เมื่อวาน เวลา 11:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ศึกประมูล 1.1 แสนล้าน "AIS-TRUE" ชิงคลื่น 2100-2300 เมกะเฮิรตซ์

กสทช. เคาะวันประมูลคลื่น 29 มิ.ย.นี้ “AIS-TRUE ” ปักธงชิงคลื่น 2100-2300 MHz มูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท ด้านสภาผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงนายกฯ หวั่นกระทบบริการสาธารณะ
การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยกำลังจะเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อ 21 เมษายน 2568 มีมติเห็นชอบ ให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านความถี่ มูลค่ารวมกว่า 1.12 แสนล้านบาท โดยกำหนดวันประมูลวันที่ 29 มิถุนายน 2568 ซึ่งคลื่นความถี่ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง “AIS” และ “TRUE” คือคลื่น 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์
นายประวิทย์ สี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการบอร์ด กสทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คลื่นความถี่ที่เป็นประโยชน์กับค่ายมือถือมากที่สุด คือ คลื่นความถี่ที่ใช้งานอยู่ภายใต้ใบอนุญาต บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ได้แก่
ย่านความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่ง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น ในเครือ AIS ใช้งานอยู่ และ คลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งให้บริการโดย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TRUE ภายใต้สัมปทานของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่ง ทั้ง ทรู และ ดีแทค ได้รวมธุรกิจร่วมกัน สำหรับคลื่นความถี่ของ เอ็นที สิ้นสุดใบอนุญาตในวันที่ 3 สิงหาคม 2568
“ทั้งสองคลื่นความถี่ เอไอเอส และ ทรู มีโครงข่ายเดิมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ นำมาขยายเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดธุรกิจ” นายประวิทย์ กล่าว
เช็กราคาเริ่มต้นแต่ละคลื่นความถี่
สำหรับรายละเอียดการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 4 ย่าน ประกอบด้วย
  • คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 7,738.23 ล้านบาท ใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี
  • คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,057.49 ล้านบาท ใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี
  • ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 4,500 ล้านบาท
  • ความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 2,596.15 ล้านบาท
  • รวมราคาทั้งสิ้น 112,781.9 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า การประมูลรอบนี้เชื่อว่าค่ายมือถือรายเดิมอาจให้ความสนใจกับคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนราคาประมูลคงจะไม่สูงเท่ากับการประมูลคลื่น 5G หากได้คลื่นความถี่ในราคาสูง ส่งผลกระทบต่อราคาค่าบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงเปลี่ยนแนวทางจากการประมูลมาเป็นการคัดเลือกโดยใช้วิธีแบบ Beauty Contest เพื่อลดต้นทุนและกำกับดูแลราคาแทน เพราะจำนวนผู้ใช้งานในตลาดมีมากเพียงพอแล้ว
ผู้ให้บริการรายใหญ่ประกาศชัด สนใจเข้าร่วมประมูล
ก่อนหน้านี้ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอส มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านความถี่ที่ กสทช. เปิดประมูล แต่ เอไอเอส ต้องขอดูราคากลางที่ กสทช. กำหนดรูปแบบเป็นทางการ และขึ้นอยู่กับคู่แข่งด้วย
1
ขณะที่ นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร ด้านธุรกิจข้อมูลและลูกค้าองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู เปิดเผยว่า ทรู สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2100 กับ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เพราะทั้งสองคลื่นความถี่ ทรู มีความเชื่อมั่นในคุณสมบัติของเทคโนโลยี เพื่อนำมาต่อยอดคลื่นความถี่เดิมที่มีอยู่
สภาผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงนายกฯ หวั่นกระทบบริการสาธารณะ
ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ครอบคลุมถึง 4 ย่านหลัก ได้แก่ 850 เมกะเฮิรตซ์, 1800 เมกะเฮิรตซ์, 2100 เมกะเฮิรตซ์ (เฉพาะที่จะสิ้นสุดปี 2568 ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จึงมีข้อกังวลว่า หากไม่มีแนวทางรองรับที่เหมาะสม อาจกระทบต่อความมั่นคงของระบบสื่อสาร โดยเฉพาะในภารกิจด้านบริการสาธารณะ
เนื่องจากความกังวลดังกล่าว สภาผู้บริโภคจึงได้ยื่นหนังสือถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้กำหนดมาตรการรองรับการประมูลคลื่นความถี่ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. ให้กำหนดเพดานราคาค่าบริการสูงสุดโดยพิจารณาจากปริมาณและคุณภาพของการให้บริการ รวมทั้งเงื่อนไขการให้บริการของผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO ให้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการแข่งขันประมูล
2. ให้กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนในการอนุญาตให้บริษัท เอ็นที, ผู้ให้บริการ MVNO หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถร่วมใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว ในอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม พร้อมกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่แน่นอน และบทลงโทษในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไข
3. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนผู้บริโภค กสทช. บริษัท เอ็นที ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ให้บริการ MVNO เพื่อจัดทำแผนรองรับผลกระทบต่อผู้บริโภคจากกรณีการหมดสัญญาของบริษัท เอ็นที
4. ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหาแนวทางสนับสนุนให้บริษัท เอ็นที สามารถใช้งานคลื่นความถี่ของ กสทช. ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเตือนภัยจากเหตุการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติต่าง ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้บริโภค
โฆษณา