29 เม.ย. เวลา 16:22 • การศึกษา

สิ่งที่เป็นมากกว่าพลทหารคืออะไร

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ผู้เขียนขอเขียนบทความนี้ในโอกาสที่บางท่านกำลังอยู่ในช่วงปลดประจำการจากการเป็นพลทหารกลับมาเป็นพลเรือนอีกครั้ง ส่วนบางท่านที่ชอบในอาชีพทหารต่างก็เลือกจะสอบบรรจุเป็นจ่าแล้วเติบโตไปเป็นนายร้อยดั่งใจหวัง ในขณะเดียวกันบรรดาลูกผู้ชายวัยรุ่นจนถึงวัย 20 ต้นๆ ได้ก้าวเข้าสู่รั้วทหารเต็มตัว บัดนี้คำว่าทหารได้เกิดขึ้นกับพวกเขาแล้ว
ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงในส่วนของกองทัพบกว่าถ้าน้องๆได้เป็นพลทหารน้องๆจะเจอกับอะไรบ้าง น้องๆจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เป็นพลทหารแล้วจะสามารถเติบโตในเส้นทางสายนี้หรือไม่ วันนี้มีคำตอบถึงน้องๆทุกคนที่สนใจในเส้นทางนี้ ไปติดตามกันเลยครับ
กำเนิดพลทหาร
น้องๆที่เป็นทหารใหม่จะรายงานตัวเข้าประจำการหน่วยในผลัดแรกวันที่ 1 พฤษภาคม และผลัดที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี ผู้เขียนเข้าใจนะฮะว่าน้องๆหลายคนอาจตื่นเต้นเพราะเราต้องเก็บกระเป๋าเดินทางมาอาศัยห่างไกลบ้าน มีหลายสิ่งที่ต้องปรับตัว ผู้เขียนจะนำสิ่งที่เป็นสาระจากกองทัพบกมาเผยแพร่แก่น้องๆที่จะได้เป็นทหารใหม่นะครับ
สิ่งที่ต้องนำไปในวันรายงานตัว ได้แก่
       1. บัตรประจำตัวประชาชน
       2. ใบรับรองผลการตรวจเลือก (สด.43)
       3. หมายนัดเข้ารับราชการ (สด.40)
       4. สำเนาทะเบียนบ้าน
       5. ยารักษาโรคประจำตัว (ถ้ามีและให้แจ้งครูฝึกด้วย)
       6. บัตรประกันสุขภาพ/บัตรประกันสังคม (ถ้ามี)
       7. กรณีจบการศึกษาต่ำกว่าชั้น ม.6 ให้นำระเบียนแสดงผลการศึกษา และรูปถ่ายขนาด 1 นิ้วมาด้วย เพื่อใช้สมัครเรียน กศน.
       8. ชุดสุภาพ (สวมใส่ในวันรายงานตัว)
9. เงินสดติดตัวเล็กน้อย ที่สำคัญไม่ควรนำของมีค่าติดตัวไปเพื่อป้องกันการสูญหายในระหว่างทำกิจกรรม
สำหรับการเตรียมความพร้อมของร่างกายและจิตใจ ก่อนรายงานตัวเป็นทหารกองประจำการ มีดังนี้
1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก่อนจะปรับสภาพจากพลเรือนเป็นทหาร น้องๆควรจะมีการเตรียมความแข็งแรงของร่างกายให้พร้อมเพื่อให้เกิดการคุ้นชินกับการฝึกที่เข้มข้น
2. พักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แน่นอนว่าหลังจากที่รายงานตัวเข้ากองประจำการแล้ว ชีวิตประจำวันของน้องๆจะเปลี่ยนไป เพราะในทุกวันจะมีแผนการฝึกอย่างเป็นระเบียบ จึงควรนอนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง สะสมพลังงานให้พร้อมรับต่อประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะได้พบเจอ
3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 สัปดาห์ หรือ 24 ชม.  หากใครเป็นสายปาร์ตี้ ก็ควรงดการดื่มเพื่อเตรียมสติให้พร้อมต่อการฝึก ซึ่งในระหว่างที่อยู่ในหน่วยก็จะต้องรักษาตนเองให้มีสุขภาพที่ดี จึงต้องงดเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่อาจทำให้มึนเมา หรือไม่เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย
4. งด ละ เลิก สารเสพติดทุกชนิด ยาเสพติดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย บ่อนทำลายชาติ น้องๆทุกคนต้องงด ละ เลิก และไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดไม่ว่าประเภทใด ๆ
5. ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเคยมีอาการบาดเจ็บจากความร้อนให้แจ้งครูฝึกทราบทันที ณ วันรายงานตัว☀️ : ในหลักสูตรฝึกทหารใหม่ต้องมีการฝึกปฏิบัติเป็นประจำ ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องมีการฝึกนอกอาคาร กลางแจ้ง และยิ่งประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนอยู่แล้ว หากใครมีโรคประจำตัวต้องรีบแจ้งให้ครูฝึกทราบเพื่อระวังป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอันตรายหรืออาการบาดเจ็บจากโรคลมร้อน หรือโรคต่าง ๆ
6. ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้แจ้งครูฝึกทราบทันที ณ วันรายงานตัว ไม่ว่าอาการบาดเจ็บใด ๆ เช่น กล้ามเนื้อฟกช้ำอย่างรุนแรง หรือที่จะทำให้ทหารใหม่เสี่ยงที่จะเจ็บป่วยเพิ่มเติม หรือได้รับบาดเจ็บ ต้องรีบแจ้งให้ครูฝึกทราบทันทีเพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น
7. งดบริจาคโลหิต 3 วัน ก่อนรายงานตัว ร่างกายที่สูญเสียเลือดได้ไม่นาน อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย จึงควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์และกระปรี้กระเปร่าตั้งแต่เริ่มต้นการฝึก
8. ทำใจให้สบายไม่ต้องเป็นกังวล นอกจากสภาพร่างกายแล้ว สภาพจิตใจและอารมณ์ก็ต้องทำให้ผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง เพราะกำลังใจขับเคลื่อนทุกสิ่งให้สำเร็จผล
ทหารใหม่ฝึกอะไร
สิ่งที่น้องๆจะได้ฝึกมีดังนี้ครับ
สถานีที่ 1 : การฝึกสมรรถภาพร่างกาย และการเสริมสร้างร่างกาย
ร่ายกายคือสิ่งสำคัญ ควบคู่ไปกับการฝึก "น้องทหารใหม่"จะต้องได้รับการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เพื่อเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ให้เป็นบุคคลที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมรับการฝึกทุกรูปแบบ
สถานีที่ 2 : การฝึกบุคคลท่าเบื้องต้น และแถวชิด
การฝึกท่าบุคคลเบื้องต้นถือได้ว่าเป็นการฝึกเริ่มแรกที่มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการเข้ารับราชการทหาร เนื่องจากการฝึกนี้จะเป็นเครื่องช่วยปูพื้นฐานบุคคลพลเรือนให้เปลี่ยนลักษณะท่าทาง พร้อมเป็นทหารได้โดยสมบูรณ์ในโอกาสต่อไป
สถานีที่ 3 : การฝึกการใช้อาวุธประจำกาย
เพื่อเป็นการฝึกเพิ่มพูนความรู้, ทักษะการใช้อาวุธประจำกายในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สถานีที่ 4 : การฝึกการยิงปืนด้วยกระสุนจริง
เพื่อให้กำลังพลมีความรู้และความชำนาญในการใช้อาวุธ ซึ่งถือเป็นอาวุธประจำกายได้อย่างเข้าใจและมีประสิทธิภาพ และเต็มขีดความสามารถอย่างสูงสุด
สถานีที่ 5 : การฝึกวิชาทหารทั่วไปและยุทธวิธี (บุคคลทำการรบ)
เพื่อให้กำลังพลมีความรู้ความเข้าใจของการจัดกำลังทหาร การจัดยุทโธปกรณ์ในหน่วยรบและการใช้ยุทโธปกรณ์ ยามเกิดเหตุการณ์จำเป็นที่ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูและเอาชนะศัตรูในการทำศึก และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ, เทคนิค และเทคโนโลยีในการรบตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
สถานีที่ 6 : การอบรมความรู้แบบธรรมเนียมทางทหารและการฝึกวิชาชีพ
การฝึกอาชีพให้แก่ทหารกองประจำการโดยดำเนินการตามนโยบายของกองทัพบก ที่จะร่วมกันพัฒนาทหารกองประจำการ ให้มีความรู้ ความชำนาญ และมีทักษะในวิชาชีพ เพื่อสร้างโอกาสและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้แก่ทหารกองประจำการหลังปลดประจำการ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประกอบอาชีพ
จากพลทหารสู่ดวงดาว
หากน้องๆคนไหนคิดว่า "จบไปจะเป็นอะไร" "ผมจะมีงานทำไหมครับพี่" ไม่ต้องกังวลครับ มาอ่านบทความนี้ให้จบจะได้รู้ว่าอาชีพทหารคืออาชีพสร้างโอกาส สร้างความหวัง และสร้างวินัยให้ตนเอง ผู้เขียนจะขอกล่าวต่อไปนี้ว่าน้องๆจะไปนายสิบนายร้อยได้อย่างไรไปติดตามกันครับ
เมื่อเข้ามารับราชการเป็นทหารกองประจำการแล้วจะมีโอกาสสอบเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกมากกว่าพลเรือน เนื่องจากนักเรียนนายสิบจะเปิดรับจากทหารกองประจำการ ที่มีอายุไม่เกิน 24 ปี ในสัดส่วน 80 % และ เปิดรับจากบุคคลพลเรือน 20 % ซึ่งภายในส่วนเฉพาะที่รับจากทหารกองประจำการ 80% นั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
พลทหารออนไลน์ 30%
ทหารกองประจำการที่เลื่อนปลดฯ (อยู่ต่อ) 20%
ทหารกองประจำการทั่วไป 50%
หากทหารกองประจำการคนใดมีคุณสมบัติมากกว่า 1 กลุ่ม ก็จะมีโอกาสได้เป็นนักเรียนนายสิบทหารบกเพิ่มขึ้นเพราะได้รับสิทธิพิจารณาผลการสอบคัดเลือกได้จากทุกกลุ่มที่ตนเองมีคุณสมบัติ ตัวอย่างเช่น
ถ้าพลทหาร A สมัครเข้ามาเป็นทหารกองประจำการผ่านโครงการพลทหารออนไลน์
ในการสอบเป็นนักเรียนนายสิบ ก็จะได้รับคัดเลือกจากโควตาพลทหารออนไลน์ 30% และโควตาทหารกองประจำการทั่วไป 50% ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้เป็นนักเรียนนายสิบมากกว่าพลทหาร B ที่เข้ามาเป็นทหารกองประจำการโดยการจับได้ใบแดงจากการเกณฑ์ทหาร ที่ได้รับสิทธิเพียงโควตาทหารกองประจำการทั่วไป 50% เพียงอย่างเดียว
ในระหว่างที่น้องๆเป็นทหารกองประจำการ หน่วยทหารจะมีการจัดอบรมติวเข้มให้น้องๆได้ฝึกทำข้อสอบทั้งภาควิชาการและการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมในการสอบเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกให้กับทุกคน
สำหรับการสอบเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกนั้นจะเปิดรับสมัครในช่วง พฤศจิกายน – มกราคม ของทุกปี
เมื่อสอบเข้ามาเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกได้แล้ว ในระหว่างการศึกษานั้น จะมีการจัดลำดับนักเรียนนายสิบทหารบกตามผลการเรียน โดยผู้ที่อยู่ในลำดับตามจำนวนที่กำหนด ก็จะมีสิทธิเข้ารับการสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักเรียนนายสิบได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนนายร้อยจำนวน 22 นาย (ข้อมูลปีการศึกษา 2568) แม้ว่าจำนวนที่เปิดรับจะไม่มาก แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสเพิ่มเติมให้กับผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในระหว่างที่เป็นนักเรียนนายสิบทหารบก ซึ่งโดยปกติการสอบเป็นนักเรียนเตรียมทหาร
ในส่วนของกองทัพบกนั้นจะต้องมีคุณวุฒิการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และไม่เกิน 18 ปี ซึ่งชายไทยบางคนก็มีข้อจำกัดทางด้านการศึกษาทำให้มีคุณสมบัติที่จะสอบนักเรียนเตรียมทหารไม่ครบถ้วน หรือเข้ารับการสอบแล้วแต่พลาดโอกาส ก็ยังสามารถมาใช้ช่องทางของการเป็นพลทหารเพื่อต่อยอดเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกและนักเรียนนายร้อยได้อีกทางหนึ่ง
เห็นไหมครับว่าการเป็นทหารนอกจากจะได้ทำเพื่อประเทศชาติในฐานะลูกผู้ชายแล้ว น้องๆอาจมีเพื่อนจากทั่วทุกสารทิศมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับน้องๆด้วย แม้ว่าเส้นทางช่วงแรกน้องๆอาจเป็นแค่น้องคนเล็กของกองทัพบก
อย่างไรก็ตามหากน้องๆมุ่งมั่น คิดจริง ทำจริง น้องๆจะกลายเป็นทหารชั้นยอดในอนาคตก็ได้ ขอให้น้องๆทุกคนที่กำลังจะเป็นพลทหารในวันที่ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับที่น้องๆเกิดมา ผู้เขียนหวังว่าบทความจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปกครองทุกท่านที่มีลูกหลานเป็นว่าที่พลทหาร และบทความนี้จะเป็นกระบอกเสียงให้กับกองทัพบกไทยหรือทหารใหม่เหล่าอื่นๆได้ไม่มากก็น้อย สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
Credit บทความและภาพประกอบจาก
กองพลทหารราบที่ 3
กองทัพภาคที่ 2
กองทัพภาคที่ 4
กองทัพบก
โฆษณา