28 เม.ย. เวลา 10:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุปภาวะตลาดประจำสัปดาห์ที่ 21 – 25 เม.ย. 2568

ภาพรวม
  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัว จากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีท่าทีผ่อนคลาย แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนมากนัก
  • การเจรจาของสหรัฐฯ กับอินเดียเป็นไปด้วยดี
  • IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลก
  • ผลประกอบการ Tesla ต่ำกว่าคาด ในขณะที่ Alphabet ดีกว่าคาด
สถานการณ์ตลาด
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีท่าทีผ่อนคลาย และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาบอกว่า ไม่มีความตั้งใจจะปลดเจอโรม พาเวล ออกจากตำแหน่งประธาน Fed โดยดัชนี Dow Jones +2.5%, S&P 500 +4.6% และ NASDAQ +6.7%
  • ความคืบหน้าในการเจรจาการค้า ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
๐ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นว่า ความขัดแย้งด้านภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว เพราะอัตราภาษีที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันไม่ยั่งยืน และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับสมดุลทางการค้า ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 2–3 ปี แต่ยังคงรักษาท่าที โดยยืนยันว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เสนอการลดภาษีนำเข้าให้จีนฝ่ายเดียว
๐ ทรัมป์กล่าวเสริมว่าความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนเป็นไปด้วยดี และยืนยันว่าภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจะไม่สูงถึง 145%
๐ ฝ่ายจีนออกมาตอบโต้โดยยืนยันว่ายังไม่มีการเจรจาใด ๆ เกิดขึ้น และเรียกร้องให้สหรัฐฯ แสดงความจริงใจด้วยการยกเลิกภาษีที่เรียกเก็บอยู่ก่อน
๐ ทรัมป์ยืนยันว่ามีการติดต่อกับจีนจริง แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าฝ่ายใดของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้เข้าร่วมการเจรจา
๐ แม้ว่าจีนจะระบุว่ายังไม่มีการเจรจากับสหรัฐฯ แต่มีรายงานว่าจีนกำลังพิจารณายกเว้นภาษี 125% สำหรับสินค้านำเข้าจำเป็นบางประเภทที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจกรรมในประเทศ
๐ นอกจากนี้ จีนยังอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับธุรกรรมการเช่าเครื่องบินและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์อย่างน้อย 8 รายการ
๐ จีนมีการประชุมโปลิตบูโรเพื่อเตรียมแผนฉุกเฉินรองรับสถานการณ์สงคราม โดยวางแผนใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่เพื่อสนับสนุนภาคเทคโนโลยี การบริโภค และการค้า ผ่านการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอย่างรวดเร็ว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าในระยะสั้น
  • ความคืบหน้าในการเจรจาการค้า ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ
๐ การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย มีความคืบหน้าขึ้นหลังจากการพบกันระหว่าง
รองประธานาธิบดี เจ.ดี. แวนซ์ ของสหรัฐฯ กับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย โดยแวนซ์เรียกร้องให้อินเดียเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคพลังงาน และอาวุธยุทโธปกรณ์
๐ โดยเป้าหมายร่วมของสหรัฐฯ และอินเดียคือ การเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคี จาก
127,600 ล้านดอลลาร์ ในปี 2024 สู่ระดับ 500,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
๐ สก็อตต์ เบสเซนต์ ระบุว่าทั้ง 2 ประเทศใกล้บรรลุข้อตกลง โดยจัดให้อินเดียอยู่ในฐานะพันธมิตรที่กำลังเร่งสรุปข้อตกลงทางการค้าเบื้องต้น เหมือนกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกในปีนี้ลงจากเดิมที่ 3.3% เหลือ 2.8% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่ชะลอตัวที่สุด นับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ในปี 2020 และสำหรับปี 2026 IMF คาดว่าจะเติบโต 3% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.3% โดยสหรัฐฯ และจีนเป็นประเทศที่ IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตมากที่สุด
๐ สหรัฐฯ: คาดการณ์ GDP ขยายตัว 1.8% ในปีนี้ ลดลงจากเดิมที่ 2.7% และในปี 2026 คาดว่าจะโต 1.7% ลดลงจากเดิมที่ 2.1% ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 3%
๐ จีน: คาดการณ์ GDP ขยายตัว 4% ในปีนี้ ลดลงจากเดิมที่ 4.6% และในปี 2026 คาดว่าจะโต 4% ลดลงจากเดิมที่ 4.5% ทั้งนี้ นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายของจีนจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษีได้บางส่วน
๐ นอกจากนี้ IMF ยังได้เตือนว่าสงครามการค้าอาจฉุดแนวโน้มเศรษฐกิจให้แย่ลง และความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เพิ่มขึ้นเป็น 40% จากคาดการณ์เดิมที่ 27% ในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว
  • ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ
๐ Tesla:
- รายได้ 19,300 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9% YoY ต่ำกว่าคาดที่ 21,100 ล้านดอลลาร์
- กำไรสุทธิ 409 ล้านดอลลาร์ หรือ 12 เซนต์/หุ้น ลดลง 71% YoY
- แม้ว่าผลประกอบการออกมาไม่ดีนัก แต่ราคาหุ้นบวกเกือบ 24% เพราะ Elon Musk เตรียมลดบทบาทกับรัฐบาลและกลับมาโฟกัส Tesla
๐ Alphabet:
- รายได้สุทธิ 76,500 ล้านดอลลาร์ โต 13.2% YoY สูงกว่าคาดที่ 75,400 ล้านดอลลาร์
- กำไรสุทธิ 34,540 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.81 ดอลลาร์/หุ้น โต 46% สูงกว่าคาดที่ 2.01 ดอลลาร์/หุ้น
- Google Cloud รายได้โต 28% YoY แม้ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย แต่กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 17.8%
นโยบายการลงทุนและคำเตือน
  • เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และ ความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • ผู้ลงทุนสามารถขอข้อมูลหนังสือชี้ชวนได้ที่สำนักงานของบริษัทจัดการ หรือจาก www.krungsriasset.com หรือตัวแทนสนับสนุนการขาย หรือเจ้าหน้าที่ขายหน่วยลงทุน
ติดตามกองทุนกรุงศรี อัปเดตข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆ ได้ที่
#KrungsriAsset #กองทุนกรุงศรี #Weeklymarketview #สรุปภาวะตลาดรายสัปดาห์
โฆษณา