อยากเขียนต่อให้จบทริป แต่กลัวจะยาวไป รอติดตาม ทริป เซี่ยงไฮ้ 5 วัน 4 คืนต่อได้ที่เพจ เที่ยวละไม ได้เลยครับ
โฆษณา