เมื่อวาน เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ชง “คนละครึ่ง”ภาค 2 พยุงเศรษฐกิจรับศึกทรัมป์ เอกชนแข่งเสนอมาตรการยัน GDP 3%

เอกชน-หน่วยงานรัฐแข่งเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยันจีดีพี 3% หอการค้าชง “คนละครึ่ง” ภาคสอง กระตุ้นใช้จ่าย จี้เร่งเครื่องส่งออก ลงทุน สู้ศึก “ทรัมป์” สภานายจ้างจี้ปรับโครงสร้างหนี้เสีย 1.1 ล้านล้าน อสังหาฯ เสนออัดยาแรง พยุงตลาดซบ
ผลพวงนโยบายภาษีการค้าที่แข็งกร้าวของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก ส่งผลให้สำนักพยากรณ์ต่าง ๆ ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของจีดีพีไทยเหลือระดับ 1% กว่า จากที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3% ในปีนี้
ขณะที่ทิศทางเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังน่าห่วง ภาคการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง ราคาสินค้าเกษตรสำคัญทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันที่มีผลต่อรายได้เกษตรกร ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า ส่งผลกำลังซื้อลดลง ภาพรวมประเทศไทยต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนจากรัฐบาล
เสนอ “คนละครึ่ง” กระตุ้นใช้จ่าย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานอาวุโส หอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังอยู่ในภาวะซึมตัวจากหลายปัจจัย ทั้งจากภายนอกและภายใน โดยเฉพาะปัญหากำลังซื้อของประชาชนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องและมุ่งเน้นมาตรการที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น
โครงการคนละครึ่ง ที่เคยดำเนินการมาก่อน ซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน และมีผลเชื่อมโยงไปยังภาคธุรกิจ SMEs หรือในลักษณะโครงการคูณสอง ซึ่งเป็นแนวทางที่หอการค้าฯเคยเสนอไว้ ส่วนนี้จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น
“แม้เศรษฐกิจไทยปี 2568 อาจจะไม่ได้เติบโตในอัตราสูง แต่ก็ยังสามารถรักษาทิศทางบวกไว้ได้ หากสามารถดึงพลังจากเครื่องยนต์หลัก อย่างการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐต้องเร่งสร้างเสถียรภาพ สื่อสารเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัว ใช้เทคโนโลยี และขยายตลาดอย่างฉับไว เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายของการลงทุน และรักษาความสามารถในการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลกต่อไป”
แก้หนี้เสีย 1.1 ล้านล้านเพิ่มสภาพคล่อง
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า บนสมมุติฐานสหรัฐอเมริกาเก็บภาษีตอบโต้สินค้าไทยในอัตราร้อยละ 36 จะส่งผลต่อสภาพคล่องธุรกิจทั้งระบบ ตามด้วยสภาพคล่องครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันหนี้เสียหรือ NPL รอปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรงจะทำให้ NPL พุ่งสูงรัฐบาลต้องใช้จ่ายงบประมาณเยียวยาเศรษฐกิจทำให้หนี้สาธารณะสูงอาจเกินกว่าร้อยละ 70 (ช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลเสริมสภาพคล่อง 5.0 แสนล้านบาท)
ดังนั้นมาตรการในการเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐบาล มีข้อเสนอในหลายเรื่อง ที่สำคัญ ได้แก่ การทบทวนแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อกันเม็ดเงินให้เพียงพอต่อการเยียวยาทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องมีการประเมินผลกระทบโดยใช้จำลองสภาวการณ์เลวร้ายสุด “Worst Case Scenario” ว่าการเจรจาล้มเหลวสหรัฐฯ ยังคงปรับภาษีร้อยละ 36 โดยนำมาประเมินว่าจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใดเพื่อที่จะได้วางมาตรการรองรับล่วงหน้า
มาตรการเสริมสภาพคล่องธุรกิจและครัวเรือน จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้มาตรการทางการเงินเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจเพื่อรักษาการจ้างงาน ตลอดจนเสริมสภาพคล่องให้กับครัวเรือนเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออก จำเป็นที่จะต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 1.12 ล้านล้านบาทที่ยังค้างมาแต่วิกฤตโควิด -19 เนื่องจากหากยังติดเครดิตบูโรการเสริมสภาพคล่องผ่านธนาคารพาณิชย์จะทำไม่ได้
การออกมาตรการรักษาการจ้างงาน ผลกระทบจากการส่งออกซึ่งจะเป็นสึนามิไปในภาคส่วนของเศรษฐกิจมีผลต่อการจ้างงาน จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการที่จำเป็นให้สถานประกอบการสามารถรักษาการจ้างงานไม่ให้มีการเลิกจ้างหรือมีก็น้อยที่สุด
รัฐบาลเตรียมการโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกระตุ้นการบริโภคการลงทุนในประเทศและการออกซอฟต์โลนให้แบงก์ของรัฐปล่อยสินเชื่อ ควรทบทวนงบประมาณปี พ.ศ. 2568 หากไม่จำเป็นควรกันเงินไว้เพื่อการเยียวยาเศรษฐกิจโดยไม่ควรเป็นประชานิยม
อสังหาฯชงรัฐอัดยาแรง
ขณะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เวลานี้อยู่ในภาวะซบเซา กำลังซื้อหายไปจากตลาด สถาบันการเงินเข้มงวดสินเชื่อ ล่าสุดยังซ้ำเติม ด้วยเหตุแผ่นดินไหวและกำแพงภาษีทรัมป์ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
ต่อเรื่องนี้ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เสนอต่อคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก โดยขอให้รัฐสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการและสินเชื่อรายย่อย ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
เช่นเดียวกับ นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ที่กล่าวว่า เสนอให้รัฐสนับสนุน soft loan กระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยตํ่ากว่า 3% จาก 3 ปี เป็น 6 ปี หรือผ่อนแต่เงินต้น ดอกเบี้ย 0% ในช่วง 3 ปีแรกเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงนี้ รวมถึงแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อเพื่อพยุงตลาดอสังหาฯให้เดินต่อได้
สั่งลุย “เที่ยวไทยคนละครึ่ง”
ด้าน นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว 50% และประชาชนจ่ายเอง 50 % เบื้องต้นได้เสนอกรอบคร่าว ๆ ให้นายกรัฐมนตรีแล้ว และนายกฯได้เห็นชอบแล้ว ขณะนี้กระทรวงท่องเที่ยวฯ กำลังพิจารณารายละเอียด เรื่องของการจองสิทธิ์ การใช้สิทธิ์ที่เหมาะสม และช่องทางในการใช้สิทธิ์ว่าควรเป็นอย่างไร
ทั้งนี้อยากสรุปในเรื่องของระบบต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้งในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ภายใต้งบประมาณที่หารือกับทางกระทรวงการคลังไว้แล้วก่อนหน้านี้ อยู่ที่ 3.5 พันล้านบาท ส่วนไทม์ไลน์ในการเปิดใช้โครงการก็จะมีการขยับออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่ตั้งใจว่าจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม ไปเป็นเดือนมิถุนายน 2568 นี้แทน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน
สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 20 เมษายน 2568 ภาพรวมของนักท่องเที่ยวยังเป็นบวกอยู่ 0.52 % โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 11.2 ล้านคน สร้างรายได้ราว 5.4 แสนล้านบาท โดยในภาพรวมนักท่องเที่ยวหลังสงกรานต์นักท่องเที่ยวจีนลดลง แต่ไทยก็ได้นักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกล เช่น อังกฤษ อินเดีย เติบโตต่อเนื่องเข้ามา ซึ่งในส่วนของตลาดจีนกำลังให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เรียกประชุมผู้ประกอบการ ในการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวจีน
“ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เฉพาะในช่วงโลว์ซีซัน กระทรวงฯยังกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของททท. อย่าง โครงการ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์เซลล์ วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 15 สิงหาคมนี้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้ไทยเป็นช้อปปิ้ง เดสติเนชั่น
รวมถึงการจัดงานไทยแลนด์ ทราเวล มาร์ท (TTM) ในเดือนมิถุนายนนี้ที่เชียงใหม่ ซึ่งจะมีผู้ซื้อจากต่างประเทศมาพบปะเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านสปอร์ตทัวริสซึ่ม อย่างในช่วงกลางปีนี้ ก็จะมีการจัดวอลเลย์บอลเวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ เป็นต้น"
คลังกังวลจีดีพีโต 3%
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีนโยบายภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็กต้องได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ส่วนจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับการเตรียมการรับมือ แต่ในส่วนของรัฐบาล และกระทรวงการคลังนั้น จะต้องเตรียมนโยบายดูแลเศรษฐกิจ เพื่อให้จีดีพีไทยปีนี้ปรับลดลงจากเป้าหมายรัฐบาลที่ตั้งไว้ 3% ให้น้อยที่สุด
“วันนี้ทางกระทรวงการคลังเองก็ยังรอดูความชัดเจนจากนโยบายสหรัฐ เดิมเราตั้งเป้าหมายว่าเศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตได้ 3% แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน ฉะนั้นกระทรวงการคลังจะเข้าไปดูว่าจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อรับมือนโยบายสหรัฐฯ และช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ปรับลดลงจาก 3% น้อยที่สุด”
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการจัดตั้งทีมเจรจากับสหรัฐแล้ว โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้แทนจากไทยเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการเจรจา แต่ขณะนี้โจทย์ของสหรัฐฯ ยังไม่นิ่ง ฉะนั้นไทยจึงรอให้โจทย์ชัดเจนก่อนว่าความต้องการที่แท้จริงของทางสหรัฐคืออะไร ซึ่งในการเจรจากับสหรัฐฯ นั้น ไทยก็อยากเจรจาในลักษณะเป็นคู่ค้า แบบ Win-Win ตามนโยบายของรัฐบาล
เม็ดเงินดูแลเศรษฐกิจยังไม่ชัด
ขณะที่การดูแลเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปนั้น จะต้องประคับประคอง และยังไม่ได้มีการสรุปว่าจะใช้เครื่องมือใดออกมาดูแล เช่น การบริโภค การลงทุน รวมทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งหากนโยบายของสหรัฐฯ มีความชัดเจนแล้ว จะสามารถตอบได้ว่าจะใช้เม็ดเงินเท่าใดเข้ามาดูแลเศรษฐกิจต่อไป
ส่วนกรณีหลายคนกังวลว่ารัฐบาลจะมีการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะมีผลกับเพดานหนี้สาธารณะนั้น เชื่อว่าเมื่อถึงวันที่จะต้องทำอย่างนั้นจริง รัฐบาลก็พร้อมที่จะตอบสังคม และสภาให้ได้ว่า รัฐบาลจะนำไปใช้ในโครงการอะไรบ้าง แล้วจะกลับมาดูแลหนี้ที่สูงขึ้นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งหากมีการใช้เงินมองว่าน่าจะเป็นส่วนของการลงทุน การแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ส่วนจะมีการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ยังเร็วไปที่จะตอบตัวเลขดังกล่าว เพราะตอนนี้ต้องรู้ก่อนว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อดูแลเศรษฐกิจ
ยันมีแหล่งเงินรองรับ
นายลวรณ กล่าวอีกว่า หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินนั้น ยืนยันว่า มีแหล่งเงินที่สามารถรองรับได้หลายทาง เช่น วงเงินจากงบประมาณ ซึ่งงบปกติของปีนี้ยังใช้ไม่หมดในบางรายการ อาจจะโยกเกลี่ยงบในบางรายการ ขณะเดียวกันยังมีงบกลางที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 7-8 หมื่นล้านบาท ที่เตรียมไว้เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจจะปรับรูปแบบการไปใช้ในเรื่องอื่น เพื่อรับมือสถานการณ์นี้ หรืองบกลางกรณีฉุกเฉิน งบเงินสํารองในงบประมาณ ซึ่งหากยังไม่พอ อาจจะไปดูเงินคงคลังก็ได้ ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้สามารถบริหารจัดการได้
“หากสุดท้ายจำเป็นต้องกู้เงินนั้น จะต้องรู้ว่ากู้เงินไปทำอะไร และจะใช้คืนเงินกู้นั้นได้อย่างไร ก่อให้เกิดความคุ้มค่าเป็นประโยชน์ในอนาคต และก็มีรายได้กลับมาเพื่อกลับไปคืนเงินกู้นั้นได้ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศมีเพดานหนี้สาธารณะที่สูงกว่าในประเทศไทย แต่ว่าเขาไม่ได้ถูกลดอันดับเครดิตประเทศ เชื่อว่าหากเรามีการกู้เงินจะไม่กระทบเครดิตเช่นกัน เพราะหากเป็นการกู้เงินมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เน้นไปในเรื่องการลงทุน สถาบันจัดอันดับจะมองเรื่องเหล่านี้เป็นปัจจัยบวก” นายลวรณ กล่าว
กระทรวงอุตฯชงแผนขอใช้เงิน
ขณะที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงโครงการเร่งด่วนที่เตรียมขอใช้งบจากเงินกู้ 5 แสนล้านบาทว่า กระทรวงฯต้องการมุ่งเน้นดำเนินการ 3 เรื่องประกอบด้วย
1.ต้องการมีเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลง (Transaction) ให้กับธุรกิจ หรือผู้ผลิต เช่น จากยานยนต์เทคโนโลยียนต์สันดาป (ICE) ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV)
2.การเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ด้านอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่
3.การมุ่งสู่ BCG หรือเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Econo my) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
“ยกตัวอย่างเช่น จาก ICE ไปสู่ EV นั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์สันดาปจะต้องปรับตัว ต้องไปขายให้กับอีวี รวมถึงไปขายให้กับเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอากาศยาน การดำเนินการดังกล่าวเหล่านี้ต้องใช้เงินทั้งหมด โดยปัจจุบันการสนับสนุนเงินกู้ 30-40 ล้านบาทอาจจะไม่พออาจต้องใช้เงิน 100 ล้านบาท แต่ต้องเป็นประเภทที่ขยับขึ้นมาจาก S เป็น M ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็ต้องการเงินทุน” นายเอกนัฏ กล่าว
โฆษณา