28 เม.ย. เวลา 07:21 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

คนวงในเผย “AIS-TRUE” ปักธงชิงคลื่น 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์

คนวงในเผย เหตุ กสทช.นำ 4 คลื่นออกประมูล เนื่องจากได้รับคืนจาก NT ที่จะสิ้นสุดการให้บริการและต้องส่งคืนย่านความถี่ในเดือนสิงหาคม 2568
จากรณีที่ประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 มีมติเอกฉันท์ประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านความถี่โดยกำหนด ราคาเริ่มต้นต่อใบอนุญาตดังนี้
  • คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 7,738.23 ล้านบาทใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี
  • คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ราคาเริ่มต้น 1,057.49ล้านบาทใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี
  • ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 ชุด ความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 4,500 ล้านบาท
  • ความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 2,596.15 ล้านบาท
ล่าสุดแหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเหตุผลที่ บอร์ด กสทช.มีมตินำ 4 ย่านความถี่มือถือเปิดประมูลในวันที่ 29 มิถุนายน ว่า เนื่องจากสิทธิใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ในย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จะสิ้นสุดในวันที่ 3 สิงหาคม 2568
ดังนั้น NT ต้องคลื่นความถี่กลับมาให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อนำมาเปิดประมูล ส่วนคลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นย่านที่ใกล้เคียง กสทช. จึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการผู้ใช้งานเดิมให้เหมาะสม
สำหรับคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช. ยังไม่ได้นำมาเปิดประมูลในรอบนี้เนื่องจากยังมีผู้ใช้งานอยู่บนโครงข่ายดาวเทียม ซึ่งการเลิกใช้งานหรือการนำมาใช้บางส่วนไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบ จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของมูลค่าทางการเงิน เศรษฐศาสตร์ และสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากความต้องการใช้งานมีน้อยและมีผู้เล่นในตลาดไม่มาก การนำคลื่นความถี่ที่มีมูลค่าสูงมาเปิดประมูลอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ และไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
“การประมูลรอบนี้เชื่อว่าค่ายมือถือรายเดิมอาจให้ความสนใจกับคลื่นความถี่ย่านกลาง เช่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนราคาประมูลคงจะไม่สูงเท่ากับการประมูลคลื่น 5G มุมมองต่อการได้คลื่นความถี่ในราคาสูง ส่งผลกระทบต่อราคาค่าบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงเปลี่ยนแนวทางจากการประมูลมาเป็นการคัดเลือกโดยใช้วิธีแบบ Beauty Contest เพื่อลดต้นทุนและกำกับดูแลราคาแทน เพราะจำนวนผู้ใช้งานในตลาดมีมากเพียงพอแล้ว”
สำหรับ NT จะเหลือคลื่นความถี่ย่านต่ำ (Low Band) ขนาด 5 เมกะเฮิรตซ์ และ ย่านความถี่สูง (High Band) ที่ย่านความถี่ 23 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะทำให้ขาดคลื่นย่านกลาง (Mid Band) ทำให้ไม่สามารถเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายหลัก (MVNOs) ได้จึงจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ รวมถึงใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น การบริหารจัดการ MVNOs
ดังนั้น NT อาจนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ไปใช้สำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) เช่น การขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving) หาก NT ได้รับการจัดสรรคลื่นที่ Telcos ต้องแบ่งให้ MVNOs ก็อาจสามารถแปลงภาพลักษณ์ของตนเองเป็นผู้ให้บริการทางเลือกที่สามคล้ายกับ Circle. Life ในประเทศสิงคโปร์.
โฆษณา