Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
วันนี้ เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม ประเทศไทย ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่
เด็กน้อยคนหนึ่ง กำลังตื่นเต้นกับการที่เศรษฐกิจไทยกำลังเฟื่องฟู จนสามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศกำลังพัฒนา
1
และก็ได้แต่คิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ในอีก 50 ปีข้างหน้า ประเทศไทยของเขา อาจจะเจริญก้าวหน้ามากขึ้นไปอีก จนทัดเทียมนานาอารยประเทศได้เลย
3
ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน เด็กน้อยคนนั้นได้เติบโตขึ้นมาเป็นคุณลุงคุณป้าคนหนึ่ง ที่ยังคงเห็นประเทศไทย มีสถานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่เหมือนเดิม
2
เพราะนับตั้งแต่ตอนที่ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางตั้งแต่ปี 2519 ประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือถ้าหากพูดง่าย ๆ ก็คือกลายเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ได้เสียที
1
โดยสิ่งที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูงได้ ก็คือกับดักรายได้ปานกลาง หรือ “Middle Income Trap”
แล้วกับดักรายได้ปานกลางคืออะไร ทำไมถึงยังทำให้ประเทศไทยยังคงอยู่ที่เดิมแบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1
นิยามของธนาคารโลกระบุว่า ประเทศรายได้ปานกลาง คือ ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัว อยู่ที่ประมาณ 39,000 ถึง 470,000 บาทต่อคนต่อปี
ซึ่งประเทศไทยของเรา ที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี จึงทำให้เรายังคง ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางต่อไป
โดยคำว่า กับดักรายได้ปานกลาง หรือ “Middle Income Trap” คือภาวะของประเทศที่สามารถพัฒนาจากประเทศรายได้ต่ำ ไปเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้สำเร็จในเวลาไม่นาน
2
แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจหลังจากนั้นกลับชะลอลงมาก ส่งผลให้ประเทศดังกล่าวต้องติดอยู่ในฐานะรายได้ปานกลางต่อไปอีกนาน
โดยปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ที่ประกอบกันเป็นกับดักรายได้ปานกลาง ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยเอาไว้ ก็ได้แก่
1. ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีตามเศรษฐกิจใหม่ไม่ทัน
เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2523 จนถึงช่วงก่อนต้มยำกุ้งนั้น เฟื่องฟูจากนโยบายเน้นการส่งออก ด้วยการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย
1
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะผ่านยุคทองของเศรษฐกิจไทยมาแล้ว แต่สินค้าที่ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตส่วนใหญ่ กลับยังคงเดิม
โดยยังเป็นการผลิตสินค้าของเศรษฐกิจเก่า หรือ Old Economy และแทบจะยังไม่มีการผลิตสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งการที่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเองได้อีกด้วย
ซึ่ง 2 อุตสาหกรรมส่งออกของไทย ที่มีความโดดเด่น แต่วันนี้กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก ก็เช่น
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก ในการผลิต ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือ HDD ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บเนื้อหาดิจิทัลและข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ เพราะกว่า 80% ของการผลิต HDD ในโลกนั้นมาจากไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดจากการผลิต HDD มาเป็นโซลิดสเตตไดรฟ์ หรือ SDD เนื่องจากประสิทธิภาพของ SDD ที่ทำงานได้เร็วกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่า
แต่ประเทศไทย กลับไม่สามารถเปลี่ยนจากการผลิต HDD เป็น SDD ได้ ทำให้ไทย ไม่ได้สามารถคว้าโอกาสในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกได้ เหมือนอย่าง HDD
ซึ่งต่างกับมาเลเซีย ที่ปัจจุบันหันมามุ่งเน้นการผลิตและส่งออก SDD มากขึ้นในตลาดโลก แทนที่จะเป็น HDD
- อุตสาหกรรมรถยนต์
รู้ไหมว่าในปี 2556 ประเทศไทยมียอดผลิตรถยนต์สูงถึงเกือบ 2.5 ล้านคัน ซึ่งมากเป็นอันดับ 9 ของโลก
เพราะหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เม็ดเงินจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ก็คืออุตสาหกรรมรถยนต์ จนทำให้ครั้งหนึ่ง ประเทศไทยเคยได้รับการขนานนามว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย”
1
จากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก เหมือนกับเมืองดีทรอยต์ของสหรัฐอเมริกาในอดีต
แต่ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน ปี 2567 ยอดผลิตรถยนต์ของประเทศไทยอยู่ที่ 1.5 ล้านคัน หายไปประมาณ 1 ล้านคัน ในระยะเวลาประมาณ 10 ปี
1
สาเหตุก็เนื่องมาจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ไม่สามารถปรับตัวตามเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ทัน เช่นเดียวกันกับเหล่าบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ไทยเป็นฐานการผลิตให้
ทำให้ประเทศไทยเริ่มเสียตำแหน่งฐานการผลิตรถยนต์ ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ที่นอกจากจะค่าแรงถูกกว่าแล้ว ยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วและง่ายกว่า เพราะห่วงโซ่การผลิตรถยนต์สันดาป ยังไม่ได้ฝังรากลึกลงไปในอุตสาหกรรมของประเทศมานานเท่าไทย
โดยเฉพาะในรายของอินโดนีเซียนั้น ก็มีแหล่งแร่นิกเกิลที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับเหล่านักลงทุนต่างชาติ
การผลิตรถยนต์ที่ลดลงนั้น ไม่เพียงกระทบกับบริษัทประกอบรถยนต์ แต่ยังรวมไปถึงบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีกว่า 800,000 คน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และถึงแม้ว่าเราจะได้ยินข่าวบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่า การที่เรายังทำได้เพียงเป็นฐานในการรับจ้างผลิต โดยที่ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง
1
ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าเหมือนประเทศอื่น ๆ ได้ ซึ่งการไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองนั้น ก็มาจากปัญหาต่อไป
2. ไม่มีการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง
1
จากข้อมูลล่าสุดของทางธนาคารโลก อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ต่อ GDP ของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 1.16% ขณะที่ถ้าลองไปเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย จะพบว่า
- เกาหลีใต้ อัตราส่วน R&D ต่อ GDP 5.21%
- ญี่ปุ่น อัตราส่วน R&D ต่อ GDP 3.41%
- จีน อัตราส่วน R&D ต่อ GDP 2.56%
- สิงคโปร์ อัตราส่วน R&D ต่อ GDP 2.16%
1
ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ที่ต่ำ เป็นการลดโอกาสของประเทศที่จะสร้างผลงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมอันเป็นรากฐานสำคัญที่จะต่อยอดเพื่อไปพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ลงไปด้วย
การขาดเทคโนโลยีแบบนี้ ก็จะทำให้ผลิตภาพของแรงงานไทย ไม่เติบโตไปด้วย เพราะไม่มีเทคโนโลยีดี ๆ ที่จะมาช่วยให้แรงงาน 1 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ในเวลาทำงานที่เท่าเดิม
3. แรงงานมีปัญหาทั้งในเรื่องคุณภาพและปริมาณ
ปัญหาเรื่องขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง
ในแง่ของคุณภาพ แม้เราจะรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้มีแต่คนจบปริญญาตรีเต็มไปหมด แต่ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงให้เห็นว่าในปี 2566 ประชากรวัยแรงงานแค่ประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้น ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา
นอกจากนี้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึงภาษาอังกฤษ ที่เป็นรากฐานสำคัญในการรองรับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง สำหรับประเทศไทยก็ยังตามหลังประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก
เห็นได้จากผลคะแนนรวม PISA ในปี 2565 ที่ประเทศไทยได้อันดับที่ 64 จาก 85 ประเทศ
ประเทศไทยจึงต้องพบเจอกับความท้าทายในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงยกระดับผลิตภาพของแรงงาน
1
ส่วนในแง่ของปริมาณ จำนวนประชากรไทย ที่อยู่ในวัยแรงงาน มีเพียงแค่ประมาณ 41 ล้านคน
ซึ่งถ้าเราไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่มีจำนวนแรงงาน 56 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 49 ล้านคน อินโดนีเซีย 141 ล้านคนแล้ว ก็ถือว่าตลาดแรงงานของเราค่อนข้างเล็ก
และอัตราการเกิดที่ต่ำของไทย ก็เข้ามาซ้ำเติมปัญหานี้ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา มีเด็กไทยเกิดใหม่ไม่ถึงจำนวน 462,000 คน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดไม่ถึง 500,000 คนต่อปี
ทำให้ตลาดแรงงานที่เล็ก รวมทั้งทักษะและศักยภาพของแรงงานที่ไม่ได้ต่างจากเพื่อนบ้านมาก ก็เป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา
เป็นเหตุให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เติบโตได้ถึง 7% ต่อปี ตอนนี้ลดลงมาเฉลี่ยแล้วเหลือแค่โตปีละประมาณ 2% ต่อปีเท่านั้น
แถมทาง KKP Research ก็ได้เคยประมาณการไว้ว่า ถ้าหากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ถึง 2572 จะโตได้ประมาณ 1.9% ต่อปี
1
และอีก 10 ปีข้างหน้า ในช่วงปี 2573 ถึง 2582 ศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จะเหลือแค่ 1.3% ต่อปีเท่านั้นเอง
1
ซึ่งแม้ว่าจะเป็นปัญหาในด้านเศรษฐกิจ แต่ก็แน่นอนว่าต้องใช้ความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่าย ทำให้การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อาจจะไม่ได้ทำได้โดยง่าย
ถ้าเป็นแบบนี้เอง ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ในช่วงชีวิตของพวกเราที่เหลืออยู่นี้ จะยังได้ทันเห็นประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงที่พัฒนาแล้วหรือไม่
หรือจะต้องภาวนาให้เด็ก ๆ รุ่นลูกหลานของเราต่อไป ได้มีโอกาสสัมผัสกับประเทศไทย ในเวอร์ชันที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ในช่วงชีวิตของพวกเขาแทน..
#เศรษฐศาสตร์
#เศรษฐกิจไทย
#กับดักรายได้ปานกลาง
2
References
-
https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Atricle_07Nov2017.html
-
https://www.worldbank.org/ext/en/home
-
https://advicecenter.kkpfg.com/th/kkp-research/thai-export-competitiveness
-
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_motor_vehicle_production
-
https://www.eeco.or.th/th/next-generation-automotive-industry
-
https://libcon.co.th/en/new-challenges-in-thai-automotive-industry/
-
https://backoffice.onec.go.th/uploads/Book/2085-file.pdf
-
https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/article-2024nov26.html
-
https://worldpopulationreview.com/country-rankings/pisa-scores-by-country
-
https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=1002
-KKP Research เศรษฐกิจไทยสู่ยุคโตต่ำ 2%
เศรษฐกิจ
69 บันทึก
75
20
54
69
75
20
54
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย