28 เม.ย. เวลา 07:24 • ประวัติศาสตร์

ทหารญี่ปุ่นกับประเทศไทยในไฟสงคราม

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็เป็นวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ เรื่องที่ทุกท่านจะได้อ่านนับจากนี้ มีที่มาจากการ search ข้อมูลหาว่าโกโบริมีจริงไหม คำตอบคือเป็นตัวละครในหนังหรือละครที่หลายๆท่านเคยดูในเรื่องคู่กรรม ซึ่งเป็นละครที่เซ็ตเนื้อเรื่องไว้ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่แค่โกโบริหรือทหารญี่ปุ่นที่มีให้เห็นตามนิยาย ภาพยนต์ หรือละครเท่านั้น ในชีวิตจริงทหารญี่ปุ่นก็เคยมาประเทศไทยโดยมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้นับจากนี้ครับ
วันที่ 8 ธันวาคมพ.ศ.2484 1 วันหลังจากที่ฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาถูกกองทัพญี่ปุ่นโจมตีพังทะลาย ตัดภาพมาที่ประเทศไทย น้ำทะเลมีคลื่นเพียงน้อยนิด ดวงดาวลอยเกลื่อนฟ้าเปล่งแสงแวววาววิบวับ บ้านเรือนผู้คนปราศจากแสงไฟ ใต้น้ำอ่าวมะนาวมีฝูงปลาแหวกว่าย
ทันใดนั้นเองเรื่องที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณตีสองของวันที่ 8 ธันวาคม ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตลอดแนวชายฝั่งของไทย เป็นการบุกแบบสายฟ้าแลบ และก็ประสบผลสำเร็จแทบจะเป็นเวลาเดียวกับฐานทัพอเมริกันที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ถูกกองทัพญี่ปุ่นถล่มย่อยยับไปก่อนหน้านี้
ในขณะที่ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตลอดอ่าวไทย ตั้งแต่ปัตตานีถึงสมุทรปราการ พวกเขาได้ขอเดินทัพผ่านไทยโดยไม่บอกล่วงหน้า คนไทยในที่เกิดเหตุแทนที่จะวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง แต่ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนต่างเข้ารักษาแผ่นดินไทยโดยไม่คิดชีวิต ทุกแห่งก็มียุวชนทหารเข้าร่วมด้วย และได้สร้างวีรกรรมไว้หลายแห่ง
พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ในเครื่องแบบทหารญี่ปุ่น
ที่กองบินน้อยที่ 5 กำลังทหารญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่งเคลื่อนไปตามริมหาด ผ่านหมู่บ้านชาวประมงมุ่งสู่เขตกองบิน รังปืนกลของกองบินอยู่ตรงไหนทหารญี่ปุ่นรู้อยู่แล้ว จึงคืบคลานเข้าไปจัดการกับทหารที่เฝ้ารังปืนอยู่โดยไม่ทันได้ร้องรำทำเพลง ทั้งฟันทั้งแทงจนยึดรังปืนกลได้หมด แล้วเข้าคุมจุดจอดเครื่องบินและบ้านพักของนักบินที่อยู่เวรเตรียมพร้อม
ระหว่างนั้น ร้อยตำรวจโทสงบ พรหมานนท์ ซึ่งบาดเจ็บจากการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นที่โรงพักก่อนหน้านี้ มีบาดแผลทั้งถูกยิงและแทง ก็เล็ดลอดมาแจ้งข่าวให้ทางกองบินทราบและขอกำลังไปช่วย พอส่งข่าวเสร็จก็ขาดใจตายที่หลังกองรักษาการณ์นั้นเอง
เมื่อได้รับสัญญาณแตรบอกเหตุแล้ว เครื่องบินทุกเครื่องซึ่งเตรียมพร้อมอยู่ในสนามก็ติดเครื่องยนต์ เรืออากาศตรีแม้น ประสงค์ดี นำเครื่องบินขับไล่แบบฮอล์ค 3 ที่ไทยสร้างเอง ขึ้นได้เป็นเครื่องแรก พร้อมลูกระเบิดขนาด 50 กิโลกรัม 4 ลูก เห็นเงาตะคุ่มของเรือลำเลียงญี่ปุ่นอยู่ในอ่าว จึงปักหัวลงมาหย่อนระเบิดเข้าใส่ แต่ทว่าไม่ถูก เลยพาเครื่องจะไปลงที่สนามบินต้นสำโรง นครปฐม แต่ไปได้แค่อ่าวชะอำ เครื่องก็ขัดข้องเลยต้องลงที่ชายหาด
อีกฟากหนึ่ง ณ เวลาประมาณ 05.00 น.ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ได้รับข่าวจากนายไปรษณีย์นครศรีธรรมราช ว่าญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลาแล้ว จึงสั่งการนายพันตรีหลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารรบที่ 39 หรือ ร.พัน 39 ให้เตรียมกำลังพลเดินทางไปสนับสนุนที่สงขลา และให้กำลังบางส่วนไปสกัดกั้นทหารญี่ปุ่น ที่สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองและชุมทางท่าแพ อันเป็นจุดสำคัญในการเดินทางไปแหลมมลายู
ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนอยู่นั้นเอง พลทหารจาก ป.พัน 15 ซึ่งเป็นเวรยามอยู่ที่คลองท่าแพ ได้แจ้งว่าพบทหารญี่ปุ่นพร้อมเรือระบายพลหลายลำ ช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดฝนตกหนักทั่วพื้นที่ น้ำในคลองขึ้นสุงเหมาะกับการเคลื่อนพล อีกทั้งมีรายงานว่าพบทหารญี่ปุ่นแฝงตัวอยู่บนเรือหลายลำ จึงได้ระงับคำสั่งเดินทางไปที่สงขลา กำลังทหาร ร.พัน 39 เปลี่ยนเส้นทางโดยเร่งด่วน เมื่อไฟสงครามมาเยือนถึงหน้าประตูบ้าน
ท่ามสมรภูมิอันดุเดือดที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ยุวชนทหาร 30 นายอาวุธปืนเล็กยาว 30กระบอก ปืนพก 1 กระบอก กระสุน 1 หีบในความควบคุมของ ร้อยเอกถวิล นิยมเสน และ สิบเอกสำราญ ควรพันธ์
ขณะเดินทางด้วยรถบรรทุกมาตามถนนชุมพร-ปากน้ำในเวลาประมาณ 07.50 น.ได้ยินเสียงปืนที่บริเวณท่านางสังข์ ร้อยเอกถวิลจึงนำยุวชนทหารลงจากรถ เข้าไปช่วยตำรวจที่ปฏิบัติการอยู่สองข้างคอสะพานท่านางสังข์ และให้ยุวชนทหาร 3 นายกลับไปเอากระสุนที่โรงพักมาอีก 1 หีบ
เครื่องบินขับไล่แบบ Hawk III
ขณะที่กำลังยุวชนทหารเคลื่อนที่ตามแนวคูโดยใช้สันถนนเป็นที่กำบัง ไปได้ประมาณ 30-40 เมตร ก็เห็นทหารญี่ปุ่น 1 หมู่กำลังเคลื่อนที่ จึงติดตามไป โดยมีตำรวจภูธร 5 คนและราษฎรอาสาสมัครอีก 1 คนติดตามมาสมทบ จนถึงเวลาประมาณ 9.00 น. ยุวชนทหารจึงพบทหารญี่ปุ่นอยู่ในสวนมะพร้าวและป่าข้างทาง ร้อยเอกถวิลสั่งให้ทุกคนติดดาบปลายปืนเพราะอาจจะต้องประจัญบาน
ในเวลา 9.30 น. ขณะที่ ร้อยเอกถวิลเคลื่อนตัวออกจากที่กำบัง ก็ถูกกระสุนปืนจากข้าศึกเข้าปากทะลุท้ายทอย ยุวชนทหารสุรพันธ์ รัตนอารีย์ ซึ่งอยู่ใกล้คลานเข้าไปจะช่วย แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ร้อยเอกถวิลตายคาที่ จึงรายงานให้ สิบเอกสำราญ ควรพันธ์ทราบ สิบเอกสำราญจึงรับหน้าที่ผู้บังคับหน่วยต่อไป แม้ตัวของสิบเอกสำราญจะถูกยิงแขนขวากระดูกแตก แต่ก็ยังทนบัญชาการรบต่อไป
วันต่อมา นายหยอย ทิพย์นุกุล บุรุษไปรษณีย์นำโทรเลขจาก พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งให้หยุดยิงมาส่ง แต่ผู้บังคับกองบินไม่ยอมเชื่อ เกรงว่าจะเป็นกลลวงของญี่ปุ่น
จนกระทั่ง 10.00 น.ผู้บังคับการกองบินได้ปรึกษากับบรรดานายทหาร เห็นว่าไม่มีทางจะสู้กับกองทัพญี่ปุ่นได้ เพราะกำลังน้อยกว่ากันมาก และยังถูกล้อมอยู่ในที่จำกัด รอความช่วยเหลือจากภายนอกก็ไม่เห็นวี่แวว จึงสั่งให้นายทหารเหลือกระสุนสำหรับตัวเองไว้คนละนัด และให้เผาคลังน้ำมันที่ตั้งอยู่เชิงเขาล้อมหมวกด้านอ่าวประจวบเสีย
จน 12.00 น. เศษ นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการจังหวัดและอำเภอ มีนายตำรวจติดตามอีก 7 คน เดินทางด้วยรถ 6 ล้อของกรมทาง ติดธงสีขาวหน้ารถ นำโทรเลขคำสั่งหยุดยิงของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดมามอบให้ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 แจ้งว่ารัฐบาลได้ยินยอมให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้ว
เครื่องแบบทหารไทยยุค WWII
21 ธันวาคม พ.ศ.2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทำพิธีลงนาม ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นในพระอุโบสถวัดพระแก้ว…
ถือว่า…ไทยกับญี่ปุ่น คือ พันธมิตรร่วมรบ
มหาอำนาจญี่ปุ่น ขนย้าย ทหาร ยุทโธปกรณ์ เข้าสู่ประเทศไทย
กองทัพญี่ปุ่น กำหนดแนวทางการปฏิบัติ กำหนดเป้าหมายมาเรียบร้อยแล้ว ทหารลูกซามูไรส่วนหนึ่ง เข้าไปตั้งค่ายในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เตรียมการสร้างทางรถไฟเพื่อบุกเข้าไปในพม่าผ่านกาญจนบุรี
กองทัพลูกพระอาทิตย์อีกนับหมื่น…ขึ้นไปทางภาคเหนือของไทย ใช้พื้นที่ภาคเหนือของไทยเพื่อเตรียมการรุกเข้าสู่พม่า…เพื่อจะบุกเข้าอินเดีย…
ทหารญี่ปุ่นผู้แกร่งกล้า ประสานงานกับชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาฝังตัว ทำมาค้าขายอยู่ในเมืองไทยเหนือจรดใต้ ส่งข่าว ทำหน้าที่เป็นสายลับมานานนับปี
กองทัพญี่ปุ่นมีข่าวกรองแม่นยำ ทะลุปรุโปร่ง ญี่ปุ่นมีสถานกงสุลที่เชียงใหม่ …พอจะทราบล่วงหน้าว่า “กองทัพลูกซามูไร” จะมาบุกไทย
ช่วงเวลานั้น…เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เป็นที่ตั้งของบริษัทค้าไม้ ตัดโค่นไม้สัก ของฝรั่ง โดยเฉพาะอังกฤษ อเมริกัน รวมทั้งบริษัทของชาวอินเดีย ชาวพม่า ชาวตะวันตกเข้ามาทำธุรกิจ ทำเงิน ทำทองมหาศาล เดิมทีภาคเหนือของไทย คือ บ่อเงิน บ่อทอง ของบริษัทต่างๆ ที่ได้สัมปทานป่าไม้ ร่ำรวย บัดญี่ปุ่นเล็งเอาไว้แล้ว…
และแล้วกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นก็เปิดทำการที่จังหวัดลำปางอย่างเป็นทางการ
กองทัพญี่ปุ่นประกาศว่าจะไม่ก้าวล่วงเรื่องของโบสถ์คริสต์ สถานที่ทางศาสนาใดๆ ให้กระทบกระเทือนจิตใจชาวเมืองลำปาง
อังกฤษบันทึกไว้ว่า…การเข้ายึดครองของทหารญี่ปุ่น สร้างความเสียหายกิจการ ธุรกิจทำไม้
แน่นอนว่าอำนาจของ “ปืน” ทรงพลังกว่าทุกสิ่ง…
เมื่อญี่ปุ่นมีอำนาจสูงสุด…บรรดาพ่อค้าวาณิช ชาวพม่า อินเดีย ที่ทำธุรกิจในลำปาง “กลับหลังหัน” ให้การสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น...
ภาพจริงทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่จังหวัดลำพูน เครื่องบินของฝรั่งบินเข้ามาจากคุนหมิงเข้าโจมตีภาคเหนือและถูก ป.ต.อ. (ปืนใหญ่ต่อสู่อากาศยาน) ยิงตกที่ใกล้วัดพระยืน ตำบลเวียงยืน อำเภอเมืองลำพูน
ในบันทึกชาวบ้านเล่าว่า เครื่องบินฝรั่งมาจากทางทิศเหนือเมืองลำพูนตามทางรถไฟ ชาวบ้านเห็นควันสีดำพวยพุ่งอยู่ตอนท้ายเครื่องบิน เสียงกลองเตือนภัยของวัดพระยืนตีแจ้งสัญญาณ จากนั้น ปืนกลจากเครื่องบินดังออกมาเป็นชุด กระสุนไปถูกคนขับเกวียนที่อยู่เบื้องล่างเสียชีวิต จากนั้น เครื่องบินลำหนึ่งดิ่งตัวลงชนกับต้นโพธิ์ใหญ่กลางทุ่ง ร่างนักบินฝรั่งกระเด็นออกมานอกตัวเครื่องบินเสียชีวิต
วันที่ 21 ธันวาคม 2486 สถานีรถไฟเชียงใหม่ถูกโจมตี ทำให้อาคารสถานี บ้านเรือน โกดังสินค้า ฉางข้าวที่เสบียงอาหารของญี่ปุ่นเสียหาย เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตกว่า 300 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก
เป้าหมายของสัมพันธมิตรครั้งนั้น คือ สถานีรถไฟ โกดังเก็บเสบียง โรงสีข้าว สนามบินโดนโจมตีเป็นหลัก เครื่องบินฝรั่งบินลงต่ำมากหย่อยระเบิดทำลายสนามบิน ส่งผลให้กองทัพญี่ปุ่นขาดแคลนเครื่องบินรบและอ่อนเปลี้ยลงมาก
ที่กล่าวมานี้คือเหตุการณ์บางส่วนที่ผู้เขียนหยิบยกมา ต่อจากนี้จะพูดถึงช่วงปลายสงครามว่ามีอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง ไปติดตามกันต่อครับ
ในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในไทย ท่านปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น โดยมีภารกิจในระยะแรกคือ 1.ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยคนไทยผู้รักชาติร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร 2.ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของไทยไม่เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร  และยังมีภารกิจได้เพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่งคือ
3.ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นผู้แพ้สงครามและพยายามผ่อนหนักเป็นเบาโดยท่านปรีดีรับเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยมีรหัสลับคือ "รู้ธ" และใช้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นที่ตั้งกองบัญชาการขบวนการเสรีไทย
ผลการดำเนินการของขบวนการเสรีไทยเป็นไปด้วยดี ในช่วงปลายสงครามจอมพลเรือลอร์ด เมานท์แบตแทน ผู้บัญชการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ได้ส่งโทรเลขถึงท่านปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่า
"มีความประทับใจอย่างยิ่งในปฏิบัติการต่างๆ ของขบวนการเสรีไทยที่ให้ความสนับสนุนที่มีประโยชน์ในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรและรัฐบาลอังกฤษจะไม่ถือว่าไทยเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม แต่เนื่องจากมีการประกาศสงครามไปแล้วดังนั้นให้ไทยส่งผู้แทนไปทำความตกลงเลิกสถานะสงคราม"
ท่านปรีดี พนมยงค์
แม้สงครามในดินแดนไทยจะจบไปแล้วแต่เรื่องที่ไม่จบคือกองทัพเรือไทยหายไปไหนในวันที่ยกพลขึ้นบก คำตอบมีมาจากคำให้การของพลตำรวจเอกอดุล อดุลเดชจรัส ในคดีอาชญากรสงคราม วันที่ 3 มกราคม 2489 เกี่ยวกับพลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย ความตอนหนึ่งว่า
"...ฝ่ายสหประชาชาติลงความเห็นว่า พลเรือโทสินธุ์เป็นหัวหน้าการสนับสนุนญี่ปุ่น เมื่อวันที่ญี่ปุ่นรุกรานไทย พลเรือโทสินธุ์ได้ไปอยู่สัตหีบ ข้าพเจ้าได้ให้กองทัพอากาศจัดเครื่องบินไปรับและโทรเลขไปให้รีบกลับกรุงเทพฯ ด่วน
แต่พลเรือโทสินธุ์กับพวกได้เดินทางมาโดยรถยนต์แล้วถูกทหารญี่ปุ่นจับที่บางปู (ดิเรก ชัยนาม ระบุว่าถูกกักตัวที่คลองด่าน สมุทรปราการ) ในคืนวันนั้นปรากฏว่ากองทัพเรือได้ส่งเรือออกไปลาดตระเวนในอ่าวไทย แต่เหตุใดฝ่ายญี่ปุ่นจึงได้ส่งกำลังมาขึ้นที่บางปู โดยที่กองทัพเรือมิได้ทำการต้านทานนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ..."
นอกจากคำให้การนี้ยังมีการตั้งข้อสงสัยมากมายในการปฏิบัติการของกองทัพเรือเช่นเดียวกัน แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลเพื่อที่จะหักล้างคำกล่าวเหล่านี้ควรจะถูกเผยแพร่แต่กลับไม่ถูกเปิดเผยเป็นรายลักษณ์อักษร คงมีแต่เพียงรายงานที่ว่า การยกพลขึ้นบกของกองทัพเรือญี่ปุ่นนั้นได้อาศัยเรือสินค้าบังหน้า การเข้าตรวจค้นอาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ได้
วันที่ 6 สิงหาคมพ.ศ.2488 ระเบิด Little Boy ถูกปล่อยลงมาจากระดับความสูง 9,600 เมตร แล้วตกลงสู่พื้นดินอย่างรุนแรง ส่งผลให้เมืองฮิโรชิมาทั้งเมืองถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 130,000 คน
3 วันต่อมา วันที่ 9 สิงหาคม สหรัฐฯ ก็ทิ้งระเบิดปรมาณูอีกลูกคือ Fat Man ถล่มเมืองนางาซากิ เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 750,000 คน ทำให้นับตั้งแต่นั้นมาทหารจักรวรรดิญี่ปุ่นไม่ได้กลับมาเหยียบผืนแผ่นดินไทยอีกเลย
เหตุการณ์ที่เขียนในบทความนี้ มิได้มีเจตนาจะยุยงให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นหรือไทยได้รับผลกระทบเชิงลบ ทั้งนี้ข้อมูลและภาพที่ปรากฎนี้เป็นการกระตุ้นให้เห็นถึงความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์แก่อนุชนคนรุ่นหลัง ข้อมูลในบทความนี้หากผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย สำหรับวันนี้ผู้เขียนขอลาไปก่อน สวัสดีครับ
Credit บทความและภาพประกอบ
หนังสือเรื่องย่อละครไทย
ศิลปวัฒนธรรม
Thairath
The States
BBC Thai
มติชน
MGR Online
Deviantart
2483 Reenactment Group
นักรบดาวแดง เรียบเรียง
โฆษณา