28 เม.ย. เวลา 01:13 • ธุรกิจ

หัวหน้าต้อง ‘ปล่อยให้ทีมเติบโต’ ไม่ใช่ ‘ปล่อยให้จม’

รวม 4 เทคนิคการเป็นหัวหน้าที่มีคุณภาพ จากอดีตผู้บริหาร Microsoft
คำแนะนำจากอดีตผู้บริหารจาก Microsoft กล่าวไว้ว่า การเป็นหัวหน้าที่ดี ไม่ใช่แค่ทำตามเช็กลิสต์ของ “หัวหน้าที่สมบูรณ์แบบ” เพราะความสมบูรณ์แบบแบบนั้นไม่มีจริง
1
อดีตผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของ Microsoft คุณซาบินา นาวาซ (Sabina Nawaz) แนะนำเทคนิคดี ๆ สำหรับผู้จัดการมือใหม่จากหนังสือเล่มใหม่ของเธอ “You’re the Boss” เพราะการได้เป็นผู้จัดการครั้งแรก อาจทำให้รู้สึกทั้งตื่นเต้น, ภูมิใจ, ประหม่า หรือแม้แต่เครียดไปพร้อมกัน
การเป็นหัวหน้าที่ดี ไม่ใช่แค่ทำตามเช็กลิสต์ของ “หัวหน้าที่สมบูรณ์แบบ” เพราะความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีจริง นี่คือสิ่งที่คุณซาบินา นาวาซ ผู้เขียนหนังสือ You’re the Boss: Become the Manager You Want to Be (and Others Need) อยากจะสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจ
คุณซาบินาเองเคยเป็นผู้นำของทีมฝ่ายบุคคลที่ Microsoft และโค้ชผู้บริหารของบริษัทระดับ Fortune 500 ซึ่งจากประสบการณ์ทั้งหมดนี้ เธอได้แบ่งปันกรอบแนวคิดที่นำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาทักษะความเป็นหัวหน้า ผ่านเรื่องราวจากลูกค้าและประสบการณ์ชีวิตจริงทั้งด้านดีและมุมผิดพลาดของเธอเอง ซึ่งเราได้หยิบยกข้อมูลบางส่วนของแนวคิดสำคัญจากหนังสือ ที่จะช่วยให้ผู้จัดการมือใหม่ หรือหัวหน้าทุกคน ก้าวผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
1
รู้เท่าทันตัวเอง ก่อนหลุดเป็น “เจ้านายแบบที่เราไม่อยากเป็น” ด้วย 4 เทคนิคของการเป็นหัวหน้าที่มีคุณภาพ
เทคนิคสำคัญจากคุณซาบินา นาวาซ อดีตผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของ Microsoft
1. การเป็น Manager ที่ดีคือ “การเดินทาง….ที่ต้องฝึกฝนตลอดเวลา”
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่ามีแค่หัวหน้าที่ ‘ดี’ กับ ‘แย่’ แต่คุณซาบินาบอกว่าจริง ๆ แล้ว เราทุกคนมีโอกาสจะทำพฤติกรรมทั้งแบบหัวหน้าที่ดีและไม่ดีสลับกันได้ทั้งนั้น
“ก็เหมือนกับที่ไม่มีใครดีหมดหรือแย่หมด การเป็นหัวหน้าก็ไม่ได้ตัดสินได้แบบขาว-ดำ”
บางครั้งหัวหน้าที่ดูแย่ในสายตาคนอื่น มักไม่ได้เป็นคนไม่ดี แต่เขาเป็นคนที่มีความตั้งใจดีที่ไม่รู้ตัวว่าได้เลยเส้นบาง ๆ จาก ‘ความตั้งใจดี’ ไปสู่ ‘พฤติกรรมที่ส่งผลลบ’ เมื่อเราเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะช่วยให้เราตระหนักได้ว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีคือการฝึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาที่ส่งผลลบกับตัวเองและทีมงาน
ซึ่งคุณซาบินา แนะนำว่าการเปลี่ยนมุมมอง “ความสำเร็จ” คืออะไรก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เพราะที่ผ่านมา คุณอาจได้เป็นหัวหน้า หรือ Manager เพราะเป็นพนักงานที่เก่งและทำผลงานเกินคาด แต่เมื่อเป็นหัวหน้าแล้ว บทบาทนั้นเปลี่ยนไป
1
“การโชว์ผลงานของตัวเอง อาจเป็นสิ่งที่พาคุณมาถึงจุดนี้ แต่จากนี้ไป….เมื่อคุณเป็น Manager แล้ว คุณต้องเปลี่ยนมุมมองว่า ‘ใคร’ ควรได้แสดงผลงาน และ ‘ผลงาน’ ที่ว่า หมายถึงอะไรแทน”
1
หัวใจสำคัญคือ เปลี่ยนจากโฟกัสที่ตัวเอง ไปสู่ความสำเร็จของทีม
เพราะนั่นคือความต่างระหว่าง ‘พนักงานเด่น’ กับ ‘หัวหน้าที่โดดเด่น’
โดยเธอทิ้งท้ายว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวแล้วจบ แต่มันคือ “ความพยายามต่อเนื่อง” ที่ต้องคอยปรับตัว และหลีกเลี่ยงการไหลย้อนกลับไปเป็นหัวหน้าแบบที่เราไม่อยากเป็น
2. เคล็ดลับต่อมาคือ “สื่อสารให้ชัดเจนมากขึ้น”
1
เมื่อคุณกลายเป็น Manager หรือหัวหน้าทีมแล้วความสัมพันธ์ในทีมจะเปลี่ยนไป เพราะสิ่งที่คุณพูด, เขียน หรือการลงมือทำ จะถูกมองว่า “สำคัญ” มากกว่าเดิม
จากงานวิจัยของ Nawaz’s research เธอบอกว่า “การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน” เป็นจุดอ่อนอันดับ 2 ของคนเป็น Manager โดยเฉพาะเวลาที่ให้ Feedback แบบกว้าง ๆ หรือคลุมเครือ ซึ่งทำให้ทีมไม่เข้าใจว่าต้องทำอะไรต่อ เช่น คุณอาจบอกว่า “สไลด์ดูไม่ค่อยน่าสนใจ” ทีมอาจเข้าใจว่าต้องแก้ทั้งหมด แต่จริง ๆ คุณแค่หมายถึงสไลด์ใด สไลด์หนึ่ง เป็นต้น
เพื่อเลี่ยงปัญหานี้ คุณซาบินา แนะนำให้ใช้ “เครื่องมือสเกล” (the scaling tool) เป็นการเพิ่มความชัดเจนว่าเรื่องที่คุณพูดมีความสำคัญหรือเร่งด่วนแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น
👉 ถ้าวัดจาก 1 ถึง 10 งานนี้สำคัญประมาณไหน ?
👉 ถ้าเปรียบเป็นงานแบบร่างหยาบถึงงานเนี้ยบ โดยวัดจาก 1 ถึง 10 งานนี้ควรเป็นประมาณไหน ?
👉 ถ้าให้คะแนนความมั่นใจจาก 1 ถึง 10 ว่าทำทันเวลา รู้สึกประมาณเท่าไหร่ ?
1
ซึ่งเอาจริงเครื่องมือนี้คนทั่วไปก็ใช้ได้ แต่สำหรับผู้จัดการแล้วยิ่งสำคัญ เพราะทีมให้ “น้ำหนัก” กับคำพูดของคุณมากกว่าปกติ
อีกข้อผิดพลาดที่พบบ่อยคือ ให้ Feedback แบบไม่บาลานซ์ เช่น เอาแต่บอกสิ่งที่ผิด หรือควรปรับปรุง โดยไม่มีคำชมเชยสักนิด เป็นต้น โดยการให้ Feedback ด้านลบเพียงอย่างเดียวจะทำให้ทีมรู้สึกหมดกำลังใจ และไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดีอยู่แล้วบ้าง โดยคุณซาบินา นาวาซ บอกไว้ว่าว่า
“มนุษย์มักโฟกัสแต่สิ่งลบ จนลืมสิ่งดี ๆ เว้นแต่มันจะถูกพูดซ้ำ ๆ เหมือนเพลงฮิตติดชาร์ต”
วิธีจัดการกับเรื่อง Feedback คือ
“ให้ คำชม 5 ครั้ง ต่อ 1 Feedback เชิงแก้ไข”
โดยเน้นคำชมในรูปแบบ “ Feedback ” มากกว่าการยกยอทำให้การให้ฟีดแบ็กเชิงบวกเป็นนิสัย
เพราะจากผลสำรวจของ Gallup พบว่า
‘คำชื่นชมที่มีความหมายและน่าจดจำที่สุด มักมาจากหัวหน้าโดยตรง’
3. เป็นหัวหน้าคนต้อง มอบหมายงานให้เป็น!
เมื่อเราเป็น Manager หรือ หัวหน้าแล้ว คุณไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียวเหมือนตอนเป็นพนักงานทั่วไปได้อีกต่อไป เพราะทักษะใหม่ที่คุณต้องเรียนรู้คือ การมอบหมายงาน (Delegate) แต่การจะมอบหมายงานให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่สั่งแล้วจบ หรือโยนงานพร้อมคู่มือแล้วหวังให้ทุกอย่างเวิร์ก
คุณซาบินา นาวาซ แนะนำว่า จุดเริ่มต้นของการมอบหมายงาน คือ การรู้ระดับความรู้และความเข้าใจของลูกทีม จากนั้นค่อยปรับวิธีโค้ช หรือสนับสนุน ให้เหมาะกับแต่ละคน โดยรูปแบบการช่วยเหลือมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องการความช่วยเหลือมากแค่ไหน ตัวอย่างเช่น
👉 คุณทำให้เขาดูก่อน แล้วค่อยให้เขาทำตาม
👉 สอนทีละขั้นตอน
👉 ให้เขาทำเอง แล้วถามว่าเขาต้องการความช่วยเหลือจากคุณตรงไหน
👉 หรือให้เขาทำทั้งหมดด้วยตัวเอง โดยคุณเป็นแค่ที่ปรึกษาอยู่ห่าง ๆ
ซึ่งวิธีเหล่านี้เรียงจากการที่คุณต้องช่วยมาก → ไปจนถึงช่วยน้อยลง เพื่อให้ลูกทีมค่อย ๆ มีอิสระและรับผิดชอบงานด้วยตัวเองมากขึ้น การมอบหมายงานให้ดี ไม่ใช่แค่ช่วยให้ ลูกทีมเติบโต และมีส่วนร่วมกับเป้าหมายขององค์กรเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้ คุณมีเวลาไปจัดการงานอื่น ๆ ได้มากขึ้นด้วย
4. รู้ทันตัวเอง ก่อนหลุดเป็น “เจ้านายแบบที่เราไม่อยากเป็น”
ในวันที่เราเติบโตไปเป็น Manager หรือหัวหน้าทีมแล้ว แน่นอนว่าอาจจะต้องเจอกับความกดดัน และความเครียดในรูปแบบใหม่ ๆ บางอย่างหลีกเลี่ยงได้ แต่หลายอย่างก็หลีกไม่พ้น และแรงกดดันพวกนี้แหละ ที่ทำให้ผู้จัดการที่ตั้งใจดี อาจเผลอหลุดไปเป็นเจ้านายที่สื่อสารไม่ชัด, มอบหมายงานมั่ว หรือดูเย็นชาโดยไม่ตั้งใจ
1
สิ่งที่ช่วยได้คือ การรู้ว่า….อะไรเป็น “ตัวกระตุ้น” ที่ทำให้คุณหลุดพฤติกรรมแบบนั้น
คุณซาบินา นาวาซ เรียกสิ่งนี้ว่า "หลุมพรางจากแรงกดดัน" (pressure pitfalls) และถ้าเราจับสัญญาณได้เร็ว ก็จะสามารถเบรกตัวเองได้ทันก่อนพฤติกรรมแย่ ๆ จะหลุดออกมา ซึ่งเริ่มได้ด้วยการจับสัญญาณแรงกดดันเหล่านี้ และจดบันทึกช่วงเวลาที่คุณรู้สึกไม่โอเคบ่อย ๆ ตัวอย่างเช่น
1
👉 คนแบบไหนที่ทำให้ฉันระวังตัวมากเป็นพิเศษ ?
👉 เรื่องไหนที่ทำให้ฉันหงุดหงิดง่าย ?
👉 วันไหนของสัปดาห์ หรือช่วงไหนของปีที่มักจะกดดันเป็นพิเศษ ?
👉 ตอนที่รู้สึกเครียด ฉันมีอาการทางร่างกายแบบไหน ?
👉 ช่วงเวลาไหนที่ฉันไม่ใช่ตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด ? (เช่น ตอนอดนอน, ช่วงที่ไม่ได้กินกาแฟ หรือหลังบ่ายที่พลังหมด)
แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาทำเทคนิคที่เรียกว่า “ไมโครแฮบิต (micro habit)” โดยคุณซาบินา นาวาซ อธิบายว่า มันคือพฤติกรรมเล็ก ๆ ที่ทำซ้ำทุกวัน ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือสร้างนิสัยใหม่ โดยที่มัน เล็กพอจน "ไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ทำ เพราะคนเรามักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเปลี่ยนแค่ทีละนิด ทีละน้อย เราจะเริ่มได้ง่าย ไม่รู้สึกว่า หนัก หรือ เหนื่อย จนถอดใจ
1
[ ตัวอย่างเช่น ]
👉 อยากสนิทกับทีมมากขึ้น -> มีเวลาให้ทีมสัก 15-20 นาที ได้พูดคุยกันที่นอกเหนือจากเรื่องงาน
👉 อยากฝึกฟังลูกน้องให้ดีขึ้น -> ตั้งเวลาเตือนวันละ 2 นาที เพื่อฟังโดยไม่พูดแทรก
👉 อยากเครียดให้น้อยลง -> เมื่อเครียดออกไปสูดอากาศผ่อนคลายจากงาน 3 นาที
ไมโครแฮบิต (micro habit) ไม่ใช่เรื่องของความพยายามใหญ่โต แต่คือการ ‘เริ่มให้ได้’ ด้วยสิ่งเล็ก ๆ
เพราะเมื่อคุณเริ่มได้ทุกวัน สุดท้ายคุณจะไปได้ไกลกว่าเดิมแบบไม่รู้ตัว
1
ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง
เริ่มจากสิ่งที่เล็กที่สุด…แต่มากพอให้ ‘ชนะใจตัวเอง’ ในแต่ละวัน
ทั้งหมดนี้ คือเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณค่อย ๆ พัฒนาทักษะ และเป็นหัวหน้าที่ทีมไว้วางใจได้มากขึ้นในทุกวัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด อยากให้ทุกคนได้กลับไปทบทวนและหมั่นฝึกซ้อม เรียนรู้อยู่เสมอในทุกวันนะ 😊 💪
1
✍🏻 เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
🎨 ภาพประกอบ: อลิสา อรุณสิริเลิศ
ที่มา:
• Sabina Nawaz - https://sabinanawaz.com/
• Becoming a better boss: 4 tips for first-time managers
• The Importance of Employee Recognition: Low Cost, High Impact - https://www.gallup.com/workplace/236441/employee-recognition-low-cost-high-impact.aspx
โฆษณา