30 เม.ย. เวลา 06:01 • ประวัติศาสตร์

หมวด ๒ ว่าด้วยค่าและราคา

สิ่งของซึ่งมีคุณประโยชน์ที่พึงจะแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้เมื่อใด สิ่งนั้นต้องมีค่าหรือราคาขึ้นทันที เพราะสิ่งทั้งหลายที่แลกเปลี่ยนซื้อขายกันไม่ได้ เปนสิ่งซึ่งจะมีค่าหรือราคาไม่ได้ คำ “ค่า” และ “ราคา” ในที่นี้จึงจะเรียกได้ว่าเปนอำนาจของการแลก
เปลี่ยนโดยเฉภาะ คำสามัญที่ใช้กันเปนต้นว่า เข้าสารหนึ่งถังมีค่าแลกปลาได้ ๑๐ ตัวหรือเข้าสาร ๑ ถังเปนราคาเงิน ๒ บาทนั้น คำ “ค่า” และ “ราคา” ในที่นี้ใช้อย่างเดียวกันกับเครื่องหมาย=ในตำราเลข เปนอันเข้าใจกันว่า เข้าสาร ๑ ถังเท่ากับปลา ๑๐ ตัว หรือเข้าสาร ๑ ถังเท่ากับเงินตรา ๒ บาท
ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสารพัดอย่าง ต้องให้รู้เสียก่อนว่า สิ่งซึ่งจะแลกเปลี่ยนกันนั้นอย่างหนึ่งจะเท่ากันกับสิ่งอีกอย่างหนึ่งหรือไม่ ถ้าไม่เท่ากันสิ่งต่อสิ่งก็เปนอันว่า ของสิ่งหนึ่งพึงจะมีคุณประโยชน์มากหรือน้อยและหาได้ทำได้ยากหรือง่ายกว่ากัน สุดแล้วแต่ความเห็นของเจ้าของของสิ่งนั้น​จะเห็นไปตามความนิยมของเขาที่อาจจะมีต่างกันหรือเหมือนกันได้ เปนต้นว่า นาย ก. มีหีบถมโบราณหีบหนึ่ง ซึ่งได้รับเป
นมรฎกตกต่อมาในตระกูดของนาย ก. นาย ข. ไปเห็นหีบนั้นเข้ามีความอยากได้หีบนั้นเปนประมาณ จึงชวนนาย ก. แลกหีบนั้นกับขันนากของนาย ข. ซึ่งเห็นว่าพอจะมีค่าเท่าเทียมกันอยู่บ้าง หรือมิฉนั้นก็ขอซื้อหีบนาย ก. เปนราคาเงิน ๑๕๐ บาท นาย ก. ไม่พอใจ เพราะเห็นว่าคุณประโยชน์ของหีบนั้นยังมีมากกว่าขันนากหรือจำนวนเงิน ๑๕๐ บาท ที่นาย ข. จะให้แลกเปลี่ยนนั้นอยู่มาก เพราะหีบเปนชิ้นที่ระฦกของตระกูลนาย ก. ซึ่งเปนของหายากที่สุด ฝ่ายนาย ข. เปนผู้ชอบฝีมือช่างเห็นว่าหีบถม
นั้นมีลวดลายสลักอันประณีตงดงามเปนของต้องตานาย ข. มาก นาย ข. มีความต้องการหีบนั้นอย่างแก่กล้า จึงขอเติมหีบเงินแถมขันนากให้นาย ก. อีกหีบหนึ่ง มิฉนั้นก็ขอให้เงินตราเปนการซื้อหีบนาย ก. ๓๐๐ บาท นาย ก. ในที่นี้เห็นว่าขันนากกับหีบเงินเปนของต้องการอยู่ โดยที่นาย ก. ยังไม่มีใช้เห็นมีประโยชน์พอกันกับที่จะสู้เสียสละหีบถมที่ระฦกให้นาย ข. ไปได้ ​ก็ตกลงแลกเปลี่ยนกัน ส่วนราคาเงิน ๓๐๐ บาทนั้น ถ้านาย ก. จะรับไปก็คงจะไบซื้อขันนากกับหีบเงินได้เหมือนกัน
ในการแลกเปลี่ยนที่ยกมากล่าวนี้ ในชั้นต้นเมื่อใคร่ครวญดูก็จะเห็นได้ว่า มีข้อความสำคัญที่เปนอำนาจสำหรับกำหนดค่าแลกเปลี่ยนและราคาสิ่งของนั้น ๓ ข้อ
๑ คุณประโยชน์มากน้อยที่มีอยู่ในตัวสิ่งของที่แลกเปลี่ยนกันตามความนิยมของผู้ที่จะต้องการของทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อเห็นว่าคุณประโยชน์นั้นพอเท่าเทียมกันแล้ว จึงเปนอันตกลงแลกของกันได้
๒ การหายากหรือง่ายที่เปนลักษณะของสิ่งซึ่งจะได้แลกเปลี่ยนกัน
๓ สุดแล้วแต่ความปราถนาของคนทั้ง ๒ ฝ่ายที่และเปลี่ยนของกันนั้นจะมีแก่กล้าอยู่สักเพียงใด
ในความ ๓ ข้อความข้อ ๒ มีน้ำหนักในการกำหนดราคาสินค้าที่มีอยู่โดยทั่วไปนั้นมากกว่าอย่างอื่น เพราะเหตุว่าของที่หายากหรือทำได้ยากนั้น มักเกี่ยวด้วยแรงทำการที่จะต้องใช้และทุนที่จะต้องลงไปในการทำหรือแสวงหาสิ่งของนั้นอิกชั้นหนึ่ง แต่ลำพังคุณประโยชน์หรือความต้องการในข้อ ๑ ข้อ ๓ จะ​มีกำลังแก่กล้าอยู่ตามความนิยมของผู้ที่จะต้องการของนั้นเท่าใดก็ดี ความ ๒ ข้อนี้หาเปนใหญ่ในการที่จะ
ตั้งราคาค่าสิ่งของลงไม่ เปนต้นว่า มีผู้ปราถนาจะซื้อหมวกใบหนึ่งผู้นั้นมีความปราถนาหมวกโดยที่เห็นคุณประโยชน์ในหมวกนั้น ว่าจะมีแก่ตัวมากถึงกับว่า ถ้าหาที่อื่นไม่ได้ดีเท่ากัน จะสู้ยอมเสียเงินซื้อหมวกนั้นเปนราคาสัก ๑๐๐ บาทก็ดี แต่โดยที่ตามห้างร้านมีหมวกชนิดเดียวกันขายเพียงราคาใบละ ๑๐ บาทเท่านั้น ผู้ที่ต้องการก็คงจะให้เงินแต่เพียง ๑๐ บาทเท่านั้นเอง ความต้องการที่มีอยู่แก่กล้าเพียงใดไม่เปนข้อสำคัญ
แต่ความต้องการนั้นเองเปนที่เกิดหรือเปนต้นเหตุของค่าแลกเปลี่ยนและราคา เพราะเหตุว่าสิ่งซึ่งไม่มีผู้ใดปราถนาจะมีค่าหาได้ไม่ เพ็ชร์พลอยสารพัดอย่างในบ้านเมือง ถ้าไม่มีผู้ใดต้องการก็จะไม่ดีกว่าเมล็ดกรวดทรายสักเท่าใด ถ้าไม่มีผู้ต้องการก็ไม่มีผู้ใดจะไปออกแรงแสวงหา หรือแต่งสรรสร้างสมสิ่งของทั้งปวงขึ้น ไม่มีความต้องการก็ไม่มีการแลกเปลี่ยนกันได้ เมื่อของสิ่งใดที่แลกเปลี่ยนกันไม่ได้แล้ว ของสิ่งนั้นก็มีค่าหรือมีราคาไม่ได้อยู่เอง
​เมื่อความต้องการเปนมูลเหตุของราคา หรือค่าแลกเปลี่ยนแล้ว ก็เปนอันเห็นได้ว่า ราคาและค่าแลกเปลี่ยนจะสูงขึ้นหรือต่ำลงได้ก็คือ
๑ ถ้ามีความต้องการของใดมากขึ้น และมีของสำหรับให้ผู้ต้องการนั้นน้อยไป ราคาของนั้นต้องสูงขึ้น
๒ ถ้าความต้องการของใดน้อยลง และมีของอย่างนั้นมากขึ้น ราคาของนั้นก็ต้องตกต่ำลง
ความ ๒ ข้อนี้เปนกฎธรรมดาที่บังคับราคาและค่าแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งปวง
เพียงที่เกี่ยวข้องกับแรงทำการนั้น บางคนก็เชื่อไปเสียอย่างเดียวว่า ราคาของจะถูกหรือแพงก็ต้องสุดแล้วแต่ค่าแรงที่ได้ออกไปในการแสวงหาหรือทำสิ่งของนั้นเปนใหญ่ เพราะเห็นว่าสิ่งใดที่ต้องเปลืองแรงทำมาก สิ่งนั้นก็ต้องมีราคาสูง เพราะคิดเอาค่าแรงเปนที่ตั้ง แต่ที่จริงความหาเปนเช่นนั้นไม่ เปนต้นว่ามีนักปราชญ์ตั้งความเพียรแต่งหนังสือเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้น โดยใช้ความคิด ใช้เวลา และออกแรงทำการหนักหนาจนหนังสือนั้นสำเร็จได้พิมพ์ขึ้นแล้ว แต่หากว่าไม่มีผู้ใดต้องการซื้อหนังสือนั้น
อ่าน แรงทำการและความคิดของนักปราชญ์​นั้นก็เปนอันไม่มีค่าอะไรเลย อิกประการหนึ่ง ของบางอย่างที่ไม่ต้องออกแรงทำการได้ความเหน็ดเหนื่อยเลยสักเล็กน้อย ก็อาจจะมีราคาอย่างแพงได้ เช่นกับคนผู้หนึ่งเดินเที่ยวไปบนเขาบังเอินเคราะห์ดีไปพบศิลาก้อนหนึ่ง เก็บขึ้นพิจารณาเห็นเปนเพ็ชร์ก้อนใหญ่กลิ้งอยู่บนดิน ชั่วแต่เก็บเอามาขายแก่ผู้ต้องการเท่านั้น ก็ได้ราคาล้นเหลือเปนเศรษฐีขึ้นได้ทันที ราคาเพ็ชร์แพงก็เพราะเพ็ชร์มีน้อย แต่มีผู้จะต้องการเพ็ชร์นั้นโดยกำลังแก่กล้ามาก
ธาตุเงินแต่โบราณเปนของหายากและมีผู้ต้องการมากราคาเงินจึงแพง มีค่าแลกเปลี่ยนกับของสิ่งอื่นได้มาก เปนต้นว่าเงินหนัก ๑๕ บาท ๒ สลึงแลกทองบริสุทธิ์ได้เท่าน้ำหนัก ๑ บาท ในสมัยนั้นทอง ๑ บาทกับเงิน ๑๕ บาท ๒ สลึงจึงมีอำนาจซื้อสินค้าหรือแลกของได้เท่ากัน ครั้นต่อมาในสมัยนี้ศิลปวิทยาความรู้ของมนุษย์ดีวิเศษ
ขึ้นกว่าคนโบราณ รู้จักการแยกแร่แปรธาตุดีขึ้น สร้างเครื่องจักร์กลไกในการขุดบ่อแร่ช่วยกระทำให้เปลืองแรงคนทำการน้อยลง ขุดบ่อได้ลึกหาเนื้อเงินได้มากกว่าเก่า จำนวนเงินในโลกทวีมากขึ้นเกินส่วนจำนวนทองที่คนหาได้ในสมัยเดียวกัน เงินก็ตกราคาลงถึงกับแลกทองได้​เพียงทอง ๑ บาทเท่ากับเงิน ๔๐ บาท เปนต้น และเมื่อใน
สมัยที่ประชาชนนิยมใช้ทองมากกว่าเงิน ราคาเงินตกต่ำลงแล้ว อำนาจเงินที่จะแลกเปลี่ยนหรือของทั้งปวงนั้นก็ต้องตกต่ำลงตามกัน ทรัพย์สมบัติของผู้ใดซึ่งเปนตัวธาตุเงินอยู่แต่ก่อนเคยแลกของซื้อของ ๑๕ บาท ๒ สลึงได้เท่ากับอำนาจทองหนัก ๑ บาท มาบัดนี้ต้องจำหน่ายธาตุเงินหนักถึง ๔๐ บาทจึงจะซื้อของแลกของสารพัดอย่างได้เท่ากับทองหนัก ๑ บาทนั้นเอง ผู้ที่มีธาตุเงินสะสมอยู่เปนของรูปพรรณหรือเปนเงินตราก็ดี ย่อมจะยากจนลงกว่าเก่าได้ เพราะเหตุที่ธาตุเงินตกราคาไปเช่นนี้
การประมูล ราคาสินค้าที่ขายในตลาดจะสูงหรือต่ำลงได้เพราะการประมูลแข่งขันประชันกันตามบรรดาผู้ขายกับผู้ขายแลผู้ซื้อกับผู้ซื้อ โดยที่ผู้ขายและผู้ซื้อจะหมายเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวเปนใหญ่ยิ่งกว่าอย่างอื่น ถ้าหากว่าการแข่งขันประชันกันนั้นไม่มีที่ขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเหตุที่จะเปนการฝ่าฝืนธรรมเนียมที่ถือกันอยู่ในบ้านเมือง หรือฝ่าฝืนความรู้สึกในใจในทางดีทางชั่วของบุคคล เช่นกับขัดข้องต่อ
ความกระตัญญูกัตตเวทีความรักบ้านเมือง การกุศลและอกุศล ​หรือความหยิ่งถือตัวอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ซื้อและผู้ขายเปนต้น ถ้าไม่มีความขัดข้องเช่นที่กล่าวนี้ ตามธรรมดาของการซื้อขายสินค้าแลกเปลี่ยนกัน ผู้ซื้อและผู้ขายพึงจะปราถนาที่จะอยากได้กำไรให้มากโดยที่จะให้ของแลกเปลี่ยนอย่างน้อยที่สุดที่จะทำได้ การประมูลมีเจตนาที่จะต้องการของผู้อื่นให้มากแลจะปราศจากของ ๆ ตัวออกแลกให้น้อย ผู้ขาย
กับผู้ขายต่างก็จะแข่งกันลดราคาให้แก่ผู้ซื้อ ถ้าหากว่าสิ่งที่จะขายในขณะนั้นมีมากเกินส่วนต้องการของผู้ที่จะซื้อ ข้างฝ่ายผู้ที่จะซื้อ ถ้ามีความต้องการของสิ่งนั้น โดยความปราถนาอันแก่กล้า แต่ถ้าหากว่าชนิดของที่จะต้องการนั้นมีน้อย ผู้ซื้อกับผู้ซื้อก็ต้องจำเปนแข่งแย่งกันขึ้นราคาให้แก่ผู้ขาย ในการประมูลเช่นนี้ ความปราถนาที่อยากจะขายแลอยากจะซื้อ เปนต้นเค้าตั้งกำหนดราคาของสิ่งนั้นอย่างเดียว ส่วนจะได้กำไรหรือขาดทุนในการแลกเปลี่ยนในขณะนั้นไม่เปนใหญ่
คุณประโยชน์ ซึ่งได้กล่าวมาข้างต้นว่าเปนอำนาจสำหรับตั้งราคาอย่างหนังนั้น ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความปราถนาอันแก่กล้ามากหรือน้อยชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง แลความปราถนานั้นก็ต้องสุดแล้วแต่กฎธรรมดา ๒ ข้อที่กล่าวมาว่า ถ้ามี​ความต้องการของสิ่งใดมากแต่ของสิ่งนั้นมีน้อย ราคาของต้องสูงขึ้น แต่ถ้ามีความต้องการของสิ่งใดน้อยแต่ของสิ่งนั้นมีมาก ราคาก็ต้องตกต่ำลง ดังที่จะยกตัวอย่างมาอุประมาให้เห็น
ว่า ถ้าบุคคลผู้หนึ่งขัดสนด้วยอาหารเลี้ยงชีพ ถ้าไม่ได้กินเข้าอย่างน้อยถึงวันละครึ่งทะนานก็จะดำรงร่างกายทำการงานไปไม่ได้ด้วยความอดหิว ราคาเข้าในขณะนั้นจะแพงสักเท่าใด ก็จำเปนต้องซื้อเพราะเข้าครึ่งทะนานนั้นจะเปนคุณแก่บุคลผู้นั้นเปนอันมาก ครั้นต่อมามีผู้เอาเข้ามาเติมให้ผู้นั้นอิกวันละ ๑ ทะนาน เข้า ๑ ทะนานกระทำให้อิ่มหนำสำราญฟูมฟายขึ้นกว่าแต่ก่อนเปนอันมาก แต่คุณของเขานั้นลด
น้อยลงกว่าแต่ก่อนเมื่อยังมีแต่วันละครึ่งทะนานเสียแล้ว เพราะฉนั้นคนผู้นี้ไม่จำเปนจะต้องซื้อเข้าโดยที่จะให้ราคาแพงเท่าเดิม ครั้นต่อมาชั้นหลังมีผู้เอาเข้ามาเติมให้อิกวันละทะนาน เข้าทะนานหลังนี้หามีคุณประโยชน์อะไรแก่คนผู้นั้นไม่ เพราะเหตุว่าจะเปนการเหลือกินเหลือใช้ของเขาไป คุณประโยชน์ของเข้าเปนที่สิ้นสุดลงเพียงนี้เอง บุคคลผู้นั้นก็ไม่ต้องจะปราศจากทรัพย์ไปซื้อเข้ามาไว้อิกเปนอันหยุดการซื้อกันเพียงนี้ ต้องหยุดเพราะสิ่งที่ต้องการนั้นมีมากเกินไปเสียแล้ว
​ลักษณราคายังจะแยกออกให้เห็นปรากฎต่างกันได้เปน ๒ อย่าง ๆ หนึ่งจะให้ชื่อว่าราคาปรกติ อีกอย่างหนึ่งจะเรียกว่าราคาตลาด แต่คำตลาดที่จะใช้ในที่นี้ ขอให้หมายความว่าเปนทำเลที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันแต่เฉภาะสินค้าชนิดเดียวกัน แลแต่เฉภาะบรรดาพวกผู้ซื้อแลผู้ขายสินค้าสิ่งนั้นจำพวกเดียว ถ้าแปลคำตลาดเปนความเช่นนี้ ก็เปนอันว่าคำตลาดซึ่งเราใช้กันทุกวัน เช่นตลาดบางรักเปนต้น ที่มีสินค้าผัก
ปลาผลไม้และเสบียงอาหารสารพัดอย่างปะปนกันอยู่ในที่แห่งเดียวกันนั้น ไม่ใช่ตลาดเช่นกับที่จะให้หมายความในที่นี้ เปนต้นว่า ถ้าจะพูดถึงตลาดใบชาก็ให้เข้าใจว่าตลาดนั้นเปนทำเลที่ ๆ ซื้อขายกันแต่เฉภาะใบชาอย่างเดียว ถ้าพูดถึงตลาดเข้าก็ให้แปลความว่าเปนทำเลที่ ๆ ซื้อขายเข้ากันเปนต้น มีตลาดสำหรับสินค้าทุกชนิดเปนอย่าง ๆ ไป อิกประการหนึ่ง คำที่ใช้ว่าตลาดในที่นี้ต้องรวบรวมเอาบรรดาผู้ที่นำ
สินค้าอย่างนั้นมาขายแลบรรดาผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าแต่เฉภาะอย่างเดียวนั้นด้วย คนจำพวกนี้ถึงจะต่างคนต่างอยู่คนละแห่งก็ดี แต่ถ้าเปนพวกซื้อหรือพวกขายก็ต้องจัดว่าเปนพวกที่อยู่ในตลาด​เดียวกัน ยกตัวอย่างว่า ในกรุงเทพฯ มีห้างที่สั่งใบชาจากเมืองจีนเข้ามาขาย ๕ ห้าง มีพวกพ่อค้าขายส่งอยู่ ๑๕ คนที่จะไปรับใบชาจากห้าง ๕
แห่งนี้ไปจำหน่ายขายให้แก่พวกขายใบชาย่อย ๑๐๐ คน แต่ยังมีประชาชนที่จะต้องการซื้อใบชาจากคนพวกนี้ไปบริโภคอิกเปนที่สุด คน ๔ จำพวกนี้ต้องถือว่าไม่ได้เปนคนที่รวมกันอยู่ในตลาดเดียวกัน ต้องแยกออกเปนส่วนไปว่าห้าง ๕ ห้างที่สั่งใบ
ชาจากเมืองจีนเข้ามาขายกับพวกพ่อค้าขายส่ง ๑๕ คนนั้นเปนจำพวกที่อยู่ในตลาดใบชาตลาดหนึ่ง ส่วนพวกขายส่งกับพวกขายย่อยรวมเข้าอยู่เปนตลาดใบชาอิกตลาดหนึ่ง ยังมีพวกขายย่อยกับชาวบ้านที่ซื้อใบชาไปบริโภคนั้นอิกตลาดหนึ่งต่างหาก ตามที่ยกตัวอย่างมากล่าวนี้ ก็เปนอันว่ามีตลาตใบชา ๓ ตลาด ๆ หนึ่งมีพวกซื้อแลพวกขายสำรับหนึ่ง แลในตลาด ๆ หนึ่งนั้นราคาใบชาที่ขายในเวลาเดียวกันต้องผิดกันทุกตลาดไป เปนต้นว่าในตลาดชั้นต้นที่มีแต่พวกห้างซึ่งสั่งใบชาเข้ามาขาย แล
พ่อค้าขายส่งที่รับซื้อใบชาต่อไปนั้น ซื้อขายใบชากันเปนราคาชั่งละ ๑ บาท ๕๐ สตางค์ ในตลาดชั้น ๒ ที่ซื้อขายกันในระหว่างพวกขายส่งกับพวกขายย่อยนั้น ซื้อขายใบชากันเปนราคาแพงขึ้นถึง ๑ บาท ๗๕ สตางค์ ​แลถึงตลาดที่สุดที่ซื้อขายกันในระหว่างพวกร้านขายย่อยกับประชาชนชาวบ้านนั้นซื้อขายใบชากันเปนราคาชั่งละ ๒ บาท เมื่อแปลคำตลาดออกเปนความดังที่กล่าวมานี้แล้ว จึงจะเปนอันเข้าใจได้ว่า ในตำบลหนึ่งราคาสินค้าอาจต่าง ๆ กันไปได้ดังที่กล่าวนี้ ในที่สุดแม้แต่ในทำเลที่ ๆ
อยู่ในถนนเดียวกัน ราคาสินค้าในชนิดเดียวกันก็อาจผิดเพี้ยนกันไปในขณะเดียวกันได้ เช่นว่าราคาขายส่งกับขายย่อยแลราคาที่ชาวบ้านซื้อไปบริโภคเปนที่สุดนั้นเปนต้น แต่เมื่อพูดถึงตลาดแล้ว ในตลาดหนึ่งในเวลาเดียวกัน จะมีราคาได้ก็แต่อย่างเดียวกันเช่นตลาดที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่มีราคาเปนจำนวนเงินตามลำดับดังที่อุประมาให้เห็นมาแล้ว ราคาสินค้าสารพัดอย่างที่ซื้อขายกันอยู่ทุกวันอาจเปนได้ดังที่กล่าวมา ถ้าพูดถึงตลาดเข้าในชั้นต้น ก็ต้องนับเอาชาวนากับพวกที่ซื้อเข้าจากชาวนาเปน
ตลาดหนึ่ง แลมีราคาเข้าราคาเดียวในขณะเดียว ต้องนับเอาพวกที่ซื้อเข้าจากชาวนากับพวกโรงสีที่ซื้อเข้านั้นไปสีเปนตลาดหนึ่งมีราคาอย่างหนึ่ง ต่อนั้นไปต้องนับพวกสีเข้ากับพวกซื้อเข้าสารส่งเปนตลาดหนึ่งมีราคาอย่างหนึ่ง ยังมีพวกขายเข้าสารย่อยกับเข้าสารส่ง ที่กล่าวมาเปนตลาดอิกตลาดหนึ่งมีราคาต่างกัน​ไปอิกจนที่สุด ยังมีตลาดที่ซื้อขายกันในระหว่างร้านขายเข้าสารย่อย และชาวบ้านที่ซื้อเข้าสารนั้นไปบริโภคเปนที่สุดอิกตลาดหนึ่ง ราคาเข้ายอมจะผิดแลต่างกันไปได้ทุกตลาด
ผู้แลกเปลี่ยนซื้อขายเข้าซึ่งเปนคนกลางในระหว่างชาวนากับชาวบ้านที่กินเข้าสารนั้น ต้องมีค่าบำเหน็จเปนกำไรค่าแรงเปนลำดับไป ในธุระที่ช่วยขนเข้าเปลือกมาทำเปนเข้าสาร แล้วขนเข้าสารไปจำหน่ายจนถึงชาวบ้านซื้อไปกิน
ราคาปรกติ คำที่ใช้ว่าราคาปรกติในที่นี้ต้องหมายความว่า ราคาสินค้าที่ใกล้เคียงกันที่สุดกับค่าที่ลงทุนทำสินค้านั้น
เปนต้นว่า ถ้ามีตลาดดีสำหรับสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่จะมีการประมูลแข่งขันราคากันในระหว่างผู้ซื้อแลผู้ขายได้โดยสตอกอย่างหนึ่ง ถ้าสินค้าอย่างนั้นไม่ได้มีผู้ใดเก็บสะสมกักขึ้นไว้เปนยุ้งใหญ่กองใหญ่มากมาย แต่หากว่าเปนชนิดสินค้าที่ผู้ทำอาจทำส่งให้แก่ผู้ต้องการใช้ได้ พอสม่ำเสมอไปตลอดปีไม่มาก ๆ น้อย ๆ หรือขาด ๆ เหลือ ๆ ถ้าผู้ที่จะต้องการซื้อนั้นต้องการอยู่เสมอแลมั่นคง แลไม่ต้องการมาก ๆ น้อย ๆ ให้ผิดส่วนผิดเวลาที่เคยไป ถ้าในการทำสินค้าชนิดนั้นไม่ต้องการใช้โรงทำใหญ่แล
ใช้เครื่องจักร์มาก หรือไม่ต้อง​เอาทุนอย่างอื่นมาทับถมลงไปมาก ถ้าบรรดาพวกช่างที่ทำสินค้าชนิดนี้จะละทิ้งการไปทำสิ่งของอย่างอื่นได้โดยสดวก แต่พวกช่างที่ทำสินค้าอย่างอื่นก็อาจละทิ้งมาทำสินค้าอย่างนี้ได้โดยสดวกเหมือนกัน เมื่อถึงคราวที่จะต้องละทิ้งสินค้าอย่างนั้นมาทำอย่างนี้ตามความต้องการโดยสดวกแล้ว ถ้าลักษณการต่าง ๆ เปนอยู่ได้ตามที่ได้กล่าวบรรยายตลอดมานั้นทุกข้อแล้ว ก็เปนอันว่าราคาสินค้าชนิดที่มีลักษณดังกล่าวนั้นจะพอใกล้เคียงกันกับค่าที่ได้ลงทุนทำสินค้านั้น
ค่าทำสินค้าเช่นนี้ ถ้ามีผู้ตั้งทำอยู่มากแห่งด้วยกันคงจะมีคนบางแห่งต้องลงทุนลงแรงทำมากกว่าหรือเหนื่อยยากประดักประเดิดมากกว่าเพื่อนอยู่บ้างเปนธรรมดา คนพวกนี้ต้องมีค่าบำเหน็จเปนกำไรน้อยกว่าพวกหนึ่งเปนแน่ ถ้าคนจำพวกนี้ยังสู้อดทนทำไปได้แล้ว ราคาสินค้าอย่างนั้นต้องเปนไปตามราคาซึ่งพวกนี้ได้ลงทุนทำไปโดยความไม่สดวกนี้เอง ส่วนพวกที่ทำได้ดีกว่าสดวกกว่าจึงมีกำไรมากกว่านั้นเปน
โชคของเขาเอง โชคนี้ไม่พลอยมากระทบถึงสินค้าที่มีราคาอันเรียกว่าปรกติได้นั้นเลย ราคาปรกติไม่ได้คิดคำนวณเอาปานกลางในระหว่างผู้ทำที่ต้องเปลืองแรงเปลืองทุนมากแลน้อยต่างกัน ราคาปรกติมี​อยู่ได้จากผู้ที่ต้องลงทุนทำโดยความขัดข้องไม่สดวกต่าง ๆ เท่านั้นราคาปรกติเช่นนี้พอจะเปรียบคล้ายคลึงกันได้กับลักษณค่าเช่าที่ดินซึ่งได้ชี้แจงมาในทรัพย์สาตร์เล่ม ๑ นั้นแล้ว ว่าผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากที่ดีที่สุด มากกว่าที่เลวที่สุดเท่าใด ผลประโยชน์ที่เกิดมากกว่ากันนั้นจะเปนกำหนดแห่งค่าเช่าได้
ราคาตลาด โดยที่ตามธรรมดาของสินค้าทั้งปวงในขณะหนึ่งขณะใดคงจะไม่มีลักษณสม่ำเสมออย่างที่กล่าวบรรยายมาเปนหลายข้อว่าจะเปนราคาปรกติสม่ำเสมออยู่ได้นั้น ราคาสินค้าทั้งปวงในตลาดหนึ่งตลาดใดคงมีราคาตลาดซึ่งจะผิดเพี้ยนมากกว่าหรือน้อยกว่าราคาปรกตินั้นอยู่เสมอ ราคาตลาดนี้และเปนเขตรขั้นแห่งคุณประโยชน์
ที่สุดสำหรับผู้ซึ่งเห็นสมควรว่าจะซื้อของตามราคานั้นได้ ถ้าไม่เปนเช่นนั้นผู้ที่จะต้องการคงจะไม่ซื้อเปนแน่, เพราะเต็มใจที่จะให้ราคาได้สูงสุดเพียงราคาตลาดนั้น ถ้าหากว่าผู้ที่จะต้องการซื้อไม่เต็มใจจะให้ราคาเท่านั้น และเมื่อไม่ได้ซื้อของไปนั้น ของอย่างนั้นต้องตกค้างสะสมเหลืออยู่จนมากเกินส่วนผู้ต้องการไป ราคาของชนิด
นั้นก็ต้องจำเปนตกต่ำลงไปจนกว่าผู้ซื้อจะเห็นสมควรที่จะซื้อได้ หรืออิกประการหนึ่ง ผู้ที่จะต้องการซื้อสิ่งของนั้น จะต้องการ​มากขึ้นไปแต่จำนวนสินค้ายังคงมีเท่าเดิมอยู่ มาชั้นนี้สินค้าไม่พอกับความต้องการ ราคาสินค้านั้นก็ต้องสูงขึ้นกว่าเก่านั้นเอง ราคาตลาดผิดกันกับราคาปรกติดังที่พรรณามาแล้วนี้ ผิดกันเพราะเหตุต่าง ๆ นา ๆ เหลือที่จะพรรณาให้ถี่ถ้วนได้โดยเลอียด แต่ก็พอจะรวมเหตุต่าง ๆ ที่เปนเหตุสำคัญมายกขึ้นกล่าวเปนหมวดหมู่ไปได้บ้างดังที่จะชี้แจงต่อไป
๑. เพราะเหตุที่มีผู้เก็บกักสินค้าไว้เปนก่ายเปนกอง สินค้าโดยมากย่อมจะมีที่เก็บกักกันไว้เช่นนี้, การที่กักนั้น จึงเปนเหตุที่จะกระทำให้ราคาตลาดผันแปรเปลี่ยนแปลงไปได้เปนครั้งเปนคราว
สินค้าที่เอาออกยื่นขายในตลาดนั้น โดยมากเปนส่วนที่เจ้าของผู้เก็บสินค้ากองใหญ่ ค่อย ๆ ผ่อนออกมาขายทีละน้อยตามแต่ที่จะมีผู้ต้องการซื้อ ถ้าราคานั้นยังต่ำอยู่ก็คงมีผู้เอาสินค้าออกขายจากกองที่เก็บกักไว้นั้นแต่น้อย การเช่นนี้ตามธรรมดาเปนอยู่เนือง ๆ ต่อเมื่อมีผู้ให้ราคาสูงขึ้น, ผู้ที่เก็บสินค้าไว้จึงจะผ่อนสินค้าออกขายมากขึ้นตามราคาที่สูงขึ้นทุกที่ไป จนกว่าจะถึงราคาอย่างสูงที่จะเปิดสินค้าซึ่งกักไว้นั้นจนกว่าจะสิ้นเชิง
​ในประเทศยุโรปตามเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งเปนตลาดสินค้าแลการซื้อขายแลกเปลี่ยนสารพัด (Stock Exchange) อย่างนั้น ชาวเมืองสร้างตึกใหญ่โรงใหญ่ขึ้นไว้สำหรับเปนที่บอกซื้อบอกขายสินค้าต่าง ๆ รวบรวมกันอยู่ในที่แห่งเดียวโดยเฉภาะ ผู้ใดมีสินค้าจะขาย ผู้ใดจะซื้อ, ก็ไปบอกขายบอกซื้อหรือบอกราคาคล้ายทำนองเลหลังขึ้นลงราคาให้แก่กันอย่างที่เลหลังของตามธรรมดา แต่เขาจัดคนจำพวกหนึ่งขึ้นไว้เปนเจ้า
พนักงานสำหรับเปนนายหน้าบอกซื้อหรือขาย เปนทนายแทนตัวพ่อค้าทั้งปวง (Brokers) ประจำอยู่ในที่นั้น ความจริงเปนขึ้นเนือง ๆ ว่าเมื่อถึงคราวที่คนพวกนี้คาดหมายคะเนการล่วงหน้าผิด เห็นแต่จะได้กำไรถ้าเดียว เมื่อรู้ได้ว่าราคาสินค้าอย่างใดดีก็บอกขายสินค้านั้นมากเกินส่วนสินค้าที่มีอยู่แท้จริงเปนอันมาก มีการบอกขายพรรณเมล็ดเข้าต่าง ๆ ฝ้าย หุ้นส่วนรถไฟ แลตั๋วเงินกู้ของรัฐบาลต่าง ๆ เปนต้น พวกนายหน้าเหล่านี้บางทีก็กล้าบอกขายแลทำสัญญาส่งของนั้นทีละมาก ๆ แต่แท้ที่จริง
สิ่งของที่ตัวบอกขายแลสัญญาจะส่งนั้นมีของตัวเองอยู่น้อยหรือบางทีก็ไม่มีเลย การเปนเช่นนี้ก็เท่ากันกับเล่นการพนันอาจนำความฉิบหายมาให้ตัวได้ ​มีบางคราวผู้ที่จะซื้อสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใดร่วมคิดกันลวงให้ผู้ขายตกหลุม (Corner) โดยที่บอกราคาขอซื้อสินค้าอย่างนั้นเปนจำนวนมากมายเกินส่วนที่ของมีอยู่ตามจริงเปนหลายเท่า พวกนายหน้าไม่ทันรู้ตัวก็ตกลงทำสัญญาขายให้เต็มจำนวน แลสัญญาส่งในกำหนดเวลาหนึ่งเวลาใด
การค้าเข้าในกรุงเทพฯ ก็เปนเช่นนี้อยู่บ้างเปนครั้งเปนคราว พอเห็นต้นเข้าในนางอกงามคาดคะเนว่าจะซื้อได้จำนวนเข้าเท่านั้นเท่านี้ ด้วยราคาที่ถูกแล้วกล้าไปทำสัญญากับฝรั่งที่ยุโรป ว่าจะส่งเข้าให้เขาตามจำนวนที่สัญญาในกำหนดเวลาหนึ่งเวลาใด เมื่อทำสัญญานี้เข้าใหม่ในท้องนายังไม่ออกรวงสักเมล็ดเดียว ถ้าเปนโชคดี
บังเอินถึงคราวเหมาะ เข้าในนาเกิดผลมากแลราคาถูก คนพวกนี้ก็ซื้อเข้าส่งไปขายเอากำไรได้ทันเวลาแลเต็มจำนวนที่ได้สัญญาไว้ แต่ถ้าเปนคราวเคราะห์ร้าย ถึงเข้างอกงามมีผลมาก หากว่ามีผู้อื่นต้องการซื้อเข้าเมืองไทยมาก เพราะเหตุที่เข้าประเทศอื่นขาดตลาดไปโดยเหตุที่ทำนาไม่ได้ผลเปนต้น คนพวกนี้เข้ามาขึ้นราคาให้
แก่ชาวนาแลโรงสีมากจนเกินราคาที่ผู้ทำสัญญาขายล่วงหน้าไว้ก่อนนั้นไป เมื่อการเปนเช่นนี้ผู้สัญญา​ก็ต้องจำซื้อเข้าราคาแพงแล้วไปขายราคาถูกจนเต็มจำนวนที่ได้สัญญาไว้ ขาดทุนย่อยยับไปได้เปนอันมาก แต่ถ้ายิ่งซ้ำร้ายเข้าในนาที่คาดหมายว่าจะได้มากนั้นต้องเสียหายไปเพราะน้ำมากน้ำน้อยอย่างใดก็ดีเข้ายิ่งแพงหนักขึ้นเท่าใด ผู้ทำสัญญาก็ยิ่งขาดทุนย่อยยับลงเท่านั้น ได้รับเงินล่วงหน้าเขามาแล้ว ส่งเข้าไม่ได้ทันเวลาหรือครบจำนวนตามสัญญายังจะต้องถูกปรับอิกชั้นหนึ่ง
แต่ถึงจะอย่างใดก็ดีแม้แต่เข้าจะไม่มีสักเมล็ดเดียว จำนวนเข้าที่บอกขายตามราคาที่สัญญานั้นก็ยังคงอยู่ เพราะเหตุนี้จึงเปนอันเห็นชัดได้ว่าราคาสินค้าในตลาดนั้นสุดแล้วแต่ ส่วนราคาในจำนวนสินค้าที่บอกขายตามความต้องการของผู้ซื้อเปนใหญ่ ความจริงไม่ใช่เปนเพราะจำนวนสินค้าที่มีอยู่หรือที่กักไว้เปนใหญ่ ลักษณของราคา
ตลาดมีอยู่ในการค้าขายปัจจุบันดังที่กล่าวมานี้อย่างหนึ่ง สินค้าบางอย่างเปนของที่ผู้ทำ ๆ ขึ้นเฉภาะพอดีกันกับความต้องการใช้ชั่ววันหนึ่ง ๆ หรือค่อยทำไปขายไปไม่ได้ทำสะสมขึ้นไว้ทีละมาก ๆ เพราะขัดข้องด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือเปนเพราะได้ทำกันมาเช่นนั้นตามเคยจนเปน​ธรรมเนียมมา สินค้าชนิดนี้จึงจะไม่ค่อยมีเวลาขาดแลเหลือ จนถึงกับจะกระทำให้ราคาหมั่นขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามกันได้
แต่สินค้าใหญ่โดยมากอย่างผู้ทำ ๆ ขึ้นไว้เปนครั้งเปนคราวทีละมาก ๆ แล้วเก็บสะสมขึ้นไว้เปนก่ายเปนกองสำหรับขายในปีหนึ่งฤดูหนึ่ง เช่นการทำนาแลการเพาะปลูกต่าง ๆ หรือการขุดแร่แลการทำสิ่งของขายเปนเครื่องเหล็กผ้าผ่อนต่าง ๆ นา ๆ ที่ทำ
กันแพร่หลายทั่วไปในโลก ไม่มีเวลาหยุดพักหรือหยุดพักไม่สดวกเพราะจะต้องป่วยการทุน แลขาดการเลี้ยงชีพของลูกจ้างแลคนทำงาน สินค้าที่มีลักษณเช่นที่กล่าวนี้พึงจะมีเวลาขาด ๆ เหลือ ๆ ไม่พอกับความต้องการ หรือมากเกินไปกว่าความต้องการชั่วครั้งคราวหนึ่งได้ เมื่อเปนเช่นนี้ราคาตลาดก็อาจขึ้น ๆ ลง ๆ ผิดเพี้ยนกันไปกับราคาปรกติได้เปนอันมาก
เปนต้นว่าชาวนาตั้งแสนตั้งล้านเมื่อถึงฤดูกต่างคนต่างก้มหน้าทำการไถคราดที่ดินแลหว่านปลูกเพาะพรรณเมล็ดเข้า โดยที่มิได้แลดูการทั่วไปได้ว่าในปีนั้นจะมีการทำนามากไปน้อยไปแลเพราะฉนั้นราคาเข้าจะถูกแพงไปจนจะขาดทุนหรือได้กำไรสักเพียงใด กะประมาณไม่ถูกเพราะทำเลที่ทำนากว้างขวางใหญ่​โตนัก ไหนยังจะมีเข้าต่างประเทศสมทบจำนวนอยู่ฝ่ายนอกที่จะกระทำให้พลอยกระทบกระเทือนถึงราคา
ตลาดเข้าในบ้านเมืองได้อยู่เปนนิจนั้นอีก คนจำพวกนี้สักแต่ว่ามีนามีแรงทำก็ทำไปประดุจดังเครื่องจักร์ ถ้าปีใดมีเข้ามากราคาเข้าตกต่ำก็ได้กำไรในค่าแรงแต่น้อย หรือไม่มีกำไรเลย ปีใดเข้าในโลกมีน้อยราคาตลาดสูงก็ได้กำไรมาก ยังซ้ำร้ายถ้าพวกเจ้าของคลังเงินหรือเจ้าของเรือกำปั่นร่วมคิดกันขึ้นราคาค่าน้ำเงินเอากับโรงสี หรือขึ้นค่าระวางเรือบันทุกเข้าส่งนอกประเทศ เปนการปิดประตูค้าได้สำเร็จ พวกโรงสีที่ต้องเสียค่าน้ำเงินแลดอกเบี้ยให้แก่คลังเงิน แต่เสียค่าระวางเรือให้เจ้าของเรือมาก
ขึ้นเท่าใด ก็ต้องจำเปนซื้อตัดราคาเข้าเบียดแว้งเอากำไรของชาวนาไปเสียอีก ยังพวกโรงสีส่งเข้าออกไปขายนอกประเทศ ถ้าขาดทุนหรือได้กำไรน้อยไป ก็ต้องขึ้นราคาเข้าสารที่ขายพลเมืองในบ้านเมืองนั้นให้แพงขึ้นเบียดเอาในเนื้อของบรรดาคนที่ต้องซื้อเข้าสารกินนั้นอิกชั้นหนึ่ง ความจริงเปนเช่นนี้จึงเปนการพิศวงกันขึ้นเนือง ๆ ว่าเมื่อเวลาเข้าเปลือกในเมืองตกราคาลงเปนหนักหนาแล้ว เหตุใดเข้าสารจึงยังแพงหรือยิ่งแพงขึ้นไปอีก
​ในกรุงเทพฯ มีโรงใหญ่แลโรงสีน้อยจ้อยลงไปจนถึงสีด้วยมืออย่างโบราณ โรงสีใหญ่เปลืองค่าใช้สรอยในการสีเข้าน้อยกว่าโรงเล็กตามส่วนเข้าที่สีออกได้ ถ้าโรงสีใหญ่หันมาขึ้นราคาเข้าสารเอากับชาวเมืองแล้ว โรงสีน้อยกพลอยได้ดีด้วย ถ้าโรงสีใหญ่ขายราคาเท่ากับส่วนที่ขายออกนอกประเทศ โรงสีน้อยก็ต้องพลอยลดราคาตาม หรือต้องหยุดการสีเข้าเสียชั่วครั้งคราวที่ไม่มีกำไร ความจริงคงเปนดังกล่าวนี้
โรงสีเล็กจึงยังตั้งจำเริญอยู่ได้ ส่วนโรงสีใหญ่ถ้าขายเข้าส่งนอกประเทศขาดทุนก็ต้องหยุดสีชั่วคราวหนึ่งครั้งหนึ่งเหมือนกัน จะดีแต่เฉภาะขายในเมืองก็ไม่มีผู้จะมาซื้อได้ทันกันกับจำนวนเข้าที่สีออกได้วันละมาก ๆ ตั้งร้อยสองร้อยเกวียนขึ้นไป เมื่อโรงสีใหญ่ต้องหยุดโรงสีน้อยก็สีไปได้โดยสดวก เพราะขาดการประมูลแข่งลดราคาไปส่วนหนึ่ง
สินค้าบางอย่างบางคราวก็มีมากเกินไป บางคราวก็น้อยไม่พอใช้ เมื่อเวลามีมากราคาต้องตกต่ำ เมื่อเวลามีน้อยราคาต้องสูงเปนธรรมดา แต่เขตรขั้นของราคาซึ่งจะสูงขึ้นไปจนผู้ซื้อไม่อาจซื้อเมื่อใด ราคาที่สูงจำจะต้องหยดลงเพียงนั้น มิฉนั้นถ้าเปนชนิดสินค้าที่จำเปนต้องใช้แท้ เช่นเสบียงอาหารเครื่องเลี้ยงชีพมนุษย์เปนต้น อาหารสิ่ง
ใดแพงหนักเกินไป ​มนุษย์เราคงจะมีปัญญาหาของอื่นมาใช้แทนได้อยู่เสมอ เปนต้นว่าถ้าเข้าแพงหนักเกินไปราษฎรก็ต้องหันลงกินเผือกมันถั่วบุกกลอยเจือจานเปนอาหาร ราคาเข้าที่สูงเมื่อเปนเช่นนี้ก็จะต้องตกต่ำลง หรือจะสูงขึ้นไปอีกไม่ได้ แต่ข้างฝ่ายราคาเผือกมันถั่วบุกกลอยเหล่านี้ เมื่อมีผู้ต้องการบริโภคมากขึ้น ราคาตลาดก็จำเปนจะต้องสูงเกินราคาปรกติอยู่เอง
ไม้สักที่เปนไม้วิเศษใช้อยู่ในบ้านเมืองเรา สมัยใดถ้าราคาแพงเกินไป ผู้ที่ต้องการใช้ไม้ทำเรือนเปนต้น ก็ต้องหันไปซื้อไม้เบ็ญพรรณ์ที่ราคาถูกกว่านั้นมาใช้ ราคาไม้เบ็ญพรรณ์ก็ต้องสูงขึ้นกว่าราคาปรกติ เมื่อการเปนเช่นนี้ ก็เปนอันเห็นได้ว่าเข้ากับเผือก
มันแลไม้สักกับไม้เบ็ญพรรณ์ต้องมีราคาเกี่ยวข้องกันเปนหมวดเปนหมู่ไปดังที่กล่าวมา ถ้าของอย่างหนึ่งราคาสูงเกินไปหรือมีน้อยไป ราคาของอย่างอื่นซึ่งจะเอามาใช้แทนกันได้นั้น แม้แต่ก่อนราคาต่ำ เมื่อของสิ่งหนึ่งราคาแพงขึ้นแล้ว ของซึ่งราคาต่ำที่เกี่ยวข้องกันนั้นก็ต้องพลอยแพงขึ้นตามกัน
สินค้าบางอย่างราคาตลาดอาจขึ้นลงได้ห่างไกลกันในชั่วเวลาอันน้อยก็ยังมีอิกโดยอเนกประการ เปนต้นว่าสินค้าที่เก็บ​ไว้นานไปต้องชำรุดหรือเน่าเปื่อยเลวทรามไปเปนต้น กล่าวตัวอย่างปลาสดซึ่งขายกันอยู่ในตลาดทุกวัน บางทีเมื่อเวลาเช้ามืดราคาปลาตัวหนึ่งจะสูงถึงบาทหนึ่ง ล่วงไปถึงเวลาเที่ยง ปลาคราวนั้นอาจตกราคาลงไปได้ถึง ๒ สลึง ถ้าช้าไปจนค่ำปลาเน่าเปื่อยลงจะให้ใครเปล่า ๆ ก็จะไม่มีใครรับ
ผลไม้ต่าง ๆ ที่เปนอย่างเดียวกัน ในต้นฤดูแรกออกผลไม้ของผู้ใดมีมาขายถึงตลาดก่อนผู้นั้นจึงจะได้ราคาอย่างสูง แต่เมื่อถึงเวลาชุกชุม ใครมีลูกไม้ก็ส่งไปขายตลาดพร้อม ๆ กันจนดื่นไป ราคาลูกไม้นั้นต้องตกต่ำลงไปเปนแน่ ในที่สุดราคาสินค้าต่าง ๆ มีน้อยอย่างที่จะเปนราคาปรกติเสมออยู่ได้ ในความอธิบายชั้นต้น ว่าราคาปรกติจะต้องสุดแล้วแต่ลักษณการอย่างใดบ้างมีแจ้งอยู่โดยเลอียดแล้ว ถ้าลักษณการนั้นผิดเพี้ยนไปอย่างใดราคาตลาดคงจะขึ้น ๆ ลง ๆ ผิดปรกติไปได้ทันที
ยังมีเงินซึ่งเปนของสำคัญที่สุดสำหรับใช้เปนของกลางกะประมาณราคาแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันแลกันในการซื้อขายนั้นอิก เงินอาจมีราคาขึ้นลงสูงต่ำได้ตามกาละเทศะ
ถ้าราคาเงินที่ใช้กันสูงขึ้นกว่าปรกติ สินค้าสารพัดอย่างในขณะนั้นจะต้อง​ตกราคาลงวันที ถ้าราคาเงินต่ำต้องใช้จำนวนเงินมากกว่าปรกติไปแลกหรือซื้อสินค้าที่เปนอันว่าสินค้าสารพัดอย่างในขณะนั้นแพงขึ้นตามกันทั่วไป กล่าวตัวอย่างว่าเมื่อเวลารัฐบาลสยามยังใช้มาตราเงินอยู่ ราคาเงินเมื่อเปรียบกับทองซึ่งมีราคาปรกติอยู่นั้น ตกต่ำไปมาก แต่ชั้นเดิมเงินหนัก ๑๕ บาท ๒ สลึงแลกทองบริสุทธิ์ได้ ๑ บาท มาชั้นหลังนี้ราคาเงินต่ำไป จนถึงว่าเงิน ๔๐ บาทจึงแลกทองบริสุทธิ์ได้ ๑ บาท เมื่อความจริง
เปนเช่นนี้ แลโดยเหตุที่ราคาสินค้าในโลกปัจจุบันนี้บอกซื้อขายกันตามราคาทองทั่วไป เมื่อราคาเงินตกต่ำแลชาวเราใช้เงินเปนมาตรา เราก็ต้องใช้เงินมากไปแลกของได้น้อยอยู่เอง หรือต้องซื้อของใช้บริโภคโดยราคาแพงตามส่วนที่ราคาเงินกับทองผิดกัน พลเมืองที่มีเงินเก็บอยู่กับบ้านเรือนไม่ได้ทำผิดอะไรเลยก็พลอยยากจนลงตามส่วนเงินซึ่งเปนทรัพย์ของตัวต้องตกราคาไป เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนมาตราเงินเปนมาตราทองยกราคาเงินบาทสูงขึ้นเปนสักแต่ว่าเครื่องหมายในมาตราทอง พลเมือง
ที่มีเงินพลอยได้ประโยชน์เพราะราคาเงินบาทสูงขึ้นเปนอันมาก แต่ก่อนซื้อของนอกราคา ๑ ปอนด์ต้องใช้เงินบาทตั้งแต่ ๑๘ ถึง ๒๐ มาเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนมาตราทองแล้วอำนาจเงินบาท​แต่เพียง ๑๓ บาทก็อาจซื้อของได้เท่ากับของราคา ๑๘ หรือ ๒๐ บาทแต่ก่อน รัฐบาลในที่จะรักษาการแลกเปลี่ยนเงินกับทองให้เปนราคายั่งยืนปรกติอยู่ได้เสมอนั้น ถือเอาเปนหน้าที่คอยระวังเก็บเงินบาทเข้ากักไว้ในพระคลังเมื่อเวลาคนต้องใช้เงินบาทสำหรับหมุนเวียนซื้อขายกันน้อย โดยที่รัฐบาลเอาทองออก
จำหน่ายแลกเงินขึ้นไว้ เมื่อเวลาใดการค้าขายดีเช่นเข้าในนาบริบูรณ์ได้ผลขายออกนอกประเทศมาก ชาวต่างประเทศต้องกลับเอาทองมาแลกเงินบาทของรัฐบาลไปซื้อเข้าชาวนาเปนต้น รัฐบาลจ่ายเงินแลกทองแลจ่ายทองแลกเงินเสมอเปนเครื่องจักร์อยู่เช่นนี้ ราคาสินค้าทั้งหลายในกรุงสยามจึงไม่ต้องขึ้น ๆ ลง ๆ ตามราคาธาตุเงินที่หมั่นขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ในตลาด ค่าแลกเปลี่ยนเงินสยามกับเงินต่างประเทศที่ยังจะขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ได้อีกและที่ไม่มีผู้ใดจะแก้ไขได้นั้น ก็จะเปนเพราะเวลาใดการค้าขายในกรุง
สยามกับนา ๆ ประเทศเปนหนี้สินต่อกันเมื่อหักหนี้กันลง ถ้ากรุงสยามเปนหนี้จะต้องใช้หนี้ด้วยทองหรือต้องใช้หนี้นา ๆ ประเทศในเงินตามมาตราของเขา กรุงสยามต้องเสียเปรียบในค่าแลกเงินนั้นอยู่เอง ถ้าเวลาใดเราเปนเจ้า​หนี้เขาเปนลูกหนี้ เขาจะต้องใช้หนี้เราโดยที่ต้องการจำนวนเงินบาทมากขึ้นกว่าปรกติ เขาก็ต้องซื้อเงินบาทด้วยราคาแพง ค่าแลกเปลี่ยนก็เปนอันว่าได้เปรียบข้างเรา แต่ความข้อนี้จำจะงดไว้ชี้แจงต่อไปในภาคซึ่งจะว่าถึงเรื่องการค้าขายต่างประเทศต่อไป
ดอกเบี้ยแลค่าน้ำเงิน (Interest and Discount)
ราคาเงินที่ว่าจะแพงขึ้นหรือถูกลงกว่าปรกติได้นั้นจะแพงขึ้นเพราะเหตุว่าในขณะหนึ่งขณะใด เงินที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ในบ้านเมืองรวมทั้งจำนวนเงินที่ซื้อเชื่อติดหนี้กันด้วยนั้นจะลดน้อยไปด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดซึ่งเปนเรื่องจะได้อธิบายในภาคหลังต่อไป ถ้าเงินในบ้านเมืองลดน้อยลงไม่พอใช้ในการค้าขายให้ได้เต็มที่ตามความต้องการของบุคคล ผู้ใดอยากจะได้เงินใช้ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยให้เจ้าของเงิน เปนกำไร
มากขึ้นกว่าปรกติอีกจึงจะได้เงินไปใช้ ดอกเบี้ยนั้นคือกำไรของเจ้าของเงิน ประดุจดังว่าเจ้าของเงินเอาทุนไปซื้อความเชื่อหนี้ของผู้กู้ไว้ ถ้าคิดดอกเบี้ย ๑๐๐ ละ ๖ ต่อปี ก็แปลว่าเจ้าของเงินลงทุนซื้อความเชื่อไป ๑๐๐ บาท เมื่อครบกำหนดปีหนึ่งจะได้เงิน ๑๐๖ บาทคืน การกู้หนี้เช่นนี้เรียกกำไรเงินว่าดอกเบี้ย ยังมีค่าน้ำเงินอิกอย่างหนึ่งที่ฝรั่งเรียก​ว่า ดิศเคานต์ (Discount) ซึ่งใช้กันอยู่ในการค้าขายแลเปนวิธีค้าเงินหากำไรของคลังเงินต่าง ๆ ทั่วไป ยกตัวอย่างว่านาย ก. ได้รับใบสำคัญสัญญาของ
นาย ข. ว่า ในกำหนดปี ๑ หรือ ๖ เดือน ๓ เดือนเปนต้น นาย ข. จะใช้เงินให้นาย ก. ๑๐๐ บาท นาย ก. อยากจะได้เงินสดไปใช้ทันที ก็เอาใบสัญญานั้นไปโอนกรรมสิทธิ์ขายให้แก่เจ้าของคลังเงินผู้หนึ่งซึ่งเชื่อว่าสัญญานาย ก. กับนาย ข. จะมั่นคงดี คลังเงินยอมรับซื้อใบสัญญานั้นแต่ให้เงินไปเพียง ๙๕ บาทเปนต้น เมื่อถึงกำหนดสัญญาคลังเงินจะได้เอาสัญญานี้ไปเรียกเงิน ๑๐๐ บาทจากนาย ข. คืนมา ผิดกันกับเงินกู้ตามธรรมดา ที่ตรงว่าในขณะชักค่าน้ำเงินนี้ เจ้าของเงินเรียกเอากำไรขึ้นมือเสียก่อน
ทั้งจะได้ใช้กำไรนั้นทำประโยชน์ต่อไป แต่ในส่วนดอกเบี้ยเจ้าทรัพย์ต้องรอไปจนครบกำหนดสัญญา จึงจะได้ดอกเบี้ยเปนกำไรในต้นทุนที่ให้เขากู้ไป โดยเหตุที่การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันแลกันต้องกะตั้งราคาเปนจำนวนเงินให้เท่ากันกับสิ่งของที่จะแลกกันเสียก่อนแทบทุกอย่างไปนั้น จำเปนจะต้องให้รู้ลักษณะเงินให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะเหตุว่าเงินเปนเครื่องกะราคาเปรียบเทียบของเหล่านั้น ราคาเงินอาจจะขึ้นลงเปลี่ยนแปลงอยู่กับสินค้าต่าง ๆ เสมอไป
โฆษณา