Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
27 เม.ย. เวลา 15:30 • ไลฟ์สไตล์
‘กองทุนฌาปนกิจ’ เสียชีวิต ‘ตายก่อน’ ก็โชคดีไป อายุยืน ‘ตายหลัง’ เสี่ยงตังค์ไม่ได้?
เมื่อความหวังจาก ‘เงินก้อนสุดท้าย’ ต้องกลายเป็น “ความไม่แน่นอน”
“ตายก่อน โชคดี, ตายทีหลัง อด”
เสียงสะท้อนของชาวสุรินทร์กว่า 9,000 คน ที่พูดเป็นเสียงเดียวกัน เนื่องจากเมื่อกลางปี 2566 กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ที่พวกเขาจ่ายเงินไป เกิดปัญหาด้านการบริหารเงิน ขาดสภาพคล่อง และต้องปิดกองทุนหนี เพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้แก่สมาชิกกองทุนได้อย่างต่อเนื่อง
จากประเด็นดังกล่าวที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยในเวทีสภาองค์กรของผู้บริโภค นำมาสู่คำถามว่าทำไมระบบที่ควรช่วยเหลือคนกลับกลายเป็นภาระ และในบางกรณี การมีอายุยืนยาวกลับกลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากกองทุนเหล่านี้
➡️[ ความมุ่งหวัง “กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์” ]
ภายใต้ พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 ระบุว่า การฌาปนกิจสงเคราะห์มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายช่วยเหลือกันเองระหว่างสมาชิกในยามที่ต้องประสบกับการสูญเสียบุคคลในครอบครัว โดยต้องไม่ใช่การแสวงหาผลกำไร ต่างจากบริษัทประกันที่ตั้งขึ้นเพื่อผลทางธุรกิจ
การดำเนินงานของกองทุนประเภทนี้มีความใกล้เคียงกับหลักการของ พ.ร.บ.สหกรณ์ แต่ต่างกันตรงที่ สหกรณ์จะดูแลตลอดตั้งแต่มีชีวิตจนถึงกระทั้งเสียชีวิต ส่วนกองทุนฌาปนกิจจะสงเคราะห์ตอนเสียชีวิตเท่านั้น
ทั้งนี้ การจัดตั้ง “กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์” จะต้องมีการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี
➡️[ การจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ]
โดยทั่วไป ระบบการจ่ายเงินสมทบมักเป็นไปโดย 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ การชำระเป็นรอบตามระยะเวลา (เช่น รายเดือนหรือรายปี) หรือจ่ายเฉพาะเมื่อมีสมาชิกเสียชีวิต ซึ่งจำนวนเงินจะแตกต่างกันไปตามข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละกองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนในหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน หรือชุมชนท้องถิ่น
➡️[ ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับกองทุนฌาปนกิจ ]
จากการวิเคราะห์ในเวทีสนทนาของสภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่าแม้กองทุนจะจดทะเบียนถูกต้อง แต่ยังคงประสบปัญหาในหลายมิติ ดังนี้
⚠️1. ปัญหาด้านการจัดเก็บเงินเข้ากองทุน
มีการบริหารเงินที่ไม่โปร่งใส เช่น การเรียกเก็บเงินในลักษณะเหมาจ่าย ไม่เก็บตามจำนวนผู้เสียชีวิตจริง หรือตั้งเงื่อนไขพิเศษที่เอื้อประโยชน์บางกลุ่ม เช่น เรียกเก็บค่าเข้าร่วมสูงถึง 20,000 บาทสำหรับผู้สูงอายุเกิน 70 ปี โดยเงินเหล่านี้มักไม่ปรากฏในระบบบัญชีอย่างถูกต้อง
⚠️2. ปัญหาด้านประชุมและติดตามผล
หลายกองทุนไม่จัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสม่ำเสมอ บางแห่งไม่มีการประชุมแม้แต่ครั้งเดียวในรอบปี ทำให้สมาชิกไม่มีโอกาสรับทราบสถานะทางการเงินหรือการดำเนินงาน และไม่สามารถตรวจสอบว่าเงินที่ตนส่งเข้าไปถูกนำไปใช้อย่างไร
⚠️3. ปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน
เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้กองทุนต้องจ่ายเงินช่วยเหลือมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ไม่มีการปรับเพิ่มอัตราการเรียกเก็บเงินสมทบจากสมาชิก ส่งผลให้เกิดภาวะขาดสภาพคล่องและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
⚠️4. ปัญหาด้านการไม่รู้บทบาทของสมาชิก
ทั้งในส่วนของสมาชิกที่ไม่เข้าใจภาระหน้าที่ของตน เช่น ไม่ส่งเงินสมทบตามกำหนด ไม่เข้าร่วมกิจกรรมของกองทุน และในส่วนของผู้บริหารกองทุนที่อาจไม่คัดกรองสมาชิกอย่างรอบคอบ เช่น ไม่ตรวจสอบอายุหรือโรคประจำตัวของผู้สมัคร เพราะต้องการเพิ่มจำนวนสมาชิกเพียงอย่างเดียว
➡️[ แนวทางปรับปรุงเพื่อความยั่งยืน ]
ข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการบริหารกองทุน มีแนวทางที่น่าสนใจดังนี้
✅1. ควรมีระยะเวลาและรอบการเก็บที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ
เสนอให้มีการกำหนดรอบการเรียกเก็บเงินที่แน่นอนและสม่ำเสมอ ไม่ควรรอให้มีผู้เสียชีวิตแล้วจึงเรียกเก็บ เพราะอาจกระทบต่อสภาพคล่อง เนื่องจากสมาชิกบางรายอาจไม่พร้อมจ่ายในช่วงเวลานั้น
✅2. ดูบริบทขององค์กรและสมาชิก
แต่ละกองทุนฯ ควรพิจารณาถึงลักษณะเฉพาะของสมาชิกกลุ่มเป้าหมาย เช่น สมาคมฌาปนกิจของ ธกส. ควรเรียกเก็บหลังฤดูเก็บเกี่ยวเมื่อสมาชิกมีรายได้ ส่วนกองทุนฌาปนกิจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาจใช้วิธีหักจากค่าตอบแทนประจำ
✅3. สร้างกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหา
โดยก่อนเกิดปัญหา หน่วยงานท้องถิ่นและนายทะเบียนต้องเข้มงวดในการตรวจสอบคุณสมบัติและความพร้อมของผู้จัดตั้งกองทุนฯ ส่วนหลังเกิดปัญหา ต้องมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินและพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด เพื่อช่วยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมาชิก
✅4. การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย
ในระยะยาว จำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับความสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
➡️[ แนวทางการวางแผนเพื่อวันสุดท้ายด้วยตัวเอง ]
นอกเหนือจากการพึ่งพากองทุนฌาปนกิจ เรายังมีทางเลือกอื่นในการเตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดงานสุดท้ายของตัวเองได้
🪙1. เก็บเงินเอง: เช่น เปิดบัญชีออมทรัพย์พิเศษสำหรับค่าใช้จ่ายงานศพโดยเฉพาะ โดยแยกจากบัญชีอื่นๆ และฝากเงินเข้าไปสม่ำเสมอ โดยแนะนำว่า ควรทำพินัยกรรมที่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับเงินที่เตรียมไว้สำหรับงานศพ และความประสงค์ในการจัดงานร่วมด้วย
🪙2. ทำประกัน: เลือกทำประกันชีวิตที่มีเงินก้อนสำหรับค่าทำศพโดยเฉพาะ เช่น ประกันมรดกฌาปนกิจ ที่จะจ่ายค่าสินไหมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน โดยเราสามารถเลือกรับเงินก้อนตามแผนที่เลือกได้ เป็นต้น
🪙3. จัดการงานไว้ล่วงหน้า: หารือสถานที่ที่ต้องการใช้บริการไว้ล่วงหน้า หรือปัจจุบันมีบริษัทที่ รับวางแผนการจัดพิธีศพล่วงหน้าด้วย ก็สามารถเลือกใช้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมไว้ได้
แม้จะเกิดปัญหาในหลายกรณี แต่หลักการของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านกองทุนฌาปนกิจยังคงมีคุณค่า หากมีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้โปร่งใส สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สมาชิก และดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด กองทุนเหล่านี้ก็จะสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่สมาชิกได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องกังวลว่าการมีชีวิตยืนยาวจะกลายเป็นความเสียเปรียบ
อ้างอิง:
-
https://www.tcc.or.th/31072567_funeral_article/
-
https://law.m-society.go.th/.../th/law_th_1735015172.pdf
-
https://pantip.com/topic/42235904
#aomMONEY #กองทุนฌาปนกิจ #เงินก้อนสุดท้าย #ความไม่แน่นอน #สมาชิก #เงินสมทบ
1 บันทึก
10
2
1
10
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย